‘ม.รามคำแหง’จับมือ’เอสซีจี’หนุนทั้ง’เรียน+ขนไก่’

หลังจากทีมนักตบลูกขนไก่ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คว้ามาได้ 1 เหรียญทองจากชายคู่ดาวรุ่งของไทย ภาคิน คุณาอนุวิทย์-สุภัค จอมเกาะ และ 1 เหรียญเงินจากทีมชาย ในการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 44 ที่ม.เทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา

ดร.เอกสิทธิ์ สนามทอง อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมกีฬาแบดมินตัน มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า ความสำเร็จของม.รามคำแหง มาจากความร่วมมือกับ “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” ซึ่งม.รามฯให้การสนับสนุนด้านการศึกษาแก่นักแบดมินตันในโครงการ “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่” โดยจุดเริ่มต้นนั้นมาจากการที่ก่อนหน้านี้ที่ตนเคยทำงานให้กับม.เกษมบัณฑิต และเคยทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับเอสซีจีมาก่อน ก่อนจะย้ายไปเป็นอาจารย์ที่ม.รามคำแหง ซึ่งทางโค้ชของทางเอสซีจีนั้นยังอยากให้ตนช่วยดูแลเด็กให้ต่อ โดยก่อนหน้านี้ทางม.รามคำแหงไม่มีทีมแบดมินตันมาก่อน ตนจึงได้เข้าไปคุยกับทางมหาวิทยาลัย และก่อตั้งทีมเข้าแข่งขันครั้งแรกเมื่อการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 43 หรือ“กันเกราเกมส์” ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี 2559 ซึ่งครั้งนั้นคว้ามาได้ 1 เหรียญทองจากประเภทชายคู่ ของ “บาส-สกาย” กิตตินุพงษ์ เกตุเรน กับ เดชาพล พัววรานุเคราะห์ นอกจากนี้ยังมี 2 เหรียญทองแดงจากทีมชาย และชายคู่อีกคู่หนึ่ง

ดร.เอกสิทธิ์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่มหาวิทยาลัยช่วยสนับสนุนให้กับนักกีฬาคือ การดูแลเรื่องการศึกษาเพื่อให้นักกีฬาสามารถไปแข่งขันและฝึกซ้อมได้เต็มที่ เนื่องจากพ.ร.บ.ของม.รามคำแหงนั้นไม่ได้จำกัดจำนวนผู้เข้าเรียน และไม่มีการเช็คชื่อเข้าเรียน อย่างไรก็ตามทางมหาวิทยาลัยก็ได้ดูแลเด็กๆ ด้วยการแนะแนวการเรียนต่างๆ ส่งเอกสาร ตำรา ไปให้เด็กได้อ่าน ส่วนวิชาใดยาก ก็จะจัดอาจารย์เข้าไปติวให้ บางครั้งเด็กสอบไม่ผ่านก็จะช่วยติวเพื่อให้สอบผ่านให้ได้ อาจจะไม่ใช่ทุนการศึกษาจำนวนมาก เพราะเป็นเพียงสถาบันของรัฐ แต่สิ่งที่ให้คือความสบายใจ เพราะได้ดูแลเป็นอย่างดีทั้งการเรียนและกีฬา

“การร่วมมือกันของม.รามคำแหงกับเอสซีจี นั้น จะให้ตัวนักกีฬาเป็นคนเลือกเองว่าต้องการที่จะศึกษาที่ไหน แต่ทางอาจารย์จะเข้าไปคอยแนะแนวให้ในช่วงระหว่างที่เลือกสถานศึกษา ส่วนหนึ่งเพราะเชื่อว่าการให้นักศึกษาได้เป็นคนเลือกสถานศึกษาเอง จะทำให้เขามีความสุขกับการเรียน และสามารถพัฒนาศักยภาพด้านกีฬาแบดมินตันเพื่อความเป็นเลิศได้มากกว่า”

Advertisement

ดร.เอกสิทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า วัตถุประสงค์ของ ม.รามคำแหงคือ ต้องการเห็นเด็กๆ ทุกคนจบออกไปแล้วมีความรู้ อย่างน้อยๆ ต้องรู้จักแกนของวิชาที่เรียนมา เพื่อนำมาต่อยอดในการทำงานในอนาคตได้ ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ประโยชน์ทางด้านกีฬาตลอด 4 ปี แต่ไม่ได้ให้ความรู้กับพวกเขาเลย ซึ่งตอนนี้นักแบดฯในเอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี่ ที่มาศึกษาอยู่ที่ม.รามคำแหง อาทิเช่น กิตตินุพงษ์ เกตุเรน-เดชาพล พัววรานุเคราะห์, “โอ๊ต” สิทธิคมน์ ธรรมศิลป์ เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image