กรมพลศึกษา หวนจัดศึกกีฬานักเรียนคนพิการ แก่นคูนเกมส์ หลังงดไป 5 ปี

กรมพลศึกษา หวนจัดศึกกีฬานักเรียนคนพิการ แก่นคูนเกมส์ หลังงดไป 5 ปี

นายจรูญ แก้วมุกดากุล รองอธิบดีกรมพลศึกษา รักษาราชการแทนอธิบดีกรมพลศึกษา เป็นประธานแถลงข่าวการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2568 “แก่นคูนเกมส์” โดยมี นายคงกริช พงษ์พันธ์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดขอนแก่น และ ดร.พัฒพงศ์ พงษ์สกุล ผู้อำนวยการสำนักการกีฬา ร่วมแถลง ที่ห้องประชุมศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์

กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมกับ จังหวัดขอนแก่น จัดการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2568 “แก่นคูนเกมส์” เพื่อเป็นการส่งเสริมให้นักเรียนคนพิการ มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาอันเป็นส่วนหนึ่งของกรมพลศึกษาที่จะช่วยส่งเสริมให้คนพิการต่างๆ ในสถานศึกษาได้รู้จักออกกำลังกายด้วยการเล่นและแข่งขันกีฬา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสมรรถภาพทางกาย ทางอารมณ์ ทางจิตใจ และทางสังคม อีกทั้งช่วยส่งเสริมความมีระเบียบวินัยและช่วยพัฒนามาตรฐานกีฬานักเรียนคนพิการให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศ อันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนากีฬาสำหรับคนพิเศษของกรมพลศึกษา

สำหรับการแข่งขันกีฬานักเรียนคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 22 ประจำปี 2568 “แก่นคูนเกมส์” จะจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 10-15 มีนาคม 2568 ที่ จ.ขอนแก่น โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รุ่นอายุ คือ รุ่นอายุ 10-15 ปี และรุ่นอายุ 16-21 ปี มีการจัดแข่งขัน 9 ชนิดกีฬา ประกอบด้วย กรีฑา, โกลบอล, เทเบิลเทนนิส, แบดมินตัน, เปตอง, ฟุตซอล (ชาย) , วอลเลย์บอลชายหาด, ว่ายน้ำ และสแต๊ค มีนักกีฬาและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 2,400 คน จาก 78 โรงเรียนทั่วประเทศ

ADVERTISMENT

นายจรูญ แก้วมุกดากุล รองอธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า นับเป็นข่าวดีสำหรับวงการกีฬาคนพิการเป็นอย่างยิ่ง ที่กรมพลศึกษากลับมาจัดมหกรรมกีฬานักเรียนคนพิการอีกครั้ง หลังจากที่ห่างหายไปถึง 5 ปี โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมพลศึกษาได้ดำเนินการจัดการแข่งขันกรีฑาและว่ายน้ำ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความพิการได้แสดงศักยภาพทางกีฬา ซึ่งปีนี้กรมพลศึกษาได้รับการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม จึงสามารถจัดมหกรรมกีฬานักเรียนคนพิการในระดับประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ โดยได้ร่วมมือกับจังหวัดขอนแก่นในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน

“ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นสอดคล้องกันในการกำหนดให้มีการแข่งขัน 9 ชนิดกีฬา โดยคาดหวังว่ามหกรรมครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักกีฬานักเรียนที่มีความพิการได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ รวมถึงเป็นการพัฒนาทักษะด้านกีฬา ที่อาจนำไปสู่การต่อยอดสู่ระดับทีมชาติไทยในอนาคต และมหกรรมกีฬาครั้งนี้ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพและพัฒนาสมรรถภาพทางกายของนักเรียนคนพิการให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมกีฬาที่ครอบคลุมและเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงกีฬาได้อย่างเท่าเทียม” นายจรูญ กล่าวเสริม

ADVERTISMENT

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image