เก็บตกโมเมนต์แห่งมิตรภาพในโตเกียวเกมส์

ทัมเบรี่กอดบาร์ชิมหลังตัดสินใจแชร์เหรียญทองกระโดดสูง (REUTERS/Hannah Mckay)

เก็บตกโมเมนต์แห่งมิตรภาพในโตเกียวเกมส์

ท่ามกลางการขับเคี่ยวเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในเวทีใหญ่ของโลกกีฬาอย่าง โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทางหนึ่งก็อาจเกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่ง หรือบรรยากาศตึงเครียดระหว่างนักกีฬาชาติต่างๆ เหมือนอย่างกรณีวิวาทะสระโอลิมปิกระหว่างนักกีฬาสหรัฐกับรัสเซียว่าด้วยการใช้สารต้องห้ามเมื่อไม่กี่วันก่อน

แต่อีกทางก็มีเรื่องราวดีๆ ที่แสดงให้เห็นถึงน้ำใจนักกีฬาระหว่างเพื่อนร่วมทีมหรือแม้กระทั่งจากคนที่เป็นคู่แข่งกัน

อย่างเช่นเรื่องราวดีๆ ในการแข่งขันกระโดดสูงชายที่กลายเป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ในรอบกว่า 100 ปี

เรื่องมีอยู่ว่า หลังการขับเคี่ยวนานกว่า 2 ชั่วโมง ยังไม่สามารถหาผู้ชนะที่แท้จริงได้ เนื่องจาก จานมาร์โก้ ทัมเบรี่ นักกรีฑาชาวอิตาเลียน กับ มูทาซ บาร์ชิม ของกาตาร์ ต่างกระโดดเคลียร์ที่ความสูง 2.37 เมตร ในครั้งแรกเท่ากัน ขณะที่ มักซิม เนดาเซเกา ของเบลารุส กระโดดเคลียร์ความสูงได้เท่ากันจริง แต่ใช้จำนวนครั้งมากกว่า จึงหลุดไปเป็นเหรียญทองแดงก่อนแล้ว

Advertisement
(AP Photo/Francisco Seco)

หลังจากนั้น ทัมเบรี่กับบาร์ชิมผลัดกันกระโดดที่ความสูง 2.39 เมตร แต่ไม่มีใครเคลียร์ได้

อันที่จริง ทัมเบรี่ซึ่งเป็นอดีตแชมป์โลกปี 2016 เคยเคลียร์ความสูง 2.39 เมตร มาแล้ว ขณะที่บาร์ชิม เจ้าของเหรียญทองแดงจากโอลิมปิกเกมส์ปี 2012 และเหรียญเงินปี 2016 ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะเคยกระโดดผ่านความสูง 2.43 เมตร ซึ่งเป็นสถิติดีที่สุดอันดับ 2 ตลอดกาลมาแล้วด้วยซ้ำ

สำหรับทัมเบรี่ เขามุ่งมั่นตั้งใจกับโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้มากๆ เพราะเคยได้รับบาดเจ็บก่อนแข่งที่รีโอเดจาเนโรเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จนฝันสลาย และในศึกโตเกียวเกมส์ครั้งนี้ เขาก็เอาที่ประคองแข้งที่เคยใช้เวลานั้นติดตัวไปเพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้วย

Advertisement

ขณะที่บาร์ชิม ถ้าคว้าเหรียญทองจากโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ก็จะทำให้เขามีเหรียญรางวัลโอลิมปิกครบถ้วนจากการร่วมแข่งขัน 3 ครั้ง

เมื่อต่างไม่มีใครเคลียร์ความสูง 2.39 เมตรได้ เจ้าหน้าที่เข้าไปคุยกับทั้งคู่ เสนอเรื่องการ “จั๊มป์ออฟ” หรือผลัดกันกระโดดทีละครั้งเพื่อหาผู้ชนะ

ตอนนั้นเองที่บาร์ชิมถามว่า “เราแชร์เหรียญทองกันได้มั้ย?” เมื่อเจ้าหน้าที่พยักหน้ารับ นักกีฬาทั้ง 2 ชาติก็ตีมือกันเสียงดัง แล้วสวมกอดด้วยความดีใจ ต่างฝ่ายต่างวิ่งไปฉลองกับสต๊าฟโค้ชของตัวเอง

และนี่ก็เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1912 หรือเมื่อ 109 ปีที่แล้ว ที่มีการแชร์เหรียญทองในการแข่งขันกรีฑาโอลิมปิกเกมส์เกิดขึ้น

อิไซอาห์ จีเว็ตต์ กับไนเจล อามอส กอดคอกันเดินเข้าเส้นชัย (REUTERS/Aleksandra Szmigiel)

ก่อนหน้านั้นในการแข่งขันกรีฑาเช่นกัน ก็มีเหตุการณ์น่าประทับใจเกิดขึ้นในการแข่งขันวิ่ง 800 เมตร ชาย รอบรองชนะเลิศ เมื่อ อิไซอาห์ จีเว็ตต์ ของสหรัฐ กับ ไนเจล อามอส ของบอตสวานา พลาดชนกันจนล้ม

แต่แทนที่จะโกรธหรือหงุดหงิดกับการพลาดโอกาสเข้ารอบ ทั้งคู่ต่างช่วยดึงกันลุกขึ้นมา แล้วกอดคอวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมๆ กัน

ด้านการแข่งขันกระดานโต้คลื่นซึ่งบรรจุชิงเหรียญทองเป็นครั้งแรกก็มีช่วงเวลาอบอุ่นน่าประทับใจเกิดขึ้นเช่นกัน

คาโนอะ อิการาชิ หนุ่มลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน ความหวังของเจ้าถิ่น ผิดหวังอย่างหนักหลังพ่ายให้ อิตาโล่ เฟร์ไรร่า นักกีฬาบราซิล เพราะเป็นการพ่ายแพ้ที่ชายหาดซึ่งเขาเล่นมาตั้งแต่หัดโต้คลื่นใหม่ๆ

เท่านั้นไม่พอ เขายังตกเป็นเป้าโจมตีของพวกเกรียนคีย์บอร์ดแดนแซมบ้าที่พยายามเหยียดเชื้อชาติด้วยถ้อยคำรุนแรง

แต่อิการาชิก็ก้าวข้ามความผิดหวังและการเสียดสีของแฟนกีฬาฝ่ายตรงข้าม และใช้ความรู้ด้านภาษาโปรตุเกสของตัวเอง ช่วยเป็นล่ามให้เฟร์ไรร่าในการแถลงข่าว จนได้รับเสียงชื่นชมและคำขอบคุณจากทั้งนักข่าวและเฟร์ไรร่าเอง

ออกซาน่า ชูโซวิติน่า กับโอลิมปิกครั้งสุดท้าย (AP Photo/Ashley Landis)

ขณะที่บรรยากาศการสั่งลาโอลิมปิกเกมส์ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของตำนานนักยิมนาสติกหญิง ออกซาน่า ชูโซวิติน่า เป็นไปอย่างอบอุ่นเรียกน้ำตา

ชูโซวิติน่าของทีมอุซเบกิสถาน ปัจจุบันอายุ 46 ปี ทำสถิตินักยิมนาสติกอายุมากที่สุดที่เข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ และยังเข้าร่วมมากครั้งที่สุดอีกด้วย

เส้นทางการแข่งขันโอลิมปิกของตำนานยิมหญิงคนนี้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1992 ที่บาร์เซโลนา ประเทศสเปน หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว ก่อนคู่แข่งเกือบทุกคนของเธอจะเกิดเสียอีก

ชูโซวิติน่าลงแข่งขันให้กับทีมชาติสหภาพโซเวียต (ยูนิฟายด์ทีม) อุซเบกิสถาน เยอรมนี และกลับไปอุซเบกิสถานอีกครั้ง เคยร่วมคว้าเหรียญทองประเภททีมหญิงกับยูนิฟายด์ทีม และเหรียญเงินโต๊ะกระโดดกับทีมชาติเยอรมนี เมื่อปี 2008

เธอร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายกับอุปกรณ์ถนัด แต่น่าเสียดายที่ไม่สามารถทำแต้มผ่านรอบคัดเลือกเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศได้

ชูโซวิติน่าโบกมือลาฮอลล์ที่เกือบว่างเปล่าอย่างเหงาๆ แต่ทั้งนักกีฬา สต๊าฟโค้ช และเจ้าหน้าที่ในสนาม ณ เวลานั้น ต่างพยายามปรบมือและส่งเสียงเชียร์ให้ดังที่สุด เพื่อทดแทนเสียงแฟนๆ ที่ไม่อาจร่วมเป็นสักขีพยานการอำลาของนักกีฬาประวัติศาสตร์รายนี้ได้

กล่าวกันว่า บรรยากาศการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ปีนี้ไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ เพราะต้องเลื่อนการแข่งขันมา 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 แม้จะจัดแข่งได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขและหลักปฏิบัติมากมาย

สำหรับนักกีฬาหลายคน การได้เข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง ได้กลับมาเจอหน้าเพื่อนๆ ในวงการเดียวกัน ก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายสำคัญข้อหนึ่งไปแล้ว

ในการแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด รอบแรก นัดสุดท้าย รีเบ็คก้า คาวัลคันตี้ จากบราซิล แกล้งเทน้ำใส่หลังของ เคลลี่ แคล นักกีฬาอเมริกันขณะกำลังให้สัมภาษณ์

ซึ่งแคล ผู้ชนะในแมตช์นั้นหัวเราะแล้วบอกกับนักข่าวว่า ตื่นเต้นมากๆ หลังพ้นช่วงกักตัว เพราะจะได้นั่งทานข้าวร่วมกับเพื่อนๆ ต่างทีม ถึงแม้จะยังต้องเว้นระยะห่างก็ตาม

วอนดรูโซว่ากอดแสดงความยินดีกับเบนซิช (REUTERS/Edgar Su)

หรือหลังจบแมตช์เทนนิสหญิงเดี่ยว มาร์เคต้า วอนดรูโซว่า นักหวดสาวชาวเช็ก ก็เข้าไปกอดแบบอ้อนๆ แสดงความยินดีกับ เบลินด้า เบนซิช ผู้ชนะชาวสวิส หลังจบพิธีรับเหรียญ เรียกรอยยิ้มจากทั้ง 2 ฝ่ายและแฟนๆ ที่ชมการสัมภาษณ์จากทางบ้าน

เพราะบางครั้งผลแพ้ชนะก็ไม่สำคัญเท่ามิตรภาพและการเข้าร่วมแข่งขัน เหมือนที่บาร์ชิมผู้แชร์เหรียญทองกระโดดสูงชายกับทัมเบรี่ บอกว่า ต่างคนต่างมองตากันและเข้าใจกันดี ตนคิดว่าด้วยผลงานของตัวเองในครั้งนี้ สมควรเป็นผู้ชนะ เขาก็เช่นกัน

“สิ่งนี้เหนือกว่าการแข่งขันกีฬา แต่เป็นการส่งสารถึงเยาวชนในรุ่นต่อๆ ไป”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image