ประชาธิปัตย์ผลัดใบปรากฏการณ์ ก้าวใหม่สู่การเปลี่ยนแปลง โดย​ : ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

พรรคการเมืองที่ถือได้ว่าเป็นสถาบันที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยในเวลานี้คงจะหนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ จากการที่ผู้ก่อการในการจัดตั้งเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2489 ภายใต้การนำของนายควง อภัยวงศ์ แต่เพื่อให้ตรงกับวันจักรีซึ่งถือได้ว่าเป็นวันสำคัญของประเทศพรรคจึงถือเอาวันที่ 6 เมษายน เป็นวันก่อตั้งหรือวันแห่งการสถาปนา

ตลอดระยะเวลา 73 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้าสู่วิถีของการเมืองไทยในหลากหลายมิติหรืออาจจะเปรียบเปรยได้ว่าพรรคการเมืองแห่งนี้ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวเพื่อขับเคลื่อนในมิติทางการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมาอย่างยาวนานโดยมีขุนพลในนามหัวหน้าพรรคมาแล้วถึง 7 คน และที่น่าสนใจยิ่งขุนพลหรือผู้นำของพรรคสามารถก้าวสู่การเป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาถึง 4 คน

หากไปศึกษาถึงภูมิหลังในมิติของจุดแข็งที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการในเวทีการเมืองหรือในสภาผู้แทนราษฎรจะพบว่าพรรคประชาธิปัตย์จะโดดเด่นทางด้านการเป็นฝ่ายค้าน ทั้งนี้ เพราะด้วยความพร้อมของบุคลากรที่เปี่ยมไปด้วยจุดยืนและอุดมการณ์ตลอดจนฝีปาก ท่วงทีวาจา หรือลีลา ครั้งใดที่มีการอภิปรายในประเด็นที่ประชาชนสนใจหรือเป็นปัญหาต่อการบริหารบ้านเมืองในสภาแต่ละครั้ง ประชาธิปัตย์สามารถนำเสนอข้อมูลที่สะท้อนให้สังคมเห็นว่ามีการเตรียมการและทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ด้วยลีลาตลอดจนรูปแบบที่สะกดคนฟังแบบตาไม่กะพริบจึงเกิดกระแสและเป็นประเด็นให้สังคมต้องถกเถียงกันว่าถ้ายามใดที่ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านพรรคนี้จะเป็นขวัญใจของคนทั้งประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในทางกลับกันระยะหลังกระแสสังคมมักจะกล่าวว่าหากครั้งใดที่ประชาธิปัตย์ได้มีโอกาสเป็นรัฐบาลโดยมีผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรีพรรคแห่งนี้ผู้คนจะกล่าวว่าเมื่อมีโอกาสบริหารประเทศผลงานไม่เข้าตาหรือโดนใจประชาชนหรือดีแต่พูด ทำไม่เป็น และจากเหตุดังกล่าวจึงกลายมาเป็นจุดอ่อนที่พรรคต้องมาถอดบทเรียนทบทวนและแก้ปัญหาในภายหลังอยู่บ่อยครั้งไม่ว่าจะมีการรีแบรนดิ้งหรือปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์และในอีกหลากหลายมิติก็ตาม ประชาธิปัตย์ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมวลชนทั้งประเทศได้

Advertisement

จากพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็งในจุดยืนและอุดมการณ์ภายใต้สมาชิกจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ แต่ภายหลังการเมืองไทยเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับที่ 16 หรือฉบับประชาชนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมาประชาธิปัตย์ไม่เคยสัมผัสกับ “ชัยชนะเหนือคู่แข่งขัน” โดยเฉพาะพรรคไทยรักไทยที่ภายหลังกลายพันธุ์มาเป็นพรรคเพื่อไทย ในวันนี้

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าในการเลือกตั้งนับแต่ 2544 เป็นต้นมาพรรคประชาธิปัตย์จะสูญเสียความนิยมให้คู่ต่อกรหรือคู่แข่งขันที่คะแนนเสียงมักจะออกมาในลำดับที่สองหรือที่สามอยู่บ่อยครั้งผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือผู้ที่ไปลงคะแนนไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางในบางพื้นที่กลับไปปันใจให้พรรคอื่น แต่ในทางกลับกันในพื้นที่ปลายด้ามขวานหรือภาคใต้ของประเทศซึ่งอาจจะถือได้ว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นกล่องดวงใจที่สำคัญของพรรคก็ว่าได้ความนิยมชมชอบของผู้คนโดยเฉพาะรุ่นผู้สูงวัย ผู้อาวุโส ข้าราชการตลอดจนผู้ที่มีการศึกษาสูงซึ่งมีความรัก ความผูกพันมาอย่างยาวนานก็ยังเทใจ และศรัทธาไม่เสื่อมคลายกับคำว่า “พรรคประชาธิปัตย์”

แต่ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาในแวดวงการเมืองโดยเฉพาะเซียนผู้หยั่งรู้ทั้งหลายไม่มีใครจะคาดคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้แสดงวิสัยทัศน์และนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศชาติที่น่าสนใจยิ่งโดยเฉพาะมิติของ “การแก้จน สร้างคน สร้างชาติ” กลับพ่ายแพ้อย่างหมดรูปถ้าเปรียบกับการแข่งขันกีฬามวยต้องเรียกว่าแพ้น็อกหรือหลับกลางอากาศก็ว่าได้

Advertisement

ต่อกรณีดังกล่าวผู้เขียนได้สัมผัสกับชาวสภากาแฟในภาคใต้หลายพื้นที่ ผู้คนต่างแสดงทรรศนะออกมาในทิศทางเดียวกันว่าวันนี่คนใต้ต้องการการเปลี่ยนแปลงเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่เคยศรัทธาและนิยมชมชอบมาอย่างยาวนานเมื่อผู้แทนของเขาไม่สร้างผลงานให้เห็นในเชิงประจักษ์และดีแต่พูดไม่ติดพื้นที่ เขาจึงให้บทเรียนด้วยการปันใจไปแสวงหาพรรคทางเลือกใหม่

อีกประเด็นที่สำคัญซึ่งคนในพรรคต่างรู้ดีต่อกรณีของความพ่ายแพ้คือการที่สมาชิกเกิดความแตกแยกทางความคิด แบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายไม่เป็นหนึ่งเดียวดังภาพที่ปรากฏต่อสาธารณะและจากนี้ไปเมื่อประชาธิปัตย์ผลัดใบแล้วหากพรรคต้องการหรือแสวงหาความสำเร็จแห่งอนาคต ทางออกหรือช่องทางที่น่าสนใจซึ่งเป็นทางรอด ทางเลือก และโอกาสโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองในเวลานี้สอดคล้องกับแนวคิดของ รศ.สุขุม นวลสกุล ที่กล่าวตอนหนึ่งความว่า

“จุดที่น่ามองคืออาจต้องรอให้ประเด็นการเมืองเปลี่ยน หรือพรรคประชาธิปัตย์ทำให้คนเปลี่ยนใจได้ต้องพิสูจน์ด้วยผลงานเช่นวันนี้ชัดเจนมากคือพื้นที่เก่าของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้หายไปเยอะเพราะราคายาง และราคาปาล์มตกต่ำการประมงมีปัญหา ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์อาจมี 2 แนวทางคือ 1 ถ้าได้เข้าร่วมรัฐบาลอาจต้องขอรับผิดชอบด้านการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนี่คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง หรือ 2.เลือกเป็นฝ่ายค้านแล้วพรรคพลังประชารัฐเป็นรัฐบาลแต่แก้ปัญหาไม่ได้ และยิ่งทำให้ราคาตกลงไปอีกพรรคประชาธิปัตย์ก็อาจจะใช้จุดนี้ในการหาเสียงได้ เพราะในอดีตสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เคยทำให้พืชผลเหล่านี้มีราคาสูงมาแล้ว” (มติชน 13 พฤษภาคม 2562 หน้า 2)

จากการพ่ายแพ้หรือสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเมืองหลวงกรุงเทพมหานครหรือแม้กระทั่งในภาคใต้จึงนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดังที่ได้ลั่นวาจาไว้ก่อนหน้านี้

วันนี้พรรคประชาธิปัตย์จึงกำลังเข้าสู่ปรากฏการณ์แห่งการผลัดใบด้วยการมีหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ คำถามหรือโจทย์ที่สังคมกำลังจับตาจากนี้ไปจอมยุทธ์หรือขุนพลตลอดจนแม่ทัพนายกองทั้งหลายจะมีจุดยืน อุดมการณ์ตลอดจนแนวคิดในการขับเคลื่อนเพื่อให้พรรคกลับไปอยู่ในใจของมวลชนได้อย่างไร

ที่น่าสนใจยิ่งจะเห็นได้ว่าวิสัยทัศน์หรือแนวคิดที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคทุกคนได้แสดงออกต่อสาธารณะและสมาชิกในพรรคนั้นล้วนแล้วแต่เป็นมิติของนวัตกรรมการบริหารจัดการหรือคลังทางปัญญาที่น่าสนใจยิ่ง หากหัวหน้าและผู้บริหารพรรคชุดใหม่ได้นำนวัตกรรมและแนวคิดดังกล่าวมาบูรณาการผสมผสานเพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนารวมทั้งสมาชิกทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นเก่าหรือคนรุ่นใหม่ถ้าเข้ามามีส่วนร่วมผนึกพลังเป็นหนึ่งเดียวเพื่อก้าวไปสู่การเป็นพรรคการเมืองแห่งการเปลี่ยนแปลงและเป็นความหวังของคนไทยอย่างแท้จริงโดยเฉพาะในยุคดิจิทัลหรือศตวรรษที่ 21 ที่มีปรากฏการณ์ของพลวัตอย่างต่อเนื่อง คาดว่าอีกไม่นานเกินรอพรรคประชาธิปัตย์จะก้าวไปสู่การเป็นพรรคการเมืองบนความศรัทธา และความหวังสามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยทั้งประเทศได้อีกวาระหนึ่ง

จากอดีตสู่ปัจจุบันรวมทั้งประสบการณ์ที่พรรคได้รับจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุดจะเห็นได้ว่า วันนี้สังคมแห่งการเมืองโดยเฉพาะผู้คนจะตื่นตัวและติดตามรวมทั้งให้ความสำคัญกับกระบวนการบริหารจัดการตลอดจนรูปแบบการสื่อสารมากกว่าในอดีต ยิ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วยแล้วจะให้ความสำคัญกับการสื่อสารในยุคดิจิทัลที่แฝงมาด้วยจุดขายของผู้นำภายใต้บริบทของโซเชียลมีเดีย พรรคประชาธิปัตย์ในอดีตเคยสร้างคลื่นลูกใหม่ทางการเมืองผ่านยุวประชาธิปัตย์จนล่าสุดเปลี่ยนผ่านมาเป็นกลุ่ม นิวเดม แต่จะเห็นได้ว่ากลุ่ม, นิวเดมชุดนี้ถึงแม้จะมีจุดขายในตัวบุคคลที่น่าสนใจอันหลากหลายอยู่บ้าง แต่กลับปล่อยโอกาสให้หลุดลอยไม่ได้แสดงพลังให้เข้าตาคนรุ่นใหม่สำหรับการเข้าคูหากากบาทเลือกผู้แทนมากนัก

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่โลกใบนี้เข้าสู่สังคมแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง การเมืองไทยก็คงขับเคลื่อนเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นตามลำดับเช่นกัน ทุกพรรคการเมืองที่มุ่งหวังในการได้มาซึ่งอำนาจสำหรับการบริหารจัดการประเทศต่างก็คงจะต้องมุ่งมั่นพัฒนาขับเคลื่อนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง การสร้างนวัตกรรมหรือแนวนโยบายที่จะผูกใจประชาชนคงจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาตลอดจนบริบทของโลกและสังคมไทย

แต่ที่น่าสนใจเมื่อวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ผลัดใบแล้วทิศทางอนาคตจากนี้ไปอยู่ในมือของผู้นำและขุนพลคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่จะเดินหน้านำพาพรรคไปสู่ทิศทางแห่งอนาคตและตอบโจทย์ของสังคมได้ จุดแข็งหรือจุดยืนของพรรคดังที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้หากประชาธิปัตย์ในยุคผลัดใบจะนำมาถอดบทเรียนเป็นกรณีศึกษาหรือเป็นกระจกสะท้อนเงาเพื่อนำไปสู่ความมั่นคง และยั่งยืนแห่งอนาคตก็ถือได้ว่าเป็นโจทย์หรือการบ้านที่น่าสนใจยิ่ง

เหนือสิ่งอื่นใดพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ต้องน้อมนำพระราชดำริแห่งการพัฒนาของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นเทียนชัยของการก้าวเดินด้วยมิติของการ เข้าใจ เข้าถึง เพื่อการพัฒนาภายใต้การเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ดังที่นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีเคยนำมาเป็นนวัตกรรมสำหรับการหาเสียงเลือกตั้งจนประสบความสำเร็จมาแล้วดังในอดีตที่ผ่านมา

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
e-mail [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image