หนังสือที่ระลึก ร.9 ‘บรมกษัตริย์วัฒนสถาน’ ปีติภาพหาชมยาก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ จัดพิมพ์หนังสือ 11 เรื่อง พระราชทานเป็นที่ระลึกแก่ผู้ร่วมพระราชพิธี
ร.10 โปรดเกล้าฯพิมพ์หนังสือที่ระลึก

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกพระราชทานแก่ผู้ที่เข้าร่วมในพระราชพิธี มีชื่อหนังสือว่า “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน”

โดยหน้าปกเป็นสีดำ ด้านบนมีตราพระปรมาภิไธย วปร ภายใต้มหาพิชัยมงกุฎ ถัดลงมาตรงกลางเป็นชื่อหนังสือ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” และด้านล่างระบุข้อความว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้พิมพ์พระราชทาน ในการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม พุทธศักราช 2560” หนังสือมีทั้งหมด 198 หน้า จัดพิมพ์ 10,000 เล่ม

ทั้งนี้ ในคำนำของหนังสือระบุข้อความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ซึ่งเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 ว่าเป็นสมเด็จพระบรมราชบูรพการีผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ ทั้งเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ และเพียบพร้อมด้วยพระบุญญาบารมี ได้เชิญพระบรมศพประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยถวายพระเกียรติสูงสุดตามโบราณราชประเพณี และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายมาเป็นลำดับ

Advertisement

อนึ่ง ทรงตระหนักแน่ในพระราชหฤทัยว่า ประชาชนต่างมีความปรารถนาอยู่ทั่วกัน ที่จะได้มาถวายสักการะพระบรมศพ เพื่อแสดงความกตัญญูกตเวทีและความจงรักภักดี จึงพระราชทานพระราชานุญาตให้ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้เข้ามาถวายสักการะพระบรมศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตลอดจนร่วมเป็นเจ้าภาพบำเพ็ญพระราชกุศลสวดพระอภิธรรมพระบรมศพ ภายหลังจากการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลปัญญาสมวารเป็นต้นมา

โปรดเกล้าฯจัดพิมพ์หนังสือ11เรื่อง
บัดนี้ ถึงวาระที่จะถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง จึงมีพระราชโองการให้จัดการพระราชกุศลนี้ โดยถวายพระเกียรติสูงสุดตามโบราณราชประเพณี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์หนังสือขึ้น 11 เรื่อง สำหรับพระราชทานเป็นที่ระลึก ดังนี้

1.ความเห็นเรื่อง เรือ “ส” พระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็น นายเรือโท สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์

Advertisement

2.เจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

3.เรื่องพระราชานุกิจ รวมพระราชกิจประจำวันของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

4.บรมกษัตริย์วัฒนสถาน ประมวลข้อมูลที่จัดแสดงในนิทรรศการ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” ณ หอนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม

5.พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเทียร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สยามินทราธิราช พ.ศ.2493

6.บันทึกการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานกระแสพระราชดำริ เรื่องปัญหาการใช้คำไทย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 29 กรกฎาคม 2505

7.เครื่องประกอบพระบรมราชอิสริยยศ ซึ่งสำนักราชเลขาธิการและสำนักพระราชวัง ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บันทึกภาพ จัดทำคำบรรยายและข้อมูลเนื้อหาต่อเนื่องมานับแต่พุทธศักราช 2529

หนังสือหายาก ‘มิวเซียม ฤา รัตนโกษ’

8.รวมบทความเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่พิมพ์ลงในวารสารมูลนิธิชัยพัฒนา เล่ม 1-3 ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

9.พระราชสาส์น ลายพระราชหัตถ์ ลายพระหัตถ์ สาส์น ซึ่งพระประมุข พระราชวงศ์ และประมุขประเทศต่างๆ แสดงความเศร้าสลดพระราชหฤทัย เศร้าพระทัย และเสียใจ ในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคต

10.รวมพระธรรมเทศนา ในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ตั้งแต่การพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลสัตตมวารเป็นต้นมา

11.มิวเซียม ฤา รัตนโกษ เล่ม 1-3 เป็นหนังสือหายาก ตีพิมพ์เมื่อจุลศักราช 1239 (พุทธศักราช 2420) โดยโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ เนื้อหาเป็นการประมวลความรู้ทั่วไปในเรื่องต่างๆ

ทรงหวังพระราชหฤทัยว่า พระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญถวายและประโยชน์ทั้งปวง อันจะพึงเกิดมีแต่หนังสือพระราชทานนี้ จะเป็นปัจจัยเครื่องเฉลิมพระเกียรติยศและเพิ่มพูนพระบุญญาบารมี แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ผู้เสด็จสวรรคตแล้วนั้น ให้ปรากฏแผ่ไพศาลยิ่งๆ ขึ้นไป
พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต 8 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560

พระเทพฯทรงมีพระราชปรารภคำนำ
นอกจากนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชปรารภในคำนำหนังสือ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” ความว่า ใน พ.ศ.2543 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานวังสระปทุมและกิจการที่อยู่ในบริเวณนี้แก่ข้าพเจ้า มีพระราชประสงค์ให้ข้าพเจ้าศึกษาค้นคว้า พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และจัดทำพิพิธภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาศึกษาพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ซึ่งไม่ค่อยจะแพร่หลายนัก ทั้งยังดูแลข้าราชบริพารและครอบครัวที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น

ข้าพเจ้าและทีมงานเริ่มการค้นคว้าวิจัย จัดทำพิพิธภัณฑ์ที่พระตำหนักใหญ่ ซึ่งเคยเป็นที่ประทับและทรงออกแบบเบื้องต้นเอง (ตามคำบอกเล่าของข้าหลวงผู้ใหญ่) และให้สถาปนิกออกแบบรายละเอียด มีอีกอาคารที่สร้างใหม่เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์โดยตรง เอาสิ่งของที่อยู่ในเข่งและห้องเก็บของมาซ่อมทำความสะอาด ค้นหาเอกสารที่ทำให้เราทราบว่าสิ่งของนั้นมาจากบริษัทอะไร บางบริษัทยังอยู่ แม้จะย้ายสำนักงานไปจากที่เดิม นอกจากนั้นยังได้สัมภาษณ์บุคคลที่เคยได้เข้าเฝ้า เอกสารที่ค้นคว้ามีทั้งเอกสารที่อยู่ในวังสระปทุม เอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งชาติและในที่อื่นๆ

เมื่อมีงานเฉลิมพระเกียรติ 150 ปี พระราชสมภพสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงมีข้อมูลครบถ้วนที่จะแจ้งยูเนสโกเพื่อประกาศว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ (สาธารณสุข) วัฒนธรรม สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ข้อมูลที่เราทำใช้เวลาค้นคว้ามากกว่า 10 ปี นอกจากจะมีการเฉลิมฉลองในประเทศไทยแล้ว เราได้ไปจัดงานที่นครชิคาโก เนื่องจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงมีส่วนสำคัญในนามสยามประเทศ จัดนิทรรศการในงาน World’s Columbian Exposition 1893

ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรหอนิทรรศการตำหนักใหญ่ พระตำหนักเขียว และพระตำหนักใหม่ ทรงมีพระราชปฏิสันถารด้วยเจ้าหน้าที่ผู้จัดนิทรรศการ เรื่องที่พอพระราชหฤทัยเป็นพิเศษคือหาบของ “เจ๊กตู้” คือ หาบตู้กระจกที่คนจีนหาบขายตามบ้าน ในตู้มีสารพัด เช่น เข็ม ด้าย สบู่ แป้ง แผ่นเสียง ของเล่นสังกะสี ซึ่งเป็นของเล่นที่เด็กสมัยก่อนชอบมาก สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงเรียกเจ๊กตู้เข้ามา เพื่อให้พระราชนัดดาได้ทรงซื้อของตามพระราชประสงค์

เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พิมพ์หนังสือเล่มนี้ เพื่อพระราชทานผู้ร่วมงานรวมกับหนังสือเล่มอื่น เพื่อให้ผู้อ่านได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สืบต่อไป

เนื้อหาส่วนแรกแบ่งเป็น4ภาค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อหาในหนังสือแบ่งออก 2 ส่วน โดยส่วนแรก มีเนื้อหาที่เกี่ยวกับนิทรรศการ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2554-31 มีนาคม พ.ศ. 2555 ณ หอนิทรรศการพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาค ภาคที่ 1 ยุววารราชปวัตติ์ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชประวัติในหลวง รัชกาลที่ 9 ตั้งแต่เสด็จพระราชสมภพ ทรงพระเยาว์ ถึงเสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อปี 2489 ภาค 2 ราชประดิพัทธภิษิต มีเนื้อหาเกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงหมั้น วันราชาภิเษกสมรส รวมถึงพระราชโอรส พระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์

ภาคที่ 3 ราชกฤตย์กตัญญุตา มีเนื้อหาเกี่ยวกับความกตัญญูของในหลวง รัชกาลที่ 9 ต่อพระราชบุพการี สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ภาคที่ 4 พันวัสสาราชกรณียานุวัตร มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ต่อเนื่องไปจนถึงสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประเทศชาติและประชาชน

พระบรมฉายาลักษณ์หาชมยาก
สำหรับส่วนที่ 2 ประมวลพระบรมฉายาลักษณ์และพระฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และนิทรรศการ “บรมกษัตริย์วัฒนสถาน” ณ วังสระปทุม วันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2555

ทั้งนี้ ภายในหนังสือได้รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ และพระรูป ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่หาชมยากจำนวนมาก รวมถึงลายพระหัตถ์ต่างๆ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันทรงคุณค่ายิ่ง อาทิ ลายพระหัตถ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี กราบบังคมทูลสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2470 ว่า “เมืองไทยต้องการคนที่เปนคนสำหรับจะได้ช่วยทำให้เจริญขึ้นอย่างคนอื่นบ้าง หม่อมฉันจะรู้สึกว่าได้รับรางวัลอย่างวิเศษ ถ้าลูกทุกๆ คนได้ช่วยทำประโยชน์ให้แก่เมืองไทยได้”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานสัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์บีบีซี เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง The soul of Nation เมื่อปี 2522 ความว่า “การที่จะอธิบายว่า พระมหากษัตริย์ คืออะไรนั้น ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้าซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว ดูจะห่างไกลจากหน้าที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักหรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบันนั้น ก็คือ ทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าจะถามข้าพเจ้าว่ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบก็คือ ไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image