มาฆบูชา กับบทบาทสงฆ์ไทย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

 

ประเทศไทยมีประชากรส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนา จึงมีการรำลึกและประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ (พระธรรมเทศนา) แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก ถือว่าเป็น วันพระธรรม สำหรับวันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ คือ เป็นวันพระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ถือเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันเริ่มต้นประกาศพระพุทธศาสนา โดยทรงแสดงพระธรรมซึ่งได้ตรัสรู้แก่ ปัญจวัคคีย์ ทำให้โกณฑัญญะ บรรพชาเป็นพระสงฆ์องค์แรก นับเป็นวันพระสงฆ์

ความสำคัญของวันมาฆบูชา
วันมาฆบูชา คือ การบูชาวันเพ็ญเดือน 3 เป็นวันที่สำคัญยิ่งอีกวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์ 1,250 รูป โดยที่มิได้มีการนัดหมาย เรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต อันประกอบด้วยองค์ 4 คือ
วันนั้นเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 อยู่ในมาฆฤกษ์
ภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย
ภิกษุที่ร่วมประชุมล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ทั้งหมด
ภิกษุทุกรูปล้วนแต่เป็นเอหิภิกขุ คือ พระพุทธเจ้าให้บวชด้วยพระวาจา
ในเวลาบ่าย พระพุทธองค์ทรงกระทำ วิสุทธิอุโบสถ แล้วทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ในที่ประชุมสงฆ์ ซึ่งมีจำนวนภิกษุ 1,250 รูป อันได้แก่ภิกษุชฎิล 1,000 รูป บริวารของพระสารีบุตรและ พระโมคคัลลานะอีก 250 รูป

ประเด็นสำคัญของวันนี้
คือ โอวาทปาติโมกข์
คำว่า ปาติโมกข์ เป็นชื่อของคัมภีร์ที่ประมวลพุทธบัญญัติอันเป็นวินัยสงฆ์ 227 ข้อ เป็น พุทธอาณาคืออำนาจการปกครองของพระพุทธเจ้า ให้สงฆ์อยู่ในระเบียบวินัยเดียวกัน
ปาติโมกข์ มี 2 คือ โอวาทปาติโมกข์ และ อาณาปาติโมกข์
โอวาทปาติโมกข์ คือ ปาติโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยพระองค์เอง ประกอบด้วย โอวาท ทรงแสดงในที่ประชุมสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
อาณาปาติโมกข์ คือ วินัยของสงฆ์ 227 ข้อ ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ สำหรับบรรพชิต มีพระพุทธานุญาตให้สวดในที่ประชุมสงฆ์ทุกวันอุโบสถ
ในครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ครั้งแรกในวันเพ็ญเดือน 3 คือ ในปีแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว 9 เดือน ณ พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ จากนั้นทรงแสดงในที่ประชุมสงฆ์ ทุกกึ่งเดือน ด้วยพระองค์เองจนถึงพรรษาที่ 20 จากพรรษาที่ 21 สงฆ์จึงกระทำอุโบสถ และแสดงปาติโมกข์ที่ชื่อว่า อาณาปาติโมกข์ กันเอง สืบต่อมาถึงปัจจุบัน

Advertisement

วันมาฆบูชากับพระสงฆ์ไทย
วันมาฆบูชาเป็นวันประกาศนโยบายเผยแผ่พระพุทธศาสนา โดยกำหนดหลักเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ไว้ 227 ข้อ ให้เป็นขอบเขตการกำกับดูแลตนเอง เรียกว่า ศีล หรือวินัยสงฆ์ ซึ่งมีความผิดที่เป็นการล่วงละเมิด เรียกว่า อาบัติ ไว้ 2 ลักษณะ คือ ครุกาบัติ (อาบัติหนัก) ได้แก่ ปาราชิก และสังฆาทิเสส กับลหุกาบัติ (อาบัติเบา) ได้แก่ ปาจิตตีย์ ถุลลัจจัย ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และทุพภาษิต
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาในสยามได้รับนับถือศาสนานี้ในราชสำนักและคนไทยทั่วไป ทำให้พระพุทธศาสนาต้องเข้ามาอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมชาวพุทธ และเป็นผลให้พระสงฆ์มีหลักเกณฑ์ในการแสดงบทบาททั้งตามพระธรรมวินัยและกฎหมายฝ่ายบ้านเมือง โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์ฉบับแรก คือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ต่อมามีการตราพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2484 พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน
นอกจากกฎหมายคณะสงฆ์โดยตรงแล้ว ยังมีกฎหมายเกี่ยวกับพระสงฆ์อีกหลายฉบับ อาทิ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา และความเป็นพุทธมามกะขององค์พระประมุขไทย ประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 4 ความผิดเกี่ยวกับศาสนาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับทรัพย์สินของพระสงฆ์ เป็นต้น

ความส่งท้าย
วันมาฆบูชา เป็นวันกำหนดพุทธบัญญัติให้เป็นกฎเกณฑ์การปฏิบัติตนของพระสงฆ์ที่มีมา ตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้อุบัติขึ้น เมื่อพระสงฆ์เข้ามาอยู่ในสังคม จึงต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมที่เรียกว่า กฎหมายอีกส่วนหนึ่ง การที่พระสงฆ์ได้ถูกกำหนดบทบาทอย่างเข้มงวดนี้ ยังความสง่างามน่าเคารพนับถือ และยกย่องในแนวประพฤติปฏิบัติ
ดังนั้น หากพระสงฆ์ได้แสดงบทบาทอันเป็นตัวอย่างที่ดีตามกรอบของพระธรรมวินัยและกรอบของกฎหมาย ย่อมเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้ได้รับความเชื่อถือ ความศรัทธา และการสืบทอดพระพุทธศาสนาจะยืนยงอีกยาวนาน

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image