คอลัมน์ Hotline จากรีโอ : โอลิมพิน

หน้าศูนย์สื่อมวลชนของโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จะมีกลุ่มนักสะสมพินหรือเข็มกลัดชาติต่างๆ ที่ทำขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของทีมตัวเองในมหกรรมกีฬาสำคัญๆ ของโลก โดยเฉพาะโอลิมปิกเกมส์อยู่กลุ่มหนึ่ง ซึ่งจะขนเอาพินที่สะสมไว้มาอวด ขายหรือแลกเปลี่ยน ในชื่อสุดเท่ว่า “โอลิมพิน”

คุยกับนักสะสมวัยดึกอย่าง ทิมม์ เจมีสัน พนักงานของบริษัทโคคา โคลา จากรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ที่มาทั้งทำงานหลักและงานอดิเรกบอกว่า นักสะสมพินมาจากทั่วโลกแล้วแต่จังหวะและโอกาส ครั้งนี้มีมาจากแคนาดา, สหรัฐ, กรีซ, สเปน แต่ไม่ค่อยจะมีนักสะสมจากเอเชีย

พินที่ลุงทิมม์สะสมครั้งแรกเริ่มตั้งแต่โอลิมปิกเกมส์ 1984 ที่นครลอสแองเจลิส และมีมาเรื่อยๆ จนถึงโอลิมปิกหนนี้ เรียกง่ายๆ ว่าขนมาอวดกันอย่างเต็มที่

อีกคนหนึ่งเป็นนักสะสมจากแคนาดา อี.บัด คลิง ก็สะสมพินมาใกล้ๆ กับลุงทิมม์ แถมยังโชว์พินสัญลักษณ์ประเทศไทยให้ดูอีกด้วย

Advertisement

“โอลิมพิน” มีสมาชิกกว่า 500 คน จากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นกลุ่มนักสะสมพินที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดานักสะสมพินรูปแบบต่างๆ เริ่มก่อตั้งตั้งแต่ปี 1983 หรือ 33 ปีมาแล้ว

พินหรือแบดจ์ (Badge) ในโอลิมปิกเกิดขึ้นมาพร้อมกับโอลิมปิกสมัยใหม่ หรือปี 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ครั้งนั้นทำจากกระดาษแข็ง ก่อนจะถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนเติบโตเป็นยุคทองแดง ยุคเงิน และยุคทอง จนถึงปัจจุบัน

“รีโอเกมส์” หนนี้จะมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายพินที่บริเวณโคคา โคลา เซ็นเตอร์ ภายในโอลิมปิก ปาร์ก ย่านบาร์ฮ่า ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคมเป็นต้นไป รวมถึงจะมีการขายพินคอลเล็กชั่นใหม่ของโคคา โคลาในรีโอเกมส์อีกด้วย

Advertisement

ถามกลุ่มนักสะสมว่าทำไมถึงเลือกมาทำกิจกรรมนี้ ได้รับคำตอบคล้ายๆ กันคือ เป็นการร่วมกันเก็บความทรงจำผ่านพิน และได้หาเพื่อนทั่วโลก รวมถึงได้ออกเดินทางไปทั่วโลกอีกด้วย ผู้สนใจสามารถไปติดตามข่าวสารที่ www.olympinclub.com

การแลกพินโอลิมปิกไม่ได้มีอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้เท่านั้น แต่ภายในหมู่บ้านนักกีฬามีการแลกเปลี่ยนกันทั้งในนักกีฬา อาสาสมัคร พินประเทศที่ยากๆ จะเข้าถึง จะมีค่ามาก และซื้อขายในราคาที่สูงมากเช่นกัน

หรือการสานสัมพันธ์กับชาวต่างชาติคนไหนในช่วงโอลิมปิกเกมส์ แค่ส่งพินประเทศตัวเองไปให้

ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีแล้ว…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image