จีนกับแผนปฏิวัติโลก (ฟุตบอล)

ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง โชว์เตะฟุตบอล ขณะเยือนสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เมื่อปี 2012 (เอเอฟพี)

 

เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดี “สี จิ้น ผิง” ของจีน ประกาศนโยบายด้านกีฬาให้จีนกลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจวงการลูกหนังโลก เหมือนๆ กับที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายๆ ชนิดกีฬา ในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

ผู้นำจีนซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแฟนบอลตัวยง กางพิมพ์เขียว 50 ข้อสู่เป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือการสร้างสนามฟุตบอลหลายพันแห่งและโรงเรียนสอนฟุตบอลหลายหมื่นแห่งทั่วประเทศ

ต่อมาในเดือนธันวาคม กลุ่มทุน “ไชน่า มีเดีย แคปิตอล (ซีเอ็มซี)” ของจีน ก็ทุ่มเงิน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (14,000 ล้านบาท) เข้าไปถือหุ้น 13 เปอร์เซ็นต์ของ “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ

Advertisement

การซื้อหุ้นครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงเดือนเศษหลังจาก สี จิ้น ผิง ไปเยือนสนามเอติฮัด สเตเดี้ยม พร้อมกับนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ของอังกฤษ โดยประธานของซีเอ็มซีมีสายสัมพันธ์อันดีกับพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน

ผ่านไปไม่กี่เดือน ความเคลื่อนไหวของฝั่งตะวันออกไกลก็เริ่มสั่นสะเทือนวงการลูกหนังโลกอีกครั้ง โดย “สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า)” เผยข้อมูลว่า ในรอบปี 2015 ที่ผ่านมา “ไชนีส ซูเปอร์ลีก” หรือลีกฟุตบอลสูงสุดของจีน ใช้เงินในตลาดซื้อขายนักเตะไป 116 ล้านปอนด์ (6,032 ล้านบาท)

แม้ยังห่างไกลจากพรีเมียร์ลีก ลีกยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกที่ใช้เงินไป 875 ล้านปอนด์ (45,500 ล้านบาท) แต่เมื่อเทียบอัตราการลงทุนแล้วถือว่าเป็นไปอย่างก้าวกระโดด เพราะขณะที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกใช้เงินมากกว่าปีก่อน 8 เปอร์เซ็นต์ ของฝั่งลีกจีนกลับเพิ่มพรวดขึ้นถึง 65 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

Advertisement

และเนื่องด้วยเส้นตายการปิดตลาดซื้อขายนักเตะของจีนคือวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ส่งผลให้เฉพาะปี 2016 ซึ่งผ่านมายังไม่ถึง 2 เดือน ลีกแดนมังกรกลายเป็นลีกที่ใช้เงินซื้อนักเตะมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยจากการซื้อขายมูลค่าสูงสุดของรอบปีนี้ 5 อันดับแรก มีทีมฟุตบอลของจีนเข้ามาเอี่ยวด้วยมากถึง 4 ราย

ในจำนวนนี้คือการคว้าตัว “แจ๊กสัน มาร์ติเนซ” กองหน้าทีมชาติโคลอมเบียจาก “แอตเลติโก้ มาดริด” ทีมชั้นนำของลาลีก้า สเปน สู่ “กว่างโจว เอฟเวอร์แกรนด์” ในราคา 31.5 ล้านปอนด์ (1,638 ล้านบาท)

หลังจากนั้นก็เกิดกระแสฮือฮาต่อเนื่อง เมื่อ “เอเซเกียล ลาเวซซี่” ปีกชาวอาร์เจนไตน์ ประกาศลาทีม “ปารีส แซงต์แชร์แมง” เพื่อมุ่งหน้าสู่ทีม “เหอเป่ย ไชน่า ฟอร์จูน” เพื่อรับค่าเหนื่อยมหาศาลสัปดาห์ละ 400,000 ปอนด์ (20.8 ล้านบาท)

มาร์ติเนซกับลาเวซซี่ถือเป็นสมาชิกรายล่าสุดของลีกจีนต่อจากนักเตะดังอีกหลายคนที่ยังค้าแข้ง อาทิ “รามิเรส, เดมบ้า บา, ซาโมอาห์ กิยาน”

นอกจากนี้ ยังมีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สโมสรจากไชน่า ซูเปอร์ลีก พยายามทาบทาม “เวย์น รูนี่ย์” กัปตันทีม “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” ด้วยค่าตัว 28 ล้านปอนด์ (1,456 ล้านบาท) 2 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็มีเป้าหมายใหม่อย่าง “จอห์น เทอร์รี่” กัปตันทีม “เชลซี” และ “มาริโอ บาโลเตลลี่” แข้งดังของหงส์แดงซึ่งไปเล่นให้ “เอซี มิลาน” ด้วยสัญญายืมตัว

ไม่ใช่แค่นักเตะเท่านั้น แม้แต่โค้ชของทีมในลีกจีนก็ถือว่ามาตรฐานสูงไม่น้อยไปกว่ากัน ปัจจุบันมีกุนซือดังๆ อย่าง สเวน โกรัน อีริกส์สัน, หลุยซ์ เฟลิเป้ สโคลารี่ และ อัลแบร์โต้ ซัคเคโรนี่ กระจายกันคุมหลายทีม

ความเคลื่อนไหวของลีกจีนครั้งนี้ทำให้สื่อและแฟนบอลทั่วโลกต้องจับตา เนื่องจากที่ผ่านมา แม้เมเจอร์ลีก ซ็อกเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา และลีกลูกหนังตะวันออกกลางจะใช้วิธีทุ่มเงินดึงนักเตะดังๆ ไปร่วมทีมเหมือนกัน แต่เกือบทั้งหมดล้วนเป็นซุป’ตาร์ที่ใกล้ปลดระวางหรืออยู่ในช่วงบั้นปลายอาชีพค้าแข้งทั้งสิ้น

ผิดกับหลายๆ แข้งเป้าหมายของลีกจีนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่เล่นได้อีกหลายปี และน่าจะยังลุยลีกชั้นนำของยุโรปได้อีกระยะหนึ่ง

ว่ากันว่าการทุ่มเงินซื้อผู้เล่นระดับแนวหน้าของโลกไปร่วมทีมในครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของพิมพ์เขียวของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ที่ต้องการเห็นตลาดฟุตบอลในประเทศเติบโตจนมีเงินหมุนเวียนถึง 850,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (29.75 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025 บรรดาสปอนเซอร์ซึ่งเป็นนายทุนหลักของทีมใหญ่ๆ จึงพร้อมใจกันทุ่มงบฯ เพื่อสนองนโยบายของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้ แม้ทางหนึ่งจะทำให้หลายคนทึ่งและเฝ้าสังเกตการณ์อย่างหวั่นๆ ขณะเดียวกันก็ทำให้หลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้

ทุ่มเงินซื้อซูเปอร์ตาร์ไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการลูกหนัง เหมือนครั้งหนึ่งปลายยุค 70 สหรัฐอเมริกาก็เคยทำแบบเดียวกันกับ “เปเล่” และแข้งดังอีกหลายคน

แต่สุดท้ายก็เป็นแค่ “ยุคตื่นทอง” ที่วูบมาแล้วหายไป ทุกคนพร้อมจากไปเมื่อไม่มีเงินตอบแทนเหมือนก่อน (ลีกจีนเองก็เคยมีกรณีของ “ดิดิเย่ร์ ดร็อกบา” และ “นิโกล่าส์ อเนลก้า” ซึ่งย้ายมาฤดูกาลเดียวก็ไปเพราะไม่ได้เงินตามที่สัญญาไว้)

เรื่องใช้เงินเป็นเบี้ยครั้งนี้ สภาพเศรษฐกิจจีนถือเป็นตัวแปรสำคัญ ถ้าเศรษฐกิจล้มหรือชะลอการเติบโต แผนงานก็อาจสะดุดได้

บ้างก็แนะว่าแทนที่จะเอาเงินไปทุ่มซื้อนักเตะต่างชาติมาเล่นในทีมคราวละมากๆ น่าจะนำเงินไปพัฒนานักเตะตั้งแต่ระดับเยาวชนเสียจะเหมาะกว่า แล้วไหนจะปัญหาคอร์รัปชั่นและการล้มบอลของลีกฟุตบอลจีนที่เป็นข่าวอื้อฉาวเมื่อปีกลายอีก

ที่สำคัญ เกิดวันหนึ่ง ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ดำรงตำแหน่งครบ 2 วาระ แล้วผู้นำคนใหม่ไม่ใช่แฟนบอลชนิดเข้าสายเลือด หรือไม่อยากสานต่อแผนงานนี้ขึ้นมา

…ที่ทุ่มเทและทุ่มทุนกันตั้งเท่าไร เกรงจะกลายเป็นความสูญเปล่าเอาดื้อๆ เสียนี่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image