ทิม ทัพพวิบูล ครูกอล์ฟ (โปร) คนแรกของประเทศไทย

ทิม ทัพพวิบูล ครูกอล์ฟ (โปร) คนแรกของประเทศไทย

ทิม ทัพพวิบูล ครูกอล์ฟ(โปร)คนแรกของประเทศไทย

กีฬากอล์ฟเริ่มขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หลังจากสมเด็จพระอนุชา เจ้าฟ้าประชาธิปกทรงขึ้นครองราชย์ ได้เสด็จมาสนามหัวหินบ่อยครั้ง เนื่องจากพระองค์ทรงกอล์ฟสมัยประทับอยู่ประเทศอังกฤษ รวมทั้งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงนิยมในกีฬานี้ด้วย

กอล์ฟจึงเป็นที่โปรดปรานในราชสำนัก จนกลายเป็นเรื่องสนทนาการทั้งในงานเลี้ยง หรือแม้ขณะทำงาน ซึ่งย่อมสร้างความรำคาญให้คนอื่นๆ ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เล่นกอล์ฟ พระองค์จึงทรงมีรับสั่งให้จัดหีบสีเขียวไว้ในราชสำนัก หากใครพูดถึงกอล์ฟก็จะถูกปรับ 1 บาท ซึ่งมีค่าพอสมควรในสมัยนั้น ปรากฏว่าได้ผล และ 10 บาทสำหรับผู้ที่ออกท่าทางกอล์ฟด้วย

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านได้ทรงกอล์ฟโดยมีแคดดี้ที่ถวายการหารือและแนะนำในการเล่น และเมื่อทรงถามชื่อ ก็ได้รับคำตอบว่า “ทิม กันร้าย (นามสกุลเดิม) พระพุทธเจ้าข้า”

ตั้งแต่นั้นมา ชื่อของ ทิม จึงเป็นที่กล่าวขวัญถึง

Advertisement

จนเมื่อ พ.ศ.2469 พระวรวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ขณะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทยคนแรก ได้ทดสอบฝีมือการเล่นของ นายทิม กันร้าย รวมทั้งได้ทรงสอบถามความรู้ต่างๆ ในเรื่องกีฬากอล์ฟจนพอพระทัย

จึงทรงประกาศแต่งตั้งให้ครูทิมเป็นนักกอล์ฟอาชีพคนแห่งแรกประเทศสยาม ต่อหน้าบรรดาข้าราชการผู้ใหญ่ที่ตามเสด็จไปในครั้งนั้น

ครูทิม ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2452 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เริ่มอาชีพในกีฬาประเภทนี้ โดยทำงานช่วยบิดามารดาในการรับจ้างขุดวัชพืช กวาดหญ้าในบริเวณสนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ได้ค่าแรงวันละ 20 สตางค์

Advertisement

และต่อมาได้เขยิบฐานะเป็นแคดดี้ ซึ่งเพิ่มพูนความรู้ในการเล่นกอล์ฟ ทำให้อยากจะเล่นกอล์ฟเองบ้าง ถึงกับลงทุนทำไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ จากการเหลาด้วยไม้ เลียนแบบของจริง และจดจำวงสะวิงที่ถูกใจของนักกอล์ฟที่ตนมีโอกาสถือถุงให้ โดยเฉพาะชาวต่างประเทศที่มาเล่นกันมาก

ดังนั้น ครูทิมจึงได้มุมานะใช้เวลาตอนหยุดพักเที่ยงวัน ฝึกฝนตัวเองเป็นประจำ

ต่อมาเมื่อครูทิมหาลูกกอล์ฟจริงๆ ได้บ้างแล้ว จึงสัมผัสการเล่นกอล์ฟค่อนข้างมีมาตรฐานขึ้น ในขณะที่เพื่อนแคดดี้ชื่อ นายแก้ว ซึ่งมีนายฝรั่งที่เป็นผู้วางโครงการและควบคุมการก่อสร้างสนาม ได้ให้อุปกรณ์ไม้กอล์ฟกับนายแก้วใช้ในการเล่น จึงมีภาษีดีกว่าครูทิม

ดังนั้น เมื่อมีการคัดเลือกหัวหน้าแคดดี้ซึ่งมีคู่แข่งขันเพียงสองคน คือ ครูทิม และนายแก้ว โดยมีนายฝรั่งของนายแก้วเป็นประธานการคัดเลือก และออกเล่นเป็นกรรมการไปในตัวด้วย โดยเอาผลการเล่น 9 หลุม (ขณะนั้น สนามกอล์ฟหลวงหัวหินมีเพียง 9 หลุม)

ผลการคัดเลือก ครูทิมเป็นฝ่ายปราชัยยับเยิน เพราะเหตุได้รับการแจ้งอย่างกะทันหัน และมีเครื่องมือการเล่นสู้นายแก้วไม่ได้ ครูทิมจึงพลาดโอกาสเป็นหัวหน้าแคดดี้ในตอนนั้นไป

แต่ต่อมาก็ได้เป็นหัวหน้าแคดดี้ได้สมใจ ได้ค่าแรงเหมาเดือนละ 15 บาท พอตกปีที่สองและสาม จึงได้ขึ้นเงินเป็น 17 และ 18 ตามลำดับ

แต่หลังจากนั้น 7-8 ปี ไม่ได้ขึ้นอีกเลย สุดท้ายต่อมาได้ขึ้นเป็นเดือนละ 35 บาท และได้เลื่อนเป็นผู้ควบคุมดูแลสนาม แต่เงินเดือนเท่าเดิม

ครูทิมทำงานในตำแหน่งนี้มาได้ประมาณหนึ่งปีก็ลาออก เพราะไม่มีแรงงานและเครื่องจักรกลพอที่จะดำเนินงานบำรุงรักษาสนามได้ดี จึงย้ายมาทำสัญญารับจ้างเป็นครูสอนกอล์ฟอยู่กับสโมสรดุสิต และราชกรีฑาสโมสร ยึดอาชีพเป็นโปรมาได้หกปีครึ่ง คุณหลวงรอบรู้กิจ เจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ของกรมรถไฟหลวง ได้คิดจะทำการฟื้นฟูสนามกอล์ฟหลวงหัวหินที่ทรุดโทรมขึ้นมาใหม่ จึงติดต่อขอตัวจากสโมสรดุสิต และราชกรีฑาสโมสรขอตัวครูทิมไปทำการปรับปรุงสนามโดยด่วน

แต่โชคไม่อำนวย พอจะเริ่มดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นเหตุให้ต้องยุบและตัดคนงานออก ครูทิมก็เลยกลับมาสอนกอล์ฟที่กรุงเทพฯ ดังเช่นเดิม

ประวัติผลงานของครูทิมมีพอสังเขปดังนี้

1. แชมเปี้ยนประเทศสยาม 9 ครั้ง

2. แข่งขันในต่างประเทศ

– ตามเสด็จกรมพระกำแพงเพชรฯ ไปดูงานการซ่อมบำรุงสนามที่กัวลาลัมเปอร์ และได้เล่นโชว์ฝีมือกับนักกอล์ฟอาชีพชาวสิงคโปร์

– ได้อันดับ 15 ในรอบชิงที่มีผู้เล่น 65 คน ในการแข่งขันกอล์ฟอาชีพที่ประเทศฟิลิปปินส์

– ได้อันดับ 18 ในรอบชิงที่มีผู้เล่น 85 คน ในการแข่งขันกอล์ฟอาชีพที่ประเทศฟิลิปปินส์

– ได้อันดับ 13 ในรอบชิงที่มีผู้เล่น 97 คน ในการแข่งขันกอล์ฟอาชีพที่ประเทศฟิลิปปินส์

3. สามารถทำโฮลอินวัน ได้ถึง 3 ครั้ง

ครูทิมมีบุตรชาย 5 คน หญิง 5 คน และบุตรชายต่างเจริญรอยตามเป็นโปรที่มีชื่อเสียงกันทุกคน

น่าเสียดายที่ครูทิม ได้จากวงการกอล์ฟไทย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2520 ด้วยโรคเส้นเลือดใหญ่ที่ลำไส้แตก สิริอายุได้เพียง 68 ปีเท่านั้น ทิ้งความเสียใจที่ลูกศิษย์ลูกหาอาลัยอาวรณ์ถึง และเล่าขานความเป็นครูที่อมตะมาตราบเท่าทุกวันนี้

สุกรี อ่อนฉ่ำ ยอดนักกอล์ฟไทยในตำนานอีกคนหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นแคดดี้ถือถุงให้ครูมาก่อนจึงทันเห็นครูทิมเล่นกอล์ฟ เล่าให้ฟังว่า ครูทิมมีลูกแก้ไขในการเล่น และมีความสามารถในการบังคับลูกกอล์ฟได้อย่างยอดเยี่ยม มีความประทับใจมากที่เห็นครูทิมใช้แสงจันทร์เดือนหงาย ตีลูกบังคับเข้าหน้าต่างบ้านได้อย่างแม่นยำ เพื่อฝึกความกล้าและความแม่นของการคอนโทรลระยะลูกตก

ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่โปรดปรานกีฬากอล์ฟมาก ได้เขียนถึงครูทิมไว้ในหนังสือ “กอล์ฟตูเอง” เกี่ยวกับการสอนกอล์ฟไว้ว่า ท่านได้ถามครูทิม ทำยังไงถึงจะตีกอล์ฟให้ตรง ครูตอบว่า ก็ใช้สะดือตีซิ ทำเอาท่านงง

และมาพบความจริงภายหลังว่า คำแนะนำของครูทิมนั้น …หมายถึงเวลาดาวน์สะวิงให้หมุนท่อนล่างของตัวกลับไปด้านหน้า จนสะดือชี้ไปที่เป้านั่นเอง…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image