ผลกระทบพิษโควิด เลื่อน‘โตเกียว 2020’

Giant Olympic rings are seen at the waterfront area at Odaiba Marine Park in Tokyo, Japan, March 25, 2020, after the announcement of the Games' postponement to 2021, due to outbreak of coronavirus disease (COVID-19). REUTERS/Issei Kato

หลังจากยื้อมานาน ในที่สุด “ญี่ปุ่น” ในฐานะเจ้าภาพการแข่งขัน “โอลิมปิกเกมส์ 2020” และ “คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี)” ในฐานะเจ้าของการแข่งขัน ก็มีมติร่วมกันในการเลื่อนการแข่งขัน “โตเกียว 2020” ออกไป 1 ปี ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19”

ญี่ปุ่นและไอโอซีโดนกดดันอย่างหนักจากรอบด้าน โดยเฉพาะคนในแวดวงกีฬา เริ่มต้นเป็นเสียงเรียกร้องจากนักกีฬาและระดับองค์กรกีฬานานาชาติ

ต่อมาจึงเริ่มเป็นความเคลื่อนไหวระดับประเทศ โดยมี “แคนาดา” เป็นเจ้าแรกที่ประกาศว่า จะไม่ส่งนักกีฬาร่วมแข่งขัน หากไม่เลื่อนโตเกียวเกมส์ออกไป

ต่อมาคีย์แมนวงการกีฬา “สหราชอาณาจักร”ก็ออกมาเปรยว่า “ทีมจีบี” อาจจะไม่ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ถ้ายังฝืนจัดต่อไป

Advertisement

ขณะที่มหาอำนาจ “สหรัฐอเมริกา” ออกมาเคลื่อนไหวหนุนให้เลื่อน

นำไปสู่การต่อสายตรงระหว่าง “ชินโสะ อาเบะ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กับ “โธมัส บาค” ประธานไอโอซี จนนำไปสู่บทสรุปอย่างกะทันหันดังกล่าวเมื่อช่วงดึกวันที่ 24 มีนาคม ตามเวลาท้องถิ่น ทั้งที่เดิมนั้น ไอโอซีและญี่ปุ่นต่างยืนกรานมาตลอดว่าไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตัดสินใจ เนื่องจากยังเหลือเวลาอีก 4 เดือนกว่าจะถึงพิธีเปิดการแข่งขัน และจะประวิงเวลารอถึงเดือนพฤษภาคมจึงค่อยตัดสินใจ

People wearing protective face masks due to the outbreak of coronavirus disease (COVID 19) stand next to an Omega clock, which was previously used as a countdown clock for the Tokyo 2020 Olympic Games and currently displaying current time and date, after the announcement of the games’ postponement to the summer of 2021, in Tokyo, Japan, March 25, 2020. REUTERS/Issei Kato

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 76 ปี ที่โอลิมปิกเกมส์ไม่สามารถจัดในปีที่กำหนดตามวงรอบ 4 ปีครั้งได้

Advertisement

ก่อนหน้านี้ เคยเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้ต้องยกเลิกการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน 3 ครั้ง คือในปี 1916 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งตรงกับ “สงครามโลก ครั้งที่ 1” และปี 1940 ที่กรุงโตเกียว (ก่อนจะย้ายไปกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์) และปี 1944 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในช่วง “สงครามโลก ครั้งที่ 2”

สงครามโลก ครั้งที่ 2 ยังทำให้โอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ปี 1940 ที่เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น และปี 1944 ที่เมืองคอร์ติน่า ประเทศอิตาลี ต้องยกเลิกไปเช่นกัน

การเลื่อนการแข่งขันนั้น แม้ผลกระทบจะไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับการยกเลิกการแข่งขันไปเลย แต่ก็ส่งผลโดยตรงกับเจ้าภาพญี่ปุ่น

โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจ เนื่องจากญี่ปุ่นลงทุนไปมหาศาล และหวังว่าโตเกียวเกมส์จะช่วยกระตุ้นภาคธุรกิจที่ซบเซาหลายส่วนให้กลับมาคึกคักได้

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจญี่ปุ่นวูบดิ่งไปเพราะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มาอย่างสาหัสแล้ว

สิ้นปี 2019 คณะกรรมการจัดการแข่งขันโตเกียว 2020 ประเมินว่า ญี่ปุ่นลงทุนในการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ไป 1.35 ล้านล้านเยน (4 แสนล้านบาท)

แบ่งเป็นเงินอุดหนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโตเกียว 5.97 แสนล้านเยน (1.76 แสนล้านบาท) คณะกรรมการจัดการแข่งขัน 6.03 แสนล้านเยน (1.78 แสนล้านบาท) และรัฐบาลกลาง 1.5 แสนล้านเยน (4.4 หมื่นล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าตัวเลขจริงๆ ที่ถูกใช้ไปตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพนั้น เบ็ดเสร็จอาจสูงกว่าที่มีการประเมินเกือบ 10 เท่า!

ภาคเอกชนเองก็เข้าไปร่วมลงทุนในฐานะสปอนเซอร์รวมแล้วถึง 3.48 แสนล้านเยน (1.03 แสนล้านบาท) ซึ่งมากเป็นประวัติการณ์

นี่ยังไม่รวมสปอนเซอร์หลักอย่างเป็นทางการเจ้าใหญ่ๆ ที่เซ็นกับไอโอซีโดยตรง ตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของฝั่งญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า, บริดจสโตน และพานาโซนิค

“โกลด์แมน แซคส์” วาณิชธนกิจระดับโลก ประเมินว่า การเลื่อนการแข่งขันจะทำให้ญี่ปุ่นขาดทุนเป็นตัวเลขกลมๆ ถึง 6-7 แสนล้านเยน (1.77-2.06 แสนล้านบาท)

Official goods are displayed at a Tokyo Olympics 2020 souvenir shop in Tokyo, Japan March 25, 2020, a day after the announcement of the games’ postponement to 2021. REUTERS/Naoki Ogura

ตัวอย่างของความสูญเสียที่เกิดขึ้น เช่น นักท่องเที่ยวหดหายต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงโรคระบาด เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของญี่ปุ่นคือ จีน (คิดเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติปีที่แล้ว) พอเจอโควิด-19 เข้าไป นักท่องเที่ยวจีนก็หดหาย

พอไม่จัดโอลิมปิก ก็ไม่ต้องหวังนักท่องเที่ยวจากชาติอื่นๆ พอไม่มีโอลิมปิกเกมส์ ก็ไม่เกิดการจ้างงาน โดยเฉพาะธุรกิจร้านค้าและการโรงแรมซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรง ไหนจะผิดสัญญาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดที่ขายไปเกือบหมดแล้ว

ขณะที่การแข่งขันกีฬาหลายชนิดไม่ได้ใช้การสร้างสนามแห่งใหม่ แต่ใช้การเช่าฮอลล์หรือสนามที่มีอยู่เดิมทำการแข่งขัน อาทิ มวยปล้ำ เทควันโด และฟันดาบ เช่าฮอลล์อเนกประสงค์ “มาคุฮาริ เมสเซ” ไว้ล่วงหน้าแล้ว เมื่อเลื่อนจัด ก็สูญเงินส่วนนี้ไปเปล่าๆ และยังไม่รู้ว่าเมื่อขยับโปรแกรมแข่งไปแล้ว จะไปชนกับอีเวนต์อื่นที่จองไว้ล่วงหน้าหรือไม่

หมู่บ้านนักกีฬาซึ่งสร้างในรูปแบบแมนชั่นหรืออพาร์ตเมนต์ยิ่งกระทบหนัก เนื่องจากส่วนนี้มีการวางแผนปรับไปเป็นคอนโดมิเนียมที่ทำสัญญากับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 10 แห่ง และมีการขายห้องพักหรือเปิดเช่าล่วงหน้าไว้แล้ว 4,145 ยูนิต พอเลื่อนการแข่งขันออกไป จากเดิมที่มีแผนจะโอนกรรมสิทธิ์และให้ประชาชนย้ายเข้าได้ในเดือนมีนาคม ปี 2023 ก็ต้องขยับออกไปอีก ซึ่งหมายถึงการชดเชยหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบตามมา

เหล่านี้คือตัวอย่างคร่าวๆ ของมูลค่าและภาระที่ญี่ปุ่นต้องแบกรับ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทั้งรัฐบาลและไอโอซีพยายามยืดเวลาให้ถึงที่สุดจึงจะตัดสินใจประกาศเลื่อนก่อนหน้านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image