เส้นทางมหัศจรรย์ ‘เมย์-รัชนก’ สู่ฝันเหรียญโอลิมปิกครั้งสุดท้าย

ภาพ BADMINTO PHOTO

เส้นทางมหัศจรรย์ ‘เมย์-รัชนก’ สู่ฝันเหรียญโอลิมปิกครั้งสุดท้าย

ตลอดเวลาที่ผ่านมา…ถือว่าทำผลงานสุดอัศจรรย์บนเส้นทางแบดมินตันระดับนานาชาติมาอย่างต่อเนื่องสำหรับ “น้องเมย์” รัชนก อินทนนท์ นักตบลูกขนไก่สาวขวัญใจชาวไทย ซึ่งล่าสุดเธอยืนยันว่า ยังไม่มีแผนที่จะเลิกเล่นแบดมินตันในปีนี้ แต่ในโอลิมปิกเกมส์ 2024 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส อาจเป็นโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของเธอแล้ว…

สำหรับในปีนี้ น้องเมย์ เพิ่งเรียกความฟิตกลับมาลงสนามได้อีกครั้งในศึก “เปโตรนาส มาเลเซีย โอเพ่น 2024” ระดับเวิลด์ทัวร์ซูเปอร์ 1000 ที่ประเทศมาเลเซีย โดยตกรอบ 2 หลังพ่าย เฉิน ยู่เฟย มือ 2 โลกจากจีน อย่างไรก็ตาม ในปีนี้เธอมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจอีกครั้ง และกลับมาสู่จุดสูงสุดก่อนโอลิมปิกเกมส์ 2024 ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งก็อาจจะเป็นโอลิมปิกเกมส์ครั้งสุดท้าย

ต้องบอกว่าน่าเห็นใจกับสภาพร่างกายของน้องเมย์ ที่ช่วงหลังมาอาการบาดเจ็บรบกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปีที่ผ่านมาก็ต้องต้องพักรักษาอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าตั้งแต่เดือนกันยายน ทำให้พลาดการลงเล่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี รวมถึงกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา แต่เธอยังยืนหยัดอยู่ในเส้นทางแบดมินตันโลกได้อย่างภาคภูมิ

Advertisement

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นเส้นทางแบดมินตันของรัชนก เล่นเป็นครั้งแรกตั้งแต่วัยแค่ 6 ขวบ จากความซุกซนวิ่งเล่นภายในโรงงานของ “แม่ปุก” กมลา ทองกร ทำให้น้องเมย์ถูกจับให้หัดเล่นแบดมินตัน แต่ผ่านไปแค่ปีเดียวเธอฉายแววทันทีในครั้งแรกที่เข้าร่วมการแข่งขันในรายการอุดรธานี โอเพ่น ด้วยการตบคว้าแชมป์ทันที

จากนั้นเมื่อปี 2007 น้องเมย์ในวัย 12 ปี เข้าร่วมศึกชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งแรก ซึ่งเธอสามารถคว้าเหรียญเงิน และปีต่อมาก็ยังได้เหรียญเงิน แต่ในปี 2009 รัชนกฉายแววจรัสแสงด้วยการครองแชมป์ประเทศไทยครั้งแรก จากการโค่นรุ่นพี่ “มิ้ง” สลักจิต พลสนะ และ “ปอป้อ” ทรัพย์สิรี เลิศรัตนชัย ในรอบชิงชนะเลิศ

เวทีระดับประเทศเล็กไปแล้วสำหรับดาวรุ่งไทยรายนี้ และเธอก้าวไปเขย่าเวทีระดับเยาวชนโลก โดยคว้าแชมป์เยาวชนโลกสำเร็จเมื่อปี 2009 ด้วยการล้มรุ่นพี่ร่วมชาติ “พีช” พรทิพย์ บูรณะประเสริฐสุข ในรอบชิงชนะเลิศ พร้อมสร้างประวัติศาสตร์เป็นนักแบดมินตันหญิงเดี่ยวไทยอายุน้อยที่สุดที่คว้าแชมป์เยาวชนโลก

Advertisement

ช่วงเวลาต่อมา รัชนก ครองบัลลังก์แชมป์เยาวชนโลก 3 สมัยติดต่อกัน ช่วงปี 2009, 2010, 2011 นับเป็นนักแบดมินตันคนแรกที่ทำได้สำเร็จในประวัติศาสตร์ของวงการแบดมินตันโลก จนได้รับการยกย่องเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ และทำให้ชื่อของเธอถูกจับจ้องว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นนักตบลูกขนไก่หญิงเดี่ยวที่ยิ่งใหญ่ของโลก

รัชนกตระเวณแข่งขันรายการอาชีพ พร้อมทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม จนกระทั่งเธอได้เข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นครั้งแรกด้วยวัย 17 ปีเท่านั้น แต่ด้วยความตื่นเต้น และยังขาดประสบการณ์ ทำให้เธอหยุดเส้นทางไว้ที่รอบ 8 คน แต่ถือเป็นประสบการณ์ชั้นยอดของเธอ

เข้าสู่ปี 2013 นับเป็นปีทองฝังเพชรของรัชนก เริ่มตั้งแต่การสร้างสถิติโลกใหม่เป็นนักแบดมินตันอายุน้อยที่สุดที่ติดท็อป 5 โลกด้วยวัย 18 ปีจากการคว้าแชมป์โยเน็กซ์ ซันไรส์ อินเดีย โอเพ่น

จนในที่สุด “น้องเมย์-รัชนก” ผงาดแชมป์โลกได้สำเร็จเป็นคนแรกของนักแบดมินตันไทย และยังเป็นแชมป์โลกอายุน้อยที่สุดอีกด้วย จนทำให้ไต่ขึ้นสู่มืออันดับ 2 โลก

ในปี 2014 น้องเมย์ยังคงสร้างความมหัศจรรย์อีกระลอก จากการครองแชมป์รายการซูเปอร์ซีรีส์ติดต่อกัน 3 สัปดาห์ ตั้งแต่ที่ประเทศอินเดีย, มาเลเซีย และสิงคโปร์ จนส่งผลให้ก็บคะแนนสะสมก้าวขึ้นสู่มืออันดับ 1 โลกได้สำเร็จตามอีกหนึ่งความฝันของเธอ

ทั้งหมดนี้นับเป็นความสำเร็จสูงที่สุดของตัวเธอเอง และวงการแบดมินตันไทย ที่เป็นการปลุกกระแสความนิยมให้กับเยาวชนไทย และคนทั่วไปหันมาสนใจเล่นกีฬาแบดมินตันกันอย่างคึกคักท่ามกลางบรรยากาศแห่งความสุขที่ได้เห็นความสำเร็จของสาวน้อยรายนี้

ความสำเร็จของน้องเมย์ต้องยกเครดิตให้ “โค้ชเป้” ภัททพล เงินศรีสุข และ โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด ที่ปลุกปั้นจากสาวน้อยซุกซน จนกลายเป็นแชมป์โลกสุดมหัศจรรย์ และยังความแชมป์เอเชีย เมื่อปี 2015 อีกทั้งยังพาทีมหญิงไทยคว้าเหรียญเงิน เอเชี่ยนเกมส์ 2010, เหรียญทองแดง เอเชี่ยนเกมส์ 2018 รวมถึงเหรียญทองซีเกมส์ 3 สมัยเมื่อปี 2011, 2015, 2019

ตลอดเวลาการเล่นแบดมินตันยาวนาน รัชนกต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ นานา ทั้งเรื่องของการตรวจสารต้องห้าม อาการบาดเจ็บรบกวน และการตรวจพบโรคโลหิตจาง รวมทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายนอกสนาม แต่เธอแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นพลังบวกจนสร้างความสำเร็จระดับโลก รวมทั้งคว้าแชมป์รายการอาชีพมากถึง 17 รายการด้วยกัน

แต่กับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ถือเป็นอีกหนึ่งความฝันที่เมย์ต้องการคว้าเหรียญโอลิมปิกสักครั้งในชีวิต โดยโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อปี 2012 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ตกรอบ 8 คนสุดท้าย ตามด้วยโอลิมปิกเกมส์ 2016 ที่นครริโอ เดจาเนโร ประเทศบราซิล ตกรอบ 16 คนสุดท้าย และโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตกรอบ 8 คนสุดท้ายอีกครั้ง

“การคว้าเหรียญโอลิมปิกเป็นเป้าหมายสูงสุดสำหรับผู้เล่นทุกคน เช่นเดียวกับตัวเมย์เองที่ตั้งเป้าไว้แบบนั้นเช่นกัน และนี่จะเป็นโอลิมปิกครั้งที่ 4 แล้ว หลังได้พยายามอย่างเต็มที่ใน 3 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ตัวเองต้องเผชิญหน้ากับความกดดันทุกครั้ง อย่างไรก็ตามเพื่อชัยชนะก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเผชิญหน้ากับเรื่องนี้” น้องเมย์กล่าวถึงโอลิมปิก ปารีส 2024

นักตบลูกขนไก่สาวไทย กล่าวอีกว่า ตนเองไม่มีความคิดที่จะเลิกเล่นแบดมินตันหลังจบปารีสเกมส์ 2024 นี้แน่นอน ซึ่งก็เป็นไปได้ว่า อาจจะเล่นแบดมินตันไปอีก 2 หรือ 3 ปี แต่ก็ไม่น่าจะถึงโอลิมปิกเกมส์ครั้งหน้าในปี 2028 ที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา ซึ่งตนเล่นแบดมินตันมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็อยากเล่นต่อไปจนกว่าร่างกายจะบอกว่าถึงเวลาต้องพอแล้ว

ดังนั้นโอลิมปิกเกมส์ สมัยที่ 4 ของรัชนก ใน “ปารีสเกมส์ 2024” ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปีนี้ถือเป็นความฝันสูงสุดครั้งสุดท้ายของเธอ ที่ต้องการจะสร้างความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต ด้วยการหยิบเหรียญโอลิมปิกแรกของให้ได้ เพื่อเป็นการส่งท้ายปิดฉากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งสุดท้ายของตัวเอง

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน เชื่อมั่นว่า น้องเมย์จะทุ่มเทเต็มที่กับโอลิมปิกหนนี้ พร้อมกับความหวังคว้าเหรียญโอลิมปิกส่งท้าย เพื่อเติมเต็มอีกหนึ่งความฝัน ซึ่งจะเป็นการสร้างผลงานความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของวงการแบดมินตันไทยอีกด้วย

ภาพ BADMINTO PHOTO
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image