สกู๊ปพิเศษ : 5 ประวัติศาสตร์ “มาราธอน” โลก

สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เอลิอุด คิปโชเก้ นักวิ่งปอดเหล็กชาวเคนยา เจ้าของเหรียญทองมาราธอนชายจากโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้วงการกีฬาของมวลมนุษยชาติ เมื่อเขาสามารถวิ่งฟูลมาราธอนเต็มระยะทาง 42.195 กิโลเมตร ด้วยเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมงเป็นคนแรกของโลก
คิปโชเก้เข้าเส้นชัยที่สวนสาธารณเพรเตอร์ปาร์กในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 12 ตุลาคม 2019 ด้วยเวลา 1 ชั่วโมง 59 นาที 40.2 วินาที
แม้เส้นทางการวิ่งจะค่อนข้างเอื้อให้ทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงดังกล่าว แต่ความสำเร็จของคิปโชเก้ก็มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และช่วยตอกย้ำถึงความเป็นไปได้ในการท้าทายขีดจำกัดของมนุษย์ จากที่เชื่อกันมาตลอดว่าคนเราไม่มีทางวิ่งมาราธอนในเวลาต่ำกว่า 2 ชั่วโมงได้
ในการณ์นี้ สำนักข่าว เอเอฟพี ได้ย้อนรอยประวัติศาสตร์ 5 เหตุการณ์สำคัญของการวิ่งมาราธอนที่ถูกบันทึกไว้เป็นตำนานมาจนถึงปัจจุบัน…

ปี 1896 : วีรบุรุษกรีก
ตำนานของการแข่งขันวิ่งมาราธอนกล่าวไว้ว่า ย้อนไปในยุค 490 ปีของคริสตกาล กองทัพกรีซออกรบกับเปอร์เซียจนได้รับชัยชนะ ฟิดิปปิดีส พลทหารส่งสาร รับหน้าที่วิ่งจากเมืองมาราธอน สถานที่ทำศึก ไปยังกรุงเอเธนส์เพื่อแจ้งข่าวชัยชนะ
ทันทีที่ถึงที่หมาย เขาตะโกนประกาศชัยชนะ จากนั้นก็ขาดใจตายตรงนั้น ซึ่งปัจจุบันมีการสร้างรูปปั้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ฟิดิปปิดีสที่กรุงเอเธนส์ด้วย
ต่อมาเมื่อ บารอน ปิแอร์ เดอ คูแบร์แต็ง บิดาแห่งโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่ รื้อฟื้นมหกรรมกีฬายุคโบราณนี้ขึ้นอีกครั้ง โดยจัดแข่งครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ในปี 1896 เขาก็นำตำนานนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันวิ่งมาราธอน

มาราธอนในโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรก มีนักกีฬาเข้าร่วม 17 คน ออกสตาร์ตจากเมืองมาราธอนไปสิ้นสุดที่สนามโอลิมปิกสเตเดียมในกรุงเอเธนส์ ระยะทางตอนนั้นยังแค่ 40 กิโลเมตร ไม่ใช่ระยะทางมาตรฐานแบบปัจจุบัน
เจ้าของเหรียญทองมาราธอนโอลิมปิกคนแรกคือ สไพรีดอน หลุยส์ อดีตทหารและคนเลี้ยงแกะชาวกรีก ซึ่งกลายเป็นวีรบุรุษของประเทศ หลังเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 58 นาที หลังจากแวะจิบไวน์ระหว่างทาง

Advertisement

ปี 1908 : ผู้แพ้ที่ยิ่งใหญ่
ในการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในอีก 12 ปีถัดมา โดรันโด้ ปิเอตรี นักวิ่งชาวอิตาเลียน เจ้าของส่วนสูงเพียง 159 เซนติเมตร เข้าสู่สนามไวท์ซิตี้ สเตเดียม ด้วยภาวะขาดน้ำ ร่างกายอ่อนเพลียหมดสภาพ ได้แต่เดินสะเปะสะปะไปยังเส้นชัย
ช่วงสุดท้าย ผู้ชมหลายคนลงไปช่วยพยุงเขาข้ามเส้นชัย ทำเวลาเป็นอันดับ 1 ที่ 2 ชั่วโมง 54 นาที 46 วินาที ก่อนล้มหมดสติตรงนั้น
การที่มีคนอื่นเข้าไปช่วยพยุงเข้าเส้นทำให้ปิเอตรีโดนปรับแพ้ ขณะที่เหรียญทองตกเป็นของ จอห์นนี่ เฮย์ส นักวิ่งชาวอเมริกัน ซึ่งเข้าเส้นชัยตามหลัง 32 วินาที หลังจากทีมสหรัฐประท้งรักษาสิทธิ แต่ พระราชินีอเล็กซานดรา พระชายาของ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ของอังกฤษ ทรงประทับใจในความพยายามของปิเอตรี จึงพระราชทานถ้วยเงินเป็นรางวัลปลอบใจ

มาราธอนชายในโอลิมปิกเกมส์หนนี้ ออกสตาร์ตจากพระราชวังวินด์เซอร์ไปยังไวท์ซิตี้ สเตเดียม กลายเป็นระยะทางมาตรฐาน 42.195 กิโลเมตรมาจนปัจจุบัน แต่มีระยะทางพิเศษเพิ่มขึ้นมา 385 หลา (352 เมตร) เนื่องจากฝ่ายจัดขยับเส้นชัยให้ไปตรงกับอัฒจันทร์ที่ประทับพอดี

Advertisement

ปี 1960 : บิกิล่า นักวิ่งเท้าเปล่า
อเบเบ้ บิกิล่า ปอดเหล็กชาวเอธิโอเปีย กลายเป็นซุปเปอร์สตาร์ของวงการกีฬาโลก หลังจากลงแข่งขันมาราธอนในโอลิมปิกเกมส์ 1960 ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยไม่สวมรองเท้า
นอกจากจะคว้าเหรียญทองแดง ยังสร้างสถิติโลกขึ้นใหม่ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที 16 วินาที กลายเป็นนักวิ่งจากแอฟริกาคนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้าเหรียญทองมาราธอนจากโอลิมปิกเกมส์
การแข่งขันครั้งนี้ต้องเลื่อนไปจัดในช่วงบ่ายถึงเย็นเนื่องจากหวั่นสภาพอากาศร้อนจัดจะเป็นอันตรายต่อนักกีฬา

4 ปีต่อมา บิกิล่าป้องกันแชมป์ในโอลิมปิกเกมส์ที่โตเกียว กลายเป็นนักวิ่งคนแรกที่คว้าเหรียญทองมาราธอนโอลิมปิกได้ 2 สมัย และเป็นผู้กรุยทางความสำเร็จของปอดเหล็กจากทวีปแอฟริกาในเวลาต่อมา

ปี 1967 : นักวิ่งหญิงร่วมแข่งขัน
เมื่อครั้งโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกในปี 1896 สตามาต้า เรวิธี สาวชาวกรีกหวังจะสมัครเข้าร่วม แต่ไม่ได้รับอนุญาต และผู้หญิงก็ถูกห้ามร่วมแข่งขันมาราธอนทุกรายการด้วยเหตุผลด้านสุขภาพและภาพลักษณ์ที่ขัดกับความเป็นหญิง
เวลาผ่านไป 71 ปี แคธรีน สวิตเซอร์ นักศึกษาวารสารศาสตร์ชาวอเมริกันวัย 20 ปี ก็พิสูจน์ให้โลกได้เห็นด้วยการเข้าร่วมแข่งขัน บอสตัน มาราธอน และกลายเป็นผู้หญิงคนแรกของโลกที่วิ่งมาราธอนอย่างเป็นทางการได้เต็มระยะทาง ทำเวลา 4 ชั่วโมง 20 นาที
สวิตเซอร์แอบเข้าร่วมด้วยการลงทะเบียนด้วยชื่อย่อ เควี สวิตเซอร์ แต่พอไปปรากฏตัวในการแข่งขัน เจ้าหน้าที่คนหนึ่งพยายามจะไล่เธอออกจากสถานที่แข่ง แต่โค้ชกับแฟนหนุ่มของสวิตเซอร์เข้าไปขวางไว้
เหตุการณ์นี้มีคนจับภาพไปเผยแพร่ทั่วโลก ทำให้สวิตเซอร์กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในทันที
กว่าที่บอสตัน มาราธอน จะเปิดให้ผู้หญิงเข้าแข่งอย่างเป็นทางการก็ในปี 1972 ส่วนโอลิมปิกเกมส์บรรจุกีฬามาราธอนหญิงครั้งแรกในปี 1984
สวิตเซอร์ร่วมแข่งขันและคว้าแชมป์ นิวยอร์ก มาราธอน ในปี 1974 และเมื่อปี 2017 ในวัย 70 ปี เธอกลับไปแข่งที่บอสตัน สวมหมายเลข 261 เบอร์เดิมที่เคยใช้แข่งเมื่อปี 1967 และเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 4 ชั่วโมง 44 นาที 31 วินาที

ปี 2018 : สถิติถูกทำลาย
กล่าวกันว่าการแข่งขัน เบอร์ลิน มาราธอน เป็นรายการที่เหมาะกับการทำลายสถิติโลกมาราธอนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเส้นทางวิ่งอยู่บนพื้นราบเสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องวิ่งขึ้นที่สูงหรือพื้นที่ชันให้เปลืองแรง อีกทั้งเส้นชัยยังอยู่ตรงสถานที่ประวัติศาสตร์อย่างประตูบรันเดนบวร์กด้วย

เอลิอุด คิปโชเก้ แชมป์โอลิมปิกชาวเคนยา ทำสำเร็จด้วยการเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 ที่เบอร์ลินเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ทำเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที ดีกว่าสถิติเดิมของ เดนนิส คิเม็ตโต้ ถึง 78 วินาที
อันที่จริง คิปโชเก้เคยวิ่งได้เร็วกว่านั้นในรายการพิเศษที่มอนซา ประเทศอิตาลี เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2017 ซึ่งทำเวลา 2 ชั่วโมง 25 วินาที แต่เนื่องจากเป็นการวิ่งที่อาศัยแท็กติกแบบไทม์ไทรอัลหวังทลายกำแพง 2 ชั่วโมง จึงไม่ได้รับการรับรองจาก สหพันธ์กรีฑานานาชาติ (ไอเอเอเอฟ) แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความผิดหวังที่ยังทำลายกำแพง 2 ชั่วโมงลงไม่ได้

…กระทั่งมาทำสำเร็จเมื่อเช้าวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image