รายงานพิเศษ : กลเกมเลือกตั้ง ปธ.โอลิมปิคไทย

รายงานพิเศษ : กลเกมเลือกตั้ง ปธ.โอลิมปิคไทย

 

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ คนใหม่ และคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่จะมีขึ้นที่สำนักงานบ้านอัมพวัน วันที่ 25 มีนาคม เวลา 09.30 น.สถานการณ์เริ่มแกว่งไป แกว่งมา

3 สัปดาห์ก่อนการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นมีความเคลื่อนไหวมากมาย แคนดิเดตที่จะชิงตำแหน่งมี 3 รายประกาศตัวลงชิงเก้าอี้ตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทย ประกอบไปด้วย 1. สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ 2. ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยฯ 3. คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี เมมเบอร์) ชาวไทย และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

ADVERTISMENT

กลุ่มที่ประกาศตัว และดูท่าว่าจะมั่นอกมั่นใจกับการได้ยึดครองบ้านอัมพวันแน่นอนคือ กลุ่มของ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ นายกสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทยฯ ที่ประกาศว่ามีเสียงสนับสนุนในมืออย่างมากมาย และมีการเปิดชื่อทีมงานมาแล้ว นำโดย ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ คีย์แมนคนปัจจุบันของค่ายอัมพวันผู้เดินเกมเป็นโต้โผใหญ่นัดสมาคมกีฬาต่างๆ ไปรับประทานอาหาร พร้อมกับ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ และขอเสียงสนับสนุนให้กับ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ส่วนที่ถูกเปิดชื่อออกมาว่า เลือกอยู่ฝั่งเดียวกันคือ “บิ๊กต้อม” ธนา ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมกีฬาตะกร้อแห่งประเทศไทยฯ ที่ถูกวางตัวให้นั่งตำแหน่ง เลขาธิการโอลิมปิคไทย และ พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย นายกสมาคมกีฬายกน้ำหนักแห่งประเทศไทย ว่าเป็นทีมงานอยู่ด้วย

ADVERTISMENT

 

อีกขั้วหนึ่ง สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม นายกสมาคมกีฬาลอนเทนนิสแห่งประเทศไทยฯ คนกีฬาทราบกันดีว่า ที่สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม ตัดสินใจประกาศตัวชิงเก้าอี้เพราะ “แตกหัก” กับ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ เมื่อคราวที่ “อดีตนายกรัฐมนตรี + อดีตรัฐมนตรีขาใหญ่” นัดทั้งคู่ไปทานอาหารและเคลียร์กัน แต่ปรากฏว่า เคลียร์กันไม่ลงตัวจึงต้องลงสู่สมรภูมิรบห้ำหั่นกันให้ “แตกหัก” กันไปข้างหนึ่ง

สาเหตุที่แตกหักเพราะ สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม ร้องขอ 2 ตำแหน่งให้กับ สีหศักดิ์ อารีราชการัณย์ ในตำแหน่งเลขาธิการ และ พิชัย ชุณหวชิร นายกสมาคมกีฬามวยฯ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลปัจจุบันเป็นรองประธานเบอร์ 1 แต่ได้รับการปฏิเสธจาก ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ จึงทำให้การรับประทานอาหารโดยมี อดีตนายกรัฐมนตรีและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง นั่งหัวโต๊ะต้องยุติลง

คนสุดท้ายที่ประกาศตัวพร้อมจะชิงเก้าอี้ค่ายอัมพวันด้วยเสียงเรียกร้องจากสมาคมกีฬาส่วนใหญ่คือ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล สมาชิกคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี เมมเบอร์) ชาวไทย และนายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยฯ

ทุกคนในวงการกีฬาทราบกันดีอยู่แล้วว่า คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ทำงานเพื่อวงการกีฬาทั้งระดับในประเทศ และต่างประเทศอย่างเต็มที่ โดยที่ผ่านมา คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ผู้ที่มี “ซูเปอร์คอนเน็กชั่น” ทั้งระดับใน และต่างประเทศ ช่วยเหลือสมาคมกีฬาต่างๆ มาโดยตลอด ผลงานเด่นชัดเป็นที่ยอมรับและประจักษ์กันทั้งวงการกีฬา

 

ผลโพลของ KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต สำรวจความเห็นของแฟนกีฬา 1,137 คนโดยแบ่งเป็นเพศชาย 672 คน เพศหญิง 330 คน ยังออกมาว่า บุคคลที่เหมาะกับการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ส่วนใหญ่ร้อยละ 49.18 ยกให้ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล รองลงมาร้อยละ 33.92 ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ร้อยละ 15.85 นายสุชัย พรชัยศักดิ์อุดม และอื่นๆ ร้อยละ 1.05

อย่างไรก็ตาม คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในงานเลี้ยงสมาคมกีฬาแบดมินตันฯ ก่อนหน้านี้ว่า ผู้ที่ชิงตำแหน่งประธานโอลิมปิคไทย ไม่จำเป็นต้องมีการลงสมัคร แต่หากสมาคมกีฬาให้การสนับสนุน และเสนอชื่อกลางที่ประชุมใหญ่ก็ยินดีจะรับใช้ และพร้อมทำงานเพื่อวงการกีฬาของไทย ซึ่งปัจจุบันสมาชิก IOC หลายๆ ประเทศก็ดำรงตำแหน่งประธานของคณะกรรมการโอลิมปิคด้วย เพื่อส่งเสริมกีฬากีฬาในประเทศไทยให้เติบโตไปสู่ระดับนานาชาติ

การที่ไม่มีการลงสมัครเลือกตั้งก็เสมือนว่า คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไม่ได้เสียหายอะไร หากได้รับการเลือกตั้งก็จะส่งผลดีต่อวงการกีฬาของไทย แต่หากไม่ได้รับการเลือกตั้งก็ไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพราะไม่ได้เป็นการลงสมัครเลือกตั้งด้วยตนเอง แต่สมาคมสมาชิกเสนอชื่อในที่ประชุม และเป็นการโหวตลับ ที่สำคัญคือ คนถูกเสนอชื่อไม่จำเป็นต้องอยู่ในที่ประชุมอีกด้วยเช่นกัน

ประการสำคัญคือ คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ไม่เคยเข้าไปร่วมวงตะลุมบอนกับแคนดิเดตรายอื่นด้วย และปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ต่างจาก สุชัย พรชัยศักดิ์อุดม และ ผศ.พิมล ศรีวิกรม์ ที่มักจะประกาศอยู่ตลอดว่า ได้รับแรงสนับสนุนจากพรรคการเมือง ซึ่งมันอาจ “มีทั้งข้อดี และข้อเสีย” ในวงการกีฬาเมืองไทย แต่สิ่งที่หลายคนกังวลใจคือ หากปล่อยให้ “การเมือง” เข้ามาแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งอาจนำไปสู่ “หายนะ” ในอนาคตก็ได้

สมาคมกีฬาต่างๆ พากันเล่าถึงความอึดอัดใจ ลำบากใจตรงกันให้ฟังว่า ฟากฝั่งของกลุ่มขั้วแคนดิเดตรายหนึ่งที่ออกตัวแรงตั้งแต่แรก บางสมาคมคาดการณ์ว่า อาจมีการเตรียมตัว และวางแผนตั้งแต่ก่อนโอลิมปิก ปารีส 2024 หลายเดือนเสียอีก เเพราะทราบอยู่แล้วว่า หลังจบโอลิมปิก ปารีส 2024 จะมีการเลือกตั้ง NOC ของแต่ละประเทศ

คีย์แมนคนสำคัญของบ้านอัมพวัน ได้เชิญสมาคมกีฬาสมาชิกของโอลิมปิคไทยไปรับประทานอาหารกันมาแล้ว 3 ครั้ง หนล่าสุดเกิดขึ้นที่บ้านพักของคีย์แมนรายหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่า อาหารมื้อดังกล่าวสร้างความไม่พอใจ และความอึดอัดใจให้กับสมาคมกีฬาที่จำเป็นต้องไปร่วมโต๊ะตามคำเชิญเพื่อเป็นการรักษามารยาท

แถมยังมีการยื่นไมค์บังคับให้ทุกคนพูดและประกาศว่า สนับสนุนแคนดิเดตรายดังกล่าวอีกด้วย

อุณหภูมิดุเดือดถึงขั้นว่า มีตัวแทนสมาคมกีฬาหนึ่ง คัดค้านและต่อว่าคนที่พูดว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสมที่จะไปกล่าวอ้างลักษณะเช่นนั้น เพราะนี่คือ การเลือกตั้งโดยสมาคมกีฬาที่เป็นสมาชิก และทุกคนคิดเห็นในแนวทางเดียวกันว่า การประกาศออกมาเพื่อกดดันสมาคมกีฬาลักษณะเช่นนี้มันไม่มีความเหมาะสม

นี่คือ “จุดเสี่ยง” ที่อันตรายและแหลมคมยิ่งนัก ไม่ควรมีใครอ้างถึงเรื่องดังกล่าว เพราะสถานะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง…

 

 

โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งยังว่ากันต่อไปอีกว่า มีการทุ่มงบฯ “ซื้อเสียง” สนับสนุนกันอย่างหนัก ว่ากันว่า อดีตรัฐมนตรี-อดีตนักการเมืองระดับขาใหญ่ รายหนึ่ง ติดต่อไปยังสมาคมกีฬายูโดฯ เพื่อขอ “ซื้อเก้าอี้นายกสมาคมฯ” ให้คนของตัวเองมานั่งบริหารแทน เป็นเงินมโหฬารถึง 15 ล้านบาทอีกด้วย

แถมยังมีการเปิดตัวเลขการ “ซื้อเสียง” ลงคะแนนเลือกตั้งครั้งนี้อยู่ที่ตัวเลข 5 ล้านบาทต่อ 1 เสียงอีก
การเลือกตั้งประธานโอลิมปิคไทยคราวนี้ผิดแปลกจากที่ผ่านๆ มา เพราะมีการแย่งชิงเก้าอี้กันอย่างดุเดือด คนกีฬาที่มักจะพูดว่า เป็นจิตอาสาเข้ามาทำงาน ทำไมต้องแย่งชิงอำนาจประธานโอลิมปิคไทยกันชนิดบ่งบอกถึงการแตกความสามัคคีผิดปกติวิสัยของคนกีฬา

ปฏิบัติการที่ผ่านมาแหลมคม ดุเดือด ฝุ่นตลบยิ่งนัก ทั้งการเมืองเข้ามาแทรกแซง ทั้งการแอบอ้างไม่เหมาะสม ประเด็นสำคัญคือ หลังการเลือกตั้งจะทำงานเพื่อพัฒนาวงการกีฬาของเมืองไทยกันอย่างไรต่อไปในเมื่อยังมีผลประโยชน์มหาศาล

วงการกีฬาของเมืองไทย จะเดินหน้ากันไปอย่างไร จะแตกก๊ก แตกเหล่า แบ่งแยกกันต่อไป ไร้ซึ่งความสมานฉันท์กันแบบวงการการเมืองอย่างนั้นหรือ…

คนกีฬาที่แท้จริงต้องมีน้ำใจนักกีฬา และก้าวเข้าสู่เก้าอี้อย่างสง่างาม ไร้ซึ่งข้อครหาใดๆ ไม่ใช่หรือ…?

จับตาดูเถอะว่า ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง 25 มีนาคม 2568 สถานการณ์จะยิ่งตึงเครียดกันขนาดไหน อย่างไร…?

หรือจะมี “ฮีโร่” มาห้ามศึกเพื่อทำให้ภาพวงการกีฬาเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับสังคมชนิดไม่มีความแตกแยก…

เพราะสิ่งที่แน่นอนคือ สิ่งไม่แน่นอน…

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image