สกู๊ปพิเศษ : คาสเตอร์ เซเมนย่า และปัญหาเรื่อง ‘เพศ’ ในโลกกีฬา

(Photo by Lachlan Cunningham/Getty Images)

เรื่องราวของ คาสเตอร์ เซเมนย่า นักกรีฑาชาวแอฟริกาใต้ ดีกรีแชมป์โลกและแชมป์โอลิมปิกเกมส์วิ่ง 800 เมตร หญิง ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงเรื่องความเสมอภาคทางเพศที่ยาวนานและเชื่อว่าคงจะถูกหยิบยกมาเป็นกรณีตัวอย่างในวงการกีฬาโลกอีกนานเช่นกัน

เคสของเซเมนย่ากลายเป็นประเด็นร้อนในวงการกีฬาโลกตั้งแต่ปี 2009 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เธอแจ้งเกิดเต็มตัวด้วยการคว้าแชมป์โลกวิ่ง 800 เมตร ขณะอายุเพียง 18 ปี ทั้งที่เป็นการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์โลกหนแรกในชีวิต

เซเมนย่าโดนโค้ชและนักกีฬาคู่แข่งหลายคนสงสัยว่าเป็นผู้ชายปลอมตัวมาแข่งขันกับผู้หญิง จึงเรียกร้องและกดดัน สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (ไอเอเอเอฟ) ให้ตรวจเพศเพื่อความโปร่งใส

แรกๆ สหพันธ์ก็ยังวางเฉยเพราะมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป แต่เมื่อทนแรงกดดันไม่ไหว จึงต้องจับเซเมนย่ามาตรวจเพศโดยห้ามเธอลงแข่งขันรายการต่างๆ เป็นการชั่วคราวก่อนรู้ผล โดยกว่าที่นักวิ่งสาวชาวแอฟริกาใต้จะกลับมาแข่งขันได้ก็ในเดือนกรกฎาคมปี 2010 โดยผลตรวจชี้ชัดว่าเธอมีลักษณะทางกายภาพเป็นผู้หญิงแท้ๆ เพียงแต่มีระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนหรือฮอร์โมนเพศชายสูงกว่าระดับของผู้หญิงทั่วๆ ไปค่อนข้างมาก ซึ่งฮอร์โมนชนิดนี้มีผลต่อการเติบโตของกล้ามเนื้อ จึงทำให้ร่างกายของเซเมนย่าแข็งแรงกว่าผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนปกติ

Advertisement

หลังจากผลตรวจเป็นที่กระจ่าง เซเมนย่าก็กลับมาร่วมแข่งขันตามปกติ และคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ประเภท 800 เมตร หญิง ได้ 2 สมัย ใน “ลอนดอนเกมส์” ปี 2012 และ “รีโอเกมส์” ปี 2016 รวมถึงคว้าแชมป์โลกได้อีก 2 สมัยด้วย

แน่นอนว่ากระแสต่อต้านและเรียกร้องให้สหพันธ์ “แบน” เซเมนย่าจากการแข่งขัน หรือกำหนดเงื่อนไขบางอย่างออกมาเพื่อให้การแข่งขัน “แฟร์” ขึ้น เนื่องจากระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนในร่างกายของเซเมนย่าทำให้เธอแข็งแกร่งเกินนักกีฬาหญิงคนอื่นๆ ขณะที่ฝั่งเซเมนย่ากับแฟนๆ ของเธอก็โต้ว่า ฮอร์โมนที่ผิดปกตินี้เป็นสิ่งที่ติดตัวเธอมาแต่กำเนิด ไม่ได้เป็นการเจตนาใช้ยาเพื่อให้ตัวเองได้เปรียบเหนือคู่แข่งซึ่งจะเข้าข่ายการ “โด๊ป” แต่อย่างใด

REUTERS / Siphiwe Sibeko

สุดท้ายแล้ว สหพันธ์ก็ตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกฎใหม่ช่วงปลายปี 2018 ก่อนประกาศใช้เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้ว เป็นกฎว่าด้วยการควบคุมฮอร์โมนของนักกีฬาหญิง โดยระบุว่า นักกีฬาประเภทวิ่ง 400, 800 และ 1,500 เมตร ที่มีระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนสูงกว่าผู้หญิงทั่วๆ ไป ต้องรับยาลดฮอร์โมนให้ไม่เกิน 5 นาโนโมลต่อลิตร อย่างน้อย 6 เดือนก่อนแข่งขันรายการระดับนานาชาติ

Advertisement

นอกจากเซเมนย่าแล้ว ยังมีนักกีฬาหญิงอีกหลายรายที่ได้รับผลกระทบจากกฎนี้ ซึ่งเซเมนย่าก็สู้ถึงที่สุดด้วยการยื่นฟ้องร้องต่อ ศาลอนุญาโตตุลาการกีฬาโลก (ซีเอเอส) และศาลสูงประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่สุดท้าย ศาลก็มีคำตัดสินให้สหพันธ์ใช้กฎดังกล่าวได้ โดยซีเอเอสระบุว่า กฎนี้อาจจะละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของเซเมนย่าและนักกีฬาหญิงบางคนจริง แต่ก็เป็นทางเลือกเพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างยุติธรรม

หลังจากนั้น เซเมนย่าก็ไม่ได้ร่วมแข่งขันกรีฑาระดับนานาชาติอีก และตัดสินใจเซ็นสัญญากับทีมฟุตบอลหญิงอาชีพ เจวีดับเบิลยู เอฟซี ในแอฟริกาใต้ โดยรวมซ้อมกับทีมแล้ว แต่จะเริ่มต้นเปิดตัวได้ในปีหน้า

ที่น่าสนใจคือ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ก็กำลังเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงกฎว่าด้วยการจำกัดระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนของนักกีฬาที่แปลงเพศจากชายเป็นหญิง เพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรมเช่นกัน

ไอโอซีตั้งใจจะออกกฎและแนวทางปฏิบัติในประเด็นนี้ก่อนหน้าการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น จะเปิดฉากในปีหน้า แต่ข่าววงในบอกว่าร่างกฎข้อบังคับใหม่นี้เกิดสะดุดขึ้นมาเนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ยังเสียงแตกในประเด็นดังกล่าว

สำหรับกฎปัจจุบันซึ่งเริ่มใช้ในเดือนพฤศจิกายนปี 2015 ระบุว่า นักกีฬาที่แปลงเพศต้องมีระดับฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนต่ำกว่า 10 นาโนโมลต่อลิตรอย่างน้อย 12 เดือนก่อนแข่ง แต่กฎนี้โดนวิจารณ์หนักเนื่องจากระดับฮอร์โมนตัวนี้ของผู้หญิงทั่วๆ ไปอยู่ที่ 0.12-1.79 นาโนโมลต่อลิตร ส่วนของผู้ชายอยู่ที่ 7.7-29.4 นาโนโมลต่อลิตร

จึงมีเสียงเรียกร้องให้ลดระดับฮอร์โมนให้ไม่เกิน 5 นาโนโมลต่อลิตรแทน แต่นักวิทย์ฝั่งที่ไม่เห็นด้วยนำเสนอผลวิจัยจากสถาบันวิจัยในสวีเดนว่า การลดฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนสำหรับชายที่แปลงเพศเป็นหญิงจะส่งผลให้กล้ามเนื้ออ่อนแอลงได้ จึงต้องถกเถียงกันต่อด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์

และไม่รู้ว่าจะประกาศใช้ได้ทันตามที่ไอโอซีต้องการหรือไม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image