วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์ไทย สถานที่สร้าง ‘ด็อกเตอร์มวยไทย’ แห่งเดียวของโลก

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์ไทย สถานที่สร้าง ‘ด็อกเตอร์มวยไทย’ แห่งเดียวของโลก

ถึงแม้ว่ามวยไทยจะเป็นศิลปะการต่อสู้และมรดกของชาวไทย แต่ในปัจจุบันมวยไทยได้รับความนิยมไปทั่วโลก จนเติบโตเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศเราได้มากมาย อย่างไรก็ตามการรวบรวมองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับกีฬาประจำชาติแขนงนี้ยังไม่สมบูรณ์มากพอ การส่งต่อข้อมูลต่างๆ ยังขาดความชัดเจนและมาตรฐาน ทำให้ต้องมีการจัดการเรียนการสอนเรื่องมวยไทยโดยเฉพาะ เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญที่สามารถออกไปขับเคลื่อนมวยไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมีมาตรฐานอีกทางหนึ่ง

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์ไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เป็นสถาบันที่สอนเรื่องมวยไทยตั้งแต่แก่นจากอดีตไปจนถึงการอุตสาหกรรมหลักหลายร้อยล้าน พันล้านบาท และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวของโลกที่เปิดสอนเกี่ยวกับมวยไทยโดยตรง ที่สำคัญมีครบแล้วทั้งระดับปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก

สำหรับวิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์ไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ก่อตั้งโดย ผศ.ดร.ชาญชัย ยมดิษฐ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2548 ตามมติเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานในกํากับของมหาวิทยาลัย มีฐานะเทียบเท่าคณะ บริหารงานภายใต้การสรรหารายได้แบบพึ่งตนเอง วิทยาลัยมวยไทยศึกษาดําเนินการจัดการศึกษาเป็นเวลากว่า 4 ปี มีการจัดการเรียนการสอน 4 ระดับ คือ ระดับปริญญาตรี ประกาศนียบัตรบัณฑิต ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยระยะแรกได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตมวยไทย ต่อมาได้เปิดสอนระดับปริญญาโท หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามวยไทยศึกษา มีเครือข่ายความร่วมมือจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทหลายแห่ง

Advertisement

วิทยาลัยมวยไทยศึกษามีเครือข่ายความร่วมมือจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทหลายแห่ง ปีการศึกษา 2548 เปิดสอนรุ่นที่ 1 ที่สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตมหาสารคาม, ปีการศึกษา 2549 และปีการศึกษา 2550 เปิดสอนรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 ตาที่ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดําริและศูนย์สาธิตส่งเสริมงานศิลปาชีพภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บุ่งตาหลัว ) บชร. 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา ปีการศึกษา 2551 เปิดสอนรุ่นที่  4 ที่สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตศรีสะเกษ ปีการศึกษา 2552 เปิดสอนรุ่นที่ 5 และ 6 ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ และศูนย์อนุรักษ์ศิลปะมวยไทยแห่งชาติ สนามกีฬาศุภชลาศัย

หลังจากที่จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทสาขาวิชามวยไทยศึกษาแล้ว ถึง 5 รุ่น สามารถผลิตมหาบัณฑิตมวยไทยเผยแพร่องค์ความรู้ทางวิชาการด้านมวยไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงสร้างหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชามวยไทยศึกษาขึ้นมา เปิดสอนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 เป็นหลักสูตรปริญญาเอก มวยไทยศึกษารุ่นแรกของโลก โดยจัดการเรียนการสอน ที่วิทยาลัยมวยไทยศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏ หมู่บ้านจอมบึงมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อมีหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอกแล้ว ต่อมาจึงได้สร้างและพัฒนาหลักสูตรมวยไทยศึกษา ในระดับปริญญาตรี ได้แก่ หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาวิชามวยไทยศึกษา และครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชามวยไทยศึกษาและพลศึกษา

Advertisement

ผศ.ดร.สำราญ สุขแสวง คณบดีวิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์ไทย คือหนึ่งในอดีตนักมวยไทยระดับแชมเปี้ยนในชื่อ “สำราญเดช ส.ด่านชัย” เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันให้วิทยาลัยมวยไทยเดินหน้าพัฒนาจนมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาเอก หรือจะบอกว่าเป็นสถาบันแรกที่สร้าง “ด็อกเตอร์มวยไทย” ก็ไม่ผิดนัก

ความเป็นมาเป็นไปที่ทำให้ มรภ.หมู่บ้านจอมบึงเอาจริงเอาจังกับการเปิดหลักสูตรมวยไทยขึ้นมาคืออะไร?

ผศ.ดร.สำราญ : เพราะมวยไทยมีหลายมิติ ไม่ใช่แค่เรื่องของการแข่งขันเท่านั้น ปัจจุบันเป็นเรื่องของการออกกำลังกาย เรื่องของธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว และองค์ความรู้ที่มากกว่าแค่การออกแม่ไม้มวยไทย โดยเฉพาะเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา จุดนี้ทำให้ ผศ.ดร.ชาญชัย ผู้ก่อตั้งและผู้มีส่วนร่วมทุกคนอยากจะจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ในเรื่องมวยไทยครบถ้วนทุกแขนง เพื่อออกไปพัฒนาวงการมวย และสร้างอาชีพให้กับตัวเองได้อย่างมั่นคง

นักศึกษาที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ปริญญาตรี โท เอก จะต้องเป็นนักมวยหรือต่อยมวยเป็นหรือไม่?

ผศ.ดร.สำราญ : ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีประสบการณ์ในวงการหมัดมวยมาก่อน แต่ขอแค่เป็นคนที่มีความสนใจ และอยากจะเรียนรู้ เพราะทุกคนจะได้เรียนในหลายแนวทาง ทั้งเรียนมวยไทยเพื่อการแข่งขัน เพื่อสุขภาพ เพื่อการนำไปสอนคนอื่นต่อ เพื่อการออกไปประกอบธุรกิจและอุตสาหกรรม ถ้าเขามาตั้งแต่ปริญญาตรีก็จะได้เรียนตั้งแต่ประวัติความเป็นมาของมวยไทยในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ไปถึงการจัดการแข่งขัน วิทยาศาสตร์การกีฬาของมวยไทย และการบริหารจัดการด้านต่างๆ ที่คนคนเดียวจะเข้าใจองค์ความรู้ภาพรวมทั้งหมด

แล้วในระดับปริญญาโทกับเอก จะสอนอะไรที่เข้มข้นขึ้น?

ผศ.ดร.สำราญ : ปริญญาโทจะต้องเรียนในเรื่องการบริหารจัดการที่เข้มข้นกว่า ไม่ว่าจะเป็นการนำเอามวยไทยไปผนวกรวมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูง การสร้างความเป็นสากลให้กับมวยไทยในหลายมิติมากขึ้น รวมทั้งการเรียนเพื่อเป็นนักวิชาการมวยไทยที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับคนทั่วไปได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ส่วนปริญญาเอก ผู้ที่จบไปจะเป็นผู้เชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในความรู้เรื่องมวยไทยในทุกแขนง จะผลักดันมวยไทยไปสู่ระดับสากลได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการธุรกิจมวยไทยในระดับนานาชาติ ซึ่งการเรียนการสอนจะเข้มข้นมาก และได้ไปดูงานทั้งในและต่างประเทศว่าแต่ละกระบวนการจัดการเรื่องต่างๆ ของมวยไทยและกีฬาอื่นๆ เป็นอย่างไร เพื่อให้ได้เห็นภาพที่ชัดและนำมาปฏิบัติได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ถ้านักมวยจะมาเรียนแล้วต่อยมวยไปด้วยได้หรือไม่?

ผศ.ดร.สำราญ : นอกจากที่นี่จะเป็นสถานศึกษาแล้ว ยังมีค่ายมวยด้วย คือ ค่ายมวย ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ซึ่งมีนักมวยอาชีพที่มาเรียนอยู่กับวิทยาลัย ช่วงเย็นหลัง 16.30 น. จะซ้อมกันอยู่ในภายในวิทยาลัย เพราะมีทั้งห้องฝึกปฏิบัติการหรือศูนย์ฝึกซ้อม ฟิตเนส รวมทั้งเวทีมวยมาตรฐานที่ใช้ในการจัดการแข่งขันจริงได้ และที่พักสำหรับนักมวย เมื่อถึงเวลาก็ไปขึ้นชกตามศึกต่างๆ ได้ ถ้าได้เงินรางวัลมาก็จะหักแค่ค่าใช้จ่ายเรื่องรถ ค่าน้ำมันและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ที่เหลือครึ่งหนึ่งจะเข้าบัญชีธนาคารสำหรับนักมวยคนนั้นๆ โดยเฉพาะ แต่ไม่มีบัตรเอทีเอ็ม และจะมอบคืนให้ในวันที่สำเร็จการศึกษาเท่านั้น อีกครึ่งหนึ่งแบ่งให้นักศึกษานำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

วิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์ไทยเอื้ออะไรกับนักมวยอาชีพบ้าง?

ผศ.ดร.สำราญ : ผมเคยเป็นนักมวยอาชีพมาก่อนทำให้เข้าใจว่าการเป็นนักมวยเป็นอย่างไร มักจะถูกมองว่าเป็นกีฬาที่ใช้ความรุนแรง เลิกไปก็ไม่มีอาชีพทำ สมองกระทบกระเทือน ทำให้ต้องเปลี่ยนภาพเหล่านี้ด้วยการพยายามผลักดันให้นักมวยได้เข้ามาเรียนปริญญา เพื่อที่จะได้มีวุฒิการศึกษารองรับหลังจากเลิกชก ส่วนตัวแล้วอยากให้มีนักมวยที่จบปริญญาตรี 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะมีหลายปัจจัย แต่การเปิดวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมาก็ช่วยนักมวยให้มีการศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ

ผมเองเรียนที่นี่มาตั้งแต่ปริญญาตรี, โท, เอก และมาเป็นอาจารย์สอน ตอนชกมวยเคยได้แชมป์อาชีพ 3 รุ่น และแชมป์สภามวยไทยโลก 1 รุ่น ตอนชกมวยคิดแค่ว่าจะชกยังไงให้ชนะ แต่ไม่ได้มีความรู้ในเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือเรื่องจิตวิทยา, โภชนาการเลย เมื่อได้มาเรียนทำให้รู้ว่าถ้าเรามีความรู้เหล่านี้มันจะช่วยให้เราได้เปรียบและมีโอกาสที่จะชนะได้มากขึ้น ผมจึงอยากให้นักมวยได้มาเรียนให้มากขึ้น หรือมาเรียนปริญญาโท, เอก ถ้าสามารถทำได้หลังเลิกชกไปแล้ว จะช่วยให้พวกเขาทำงานในวงการมวยได้อย่างมีประสิทธิภาพมาก

14 ปีที่ก่อตั้งวิทยาลัยมวยไทยศึกษาขึ้นมา มีผลตอบรับอย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.สำราญ : ถ้าเป็นระดับปริญญาตรีจบไปแล้ว 4 รุ่น นักศึกษาประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์จะไปเป็นครูมวยในต่างประเทศ ซึ่งรายได้สูงมาก อีก 50 เปอร์เซ็นต์เป็นครูมวยในไทย อยู่ในยิมและค่ายมวยต่างๆ อีก 20 เปอร์เซ็นต์ไปสอนตามโรงเรียน ที่สำคัญยืนยันได้ว่ายังไม่มีคนที่จบไปแล้วตกงาน เพราะมีความต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องมวยไทยแบบนี้อยู่มาก โดยเฉพาะต่างประเทศติดต่อมาเพื่อขอนักศึกษาที่จบไปแล้วให้ไปทำงานด้วยจำนวนมาก แต่การผลิตบัณฑิตในแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 20-30 คนเท่านั้น

ส่วนในระดับปริญญาโทและเอก คนที่จบการศึกษาก็มาเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัย หลายๆ คนก็เป็นคนมีชื่อเสียงในวงการต่างๆ ที่มาเรียนหลักสูตรพิเศษช่วงเสาร์-อาทิตย์ ทั้งพ่อเลี้ยงศรีเมือง สิงห์สวนเงิน เจ้าของค่ายมวยแก้วสัมฤทธิ์ กับภรรยามาเรียนปริญญาตรี หลักสูตรพิเศษ และให้นักมวยในค่ายมาเรียนด้วย นักมวยอาชีพนอกจากตัวผมแล้วก็ยังมีอีกหลายคนที่จบปริญญาเอกกับทางวิทยาลัยมวยไทย

ถ้าคนสนใจจะเรียนแต่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ จ.ราชบุรี จะต้องทำอย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.สำราญ : ถ้าในระดับปริญญาตรี มีหลักสูตรพิเศษที่สามารถเรียนทางออนไลน์ได้ และเรียนเสาร์-อาทิตย์ได้ ส่วนปริญญาโทมีเครือข่ายความร่วมมือจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทหลายแห่งทั่วประเทศ

ส่วนใหญ่แล้วนักศึกษาที่เรียนระดับปริญญาตรีจะไม่ค่อยมีคนในพื้นที่ราชบุรี แต่จะเป็นนักมวยและนักศึกษาทั่วไปจากภาคอีสาน ซึ่งเด็กเหล่านี้คลุกคลีกับมวยมาแต่ไหนแต่ไร ทำให้มีความสนใจ เด็กอีสานจำนวนมากที่บ้านยากจน การชกมวยเป็นหนทางในการหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ ทำให้ทุกคนแกร่งและเข้าใจมวยไทยได้ดี เมื่อมีสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในเรื่องมวยไทยอยู่แล้ว ทำให้เด็กอีสานเดินทางมาเรียนกันมากพอสมควร

วิทยาลัยมีส่วนร่วมในการผลักดันมวยไทยไปสู่โอลิมปิกเกมส์อย่างไรบ้าง?

ผศ.ดร.สำราญ : คงไม่ได้มีส่วนร่วมโดยตรง แต่การพัฒนาบัณฑิตและบุคลากรออกไปทำงานในวงการมวยไทย อุตสาหกรรมมวยไทย น่าจะช่วยให้มวยไทยทั้งในและต่างประเทศมีมาตรฐานมากขึ้น และเพิ่มความนิยมในกีฬาประจำชาติของไทยมากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องทำถ้าอยากให้มวยไทยได้บรรจุแข่งในโอลิมปิกจริงๆ คือ การสร้างนักมวยต่างชาติให้มีความสามารถทัดเทียมกับไทยให้ได้ เพราะถ้าไทยยังคงเหนือกว่าชาติอื่นๆ ทำให้มวยไทยไม่เป็นกีฬาสากลของนานาชาติ เพราะไทยจะเป็นแชมป์ในหลายๆ รุ่น ต่างชาติสู้ไม่ได้ เหรียญรางวัลกระจุกอยู่ชาติเดียว ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนให้จัด

สิ่งที่ผมอยากเน้นย้ำ คือ มวยไทยเป็นมรดกของไทยก็จริง แต่ไม่ใช่ว่านักมวยของไทยจะต้องเป็นที่หนึ่งในการแข่งขันอยู่ตลอด เรายังคงหวงแหนมวยไทยเหมือนที่เคยทำมา แต่ก็ต้องให้ต่างชาติพัฒนาจนมาเป็นคู่ต่อสู้ที่สูสีกับไทยได้ ถึงจะเกิดความเป็นสากล เหมือนกับฟุตบอลมีต้นกำเนิดจากประเทศอังกฤษ แต่นานมากแล้วที่อังกฤษไม่ได้แชมป์ฟุตบอลโลก หรือเทควันโดที่เป็นของเกาหลีใต้ แต่นักกีฬาไทยก็ชนะนักกีฬาเกาหลีใต้ ดังนั้นไม่ควรคิดว่าไทยจะต้องเป็นเบอร์ 1 ในเรื่องผลการแข่งขันมวยไทยอยู่ตลอด

ถ้ามีผู้สนใจอยากจะมาเรียนปริญญาเอก มวยไทย ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

ผศ.ดร.สำราญ : คล้ายๆ กับการเรียนปริญญาเอกของคณะอื่นๆ คือต้องจบปริญญาโทมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นสาขาเกี่ยวกับกีฬาหรือมวยไทยก็ได้ แต่ต้องมีความสนใจจริงๆ เพราะเป็นการเรียนที่เข้มข้นและตรงทางกับการพัฒนาวงการมวยไทยอย่างเต็มระบบ ใช้เวลาเรียน 3-5 ปี ค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 300,000 บาท แล้วจะได้เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่คิดว่ามวยไทยจะมีสิ่งพิเศษมากมายขนาดนี้ สามารถรับนักศึกษาได้ไม่เกิน 10 คน เพราะอยากให้เรียนแบบเข้าถึงจริงๆ

อยากฝากอะไรกับนักมวยไทยเกี่ยวกับวิทยาลัยมวยไทยบ้าง?

ผศ.ดร.สำราญ : ตอนนี้ที่หลายคนยังชกได้ หาเงินได้อยู่ อาจจะยังไม่เห็นค่าในการเรียนให้จบปริญญาตรี แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องเลิกต่อยมวยแล้ว จะได้รู้ว่าการมีการศึกษาสำคัญมาก และวิทยาลัยมวยไทยศึกษาและการแพทย์ไทย เป็นวิทยาลัยที่ตรงจุดที่สุดในการจะต่อยอดให้นักมวยเหล่านี้เติบโตขึ้นไปเป็นนักธุรกิจ โค้ช เทรนเนอร์ หรืออาชีพที่เกี่ยวกับวงการมวยไทยได้อย่างดี ที่สำคัญจะลบคำสบประมาทที่นักมวยเจออยู่ตลอดว่า “นักมวยไม่ต้องใช้สมอง ใช้แต่ความรุนแรง” ถ้ามีโอกาสก็อยากให้มาศึกษา และออกไปพัฒนาวงการมวยไทยด้วยกัน

เรื่อง – ศิริชัย ธนะเบญจผล
ภาพ – วันดี รุจินาถ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image