สกู๊ปหน้า 1: ‘ฉายา’ 24 ทีม ในศึกชิงเจ้ายูโร ศึก ยูโร 2020 เปิดฉากขึ้นแล้ว

Germany supporters hold a large banner reading 'The team' (Die Mannschaft) before the Euro 2016 round of 16 football match between Germany and Slovakia at the Pierre-Mauroy stadium in Villeneuve-d'Ascq, near Lille, on June 26, 2016. / AFP PHOTO / DENIS CHARLET

สกู๊ปหน้า 1: ‘ฉายา’ 24 ทีม ในศึกชิงเจ้ายูโร ศึก ยูโร 2020 เปิดฉากขึ้นแล้ว

เพื่อให้การติดตามข่าวสารทั้งไทยและเทศเป็นไปอย่างเข้าถึงลึกซึ้งยิ่งขึ้น มาวันนี้เราจึงนำเสนอที่มาที่ไปของ “ฉายา” หรือ “ชื่อเล่น” ของทั้ง 24 ทีมที่ได้สิทธิเข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายในปีนี้ ซึ่งมีการเรียกแตกต่างกัน ทั้งในประเทศต้นสังกัด ฉายาจากแฟนบอล และสื่อในประเทศ ต่างประเทศ

กลุ่มเอ ตุรกี-ดาวจันทร์เสี้ยว (Ay-Yildizlilar) มาจากภาพพระจันทร์เสี้ยวและดวงดาวบนธงชาติตุรกีซึ่งย้อนไปตั้งแต่ยุคจักรวรรดิออตโตมัน ส่วนคนไทยชอบเรียกทีม “ไก่งวง” เนื่องจากภาษาอังกฤษ (turkey) เขียนเหมือนชื่อประเทศ

อิตาลี-อัซซูรี่ (Azzuri) อัซซูรี่ หมายถึง สีน้ำเงิน (หรือสีฟ้าเข้มโทน Savoy Blue) สีประจำราชวงศ์ซาวอย ผู้รวมประเทศอิตาลีเมื่อปี 1861

เวลส์-มังกร (Y Dreigiau) ประวัติศาสตร์และตำนานของชนชาติเวลส์ผูกพันกับมังกรมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 โดยมักถูกอ้างถึงในฐานะสัญลักษณ์ “มังกรแดงแห่งกัดวาลาเดอร์” กษัตริย์ผู้ครองอาณาจักรกวิเน็ดด์ในยุคกลาง และมังกรแดงก็กลายเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติเวลส์ตั้งแต่ปี 1959 เป็นต้นมา

Advertisement

สวิตเซอร์แลนด์-ทีมชาติ (A Team หรือ Nati) เนื่องด้วยสวิตเซอร์แลนด์มีภาษาอย่างเป็นทางการถึง 4 ภาษา คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน อิตาเลียน และรูมันช์ จึงเลือกที่จะใช้ฉายากลางๆ กับทีมชาติว่า “ทีมชาติ” ขณะที่ไทยเรามักเรียก “แดนนาฬิกา” เนื่องจากเป็นสินค้าดังของที่นี่

กลุ่มบี เดนมาร์ก-ขาว-แดง (De Rod-Hvide) หรือเดนิช ไดนาไมต์ (Danish Dynamite) มาจากท่อนฮุกของเพลงเชียร์ทีมชาติเดนมาร์กในศึกยูโรปี 1984 ที่ว่า “เราสีแดง เราสีขาว เราคือเดนิช ไดนาไมต์” ส่วนไทยนิยมเรียกทีม “โคนม” ตามชื่อผลิตภัณฑ์ยอดนิยมในบ้านเรา

ฟินแลนด์-นกเค้าใหญ่ (Eagle Owls) ในเกมเตะระหว่างฟินแลนด์กับเบลเยียมที่สนามโอลิมปิกกรุงเฮลซิงกิ เมื่อปี 2007 เกมต้องหยุดชะงักไปหลายนาที เมื่อเจ้า “บูบี้” นกเค้าใหญ่พันธุ์ยูเรเซียตัวหนึ่งบินลงไปในสนาม แถมเกาะคานประตูไม่ยอมไปไหน เกมนั้นฟินแลนด์ชนะ 2-0 และคนก็เรียกชื่อเล่นของทีมตามนกตัวนั้นตั้งแต่นั้นมา

Advertisement

เบลเยียม-ปีศาจแดง (De Rode Duivels) ในเกมดาร์บี้กลุ่มประเทศแผ่นดินต่ำระหว่างเบลเยียมกับเนเธอร์แลนด์ในปี 1905 นักข่าวดัตช์รายงานว่า แข้งเบลเยียมขยันราวกับปีศาจ ส่วนสีแดงคือสีชุดแข่งประจำทีม

รัสเซีย-ทีมชาติ (Sbornaya) ว่ากันว่าเป็นชื่อเล่นที่ต่างชาติใช้เรียกทีมรัสเซีย เพราะคำว่า Sbornaya เป็นคำนามธรรมดาที่หมายถึง “ทีมชาติ” ใช้เรียกทุกชนิดกีฬา ส่วนไทยเราชอบเรียกทีม “หมีขาว” เนื่องจากแคว้นไซบีเรียของรัสเซียเป็นดินแดนน้ำแข็งที่มีหมีขาวอาศัยอยู่มากมาย

กลุ่มซี เนเธอร์แลนด์-สีส้ม (Oranje) สีส้มเป็นสีประจำราชวงศ์ออรันเย-นัสเซา ของเนเธอร์แลนด์ และเป็นสีหลักในชุดแข่งทีมชาติด้วย สำหรับไทยเรามักคุ้นกับชื่อ “กังหันสีส้ม” เนื่องจากกังหันลมเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของประเทศ

ยูเครน-สีฟ้า-เหลือง (Synio-Zhovti) สีหลักบนธงชาติของประเทศ สีฟ้าหมายถึงท้องฟ้า สีเหลืองหมายถึงนาข้าวสีทองอร่าม

ออสเตรีย-ทีมชาติ (Das Nationalteam) นอกจากชื่อตรงไปตรงมาอย่างทีมชาติแล้ว บางตำราก็บอกว่าออสเตรียมีชื่อเล่นว่า “ทีมมหัศจรรย์” (Wunderteam) มาจากผลงานในยุค 1930 ที่ทีมทำสถิติไร้พ่าย 14 นัดติด

นอร์ธ มาซิโดเนีย-แมวป่า (The Lynxes) ลิงซ์เป็นสัตว์ในวงศ์เสือและแมว แม้นิยมเรียกกันว่าแมวป่า แต่จริงๆ จัดเป็นเสือขนาดเล็ก โดยลิงซ์พันธุ์บอลข่านเป็นสัตว์พื้นเมืองของนอร์ธ มาซิโดเนีย ที่ใกล้สูญพันธุ์

กลุ่มดี อังกฤษ-ทรีไลออนส์ (Three Lions) ราชสีห์ 3 ตัว หรือที่คนไทยนิยมเรียก “สิงโตคำราม” นั้น กล่าวกันว่าเริ่มใช้ในตราสัญลักษณ์ของกองทหารในยุคพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 เจ้าของฉายา “ริชาร์ดใจสิงห์” เมื่อศตวรรษที่ 12 และตั้งแต่นั้น ภาพราชสีห์ 3 ตัวก็จะปรากฏในพระราชลัญจกรของกษัตริย์อังกฤษทุกพระองค์

โครเอเชีย-ตาหมากรุก (Kockasti) ลายกระดานหมากรุกสีแดง-ขาว เป็นสัญลักษณ์ของประเทศโครเอเชียซึ่งปรากฏในตราแผ่นดิน และนิยมนำไปใช้เป็นลายชุดแข่งขันทีมชาติ

สาธารณรัฐเช็ก-ทีมชาติ (Narodni tym) บางครั้งก็ย่อสั้นๆ เหลือ Narodak หรือบางทีก็ใช้คำว่า Nasi แปลว่า “เด็กหนุ่มของเรา”

สกอตแลนด์-กองทัพทาร์ทัน (The Tartan Army) ทาร์ทันก็คือลายสก๊อตบนผืนผ้าที่เราคุ้นเคย การใช้หลากสีสันประกอบกันแทนหลายเผ่าหรือวงศ์ตระกูลที่ประกอบกันเป็นชนชาติสกอตแลนด์ ส่วนแฟนบอลไทยชอบเรียกติดปากว่าทีม “แดนวิสกี้” เพราะคุ้นเคยกับสก๊อตวิสกี้นั่นเอง

กลุ่มอี สเปน- สีแดง (La Roja) สีแดงคือสีหลักบนเสื้อแข่งของสเปน แต่ถ้าย้อนไปตอนคว้าเหรียญเงินฟุตบอลชายโอลิมปิกเกมส์ปี 1920 สเปนเคยได้อีกฉายาว่า “สเปนพันธุ์ดุ” (La Furia Espanola) จากสไตล์การเล่นที่เน้นเกมบุกและดุดัน ส่วนไทยเรามักเรียก “กระทิงดุ” จากธรรมเนียมการสู้วัวกระทิงที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศ

สวีเดน-สีน้ำเงิน-เหลือง (Blagult) สีหลักจากธงชาติที่เป็นสีประจำชาติมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ส่วนแฟนบอลไทยคุ้นกับการเรียกทีม “ไวกิ้ง” เพราะเป็นดินแดนแถบสแกนดินีเวีย

โปแลนด์-สีขาว-แดง (Bialo-czerwoni) หรือ “นกอินทรี” (Orly) มาจากตราแผ่นดินของโปแลนด์ที่มีรูปนกอินทรีสีขาวบนโล่สีแดง

สโลวาเกีย-เหยี่ยว (Sokoli) ฉายานี้เริ่มใช้เมื่อปี 2015 เนื่องจากสมาคมฟุตบอลสโลวาเกียต้องการหาสัญลักษณ์ของทีม และคิดว่าคาแร็กเตอร์ “เฉียบคม รวดเร็ว คล่องแคล่ว ดุดัน” ของเหยี่ยว เข้ากันได้ดีกับสไตล์ของทีม

กลุ่มเอฟ โปรตุเกส-เซเลเซา (A Selecao) หมายถึง “ผู้ถูกเลือก” บางทีก็เรียกยาวๆ ว่า “ผู้ถูกเลือกแห่งโล่” (Selecao das Quinas) ซึ่งสื่อถึงสัญลักษณ์โล่บนตราแผ่นดิน แต่สื่อกีฬาไทยมักเรียกทีม “ฝอยทอง” เนื่องจากเป็นขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส

ฝรั่งเศส-สีน้ำเงิน (Les Bleus) สีน้ำเงินเป็นสีประจำชาติของฝรั่งเศสตั้งแต่ศตวรรษที่ 12 แม้เปลี่ยนแปลงการปกครองก็ยังเป็น 1 ใน 3 สีบนธงชาติ และเป็นสีหลักบนชุดแข่ง ขณะที่ไทยเรียกติดปากว่าทีม “ตราไก่” จากสัญลักษณ์รูปไก่บนตราสมาคมฟุตบอล ไม่ก็ “แดนน้ำหอม” จากสินค้ายอดนิยมของประเทศ

เยอรมนี-เดอะ ทีม (Die Mannschaft) ก่อนหน้านั้น เยอรมนีมีฉายาหลากหลาย แต่ไม่หวือหวา เช่น ทีมชาติ, เดเอฟเบ-อีเลฟเว่น กระทั่งปี 2015 จึงรีแบรนด์ใหม่ เรียกให้เหมือนๆ กันว่า “ดี มันน์ชาฟต์” ที่แปลว่า “ทีม” ซึ่ง โอลิเวีย เบียร์โฮฟฟ์ อดีตกองหน้าของทีมบอกว่า คำนี้แทนความหมายว่า “สร้างสรรค์ คุณภาพ เคารพ แฟร์เพลย์” ส่วนไทยเรานิยมเรียกทีม “อินทรีเหล็ก” ตามชื่อสัญลักษณ์บนตราสมาคมฟุตบอล รวมทั้งสไตล์การเล่นที่แข็งแกร่ง หนักแน่น มีวินัย

ฮังการี-มักยาร์ (Magyarok) ชาวมักยาร์คือชนพื้นเมืองของฮังการี โดยยุคที่ทีมเกรียงไกรสมัยทศวรรษที่ 1950 มีตำนานดาวยิง เฟเรนก์ ปุสกัส นำทีม ได้รับการขนานนามจากต่างชาติว่า “มักยาร์มหัศจรรย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image