สกู๊ปพิเศษ : เปิดประวัติฉาว ‘ไอบ้า’ ก่อนโดน ‘ไอโอซี’ ลงดาบครั้งใหญ่

File Photo : Reuters

หลังจากขู่จะลงดาบ สหพันธ์มวยสากลนานาชาติ (ไอบ้า) มานานหลายเดือน ในที่สุดบอร์ดบริหาร คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ก็มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ระงับสิทธิการจัดการแข่งขันกีฬามวยสากลใน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ไอโอซีเตรียมตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมาดูแลเรื่องนี้แทน ให้ โมรินาริ วาตานาเบะ ประธานสหพันธ์ยิมนาสติกนานาชาติ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน แต่มติทุกอย่างนี้ต้องรอการเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่ไอโอซีที่นครโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายนนี้เสียก่อน ซึ่งโดยหลักปฏิบัติแล้ว ทุกอย่างน่าจะผ่านฉลุยไร้ปัญหา

โธมัส บาค ประธานไอโอซี ให้เหตุผลของการตัดสินใจครั้งนี้ว่า เนื่องจากไอบ้ายังไม่สามารถสะสางปัญหาภายใน ซึ่งเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงจะสร้างความเสียหายแก่กระบวนการโอลิมปิกมูฟเมนต์ จึงจำเป็นต้องริบสิทธิดังกล่าว แต่ก็พร้อมจะยกเลิกบทลงโทษนี้หากไอบ้าสามารถสะสางปัญหาต่างๆ ได้จนเป็นที่น่าพอใจแล้ว

โธมัส บาค / File Photo : AFP

“ปัญหา” ที่บาคระบุนั้น แจกแจงออกเป็น 4 ประเด็นหลักๆ ตามที่ไอโอซีระบุเป็นลายลักษณ์อักษรให้ไอบ้านำเสนอแผนงาน และการดำเนินการแก้ปัญหาอันเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ได้แก่ ปัญหาเรื่องการตัดสินที่โปร่งใส ปัญหาการเงิน ปัญหาการคอร์รัปชั่นภายในองค์กร และปัญหาการใช้สารต้องห้ามในนักกีฬา ซึ่งไอบ้าก็พยายามนำเสนอรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ไอโอซีจะยอมรับได้

Advertisement

อันที่จริง ก่อนจะมาถึงจุดแตกหัก ณ เวลานี้ ไอโอซีให้โอกาสและเวลาไอบ้ามานานมากแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตัดสินที่ไม่โปร่งใสในเวทีการแข่งขันระดับนานาชาติ ซึ่งบ่อยครั้งกลายเป็นกรณีอื้อฉาววิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก

ย้อนไปในยุค อันวาร์ ชอว์ดรี้ อดีตประธานชาวปากีสถานผู้ล่วงลับ นั่งตำแหน่งประธานไอบ้านาน 2 ทศวรรษระหว่างปี 1986-2006

กรณีอื้อฉาวที่สุดในยุคของชอว์ดรี้คือการแข่งขันมวยสากลใน โอลิมปิกเกมส์ 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งครั้งนั้น รอย โจนส์ จูเนียร์ นักชกทีมชาติสหรัฐ ไล่ถลุง ปาร์ก ซี ฮุน นักชกเจ้าถิ่นจนแทบหมดสภาพในรอบชิงชนะเลิศรุ่นไลต์มิดเดิลเวต แต่สุดท้ายกรรมการกลับชูมือให้ปาร์กเป็นผู้ชนะท่ามกลางความตื่นตะลึงของผู้ชมทั่วโลก

Advertisement

ก่อนหน้าไฟต์นั้น ปาร์กก็คว้าชัยแบบค้านสายตามาแล้วในรอบก่อนรองชนะเลิศ หลังจบศึกโซลเกมส์ โจนส์ซึ่งกลับบ้านเกิดจึงตัดสินใจเลิกชกมวยสากลสมัครเล่น เบนเข็มสู่วงการมวยอาชีพเต็มตัวและกลายเป็นแชมป์โลกชื่อดังในที่สุด

จากกรณีอื้อฉาวดังกล่าว บีบให้ชอว์ดรี้ต้องผลักดันให้เกิดระบบการให้คะแนนด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงความจริงใจต่อการแก้ปัญหาเรื่องล็อกผลแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม มวยสากลยังไม่พ้นข้อครหาในประเด็นนี้ เพราะอย่างไรเสียก็เป็นกีฬาที่ต้องใช้วิจารณญาณของกรรมการในการตัดสิน ต่อให้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ให้คะแนนอย่างไร สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับคนกดคะแนนว่าจะยุติธรรมหรือไม่อยู่ดี

ช่วงที่ชอว์ดรี้ยึดเก้าอี้อยู่นาน 20 ปีนั้น ประธานชาวปากีสถานโดนวิจารณ์ว่าเป็นมาเฟียคุมองค์กร มักมีการต่อรองผลประโยชน์และเล่นพรรคเล่นพวก แบ่งเหรียญรางวัลในการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ โดยเฉพาะเวทีโอลิมปิกเกมส์

กระทั่งปี 2006 ไอบ้าเริ่มมีการเปลี่ยนขั้วอำนาจ เมื่อ ดร.ชิง กั๊วะ หวู สถาปนิกและกรรมการบริหารไอโอซีชาวไต้หวัน เฉือนชนะเลือกตั้งชอว์ดรี้ได้หวุดหวิด 83-79 คะแนน

ครั้งนั้น ชิง กั๊วะ หวู ชูประเด็นเรื่องความโปร่งใส จะล้มขั้วอำนาจเก่าเพื่อปฏิรูปองค์กร ท่ามกลางความคาดหวังของคนในวงการ

อย่างไรก็ตาม หลังจากประธานคนใหม่ชาวไต้หวันไล่ “เช็กบิล” บอร์ดเก่าและพันธมิตรของชอว์ดรี้ให้หมดสิทธิหมดเสียงในวงการแล้ว ไอบ้าก็เข้าสู่อีหรอบเดิมของการยึดอำนาจรวมศูนย์ที่บุคคลเพียงไม่กี่คน

สหพันธ์มวยสากลนานาชาติในยุคชิง กั๊วะ หวู พยายามขยายฐานของตนด้วยการก้าวล้ำเข้าสู่วงการมวยอาชีพ ด้วยการจัดตั้งลีกมวยกึ่งอาชีพ เวิลด์ ซีรีส์ ออฟ บ๊อกซิ่ง (WSB) รวมถึงความพยายามตั้งสถาบันมวยอาชีพของตัวเองในชื่อ ไอบ้า โปร บ๊อกซิ่ง (APB) ขึ้นมา โดยอาศัยความได้เปรียบเรื่องโควต้าโอลิมปิกเกมส์เป็นตัวล่อใจนักชกอาชีพให้เข้าแข่ง ถึงขั้นที่องค์กรมวยอาชีพระดับโลกอย่าง สภามวยโลก (ดับเบิลยูบีซี) ต้องประกาศห้ามนักชกที่มีอันดับในดับเบิลยูบีซีร่วมแข่งมวยของไอบ้า ไม่เช่นนั้นจะโดนแบนทันที

แม้ WSB จะสามารถฝืนจัดได้ถึง 8 ซีซั่นในขณะนี้ แต่ APB ก็เงียบหายไปกับกาลเวลา ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องคำตัดสินในมหกรรมกีฬาต่างๆ ก็ยังคงมีให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ เช่นเคย

ใน โอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ แฟนมวยชาวไทยขัดใจกับบทสรุปของรอบชิงรุ่นไลต์ฟลายเวตที่ แก้ว พงษ์ประยูร นักชกร่างเล็กของเราพ่ายให้ ซู ชิ หมิง (หรือ โจว ซื่อหมิง) นักมวยชาวจีน แบบค้านสายตา โดยเวลานั้น ชิง กั๊วะ หวู นั่งชมการแข่งขันอยู่ข้างสนามพอดี

ต่อมาใน “รีโอเกมส์” โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ได้เกิดกรณีอื้อฉาวใหญ่โตหลายไฟต์หลายรุ่น โดยเฉพาะในรุ่นเฮฟวี่เวต และรุ่นแบนตัมเวตของ ฉัตร์ชัย บุตรดี ซึ่งแพ้ให้นักชกรัสเซีย วลาดิเมียร์ นิคิติน ในรอบ 16 คนสุดท้าย แบบค้านความรู้สึกแฟนมวยทั่วโลก ทั้งที่ต่อยได้จะแจ้งกว่า ฝากรอยแผลให้นิคิตินได้หลายหมัด

เท่านั้นไม่พอ ในรอบก่อนรองชนะเลิศ นิคิตินยังไปชนะ ไมเคิล คอนแลน นักชกไอริชแบบค้านสายตาอีก ทำเอาคอนแลนไม่พอใจ ประท้วงอย่างรุนแรงและวิจารณ์ไอบ้าว่าจงใจล็อกผลการแข่งขัน

ไฟต์ปัญหา คอนแลน vs นิคิติน ในรีโอเกมส์ / File Photo : Reuters

ต่อมา ไอบ้าโดนไอโอซีและคนในวงการกดดันจนต้องสังคยนาเรื่องกรรมการ โดยลงโทษแบนกรรมการและผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ในรีโอเกมส์ 36 คน แต่ยืนยันว่าคำตัดสินโดยรวมยังคงได้มาตรฐาน

กรณีอื้อฉาวที่รีโอเกมส์เป็นหนึ่งในชนวนที่ทำให้ชิง กั๊วะ หวู เริ่มหมดอำนาจลงเรื่อยๆ

กระทั่งการประชุมบอร์ดบริหารไอบ้าที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2017 จึงเกิดจุดเปลี่ยน เมื่อบอร์ดไอบ้าลงมติ 13 จาก 15 เสียง ไม่ไว้วางใจการทำหน้าที่ของชิง กั๊วะ หวู โดยยกประเด็นเรื่องเงินๆ ทองๆ มาเป็นเหตุผล และระงับอำนาจหน้าที่ของประธานชาวไต้หวันทั้งหมด

บอร์ดไอบ้าระบุว่า ประธานชาวไต้หวันบริหารงานผิดพลาด ไปกู้ยืมเงินบริษัท เบนคอนส์ ของอาเซอร์ไบจาน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (310 ล้านบาท) เมื่อปี 2011 และโดนทวงเงินในปี 2017 แต่ไม่มีเงินคืนเนื่องจากไอบ้ามีเงินสดในบัญชีราว 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (217 ล้านบาท) สุ่มเสี่ยงจะล้มละลายหากโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย

เรื่องราวหลังจากนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อหวังรักษาเก้าอี้และยึดอำนาจในองค์กร หลังจากวุ่นวายกันอยู่ช่วงหนึ่ง ในที่สุดชิง กั๊วะ หวู ก็ยอมถอยด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งกลางปี 2018

หลังจากนั้นไม่นาน ไอบ้าก็ตั้ง กาฟูร์ ราคิมอฟ นักธุรกิจชาวอุซเบกิสถานขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานชั่วคราว ซึ่งตอนนั้นเองที่ไอโอซีเริ่มขยับตัวแสดงความเป็นห่วงอย่างจริงจัง

เนื่องด้วยราคิมอฟมีข่าวลือไม่สู้ดีว่าทำธุรกิจในโลกเบื้องหลัง มีความเกี่ยวพันกับแก๊งมาเฟียในประเทศ และยังโดนกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำด้วย

ผู้สังเกตการณ์บางส่วนมองว่า ความเคลื่อนไหวอย่างโจ่งแจ้งของไอโอซีในครั้งนี้อาจเป็นเพราะต้องการช่วยเหลือชิง กั๊วะ หวู ที่มีตำแหน่งอยู่ในบอร์ดบริหารไอโอซีก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้นเรื่องประวัติไม่โปร่งใสของราคิมอฟก็ยังไม่อาจมองข้ามได้อยู่ดี

ชิง กั๊วะ หวู (AFP) – กาฟูร์ ราคิมอฟ (AP)

ไอโอซียื่นคำขาดกับไอบ้าให้ปลดราคิมอฟออกจากตำแหน่งประธาน รวมถึงแก้ปัญหาต่างๆ 4 ข้อที่ระบุไว้ข้างต้น ไม่เช่นนั้นกีฬามวยสากลอาจโดนถอดจากการแข่งขัน โอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในอีก 5 ปีข้างหน้า

ระหว่างโดนไอโอซีบีบนั้น ไอบ้าพยายามที่จะสะสางปัญหาต่างๆ ที่ได้รับมอบหมาย เช่นการร่วมมือกับองค์กรอิสระด้านการควบคุมสารต้องห้าม การปฏิรูปโครงสร้างองค์กรเพื่อความโปร่งใส รวมถึงการริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อภาพลักษณ์ในเชิงบวก

ส่วนตัวราคิมอฟเองยังคงยืนยันความบริสุทธิ์ใจและแสดงเจตนาเดินหน้าทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยการลงสมัครเลือกตั้งประธานไอบ้าคนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน 2018

ขณะเดียวกันทางองค์กรก็พยายามสู้ด้วยประเด็นความน่าเห็นใจของนักกีฬาที่ต้องตกเป็น “ตัวประกัน” จากความขัดแย้งของไอบ้ากับไอโอซี ทำให้ไอโอซีต้องเปลี่ยนเกมมาขู่ระงับการทำหน้าที่จัดการแข่งขันของไอบ้าแทน

ในที่สุดหลังจากทนแรงกดดันไม่ไหว ราคิมอฟต้องยอมถอยลาออกจากตำแหน่งในเดือนมีนาคม 2019 โดยไอบ้าได้ตั้ง นายแพทย์โมฮาเหม็ด มุสตาห์ซาน รองประธานไอบ้าชาวโมร็อกโก นั่งรักษาการประธานไอบ้าชั่วคราว

ขณะที่สถานการณ์ต่างๆ เริ่มคลี่คลายในทางบวก ไอโอซีก็มามีมติดังกล่าวอย่างกะทันหัน ทำให้ไอบ้าต้องเจอกับปมขนาดใหญ่ที่ต้องเร่งคลายให้ได้อีกครั้ง

เผลอๆ โตเกียวเกมส์หนนี้คงแก้ปัญหาอะไรไม่ทัน และไม่รู้ว่าปารีสเกมส์ในอีก 5 ปีข้างหน้า ปัญหาจะยิ่งฝังรากลึกลงไปหรือเปล่า!?!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image