กรณีศึกษา”แซม อัลลาไดซ์” “สื่อ”กับหน้าที่”สืบสวน”หรือ”วางกับดัก”?

รอบสัปดาห์ก่อนคงไม่มีข่าวไหนจะช็อกแฟนกีฬาเท่าการพ้นจากเก้าอี้กุนซือทีมชาติอังกฤษแบบปัจจุบันทันด่วนของ แซม อัลลาไดซ์ เมื่อจู่ๆ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ก็แถลงเมื่อวันที่ 27 กันยายน ว่าได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญาของ “บิ๊กแซม” ด้วยความยินยอมร่วมกันระหว่าง 2 ฝ่าย

สิ้นสุดการบริหารงานที่กินระยะเวลาสั้นๆ เพียง 67 วัน กับการคุมทีม 1 นัด ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ทีมสิงโตคำราม!

ในวันที่บอกลา บิ๊กแซมทิ้งท้ายเป็นเชิงประชดประชันนิดๆ ว่า “ครั้งนี้ ปฏิบัติการวางกับดักเป็นฝ่ายชนะครับ”

“กับดัก” ที่ว่านี้ สื่อถึงข่าวเชิงลึกของหนังสือพิมพ์ เดลี่ เทเลกราฟ ซึ่งตีพิมพ์สกู๊ปพิเศษชื่อ “ฟุตบอล ฟอร์ เซล” (Football for Sale) ในวันที่ 26 กันยายน หรือ 1 วันก่อนหน้าการปลดกุนซือชาวเมืองผู้ดี

Advertisement

เทเลกราฟส่งนักข่าวปลอมตัวเป็นคนของกลุ่มทุนจากเอเชียตะวันออกไกล ลอบพบกับอัลลาไดซ์ พร้อมอัดคลิปและอัดเสียงบทสนทนา ซึ่งมีทั้งการนินทาลับหลังเอฟเอเรื่องปรับปรุงสนามเวมบลีย์ด้วยงบประมาณมหาศาล ทั้งเมาธ์การทำงานของ รอย ฮอดจ์สัน โค้ชทีมชาติอังกฤษคนก่อน กับผู้ช่วย แกรี่ เนวิลล์

แต่ที่ถือเป็นประเด็น “แรง” ที่สุด คือบทสนทนาว่าด้วยกฎกรรมสิทธิ์เหนือนักเตะของบุคคลที่ 3 ซึ่ง สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) สั่งห้ามไม่ให้บุคคลที่ 3 อาทิ เอเยนต์ บริษัทตัวแทน หรือนักลงทุน เข้ามาถือกรรมสิทธิ์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในตัวนักเตะ ดังที่เป็นปัญหาในอดีต

ในการพูดคุยครั้งนี้ นักธุรกิจจากเอเชียถามบิ๊กแซมถึงแนวทางการซิกแซ็กเอาตัวรอดจากกฎดังกล่าว ซึ่งกุนซือดังบอกว่ารู้จักเอเยนต์ที่อาศัยช่องโหว่ละเมิดกฎมาแล้วหลายครั้ง นอกจากนี้ อีกฝ่ายยังเสนอค่าตอบแทนมูลค่า 400,000 ปอนด์ (18.4 ล้านบาท) ให้กุนซือวัย 61 ปี แลกกับการเป็นตัวแทนกลุ่มทุนบินไปสิงคโปร์และฮ่องกงช่วยพูดกับนักลงทุนในงานอีเวนต์บางอย่างให้ ซึ่งบิ๊กแซมบอกว่าต้องขออนุญาตจากเอฟเอก่อน

Advertisement

สุดท้ายพอเรื่องแดงขึ้นมา อัลลาไดซ์กับเอฟเอจึงต้องประชุมเครียด ก่อนได้ข้อสรุปว่าด้วยตำแหน่งหน้าที่ของเขา การแสดงออกและบทสนทนาหลายๆ อย่างที่ปรากฏในคลิป ถือว่าไม่เหมาะสมและจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาในที่สุด

ทันทีที่รายละเอียดต่างๆ แพร่ออกไป แม้ว่าเสียงสะท้อนส่วนใหญ่จะก่นด่าความโลภและโง่เขลาของบิ๊กแซม แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่หยิบเอา “ปฏิบัติการวางกับดัก” (entrapment) มาเป็นหัวข้อสนทนา ว่าการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนนั้น การวางกับดักแหล่งข่าวถือว่าหมิ่นเหม่ในเชิงจริยธรรมด้านวารสารศาสตร์หรือไม่?

เริ่มตั้งแต่การตีความว่า “กับดัก” นั้นควรมีขอบเขตขนาดไหน?

ฝ่ายหนึ่งมองว่า ถ้าคู่กรณีไม่ “ฮุบเหยื่อ” หรือปฏิเสธไปแล้ว แต่ฝ่ายสืบสวนก็ยังพยายามคะยั้นคะยอ เสนอข้อเสนออื่นๆ เพิ่มเติมหรือหว่านล้อมไม่เลิก นั่นถือว่า “ล้ำเส้น”

แต่อีกฝ่ายก็มองว่า “ความผิด” ของบิ๊กแซมจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าเดลี่ เทเลกราฟ ไม่สร้างเรื่องขึ้นมาและเอามาวางล่อให้เขาตกหลุมพรางถึงที่ เพราะถ้ากองบรรณาธิการไม่คิด “ลองใจ” กุนซือสิงโตคำรามด้วยวิธีนี้ บิ๊กแซมก็จะคุมทีมชาติอังกฤษทำศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกต่อไปเหมือนเดิม เอฟเอแฮปปี้ บิ๊กแซมแฮปปี้ นักเตะแฮปปี้ แฟนบอลแฮปปี้ ทุกคนแฮปปี้ (หรือไม่แฮปปี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับฟอร์มและผลการแข่งขัน)

ทั้งหลายทั้งปวงที่เป็นประเด็นอยู่นี้ล้วนเริ่มจากการ “จัดฉาก” ของสื่อทั้งสิ้น ไม่ใช่เรื่องที่มีมูลอยู่ก่อนแล้ว และผู้สื่อข่าวปลอมตัวเข้าไปขุดคุ้ยหาความจริง

…แต่ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ลับหลังนั้นบิ๊กแซมจะทำตัวเรียบร้อยตามกฎทุกอย่าง เพราะเขาอาจจะแอบติดต่อกับนักธุรกิจต่างชาติจริงๆ คุยเรื่องซิกแซ็กกฎกรรมสิทธิ์บุคคลที่ 3 จริงๆ หรือยอมรับข้อเสนอมูลค่ามหาศาลเพื่อใช้อำนาจหน้าที่ไปในทางมิชอบจริงๆ ก็ได้ เพียงแต่ไม่ได้กระทำในที่แจ้ง หรือถูกเอามาตีแผ่ต่อหน้าสาธารณะเท่านั้น!

FBL-WC-2018-ENG-FA-ALLARDYCE

การทำข่าวเชิงสืบสวนในลักษณะการวางกับดักของสื่อนั้น ต่างจากปฏิบัติการปลอมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะกรณีหลังมีกฎหมายรองรับระดับหนึ่ง ขณะที่สื่อเป็นคนธรรมดา หลักฐานที่ได้มาจะยอมรับได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือองค์กรที่รับผิดชอบต้องนำไปชั่งน้ำหนักเอาเอง

ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล แค่หนึ่งในเอเยนต์ลูกหนังที่นักข่าวเทเลกราฟใช้มุขเดิมปลอมตัวเป็นนักธุรกิจเอเชียนั่งเจรจาเรื่องทำผิดกฎจนเป็นที่มาของการ “ปรักปรำ” 8 กุนซือระดับพรีเมียร์ลีกทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็มากลับลำเอาดื้อๆ เรียบร้อย

เมื่อ จูเซปเป้ “ปิโน่” ปาเยียร่า เอเยนต์เถื่อนชาวอิตาเลียนที่ปรากฏในคลิปของเทเลกราฟ ออกมาให้สัมภาษณ์สำนักข่าว บีบีซี หลังสกู๊ป “ฟุตบอล ฟอร์ เซล” ออกมาได้ไม่กี่วัน ว่า เรื่องที่เขาบอกว่ามีโค้ชถึง 8 คนที่รับสินบนนั้น เป็นเรื่องโกหก เพราะพยายามปั้นเรื่องขึ้นมาให้ตัวเองดูมีเพาเวอร์ จะได้ได้งานใหญ่จากนักธุรกิจรายนี้

การพลิกลิ้นของปาเยียร่าตีความได้หลายกรณี อาจจะเพราะเจ้าตัวกลัวโดนเรียกสอบเลยรีบกลับคำ อาจจะโดนใครบางคนเอาเงินอุดปากให้ลืมเรื่องนี้ไปเสีย หรือไม่ก็อาจจะโกหกมาแต่แรกจริงๆ ด้วยเหตุผลตามที่กล่าวอ้างไปก็ได้

แต่ที่แน่ๆ คือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน การที่ “แหล่งข่าว” ซึ่งถูกแอบอัดคลิปโดยที่เจ้าตัวไม่รู้เรื่องหรือยินยอม ออกมาแก้ข่าวหรือแม้กระทั่งอ้างว่าถูกล่อหลอกให้พูด ย่อมทำให้ระดับความน่าเชื่อถือของรายงานข่าวชิ้นนั้นๆ สั่นสะเทือนทันที

ส่วนมุมมองของสื่อด้วยกันอย่างคอลัมนิสต์คนหนึ่งของ เดอะ การ์เดี้ยน มองว่า การวางกับดักของเทเลกราฟถือเป็นเรื่องยอมรับได้ เพราะทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ส่วน วอชิงตัน โพสต์ เห็นด้วยกับความเห็นของอัลลาไดซ์ที่ว่า “ปฏิบัติการวางกับดักเป็นฝ่ายชนะ” พร้อมหยิบประโยคเด็ดของ สเวน โกรัน อีริคส์สัน อดีตกุนซือทีมชาติอังกฤษชาวสวีดิชมาอธิบายเหตุการณ์ว่า

“การจะเป็นผู้จัดการทีมสิงโตคำรามได้นั้น คุณต้องชนะให้ได้ทุกเกม ไม่ต้องมีชีวิตส่วนตัวเลย และหวังว่าจะไม่ทำเงินเยอะจนเกินงาม”

เพราะการเป็นผู้จัดการทีมชาติถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่กว่าระดับสโมสร เนื่องจากแบกธงชาติและความหวังของคนในประเทศไว้บนบ่า พฤติกรรมที่โดนเปิดโปงของบิ๊กแซม ถ้าเป็นกุนซือทีมระดับสโมสรหรือทีมเล็กๆ บทลงโทษอาจจะไม่หนักเท่านี้

วอชิงตัน โพสต์ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา สื่อเมืองผู้ดี “โหด” กับกุนซือสิงโตขนาดไหน ทั้งขุดคุ้ยเรื่องส่วนตัว ทั้งตั้งฉายาเชิงล้อเลียนให้ แถมยังวิจารณ์แบบสาดเสียเทเสียเวลาอะไรไม่เป็นดังใจ

…สุดท้ายรายงานพิเศษ “ฟุตบอล ฟอร์ เซล” ของเดลี่ เทเลกราฟ จะเปลี่ยนโฉมวงการลูกหนังอังกฤษไปขนาดไหนเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะแฟนบอลจำนวนไม่น้อยเริ่มบ่นแล้วว่า ปกติโค้ชฟุตบอลเก่งๆ ประสบการณ์เยอะๆ สัญชาติอังกฤษแท้ๆ ก็หายากแล้ว

ยิ่งมาเจอวิกฤตนี้ อีกหน่อยคงต้องหวังพึ่งโค้ชต่างชาติกันยาวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image