รายงานหน้า2 : รัฐบาลหลังเลือกตั้ง นโยบายศก.-ตลาดทุน

หมายเหตุ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) จัดงานสัมมนาเรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจและตลาดทุนไทยภายใต้รัฐบาลหลังเลือกตั้ง” ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 7 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 25 มกราคม

สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา

ด้านนโยบายเศรษฐกิจ พรรคชาติพัฒนาขอแบ่งเศรษฐกิจออกเป็น 2 ประเด็นคือ ภาพเศรษฐกิจมหภาคและเศรษฐกิจรากหญ้า โดยในช่วง 17 ปีย้อนหลัง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัวเฉลี่ย 3.8% หรืออยู่ในอันดับท้ายๆ ของอาเซียน เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่จะให้เศรษฐกิจไทยโตบนความได้เปรียบ ซึ่งแม้ว่าจีดีพีจะขยายตัวได้มากกว่า 4.2% แต่จะต้องแก้เรื่องความเหลื่อมล้ำได้ โดยมองว่าภาคอุตสาหกรรมที่ต้องให้ความสำคัญต้นๆ คือ อุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมไทย และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
นโยบายผลักดันเศรษฐกิจ 4 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยต้องเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนาภูมิคุ้มกันระบบเศรษฐกิจ ทั้งวินัยการเงินการคลัง สัดส่วนหนี้สาธารณะ การผลักดันการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ ยังต้องมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน (พีพีพี) ควบคู่กับการรักษาความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมในซีแอลเอ็มวี การเพิ่มตลาดส่งออกประเทศใหม่ เช่น แอฟริกา ยุโรปตะวันออก ตลอดจนการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)
หุ่นยนต์ บิ๊กดาต้ามาใช้เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ
ที่สำคัญที่สุดคือจะต้องลดความเหลื่อมล้ำ โดยให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรและเอสเอ็มอี หรือบริษัทที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดไม่สูงมาก (โลว์ แค็ป) ให้เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการนำงานวิจัยมาใช้ในตลาดทุนมากขึ้น

กรณ์ จาติกวณิช
ประธานกรรมการคณะนโยบายพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

ในประเด็นตลาดทุน พรรคประชาธิปัตย์ตั้งเป้าอยากเห็น 5 เรื่อง ภายใน 4 ปี ประกอบด้วย 1.ตั้งเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นทะลุ 2,500 จุด สะท้อนการประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ 2.โอกาสทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าในต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายบริษัทจดทะเบียนมีผลประกอบการที่มาจากการค้ากับต่างประเทศอย่างน้อย 50% สะท้อนว่าบริษัทจดทะเบียนไทยปรับตัวได้ 3.การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในตลาดทุน ซึ่งสังเกตว่าตลาดหุ้นสหรัฐจะมีสัดส่วนหุ้นเทคโนโลยีอยู่ประมาณ 50% เพราะฉะนั้นในอนาคตจึงอยากให้บริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีมีมากขึ้น 4.พิจารณาเรื่องบริษัทจดทะเบียน ที่รัฐวิสาหกิจมีอำนาจผูกขาด เพื่อไม่ให้อาศัยการได้ประโยชน์จากการถือหุ้น และ 5.การเพิ่มตลาดหลักทรัพย์ แห่งที่ 2 หรือตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถระดมทุน สอดคล้องกับยุคเทคโนโลยีที่มีการซื้อขายโทเคน

อุตตม สาวนายน
หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

บทบาทของพรรคพลังประชารัฐให้ความสำคัญกับอนาคตของประเทศไทย ไม่ใช่แค่เศรษฐกิจเท่านั้น แต่ประเทศอยู่ในจุดหักเหหรือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ในช่วงที่โลกมีพลวัต วิธีการหรือคนเปลี่ยนแปลงไป เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่เราจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน จึงต้องพูดถึงเศรษฐกิจในองค์รวม โดยใช้การยึดโยงและใช้กลไกเศรษฐกิจดูแลคนไทย โดยสิ่งที่จะต้องมีคือกระบวนการและการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร และในส่วนของตลาดทุนที่เปรียบเสมือนคลังสมองของประเทศ ทำอย่างไรที่จะพัฒนาตลาดทุนให้เป็นรูปแบบแคปปิตอล มาร์เก็ต ฟอร์ ออล (Capital Market for All)
ทั้งนี้ ตลาดทุนสามารถมีบทบาทต่อธุรกิจขนาดกลาง เล็กและเอสเอ็มอีได้ ถ้าสามารถจะทำให้จริงจัง ซึ่งกองทุนที่จะไปลงทุนในวิสาหกิจชุมชนตั้งแต่สตาร์ตอัพถึงเอสเอ็มอี จะต้องมีการผลักดันให้เกิดการต่อยอดเป็นกองทุนรวมขนาดใหญ่ และนำไปลงทุนในกองทุนเล็ก เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของผู้ประกอบการดังกล่าว นอกจากนี้ต้องปลดล็อกศักยภาพของตลาดทุน เพราะเป็นมันสมองของประเทศ ความร่ำรวยอยู่ที่ตลาดทุนมหาศาล หากปลดล็อกนำมาใช้ข้างนอกบ้าง จะทำให้ตลาดทุนเองเติบโตอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันอยากให้ตลาดทุนร่วมกันผลิตที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) โดยใช้กลไกจากกองทุนพัฒนาตลาดทุน ให้ออกไปช่วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กบ้าง เพราะบางรายยังคงต้องการความช่วยเหลือในการฟื้นฟูกิจการ และยังมีศักยภาพดีอยู่
เรื่องสิทธิที่ดินทำกินก็จะต้องนำมาจัดสรรให้ใช้ประโยชน์ได้สูงสุด ขณะเดียวกันในเรื่องของเศรษฐกิจประชารัฐ สังคมประชารัฐ และสวัสดิประชารัฐก็เป็นเรื่องที่ต้องยึดโยงกัน โดยไม่ใช่เรื่องของการแจก แต่เป็นโอกาสที่ควรจะมี เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมองว่าสวัสดิการต้องมีให้สำหรับคนไทยทุกคน การเข้าถึงเทคโนโลยีก็เป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะคนตัวเล็กหรือบริษัทขนาดเล็ก เพราะฉะนั้นทำอย่างไรที่จะทำให้บริษัท สตาร์ตอัพและเอสเอ็มอีปรับตัวได้ท่ามกลางความเสี่ยงที่มีอยู่มาก ซึ่งนอกจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลแล้ว ต้องกระจายความเจริญไปสู่
ท้องถิ่น ให้ลงไปถึงเศรษฐกิจชุมชน

Advertisement

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย

จากที่เคยทำงานรัฐบาลในช่วงปี 2554-2557 มีหน้าที่กำกับกระทรวงเศรษฐกิจซึ่งเป็นภาพใหญ่ รวมถึงเคยทำงานที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สิ่งที่เรียนรู้ในการทำงานซึ่งจะมีความสำคัญกับการบริหารเศรษฐกิจในอนาคตข้างหน้าคือต้องมีความสมดุล จากหลักยึด 3 ประการคือ การเจริญเติบโต การมีเสถียรภาพและการกระจายรายได้ โดยหน้าที่ของรัฐบาลในอนาคตไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม เนื่องจากขณะนี้เราเสียสมดุลในการบริหารเศรษฐกิจ เรื่องการกระจายรายได้ จะต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
เราเคยมีระบบคมนาคมขนส่งที่มีระบบรางชั้นนำของภูมิภาค แต่ไปลงทุนสร้างถนนจริงๆ จังๆ จนหันมาอีกทีระบบรางที่มีประสิทธิภาพกลับหายไป การเสียสมดุลในเรื่องการขนส่งหายไป กลายเป็นภาวะต้นทุนที่แพง กลายเป็นมลภาวะในปัจจุบัน จึงอยากฝากแนวคิดเรื่องการมีสมดุลว่าเป็นเรื่องสำคัญ โดยเรื่องที่จะต้องให้ความสำคัญ เช่น การดูแลหน่วยงานที่ทำงานในกระทรวงการท่องเที่ยวฯ โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งประเมินว่าปัจจุบันสัดส่วนการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม คิดเป็น 22-23% ของจีดีพี และนอกจากนี้แล้วจะต้องแก้กฎหมายหรือปรับเกณฑ์การลงทุน เช่น การลดกำแพงภาษี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนให้มากขึ้น และดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ)

อนุทิน ชาญวีรกูล
หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

นโยบายสำคัญที่พรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญคือการลดความเหลื่อมล้ำ การลดอำนาจรัฐให้กลับมาสู่สภาพปกติ และการใช้งบประมาณรัฐ โดยจัดลำดับความสำคัญให้ถูกต้อง อะไรที่เกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์อาจจะหยุดไว้ก่อน อย่างวันนี้อะไรที่เป็นประชาธิปไตย พอก่อนได้มั้ย เน้นสิ่งที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้ความสะดวกเกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ต้องซื้ออาวุธมากมายขนาดนั้น แต่นำเงินทั้งหมดมาพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ต้องดูหลักวันนี้ว่าต้องเมดอินไทยแลนด์ หรือไทยแลนด์เฟิร์สต์ เน้นโครงการต่างๆ เน้นวัตถุดิบคนไทย นี่คือเศรษฐกิจพื้นฐาน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะเติบโตทันทีได้อย่างไร ก่อนที่จะไปเน้นเรื่องการนำเข้า

พิชัย นริพทะพันธุ์
คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ

พรรคไทยรักษาชาติให้ความสำคัญกับด้านที่สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหรือดิสรัปชั่น ที่เข้ามาเร็วและจะเป็นตัวกำหนดโลก เพราะฉะนั้นจึงต้องดำเนินนโยบายต่างๆ เช่น โครงการโค้ดไทยแลนด์ นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง 2.การรับมือกับปัญหาต่างๆ ในประเด็นที่ไทยยังเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงด้านสังคมสูงอายุ ที่เสนอว่าควรจะยกเว้นภาษีผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นการเก็บซ้ำซ้อน และ 3.อยากให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน และอยากเห็นตลาดทุนเป็นแหล่งรายได้ของคนในประเทศ

สัมพันธ์ แป้นพัฒน์
รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา

เศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละคนด้วย โดยพรรคชาติไทยพัฒนาจะให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ จึงแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย และผู้ที่มีรายได้ปานกลางขึ้นหรือไป ซึ่งใน 2 กลุ่มนี้ กลุ่มที่มีความหนาแน่นมาก คือ กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ ประกอบด้วย เกษตรกร มนุษย์เงินเดือน และกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นสิ่งที่พรรคให้ความสำคัญคือ เศรษฐกิจที่เราอยากเห็น และการตั้งคำถามว่าตลาดทุนในอนาคตจะเป็นอย่างไร เนื่องจากมองว่าตลาดทุนทุกวันนี้ไม่มีความมั่นคง ทำอย่างไรจึงจะดึงคนเข้าตลาดทุนได้ ควบคู่กับบทบาทของรัฐบาลที่จะต้องดูแลตลาดทุนเพิ่มเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image