สกู๊ปพิเศษ : ดวลเดือด’สมยศ-วรวีร์-ภิญโญ’ ใครจะขึ้นแท่นประมุขบอลไทย

หลังจากที่ฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย 2020 รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปีจบลง รวมถึงการต่อสัญญาฉบับใหม่กับ อากิระ นิชิโนะ หัวหน้าผู้ฝึกสอนชาวญี่ปุ่น ให้ทำงานกับ “ช้างศึก” ทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ชุดใหญ่และชุดยู-23 ต่อไปอีก 2 ปีเรียบร้อย ทุกโฟกัสของวงการฟุตบอลไทยตอนนี้ คงหนีไม่พ้นการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ

โดยการประชุมใหญ่พิเศษของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ซึ่งมีวาระการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะมีขึ้นที่**โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัล ลาดพร้าว** ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เวลา 10.00 น.

หลังจากที่ปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา ก็มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประมุขลูกหนังไทยทั้งสิ้น 3 คน กับ 2 ทีมงานด้วยกัน ได้แก่ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ คนปัจจุบัน ที่มากับทีมงานสภากรรมการแบบครบชุด เช่นเดียวกับ “บิ๊กอู๊ด” ดร.ภิญโญ นิโรจน์ อดีตสภากรรมการสมาคมฯ ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ที่มาแบบครบทีม และยังมี “บังยี” นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ ที่หวังกลับมาทวงตำแหน่งคืนอีกครั้ง โดยสมัครแบบ “ข้ามาคนเดียว”

อย่างไรก็ตามหลังจากผ่านขั้นตอนของการตรวจคุณสมบัติของผู้สมัครต่างๆ ได้มีการแจ้งว่า นายวรวีร์ ไม่ผ่านคุณสมบัติ โดยมี 2 ข้อใหญ่ๆ ก็คือ การห้ามผู้ที่กำลังถูกสมาคมฯฟ้องร้องอยู่ลงสมัคร และ การที่นายวรวีร์ เคยถูกคําสั่งลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการกีฬาฟุตบอลจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) สมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) หรือสหพันธ์ฟุตบอลอาเซียน (เอเอฟเอฟ)

Advertisement

ซึ่งนายวรวีร์เองได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงตอบโต้ในเรื่องนี้ โดยยืนยันว่า การถูกสมาคมฯ ฟ้องร้องนั้น คดีความยังไม่สิ้นสุด และขัดกับพ.ร.บ.กีฬา ส่วนข้อที่โดนฟีฟ่าลงโทษนั้น ศาลกีฬาโลก ได้ตัดสินพิพากษาให้พ้นโทษแบน และกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว
เรื่องนี้ทางบังยีก็เตรียมที่จะให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ แต่ในกรณีแบบนี้ข้อบังคับของทางสมาคมฯ ระบุไว้ชัดเจน ซึ่งทางกกท.เองจะไม่สามารถทำอะไรได้มากนอกจากเข้ามาสอบถามความเป็นไปจากทางสมาคมฯ และยืนดูห่างๆ อย่างห่วงๆ ในฐานะผู้สังเกตุการณ์เท่านั้น

เพราะอย่าลืมว่าถ้าหากกกท.ลงมามีเอี่ยวกับการเลือกตั้ง จะเป็นการผิดต่อข้อบังคับของทางฟีฟ่า ที่ห้ามให้หน่วยงานราชการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มิเช่นนั้นอาจจะเสี่ยงกับการที่ฟุตบอลไทยจะถูกแบน หรือทำให้ฟีฟ่าต้องลงมาควบคุมการเลือกตั้งด้วยตัวเองเหมือนหนก่อน ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีกับฟุตบอลไทยอย่างแน่นอน เพราะฟุตบอลลีกกำลังจะเปิดฉาก และถ้าไม่มีนายกสมาคมฯ ก็จะส่งผลยาวกับการเตรียมงานตลอดทั้งปีแน่นอน

Advertisement

ดังนั้นเห็นได้ชัดเลยว่าการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลครั้งนี้ เดือดตั้งแต่แค่รับสมัครและประกาศผู้ผ่านการตรวจคุณสมบัติเลยทีเดียว

ถ้าหากทุกอย่างเป็นไปตามที่สำนักเลขาธิการได้แจ้งไปนั้น เท่ากับว่าแคนดิเดตในการเลือกตั้งนายกสมาคมฯ จะมีเพียง 2 คนเท่านั้นก็คือพล.ต.อ.สมยศ และ ดร.ภิญโญ

สำหรับขั้วอำนาจปัจจุบันอย่าง พล.ต.อ.สมยศ นั้น นับตั้งแต่ที่เข้ามารับหน้าที่เมื่อ 4 ปีที่แล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือการบริหารงานที่เป็นระบบมากขึ้น มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ การจ่ายเงินสนับสนุนสโมสรทำได้อย่างครบถ้วนไม่ขาดตกบกพร่อง

นอกจากนี้ยังมีแผนงานในการพัฒนาทีมชาติไทยระยะยาว เช่นการร่วมมือกับกลุ่มบริษัท คิงเพาวเวอร์ ในการสร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ที่อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ขึ้นมา อีกทั้งการจัดระบบการแข่งขันต่างๆ โดยเฉพาะทีมชาติ ทำตรงตามปฏิทินของฟีฟ่าตลอด อันดับโลกพัฒนาขึ้นมาจนอยู่ในระดับใกล้เคียงเลขสองหลักมากขึ้่น

ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหาหลักคือผลงานของทีมชาติทุกชุดที่ตกต่ำลงมาอย่างมาก สวนทางกับอันดับโลก ทั้งการตกรอบแรกซีเกมส์ พลาดแชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ หรือบอลเยาวชนพ่ายในระดับอาเซียนทั้งหมด รวมถึงปัญหาของคนดูฟุตบอลไทยลีกลดลง ทีมฟุตบอลล้มหายตายจากกันไปอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

สำหรับทีมงานของ บิ๊กอ๊อด ประกอบด้วย อุปนายก นายอรรณพ สิงห์โตทอง, นายศุภสิน ลีลาฤทธิ์, นางลัขณานันท์ ลักษมีธนานันต์, น.ส.ศิริมา พานิชชีวะ, นายอดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ

กรรมการกลาง นายยุทธนา หยิมการุณ, พล.ร.ต.นิกูล อินทรสุวรรณ, นายธวัช อุยสุย, นายมิตติ ติยะไพรัช, นายทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์, นายสมเกียรติ กิตติธรกุล, รศ.ดร.วิชิต คนึงสุขเกษม, นายธนวัชร์ นิติกาญจนา, น.ส.นันทนี วงศ์อำนิษฐกุล, นายณัฐ ชยุติมันต์, นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ, นายพาณุวัฒน์ สะสมทรัพย์ และนายบริพัฒน์ สมมี

บิ๊กอ๊อด บอกว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้ต้องลงสมัครอีกครั้ง คือ มีเสียงเรียกร้องจากสมาชิก, มีงานต่อเนื่องที่จะต้องทำตามตามแผนยุทธศาสตร์แม่บท 20 ปี, มีเรื่องของคดีความการฟ้องร้องต่างๆ ที่ถ้าไม่อยู่เองอาจจะส่งผลเสียหายต่อสโมสรสมาชิก รวมถึงศูนย์ฝึกฟุตบอลแห่งชาติ ที่กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ มีการทำบันทึกข้อตกลงชัดเจนว่าจะยุติการสนับสนุนหากว่าตัวเองไม่ได้เป็นนายกสมาคมฯ

ส่วนเป้าหมายในการทำงาน 4 ปีข้างหน้านั้น คือการพาทีมชาติไทยขยับแรงกิ้งฟีฟ่าให้อยู่ในเลข 2 หลักให้ได้ รวมถึงการพัฒนาการแข่งขันระดับเยาวชน หรือ “ยูธลีก” ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มเงินรางวัลให้กับการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศทุกระดับชั้น ซึ่งเงินตรงนี้มาจากเงินสิทธิประโยชน์ของการถ่ายทอดสด ที่แต่ละสโมสรสมาชิกร่วมกันทำมา

ทางฝั่งของ บิ๊กอ๊อด ถือว่าค่อนข้างมั่นใจ ถึงกับประกาศออกมาลยว่าตอนนี้มีถึง 50 จาก 69 เสียงที่มีสิทธิเลือกตั้งนั้นพร้อมสนับสนุนให้นั่งตำแหน่งอีกครั้ง

ฝั่งบิ๊กอู๊ดนั้นถือว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในวงการฟุตบอลมาเป็นเวลานาน เคยเป็นสภากรรมการให้กับสมาคมฯมาหลายสมัย รวมถึงสมัยก่อนหน้านี้ในยุคของนายวรวีร์ ดังนั้นดังนั้นไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากจะมีคนมองกันว่านี่คือนอมินีของนายวรวีร์ แม้ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธเรื่องนี้อย่างชัดเจนก็ตาม

โดยดร.ภิญโญ่ เผยถึงสาเหตุที่ลงมาสมัครว่าฟุตบอลไทยสมัยที่ตัวเองเป็นสภากรรมการนั้นทีมชาติพัฒนาไปมาก แต่ตอนนี้เหมือนหยุดการพัฒนา จึงอยากกลับมาทำให้ถูกทางและโปร่งใส

สำหรับทีมงานของ ดร.ภิญโญในการชิงตำแหน่งครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ดร.ปัญญา หาญลำยวง, พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์, พล.อ.ราชรักษ์ เรียนพืชน์, นายสามารถ มะลูลีม, ดร.วิชัย ล้ำสุทธิ, นายฐิติพงศ์ เขียวไพศาล, ดร.จุฑา ติงศภัทย์, นายสุนทร มีสุวรรณ, นายชัยโชค พุ่มพวง, นายธีระพงษ์ วัฒนวงษ์ภิญโญ, นายสมศักดิ์ อรุณสุรัตน์, นายอติพล สุวรรณดี, นายคณบดี แย้มชุติ, นายภีมเดช อมรสุคนธ์, นายอนุชา ไชยเทศ, นายสุพจน์ งดงาม

ส่วนเรื่องของนโยบายนั้น ดร.ภิญโญ เปิดประเด็นในส่วนของทีมชาติว่าจะต้องเร่งพัฒนาทีมเยาวชนให้แข็งแกร่ง เพราะว่าเป็นรากฐานของทีมชุดใหญ่ เพิ่มประสบการณ์ในการแข่งขัน มีการเตรียมตัวอย่างมีประสิทธิภาพ จัดตั้งศูนย์ฟุตบอลให้ครบทั้ง 5 ภาค สรรหาบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ และเน้นการพาฟุตบอลไทยไปฟุตบอลโลกให้ได้

พร้อมด้วยการย้ำว่าถ้าหากได้เข้ามารับงานตรงนี้จะทวงแชมป์ซีเกมส์และเป็นแชมป์ต่อเนื่อง 2 สมัยให้ได้ รวมถึงเข้ารอบรองชนะเลิศเอเชี่ยนเกมส์ ส่วนฟุตบอลหญิงก็จะต้องได้ไปฟุตบอลโลกสมัยที่ 3 ติดต่อกัน พร้อมมีลีกอย่างเป็นทางการด้วย

ส่วนฟุตบอลลีกนั้น จะให้ไทยลีก1-2 กลับมามี 18 ทีมตามเดิม เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล และเพิ่มเงินรางวัลให้มากขึ้น เพราะตอนนี้ทุกทีมรายจ่ายเพิ่ม แต่แชมป์กลับได้เพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น ส่วนที3-4 จะต้องให้ความสำคัญ เพราะว่าเป็นทีมจากภูมิภาค สร้างให้คนท้องถิ่นรักกีฬาฟุตบอล รวมถึงสร้างเยาวชนด้วย จะหาวิธีให้ผู้สนับสนุนเพิ่มมากขึ้น ไม่ต้องดิ้นรนหาเงิน เนื่องจากทุกวันนี้มีการขายสิทธิ เปลี่ยนมือคนทำทีมไปเรื่อย

เรื่องอื่นๆ นั้นก็มีการพัฒนาผู้ตัดสินให้ไปสู่ระดับนานาชาติ สร้างผู้ตัดสินหน้าใหม่ รวมถึงการสนับสนุนรัฐบาลในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034 และการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพรายการระดับโลกอย่างฟุตบอลเยาวชนโลก, การประชุมของฟีฟ่า เป็นต้น และยังมีการเชิญทีมดังๆ มาแข่งรายการคิงส์คัพ เพื่อพัฒนาทีมชาติไทยสู่ฟุตบอลโลกต่อไป

เรียกได้ว่าต่างคนต่างก็งัดไม้เด็ดของตัวเองกันออกมาในการเสนอนโยบาย สุดท้ายแล้วคนที่มีสิทธิมีเสียงก็คือบรรดาสโมสรสมาชิกทั้ง 69 ทีม

สุดท้ายไม่ว่าใครจะได้เข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ ขอแค่เข้ามาอย่างตั้งใจจริง พัฒนาวงการฟุตบอลไทยจริงๆ และไม่โกงกันน่าจะดีที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image