รายงานพิเศษ : คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล มาตามคำเรียกร้องสมาคมกีฬา ชิงตำแหน่งประธาน อลป.ไทย
เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนสุดท้ายก่อนจะถึงวันชี้ชะตาตำแหน่ง ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่จะมีขึ้นที่สำนักงานบ้านอัมพวัน วันที่ 25 มีนาคม เวลา 09.30 น.
ที่ผ่านมามีแคนดิเดต 2 รายประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทย ได้แก่ 1.นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ และ 2. ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยฯ
แม้ว่าจะมีผู้เปิดตัวมา 2 รายแรกแล้ว แต่ดูเหมือนว่า คนกีฬา และสมาคมกีฬาต่างๆ พร้อมใจกันเรียกร้องและสนับสนุนให้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี เมมเบอร์) ชาวไทย และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ ลงชิงตำแหน่งใหญ่คุมค่ายอัมพวันด้วย เพราะคนทั้งวงการกีฬาทราบกันดีกว่า คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ทำงานเพื่อวงการกีฬาอย่างเต็มที่ ช่วยเหลือสมาคมกีฬาต่างๆ มาโดยตลอด ผลงานเด่นชัดเป็นที่ยอมรับและประจักษ์กันทั้่งวงการกีฬา
อีกทั้ง คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ยังมีบารมีมีคอนเน็กชั่นที่ดีเยี่ยมทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญอย่างต้องปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองซึ่งเรื่องนี้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ชัดเจนว่า ไม่มีฝ่ายการเมืองมาแทรกแซงได้ ต่างจาก สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม และ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่มักจะประกาศอยู่ตลอดว่า ได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง และที่ผ่านมาก็มีฝ่ายการเมืองทั้ง “อดีตนายกรัฐมนตรี + อดีตรัฐมนตรี” นัดทั้งคู่ไปทานอาหารและเคลียร์กันมาแล้ว แต่เคลียร์กันไม่ลงตัวจึงต้องลงสู่สมรภูมิรบห้ำหั่นกันให้ “แตกหัก” กันไปข้างหนึ่ง
นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สมาคมกีฬาต่างๆ เริ่มเบื่อหน่ายกับการที่ต้องเห็นวงการกีฬาโดนแทรกแซงจากการเมือง จึงอยากเห็นสิ่งใหม่ๆ ที่ปราศจากการเมืองและพร้อมใจกันเทเสียงสนับสนุน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล
เสียงเรียกร้องดังกล่าวทำให้ ล่าสุด คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ออกมาเปิดใจเป็นครั้งแรกว่า ตามธรรมนูญของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ไม่เหมือนของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ที่จำเป็นต้องยื่นใบสมัคร ตรวจสอบประวัติผู้สมัครอย่างละเอียดจากองค์กรกลางอิสระ, ประกาศชื่อแคนดิเดต ก่อนจะเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ของโอลิมปิคไทยฯ ใช้วิธีการเสนอชื่อในวันประชุมใหญ่ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นจะต้องยื่นใบสมัคร หรือประกาศตัวว่าจะลงชิงตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทยฯ แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามถ้าในวันดังกล่าว มีสมาชิกที่มองเห็นว่าปัทมาจะสามารถทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ แล้วเสนอชื่อในตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทยฯ ในที่ประชุมใหญ่ ก็ขอให้ขึ้นอยู่กับสมาชิกสมาคมกีฬาต่างๆ ที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ถ้าหากมองว่าเรามีประโยชน์ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เราก็พร้อมรับใช้วงการกีฬา
คุณหญิงปัทมา ยังกล่าวถึงแคนดิเดตคนอื่นๆ ว่า ทุกท่านที่ประกาศตัวออกมา เชื่อว่าทุกคนมีคุณสมบัติอันเพรียบพร้อม ทั้งประสบการณ์ในการทำงานสูง, มีภาวะผู้นำ, มีความทุ่มเท พร้อมอุทิศกายใจ-สมอง-เวลา ให้กับคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ และเชื่อว่าทุกคนมองเห็นนักกีฬาเป็นศูนย์กลาง ทุกคนจะทำการใดๆ ก็จะเพื่อประโยชน์สูงสุดของนักกีฬาและประเทศไทย ขณะเดียวกันผู้บริหาร37 สมาคมกีฬาสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิคฯ มีนายกสมาคม ที่มีคุณสมบัติครบ เชี่ยวชาญและรัก ในวงการกีฬามาก
ส่วนกรณีที่ “เสธ.ยอด” พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย ประธานสหพันธ์สมาคมกีฬาชาติ (ฟอนซ่า) และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกีฬายกน้ำหนักสมัครเล่นแห่งประเทศไทย ชี้ว่าผู้ที่จะมาเป็นประธานโอลิมปิคไทยฯ ต้องมีพาวเวอร์ในระดับนานาชาตินั้น คุณหญิงปัทมา กล่าวว่า สำหรับตัวเราเชื่อว่ามีความจำเป็น อย่างเช่นตอนที่ประเทศไทยติดโทษแบนเรื่องโด๊ปจากองค์การต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลก (วาด้า) หรือการช่วยเจรจาลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก รวมถึงการนำนวัตกรรมต่างๆ เข้ามาสู่วงการกีฬาไทยนั้น ปัทมาเข้าไปแก้ไขปัญหาให้ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากคอนเน็กชั่นของตนเองที่สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสหพันธ์กีฬานานาชาติ รวมถึงการเข้าไปประสานงานแก้ไขปัญหาให้กับสมาคมกีฬาต่างๆ ที่มีข้อขัดแย้งกับสหพันธ์กีฬานานาชาติเพื่อให้สามารถทำงานอย่างราบรื่น
“ส่วนตัวเราก็พร้อมตอบรับทุกความไว้วางใจที่เข้ามา ถ้าเป็นโอกาสที่จะได้รับใช้คนไทย และนักกีฬาไทย อะไรที่นำมาสู่ผลประโยชน์หรือชื่อเสียงในเวทีกีฬาโลกของไทย เราก็พร้อมน้อมรับใช้ทุกคน ส่วนเรื่องทีมงานบริหารนั้น ทุกคนในคณะกรรมการโอลิมปิคไทย และผู้บริหารของสมาคมกีฬาต่างๆ มีความน่ารัก มีความสามารถอยู่แล้ว เชื่อว่าทุกคนที่อยู่ในคณะกรรมการโอลิมปิคไทย และวงการกีฬาล้วนมีคุณภาพ มีประสบการณ์สูงมากๆ ทุกคนอยู่มาก่อน มีความรู้ความสามารถ ฉะนั้นไม่ใช่ปัญหาแน่นอน” ไอโอซีเมมเบอร์หนึ่งเดียวของไทยกล่าว
สำหรับกระบวนการเลือกประธานโอลิมปิคคนใหม่นั้น เริ่มจากสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของคณะกรรมการโอลิมปิคทั้งหมด 37 สมาคม จะเสนอชื่อผู้แทนสมาคม เพื่อรับเลือกทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารโอลิมปิควาระใหม่
จากนั้น 37 สมาคมจะโหวตเลือก 23 คน จาก 37 คน มาทำหน้าที่เป็นกรรมการบริหาร รวมกับผู้แทนคณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวไทย (คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล) และตัวแทนนักกีฬาโอลิมปิกชาวไทย (ปัจจุบันคือ ชนาธิป ซ้อนขำ) รวมทั้งหมด 25 คน ต่อจากนั้น 37 สมาคมกีฬาสมาชิก จะโหวตเลือก “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในคณะกรรมการโอลิมปิควาระใหม่ จำนวน 10 คน
เมื่อได้ผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มอีก 10 คนแล้ว รวมกับกรรมการบริหารชุดใหม่ 25 คน เป็นทั้งสิ้น 35 คน จะประชุมกันเพื่อจัดสรรตำแหน่งและเลือก “ผู้เหมาะสม” มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ คนใหม่ ในกรณีที่มีผู้เสนอชื่อแข่งขันกันมากกว่า 1 คนขึ้นไป ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 35 คน จะลงคะแนนเลือกตั้ง “แบบลับ” แล้วจึงนับคะแนน
สำหรับ 37 สมาคมกีฬาสมาชิกสามัญของคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง ประกอบด้วย ขี่ม้าโปโล, ตะกร้อ, สกีและสโนว์บอร์ด, ปัญจกีฬา, รักบี้, ยิงปืน, มวยสากล, บาสเกตบอล, กอล์ฟ, ฮอกกี้น้ำแข็ง, ฟิกเกอร์และสปีดสเก็ตติ้ง, แฮนด์บอล, เทควันโด, เรือพาย, ไตรกีฬา, เบสบอล, ขี่ม้า, ซอฟท์บอล, ฟันดาบ, มวยปล้ำ, ยกน้ำหนัก, แข่งเรือใบ, จักรยาน, เทเบิลเทนนิส, ลอนเทนนิส, โบว์ลิ่ง, ว่ายน้ำ, ยิงเป้าบิน, ยูโด, ฮอกกี้, ยิมนาสติก, ฟุตบอล, วอลเลย์บอล, แบดมินตัน, กรีฑา, ยิงธนู และปีนหน้าผา
ว่ากันว่าเมื่อ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประกาศตัวว่า พร้อมรับตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ หากได้รับการเสนอชื่อและสนับสนุน ทำให้เสียงที่จับกันเป็นกลุ่มก้อนเวลานี้แตกกระจายตัวกันแล้ว และเกิดแรงกระเพื่อมอีกรอบในบ้านอัมพวัน
ถึงเวลาแล้วที่สมาคมกีฬาต่างๆ ต้องคิดและไตร่ตรองอย่างรอบคอบที่จะเลือก “ใคร” มาทำงานตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ
“ใคร” ที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อการพัฒนานักกีฬาชนิดต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้ อย่าเลือกเพียงเพราะ “การเมือง” เข้ามาแทรกแซง…!!!
เพราะมันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนากีฬาของไทยในระยะยาว…