นักศึกษาธรรมศาสตร์ อ่านวิจารณ์หนังสือการเมืองกันอย่างไร? โดย เกษียร เตชะพีระ

นักศึกษาธรรมศาสตร์ อ่านวิจารณ์หนังสือการเมืองกันอย่างไร?

ในบรรดาบทวิจารณ์ 112 ชิ้นต่อเอกสารหนังสือที่นักศึกษาวิชาการเมืองการปกครองไทยระดับปริญญาตรีแต่ละคนเลือกจากบัญชีรายชื่อหนังสือการเมืองไทย 52 รายการในภาคการศึกษานี้ (ดูรายชื่อหนังสือได้ที่ https://dl.dropboxusercontent.com/u/98112122/PO%20321%20Outline58%20copy.pdf) มีบางชิ้นที่ดีเด่นน่าสนใจ

ผมใคร่สรุปสาระสำคัญมานำเสนอ

พร้อมคอมเมนต์คิดต่อส่วนตัวเพื่อสะท้อนและเสริมเติมความคิดอ่านและเข้าใจการเมืองไทยของปัญญาชนหนุ่มสาวรุ่นปัจจจุบันบางส่วน

1)ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ประวัติศาสตร์วิพากษ์ : สยามไทยกับปาตานี, 2556.

นักศึกษาประทับใจวิธีการเข้าสู่ปัญหาของ อ.ธเนศ ซึ่งเริ่มจากประสบการณ์ส่วนตัวที่หนีภัยรัฐเข้าป่าภาคใต้หลังเหตุการณ์ฆ่าหมู่ที่ธรรมศาสตร์ และรัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และได้ประสบสัมผัสพี่น้องมลายูมุสลิมภาคใต้โดยตรงด้วยตัวเอง อันเป็นประกายจุดความสนใจใฝ่ศึกษาและมุมที่เลือกใช้มองปัญหาขัดแย้งนี้

Advertisement

วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของ อ.ธเนศ ก็เป็นสิ่งที่นักศึกษาต้องใจ กล่าวคือ

– เล่าประวัติศาสตร์สยามไทย (ราชอาณาจักรอยุธยา –> การสร้างรัฐชาติสมัยรัตนโกสินทร์) ควบคู่ขนานกันไปกับประวัติศาสตร์ปาตานี

– เลือกมองปัญหาความสัมพันธ์และขัดแย้งกับรัฐสยามไทยจากมุมของชาวมลายูมุสลิมภาคใต้ซึ่งเป็นผู้ถูกกระทำ

Advertisement

– ดูความเปลี่ยนแปลงในการนำ (leadership) ของขบวนการต่อสู้ของชาวมลายูมุสลิมเองในลักษณะการเมืองภาคประชาชนผ่านยุคต่างๆ จากสุลต่านเจ้าเมืองอันเป็นชนชั้นนำในสังคมมลายูมุสลิมเอง –> อุลามะห์และโต๊ะครู –> พวกจบการศึกษาสูงจากสถาบันอิสลามนอกประเทศ –> ผู้นำทางศาสนาจากปอเนาะท้องถิ่นในปัจจุบัน

– การนำข้อเรียกร้องของฮัจญีสุหลงกับพวกมาเปรียบกับข้อเสนอของรัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับการปกครองพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

– และท้ายที่สุดการนำปัญหาขัดแย้งรุนแรงชายแดนภาคใต้ของไทยไปเปรียบเทียบกับสงครามแยกดินแดนในภาคใต้ของสหรัฐอเมริกาสมัยประธานาธิบดีลินคอล์น (ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์)

คำวิจารณ์ที่ปรากฏของนักศึกษาต่องานเล่มนี้ของ อ.ธเนศ คือมีข้อความเน้นย้ำซ้ำในบทต่างๆ บ่อย สะท้อนว่าไม่ได้เขียนเป็นเล่มสำเร็จรูปทีเดียว หากมาจากการรวมบทความที่เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระกันมาเป็นหนังสือ จึงทำให้มีข้อความซ้ำซ้อนบ่อยครั้ง

2)สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ กบฏจีนจนบนถนนพลับพลาไชย, 2555.

นักศึกษาที่อ่านวิจารณ์กบฏจีนจนฯ (ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของ อ.สิทธิเทพ ซึ่งเข้าเป็นอาจารย์ประจำที่สาขาประวัติศาสตร์ มช. นั่นเอง และกำลังเรียนต่อปริญญาเอกเรื่องคนจีนในเมืองไทยที่ National University of Singapore ควบกับ Harvard University, USA) เห็นพ้องกันว่าหนังสือเล่มนี้เปิดแง่มุมมองใหม่เกี่ยวกับเรื่องราวของคนจีนในเมืองไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ช่วงสองพุทธทศวรรษ 2500 และ 2510 จนนำมาสู่เหตุการณ์จลาจลนองเลือดพลับพลาไชยปี พ.ศ.2517 แบบที่พวกเขาไม่ตระหนักรับรู้คุ้นชินมาก่อน ซึ่งผิดแผกแตกต่างจากภาพคนจีนชั้นกลางและคนจีนระดับเศรษฐีเจ้าสัวซึ่งมักเล่ากันเป็นกระแสหลัก ในทำนองว่า :-

“คนจีนหอบเสื่อผืนหมอนใบหนีความลำบากยากแค้น, สงครามและการปฏิวัติจากเมืองจีนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินสยาม แล้วอุตสาหะมัธยัสถ์อดทนอดออมสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาโดยโอกาสที่แผ่นดินนี้เปิดให้จนมีฐานะมั่นคงมั่งคั่งร่ำรวย สมานลักษณ์กลืนกลายเป็นคนไทยเชื้อสายจีนและส่วนหนึ่งของสังคมไทยกระแสหลักอย่างแนบเนียน”

แง่มุมมองใหม่ที่ว่าได้แก่ :-

ในแง่ชนชั้น : สะท้อนภาพของจีนจน/สามัญชนจีนชั้นล่างที่ประสบชะตากรรมยากลำบากในเมืองกรุงขาดแคลนทุนทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมืองเบื้องต้นที่จะไต่เต้าเอาอย่างคนจีนชั้นกลางและเจ้าสัว โดยที่เรื่องราวชีวิตของคนจีนชั้นกลางและเจ้าสัวเหล่านี้กลับกลายมาเป็นเรื่องเล่าและภาพลักษณ์กระแสหลักของคนจีนในเมืองไทย แม้ว่าจำนวนของจีนจน/สามัญชนจีนเอาเข้าจริงอาจจะมากกว่าก็ตาม จีนจนกลายเป็นกลุ่มผู้ถูกการพัฒนาเศรษฐกิจทอดทิ้งไว้เบื้องหลังท่ามกลางค่าเช่าตึกแถวที่แพงขึ้นและการไล่ที่เพื่อนำไปก่อสร้างโครงการใหม่ใหญ่โตซึ่งพวกเขากลายเป็นสิ่งเกะกะไม่มีส่วนร่วม ต้องย้ายหนีออกไป

ในแง่รัฐ : สะท้อนภาพความแปลกแยกของจีนจนจากกลไกรัฐที่เป็นเจ้าหน้าที่บุคคลรูปธรรมโดยเฉพาะตำรวจทหาร ซึ่งจีนจนมักมีความสัมพันธ์ติดต่อและประสบการณ์ในเชิงลบ ถูกข่มเหงรังแกรีดไถเนืองๆ ทำให้จีนจนเห็นพฤติการณ์ฉวยใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรม ทุจริตฉ้อฉล ไม่น่าเคารพนับถือยำเกรงเนื่องด้วยขาดคุณธรรม เพราะซื้อหาอำนาจอำนวยความสะดวกได้ด้วยเงินจากเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านี้

ในแง่นโยบาย : สะท้อนภาพความรู้สึกแปลกแยกของคนจีนในสมัยสงครามเย็นที่ถูกตีตราว่าเป็นปีศาจศัตรูคอมมิวนิสต์คอยคุกคาม ในสภาพที่รัฐบาลไทยเดินนโยบายเข้าข้างสหรัฐอเมริกา ต่อต้านจีนแดง

ในแง่วัฒนธรรม/ชาติพันธุ์ : ความรู้สึกของคนจีนที่สับสน ถูกบีบรัดทางวัฒนธรรม/ชาติพันธุ์จากแรงกดดันหลายด้านรอบตัว กล่าวคือ ทางรัฐบาลราชการโรงเรียนสถานศึกษาก็ต้องการกดลดความเป็นจีนลง ส่งเสริมความเป็นไทย, ทว่า พ่อแม่ครอบครัวกลับต้องการให้รักษาความเป็นจีนไว้, จึงทำให้แปลกแยกหมองหมางสับสนกับตัวตนของตนเองวางตัวยาก วางตัวไม่ถูกว่าจะเป็นจีนหรือเป็นไทยกันแน่? ถ้าเป็นจีน จะเป็นจีนประเภทไหนยังไง? จีนแดง, จีนฮ่องกง, จีนไต้หวัน, จีนเยาวราช-สำเพ็ง? ถ้าเป็นไทย จะเป็นไทยแบบไหนยังไง? จีนไทย? ไทยไม่จีน? ลูกผสม? ฯลฯ ควรจะภูมิใจไหมที่เป็นไทย? ควรจะภูมิใจไหมที่เป็นจีน? ควรภูมิใจที่เป็นอะไรดี?

ในแง่การเมือง : จีนจนค่อนข้างปลอดการเมืองก่อนเหตุการณ์ลุกฮือต่อต้านเผด็จการของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาฯ 2516 และพวกเขามาเปลี่ยนเพราะเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เปิดปล่อยปลุกความกระตือรือร้นในเสรีภาพ ทำให้พวกเขาเชื่อมั่นขึ้นว่าสามัญชนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมไม่เป็นธรรมที่กดดันพวกเขาอยู่ได้ ช่วยให้พวกเขาเชื่อมต่อกับจีนแดงอันเป็นภูมิลำเนาบรรพบุรุษที่พวกเขาอาจไม่เคยได้อยู่ แต่ชื่นชมภาคภูมิใจ นำไปสู่การต่อสู้ทั้งทางการเมืองวัฒนธรรมผ่านสัญลักษณ์ เช่น งิ้วการเมือง, นิทรรศการจีนแดง ฯลฯ และการต่อสู้แบบกบฏรุนแรงนอกกฎหมายด้วยอาวุธตามความคุ้นชินของวิถีชีวิตชายขอบที่พวกเขาอยู่มา โดยการต่อสู้สองกระแสนี้มาบรรจบกันและแสดงออกด้วยนิยายแปลกำลังภายในจีนอันเป็นที่นิยมกว้างขวางในยุคนั้น

มีนักศึกษาตั้งข้อสังเกตวิจารณ์ว่าการที่กรณีกบฏพลับพลาไชยถูกกลบลบลืมหายไปในประวัติศาสตร์ทางการกระแสหลักนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจไม่ใช่เพราะรัฐหรือทางการต้องการลบเลือนมัน แต่เป็นเพราะมันไม่ใช่เรื่องราวของคนส่วนใหญ่ (คนจีนเป็นชนส่วนน้อยในสังคมไทย อย่าว่าแต่จีนจน)? ข้อวิจารณ์นี้ออกจะน่าฉงนสงสัย เพราะ…

– ถ้ายึดตามหลักนี้ ประวัติศาสตร์แห่งชาติก็จะมีแต่เรื่องของชนส่วนใหญ่ และไม่มีเรื่องของชนส่วนน้อยทางชาติพันธุ์ เพศ ชนชั้น ศาสนา ภาษา ฯลฯ เอาเลย นี่จะเป็นประวัติศาสตร์แห่งชาติโดยรวม (ชาติ = ชนส่วนใหญ่+ชนส่วนน้อย) ไปได้อย่างไร หากจะกลายเป็นแค่ประวัติศาสตร์ของชนส่วนใหญ่ ที่ละเลยลบเลือนคนส่วนน้อยไปต่างหาก

– เอาเข้าจริง เส้นแบ่งชนส่วนใหญ่/ชนส่วนน้อยนั้นลื่นไหล คนคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งอาจเป็นชนส่วนน้อยทางชาติพันธุ์ (เช่น จีน) แต่กลับเป็นชนส่วนใหญ่ทางชนชั้น (เช่น คนชั้นกลาง) ก็ได้, อาจเป็นชนส่วนน้อยทางเพศสภาพ (เช่น กะเทย) แต่เป็นชนส่วนใหญ่ทางศาสนาก็ได้ (เช่น ชาวพุทธ) จะลากเส้นแบ่งตรงไหนอย่างไร? จะเล่าเรื่องเฉพาะชนส่วนใหญ่ในทุกมิติโดยกันชนส่วนน้อยในทุกมิติออกไปได้อย่างไร?

– สุดท้ายคือ เอาเข้าจริง ตัวเอกตัวหลักตัวเด่นในประวัติศาสตร์ชาติไทยทางการที่ผ่านมาก็ไม่ใช่ชนส่วนใหญ่มิใช่หรือ?

ลองคิดดูให้ดี…

3)อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ประชาธิปไตย คนไทยไม่เท่ากัน, 2557.

เสียงสะท้อนของนักศึกษาที่เลือกวิจารณ์งานเล่มนี้โดยทั่วไปออกมาใกล้เคียงกันว่าอ่านเข้าใจง่าย เป็นระบบ ทำให้สามารถมองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองรอบสิบปีที่ผ่านมาซึ่งแวดล้อมปมเงื่อน “ประชาธิปไตย” และ “คนไม่เท่ากัน” ได้ชัดเจนกระจ่างดี ใน 4 เรื่องหลักสำคัญ ได้แก่ :-

– โครงสร้างการเมืองที่แตกต่างกันระหว่างแบบ elitist ที่เน้นเสถียรภาพและความมั่นคงยุคประชาธิปไตยครึ่งใบสมัยรัฐบาลเปรม [ชนชั้นนำได้แก่ ข้าราชการ+นักธุรกิจ+ทหาร แวดล้อมสถาบันพระมหากษัตริย์ บนฐานคนชั้นกลางซึ่งจำนวนมากมีเชื้อสายจีนแต่เดิม] กับแบบเน้นอำนาจเสียงข้างมากและสิทธิเสมอภาคยุคประชาธิปไตยคนเท่ากันสมัยรัฐบาลทักษิณ [ชนชั้นนำได้แก่ กลุ่มทุนใหม่+นักการเมือง+พลังประชาธิปไตย แวดล้อมสถาบันการเมืองจากการเลือกตั้งบนฐานคนชั้นกลางใหม่ระดับล่างในชนบท]

– พลวัตของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในชนบท ที่ผู้คนออกจากภาคเกษตรกรรมเข้าสู่เศรษฐกิจนอกภาคเกษตรและเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการจนกลายเป็นด้านหลัก และผลกระทบสืบเนื่องทางสังคม วัฒนธรรมและการเมืองท้องถิ่นที่ตามมา

– การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนในชนบทที่เปลี่ยนไป จากแนวทางวัฒนธรรมชุมชนแต่เดิมซึ่งอยู่ในกรอบของความพอเพียงและมโนทัศน์ชนบทที่หยุดนิ่งของชนชั้นนำและคนชั้นกลางในเมือง ไปสู่ –> การต่อสู้บนฐานคิดความยุติธรรม/อยุติธรรม, ไพร่/อำมาตย์ และความหวัง

– การให้ความสำคัญกับประเด็นอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน เช่น การผูกยึดกับเสถียรภาพ-ความมั่นคงของคนชั้นกลางเก่า, ความรู้สึกได้รับความอยุติธรรม ไม่เสมอภาค และความหวังของคนชั้นกลางใหม่ในชนบท

น่าสนใจว่าเสียงวิจารณ์งานของ อ.อรรถจักร์ เล่มนี้ออกมาเด่นๆ 2 แนว :

– สะท้อนทรรศนะของคนชนบทได้ไม่ทั่วถึงทุกกลุ่ม เน้นคนเสื้อแดงด้านเดียว มากกว่าคนเสื้อเหลืองหรือชาวสมัชชาคนจน

– ทว่า ในทางกลับกัน ก็มีผู้ชี้ว่างานนี้มุ่งสะท้อน “เนื้อแท้ความเป็นมนุษย์” ในแง่จิตวิทยา, ประเด็นที่เสนอหลักๆ เป็นเรื่องของลักษณะและคุณค่าพื้นฐานของการดำรงชีวิตของมนุษย์ เช่น การแสวงหาต่อสู้เพื่อประโยชน์ตน อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด การอยากได้ความเท่าเทียมกันอันเป็นฐานรากของคนเรา, การยอมรับความจริง, การเปิดใจรับฟังเสียงสะท้อนและความเรียกร้องต้องการของคนอื่นที่แตกต่างหลากหลาย, สังคมที่ไม่รู้จักตนเองย่อมมืดบอดต่อการใช้ปัญญาในการแก้ไขปัญหา, ทุกฝ่ายควรมองเห็นซึ่งกันและกัน, เปิดม่านอคติออก ฯลฯ

เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image