อะไรเป็นอะไรใน’ดราม่า’ที่สระ’รีโอเกมส์’

ปิดสระกันไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการแข่งขันว่ายน้ำใน โอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล

ท่ามกลางความสมหวัง ผิดหวัง และเซอร์ไพรส์ของนักกีฬามากหน้าหลายตา หนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงกันมากที่สุดคือเหตุการณ์ “ดราม่า” ในการแข่งขันกบ 100 เมตร หญิง โดยมีประเด็นต้นทางจากข่าวอื้อฉาวเรื่องสารต้องห้ามก่อนหน้ารีโอเกมส์จะเปิดฉาก

เนื่องด้วยคณะทำงานอิสระของ องค์การต่อต้านสารต้องห้ามโลก (วาด้า) เปิดรายงานแฉวงการกีฬาประเทศรัสเซียว่า รัฐบาลแดนหมีขาวมีส่วนรู้เห็น สนับสนุน และปกปิดการโด๊ปยาในหมู่นักกีฬาอย่างเป็นระบบในโอลิมปิกเกมส์ฤดูร้อนปี 2012 และโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาวปี 2014

นำไปสู่การเรียกร้องให้แบนนักกีฬารัสเซียจากรีโอเกมส์โดยวาด้า ขณะที่ คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) มีมติไม่แบนแบบเหมารวม และมอบหมายให้สหพันธ์กีฬานานาชาติแต่ละแห่งพิจารณาเป็นรายบุคคลแทน โดยอิงจากประวัติการตรวจสารต้องห้ามในอดีต ประกอบกับรายงานของวาด้าดังกล่าว

Advertisement

กรณีของกีฬาว่ายน้ำนั้น เดิม สหพันธ์ว่ายน้ำนานาชาติ (ฟีน่า) ลงโทษแบนเงือกสาวฉลามหนุ่มรัสเซีย 7 คน ซึ่งเคยมีประวัติไม่ผ่านการตรวจสารต้องห้าม หรือมีชื่อปรากฏในรายงานของวาด้า แต่สุดท้ายนักว่ายน้ำแดนหมีขาวก็ชนะการอุทธรณ์กับคณะกรรมการอุทธรณ์ของฟีน่า และได้รับอนุญาตให้ร่วมแข่งขันก่อนรีโอเกมส์เปิดฉากไม่กี่สัปดาห์

ในจำนวนนี้คือ ยูเลีย เอฟิโมว่า เงือกสาววัย 24 ปี เจ้าของแชมป์โลกท่ากบหลายระยะ ซึ่งเคยโดนแบน 16 เดือน ระหว่างเดือนตุลาคม 2013 ถึงกุมภาพันธ์ 2015 จากการพบสารอนาบอลิคสเตียรอยด์ DHEA และมาโดนแบนช่วงสั้นๆ อีกครั้งเมื่อต้นปี 2016 จากสารเมลโดเนียม ก่อนได้รับการเคลียร์ชื่อในภายหลัง

เอฟิโมว่าลงแข่งขันสระโอลิมปิกเกมส์ 2 รายการ คือ กบ 100 และ 200 เมตร และกลายเป็นประเด็นใหญ่โตในประเภทแรก เมื่อเธอโดนแฟนๆ บนอัฒจันทร์โห่ใส่เสียงอื้ออึง ซึ่งเอฟิโมว่าก็ตอบโต้ด้วยภาษากายอย่างการชูนิ้วชี้ขึ้นโบกไปมาคล้ายจะสื่อว่าเธอเป็นที่ 1 หลังแตะขอบสระเป็นอันดับ 1 ในฮีตของรอบรองชนะเลิศ

Advertisement

SWIMMING-OLY-2016-RIO

ดราม่าบังเกิดเมื่อ ลิลลี่ คิง คู่แข่งสำคัญชาวอเมริกันวัย 19 ปี ไม่แฮปปี้กับท่าทางแกว่งนิ้วของเธอ ระหว่างดูการถ่ายทอดอยู่ในห้องเตรียมตัว พอคิงออกมาแข่งในฮีตของตัวเอง และทำเวลาได้เหนือเอฟิโมว่า เธอก็แกว่งนิ้วชี้เลียนแบบอีกฝ่ายบ้าง โดยให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ชอบใจที่เอฟิโมว่าคิดว่าตัวเองเป็นที่ 1 ทั้งที่เคยโดนจับโด๊ป

SWIMMING-OLY-2016-RIO

ในรอบชิงชนะเลิศ คิงทำเวลา 1 นาที 04.93 วินาที คว้าเหรียญทองไปครอง ส่วนเอฟิโมว่าได้เหรียญเงิน ทำเวลาช้ากว่าเงือกสาวรุ่นน้อง 0.57 วินาที ส่วนอันดับ 3 เป็นอีกหนึ่งเงือกมะกัน เคที่ เมลี่ ซึ่งในพิธีมอบเหรียญรางวัลเกิดประเด็นดราม่าขึ้นเมื่อมีคนตั้งข้อสังเกตว่า คิงปฏิบัติกับเอฟิโมว่าเหมือนไม่มีตัวตน และเอาแต่หันไปฉลองกับเพื่อนร่วมชาติอย่างเมลี่ฝ่ายเดียว

SWIMMING-OLY-2016-RIO-PODIUM

บรรยากาศในห้องแถลงข่าวหลังแข่งขันยิ่งอึมครึม เพราะคิงกับเอฟิโมว่านั่งโต๊ะแถลงโดยมีเมลี่ขั้นกลาง และคิงให้สัมภาษณ์เสียงแข็งว่า “ดีใจมากค่ะที่ฉันเอาชนะได้แบบสะอาดบริสุทธิ์” พอมีนักข่าวถามว่าเหตุใดเธอจึงไม่แสดงความยินดีกับเอฟิโมว่า คิงก็ตอบแบบประชดๆ ว่า “ฉันคิดว่าเธอคงไม่อยากฉลองกับคนที่ว่าเธอเรื่องโด๊ปยาเท่าไรมั้ง แต่ถ้าอยากให้ยินดี ก็ขอแสดงความยินดีด้วยค่ะ เธอทำได้ดีนะ”

ฝั่งเอฟิโมว่าที่นั่งห่างออกไปไม่กี่ฟุต พยายามชี้แจงเรื่องไม่ผ่านการตรวจโด๊ป 2 ครั้งของตัวเองว่า ครั้งแรกเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เนื่องจากไปซื้ออาหารเสริมที่ขายตามชั้นในห้างมาทาน ขณะที่ครั้งหลัง ยาเมลโดเนียมที่ทานนั้นเพิ่งขึ้นทะเบียนสารต้องห้ามของวาด้าเมื่อวันที่ 1 มกราคม ซึ่งได้รับการล้างมลทินในภายหลังแล้ว

SWIMMING-OLY-2016-RIO

เมื่อสื่ออเมริกันชื่อดังอย่าง วอชิงตันโพสต์ ไปค้นข้อมูลก็พบว่าเป็นจริงตามที่สาวรัสเซียกล่าวอ้าง ประการแรกสุดคือ เอฟิโมว่าอาศัยอยู่ที่แคลิฟอร์เนียเป็นเวลา 8 ปีเต็มแล้ว แทบไม่ค่อยได้กลับไปรัสเซีย โอกาสจะเข้าขบวนการโด๊ปยากับนักกีฬาคนอื่นตามรายงานของวาด้าจึงเป็นไปได้ยาก

ส่วนเรื่องสารอนาบอลิคสเตียรอยด์ที่ทำให้เธอโดนแบนครั้งแรกนั้น ก็มาจากอาหารเสริมที่ซื้อในซุปเปอร์มาร์เก็ตของห้างในสหรัฐ เป็นข้อกล่าวอ้างที่ฟังขึ้น จึงได้รับการลดโทษจากฟีน่า จาก 2 ปีเหลือ 16 เดือน ซึ่งความผิดครั้งนี้เป็นลักษณะเดียวกับที่ เจสซิก้า ฮาร์ดี้ อดีตเงือกสาวเหรียญทองโอลิมปิกชาวอเมริกัน เคยโดนลงโทษเพราะทานเนื้อสัตว์ที่มี “สารปนเปื้อน” ก่อนจะอุทธรณ์ลดโทษได้ในภายหลัง

ส่วนเรื่องเมลโดเนียม ตัวยาเดียวกับที่ มาเรีย ชาราโพว่า นักเทนนิสสาวชื่อดังของรัสเซียโดนแบนนั้น วาด้าเป็นฝ่ายออกมายอมรับด้วยตัวเองว่า ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัดเจนที่จะระบุว่า สารตัวนี้จะตกค้างในร่างกายนานเท่าใด ดังนั้น จึงยกประโยชน์ให้คนที่ตรวจพบสารนี้ในปริมาณน้อยช่วง 3 เดือนแรกของปี 2016 ให้พ้นข้อกล่าวหา เท่ากับว่าตามกฎแล้ว ถือว่าเอฟิโมว่าเคลียร์ตัวเองเรียบร้อย

ส่วนเรื่องการแสดงออกของคิงนั้น ชาวอเมริกันก็เสียงแตกเป็น 2 ฝ่าย ข้างหนึ่งมองแบบเห็นใจนักกีฬาฝ่ายที่สะอาดหมดจดที่ต้องมาแข่งขันกับนักกีฬาที่เหมือนจะมีข้อกังขา และเป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้ระหว่าง “ธรรมะ” กับ “อธรรม” ในวงการกีฬาที่กำลังด่างพร้อยเพราะปัญหาอื้อฉาวเหล่านี้

แต่อีกฝั่งก็มองว่า กรณีของเอฟิโมว่า เมื่อมีเหตุผลมารองรับคำอธิบายของเธอได้ ก็ไม่ควรจะมองแบบสุดขั้วขาว-ดำอย่างที่เป็น

แถมยังมีคนสะกิดถามเรื่องความน่าเชื่อถือของวงการกีฬาสหรัฐอเมริกาเอง เพราะครั้งหนึ่ง คาร์ล ลูอิส ตำนานลมกรดของสหรัฐ เคยยอมรับกับหนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดี้ยน เมื่อปี 2003 ว่า ไม่ผ่านการตรวจโด๊ป 3 ครั้ง ก่อนแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ (ซึ่งเขาได้เหรียญทองวิ่ง 100 เมตร หลังจาก เบน จอห์นสัน ของแคนาดา โดนจับโด๊ป) แต่คณะกรรมการโอลิมปิกของสหรัฐปล่อยให้เขา และนักกีฬาอเมริกันอีกหลายร้อยคนรอดตัวจากบทลงโทษต่างๆ เพื่อจะได้มีสิทธิเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ แสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ในวงการกีฬาเมืองมะกันที่ไม่ได้แตกต่างจากรัสเซียในตอนนี้

เพียงแต่นั่นเป็นเรื่องเก่าที่ไม่มีการสืบสวน ขุดคุ้ย หรือหาหลักฐานอะไรชัดเจน ขณะที่รายงานของวาด้าฉบับนี้ เอาข้อมูลส่วนใหญ่มาจาก นายแพทย์กรีกอรี่ ร็อดเชนคอฟ อดีตผู้อำนวยการห้องแล็บตรวจสารต้องห้ามในกรุงมอสโกซึ่งโดนปลดออกจากตำแหน่งและลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา โดยทางคณะทำงานยืนยันว่ามีหลักฐานวัตถุมายืนยันคำพูดของร็อดเชนคอฟด้วย

กรณีการแฉครั้งใหญ่นี้ คงต้องเป็นเรื่องในชั้นศาลหรือระดับองค์กรต้องพิสูจน์กันต่อไป แต่สำหรับระดับบุคคล เมื่อยูเลีย เอฟิโมว่า ผ่านขั้นตอนการพิสูจน์ต่างๆ มาได้ ก็ควรปฏิบัติอย่างเคารพซึ่งกันและกัน

เพื่อคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของโอลิมปิกเกมส์อย่างที่ควรจะเป็น…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image