แผนแห่งชาติ : คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต โดย เกษียร เตชะพีระ

แผนแห่งชาติ : คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต

แผนแห่งชาติ : คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต

อํานาจต่อให้มากเพียงไรก็ไม่ยั่งยืน ผู้กุมอำนาจก็เช่นกัน ถึงจะเป็นผู้กุมอำนาจอาญาสิทธิ์ก็ตาม

เราจึงมักพบว่าผู้กุมอำนาจทั้งหลายมุ่งหวังอยากสร้างผลงานสำคัญหรือกระทั่งยิ่งใหญ่บางอย่างประทับพิมพ์ไว้เป็นอนุสรณ์ให้ยืนยงคงอยู่หลังจากเขาหมดอำนาจไปแล้ว หรือลาจากโลกนี้ไปแล้วตามสังขารธรรมวิสัย

ในยุคเก่าที่ศรัทธาศาสนาต่างๆ ยังครองใจโลก ผลงานที่สร้างมักเป็นถาวรวัตถุตามลัทธิความเชื่อ เช่น เทวรูป พุทธรูป ศิวลึงค์ พีระมิด โบสถ์ วัด สุเหร่า สุสาน ฯลฯ เพื่อหวังผลบุญช่วยหนุนส่งผู้กุมอำนาจไปสู่ชีวิตอมตะในอ้อมกอดพระผู้เป็นเจ้า บรรลุถึงอาตมัน นิพพาน หรืออย่างน้อยก็สุคติภูมิในชาติหน้าภพหน้า

ทว่า ในสมัยใหม่หลังการปฏิวัติวิทยาศาสตร์และความคิดยุครู้แจ้งในตะวันตกแพร่ขยายไปครอบโลก พระเจ้าตายลงแล้วในความเชื่อของผู้คนจำนวนมาก คติเรื่องชีวิตอมตะในชาติหน้าภพหน้าถูกสั่นคลอน ผู้กุมอำนาจจึงมักหันมาสร้างผลงานที่จะยืนยงคงอยู่หลังความเสื่อมของอำนาจและความตายของตน โดยฝากฝังไว้กับ “ชาติ” อันเป็นชุมชนส่วนรวมที่ถูกจินตนากรรมว่าเป็น “อมตะ” และตนสังกัดเป็นสมาชิกอยู่แทน

Advertisement

“ชาติ” ถูกคิดว่าเป็นอมตะเพราะเป็นเรื่องยากและขัดฝืนวิสัยปุถุชนอย่างเราที่จะคิดถึงความตายหรืออวสานของ “ชาติ” ที่เราสังกัดได้ การ “สิ้นชาติ” จึงเป็นสิ่งท้ายๆ ที่เราจะนึกคิดหรือจินตนากรรมไปถึง เรารู้สึกอย่างแรงกล้าว่าเราตายได้ แต่จะยอมหรือจะปล่อยให้ “ชาติ” ตายไม่ได้ ดังวรรคหนึ่งในเนื้อเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” (http://www.2519.net/autopage/show_page.php?t=10&d_id=20) ที่ว่า :

“อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย”

หรือเนื้อเพลง “วีรชนปฏิวัติ” ของ จิตร ภูมิศักดิ์ (http://www.thaioctober.com/forum/index.php?topic=496.15) ก็ได้พูดถึงความเป็น “อมตะ” ของชาติไทยในทำนองเดียวกันว่า :

Advertisement

“อุทิศชีพพลีเพื่อศักดิ์ศรีไทยดำรงคู่ฟ้า”

ในความหมายนี้ การที่ผู้มีอำนาจสมัยใหม่เพียรพยายามสร้างสรรค์ผลงานอันสำคัญหรือยิ่งใหญ่ “แห่งชาติ” หรือ “เพื่อชาติ” ขึ้น ก็เปรียบเสมือนการฝากรอยประทับพิมพ์ของตนไว้ให้อยู่คู่ไปกับแผ่นดิน ให้คงทนยืนยงต่อกาลเวลา และยั่งยืนอยู่สืบไปเบื้องหน้าชั่วลูกชั่วหลานแม้ว่าอำนาจของตนจะหมดไปและชีวิตจะหาไม่แล้วก็ตาม เช่น อนุสาวรีย์, อนุสรณ์สถาน, อุทยาน, พิพิธภัณฑ์, หอประชุม, โรงละคร, หอสมุด ฯลฯ

“แผนการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะปฏิวัติในอดีตก็ดี หรือ “ยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในปัจจุบันก็ดี

จึงอาจมองแง่หนึ่งในทำนองเดียวกันได้ว่าเป็นการแสดงออกของกลุ่มอาการ “ฝากไว้ในแผ่นดิน” (Leaving Imprint on the Land Syndrome) ดังกล่าวมา

ทว่า ปัญหาหลักของแผนแห่งชาติทั้งหลายในโลกรวมทั้งประเทศไทยที่มุ่ง “ฝากไว้ในแผ่นดิน” – ถ้ายืมสำนวนนิยายกำลังภายในมากล่าวก็คือ – “เหรินส้วนปู้หยูเทียนส้วน” หรือ “คนคำนวณ มิสู้ฟ้าลิขิต”!

การวางแผนหรือกำหนดยุทธศาสตร์ ก็คือการคาดคำนวณแบบหนึ่งโดยดึงเหล่าปัจจัยตัวแปรทั้งหลายแหล่ที่คิดว่าเกี่ยวข้องเข้ามาเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน วาดฉากทัศน์สถานการณ์ในอนาคตที่อาจผันแปรไปได้มาแวดล้อมรองรับเพื่อเตรียมการณ์เผื่อไว้ แล้วสรุปว่าถ้าทำตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างนี้ๆ แล้ว ก็น่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่คาดหมายไว้อย่างนั้นๆ สมดังแผน (ตามตรรกะ If we do this & this according to the plan, then we will get that & that.)

ทว่า ความเป็นจริงและเป็นไปของโลก สังคมและมนุษย์ก็สลับซับซ้อนและวิ่งเปลี่ยนยอกย้อนไม่หยุดนิ่ง จนเกินกว่าใครจะคาดคำนวณถึงและควบคุมกำกับมันได้ครอบคลุมเบ็ดเสร็จหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกล่าวในทางรัฐศาสตร์-สังคมศาสตร์แล้ว ก็มี 4 ประการด้วยกันที่เป็นปมปัญหาของแผนและการกระทำของคนเราในสังคม ได้แก่ :

1. Interpretations –> implementation (การตีความหลากหลาย –> การดำเนินการแตกต่างกันไป)

2. Unacknowledged motives (แรงจูงใจที่ผู้กระทำการไม่เอ่ยรับออกมา)

3. Unknown conditions (สภาพเงื่อนไขความเป็นจริงที่ไม่ล่วงรู้)

4. Unintended consequences (ผลลัพธ์ที่ไม่เจตนา)

ผมจะขออธิบายขยายความโดยยกตัวอย่างแผนการพัฒนาเศรษฐกิจในอดีตของไทยมาประกอบ

เป็นธรรมดามนุษย์ที่แม้มีแผนการเดียวกัน แต่สามารถถูกอ่านตีความเข้าใจออกมาได้ไปต่างๆ นานาผิดแผกแตกต่างกัน แล้วแต่ภูมิหลัง ประสบการณ์ อคติ ลัทธิความเชื่อ ผลประโยชน์ ความมุ่งหวังคาดหมาย อยากได้ใคร่มี ความกังวลสนใจ ฯลฯ ของแต่ละฝ่ายแต่ละคน

ฉะนั้น เมื่อถึงขั้นนำแผนไปดำเนินการปฏิบัติ ก็ย่อมทำให้ส่งผลลัพธ์สุดท้ายบั้นปลายออกมาผิดแผกแตกต่างไปจากที่ตั้งเป้าและคาดหมายในแผนไว้แต่เดิมได้ หรือกระทั่งกลับตาลปัตรกันไปเลยก็มี มิพักต้องพูดถึงแผนการใหญ่โตระดับชาติ ที่ต้องอาศัยกำลังคนและหน่วยงานหลายฝ่ายทั้งในและนอกประเทศเข้าร่วมประสานงานกัน ความผิดเพี้ยนก็ย่อมยิ่งมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเป็นธรรมดา

จากการค้นคว้าของอาจารย์ทักษ์ เฉลิมเตียรณ ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล และต่อมาปรับปรุงตีพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง Thailand : The Politics of Despotic Paternalism (1979, แปลเป็นไทยในชื่อ การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2526) ซึ่ง ครูเบ็น แอนเดอร์สัน ยกย่องว่าเป็นงานวิชาการเกี่ยวกับระบอบสฤษดิ์ที่ดีที่สุดและเป็นงานรัฐศาสตร์ที่ดีที่สุดที่เขียนโดยคนไทย ท่านได้แจกแจงให้เห็นว่าแผนการเศรษฐกิจแห่งชาติแผนเดียว ถูกตีความและนำไปดำเนินการภาคปฏิบัติโดยตัวผู้กระทำการที่เกี่ยวข้องอย่างสำคัญกับแผนนี้ 3 ฝ่ายไปต่างๆ นานา 3 ตำรับด้วยกัน

กล่าวคือ :

1)

ตำรับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ : พ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ

– การพัฒนาหมายถึงทำให้น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์ไปทั่วประเทศ

– ธำรงรักษาความเป็นไทยแบบอนุรักษนิยม-อำนาจนิยม

– สังคมไทยในอุดมคติเป็นสังคม 3 ชั้น ประกอบด้วย 1) รัฐ/รัฐบาลอยู่สุดยอด เหมือนเป็นหัวสมอง/หัวใจของร่างกาย คอยออกคำสั่งชี้นำบังคับบัญชา 2) ข้าราชการอยู่หว่างกลาง คอยเป็นหูตาสังเกตรายงาน และเป็นมือเท้าปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล เชื่อมโยงลงไปยัง 3) ประชาชนซึ่งอยู่ระดับล่างสุด, ส่วนชาวนาชาวไร่ก็ทำการเกษตรอยู่ในชนบทต่อไปอย่างมีความสุข โดยไม่อพยพย้ายถิ่นมาหางานทำในเมืองให้เดือดร้อนวุ่นวาย

– ทว่าขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ก็กลับแก้กฎหมายที่ดินที่มีมาแต่เดิมในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. โดยยกเลิกเพดานจำกัดการถือครองที่ดินของเอกชน 50 ไร่ เพื่อส่งเสริมการลงทุน ทำให้เกิดการเก็งกำไรที่ดินขนานใหญ่แพร่ขยาย ชาวนาสูญเสียที่ดิน

ต้องเช่าทำกินมากขึ้นและพากันอพยพเข้าเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพฯ อยู่ดี

2)

ตำรับอเมริกัน : เน้นความมั่นคงยุคสงครามเย็น รับใช้สงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนและไทย

– ตัดถนนยุทธศาสตร์, สร้างฐานทัพ, บริการ Rest & Recreation ของทหารอเมริกัน ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคก่อสร้าง, บริการและท่องเที่ยวของไทยบูม

เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่า มีความแตกต่างหลากหลายในการตีความและนำแผนไปปฏิบัติ ซึ่งบางกรณีถึงกับส่งผลตรงข้ามกลับตาลปัตรกับเจตนาแต่แรกของตน (Interpretations –> implementation)

สฤษดิ์มีแรงจูงใจในการดำเนินแผนตามฐานความเชื่อเรื่องสังคมไทยที่หยุดนิ่งทางสังคมวัฒนธรรมและเหลื่อมล้ำกันทางอำนาจแบบอนุรักษนิยม-อำนาจนิยมของตน ยังมิพักต้องเอ่ยถึงผลประโยชน์ได้เสียส่วนตัว เช่น ทรัพย์สินร่ำรวยผิดปกติที่ในที่สุดถูกรัฐบาลจอมพลถนอมยึดไปทั้งสิ้น 604,551,276.62 บาท หรือที่ดินเช่นไร่เทพรัชต์นับหมื่นไร่ที่บ้านดงคอน อ.สรรค์บุรี จ.ชัยนาท ซึ่งเดิมเป็นของราษฎรทำเกษตร แต่จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจบาตรใหญ่ขับไล่ชาวบ้านออกไปแล้วยึดมาเป็นของตนดื้อๆ อ้างว่าเพื่อพัฒนาการเกษตร เป็นต้น

ขณะที่อเมริกาให้เงินช่วยเหลือและลงทุนเกื้อหนุนแผนการเศรษฐกิจแก่ไทยตามยุทธศาสตร์สงครามเย็นในระดับโลกและภูมิภาคของตนเป็นหลัก ซึ่งมุ่งใช้ประเทศไทยเป็นแกนกลางขยายอิทธิพลของตนและเป็นปราการด่านหน้าต้านภัยคอมมิวนิสต์ในเอเชียอาคเนย์ เช่น การช่วยไทยสร้างถนนมิตรภาพอันเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายอีสานติดอินโดจีน เป็นต้น (Unacknowledged motives)

สฤษดิ์ไม่คิดว่าการแก้ไขกฎหมายจำกัดเพดานการถือครองที่ดินจะเป็นตัวผลักดันหนุ่มสาวชาวนาชาวไร่ไร้ที่ดินให้อพยพเข้ากรุงมาหางานทำ สวนทางกับสังคมชาวนาในอุดมคติของตัว

และอเมริกาก็ไม่รู้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมมหาศาลเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจสงครามบูมในไทย และกระแสความคิดความรู้ใหม่ๆ จากนักเรียนไทยจำนวนมากที่ได้ทุนการศึกษาไปเรียนต่ออเมริกาในสมัยนั้น ในที่สุดจะนำไปสู่การเกิดขบวนการชาตินิยมของนักศึกษาปัญญาชนหนุ่มสาวที่ต้านภัยขาวอเมริกัน-ภัยเหลืองญี่ปุ่น-และภัยเขียวเผด็จการทหารเองในที่สุด (Unknown conditions, ดู เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน, “บทนำ”, ในกระจก : วรรณกรรมและการเมืองสยามยุคอเมริกัน, 2553, น. 1-85)

สำหรับปมปัญหาและผลสะเทือนต่อเนื่องยาวไกลของการตีความและดำเนินการแผนพัฒนาโดยพลังฝ่ายที่ 3 คือเทคโนแครตไทย

ผมขอเล่าต่อในสัปดาห์หน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image