รัฐบาลใหม่กับทิศทางอนาคตการศึกษาชาติ โจทย์การพัฒนา บนความท้าทาย และความคาดหวังของสังคม : โดย ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในรอบ 8 ปี ของคนไทยเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความคิดและความต้องการของเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่มีต่อการบริหารกิจการบ้านเมืองในหลากหลายมิติ และจะเห็นได้ว่าก่อนที่จะมีการเลือกตั้งนั้นการรณรงค์หาเสียงของทุกพรรคการเมืองและผู้สมัครต่างตระหนักและให้ความสำคัญที่จะขับเคลื่อนและนำเสนอนโยบายที่มุ่งเน้นไปที่ประชานิยมเพื่อจูงใจและให้ประชาชนคล้อยตามสำหรับการแก้ไขปัญหาของประเทศในมิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ หรือปากท้องของประชานเป็นส่วนใหญ่

ในขณะที่ปัญหาที่เชื่อมโยงกับมิติทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ำหรือปัญหาที่กัดกร่อนหรือเกาะกินสังคมมายาวนานไม่ค่อยได้รับการขานรับจากพรรคการเมืองมากนัก หนึ่งในมิติแห่งปัญหาที่พรรคการเมืองเล็งเห็นว่าสามารถนำมาเป็นแรงจูงใจต่อผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ในระดับหนึ่งซึ่งหลายยุคหลายสมัยยังไม่มีรัฐบาลใดแก้ไขให้เท่าเทียมนานาประเทศที่เจริญแล้วได้คือ “การศึกษา”

ในประเด็นนี้ถึงแม้นว่าจะมีพรรคการเมืองบางพรรคได้ปักหมุดหรือชูประเด็นเพื่อเป็นจุดขายแต่ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่ากับปัญหาปากท้องที่ผู้คนส่วนใหญ่กำลังประสบกันมาอย่างนานวัน แต่ในทางกลับกันการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยและองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องมากมาย

การศึกษาเป็นหนึ่งในตัวแปรหรือต้นทางที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทั้งนี้เพราะในทางสากลหรือโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงทุกประเทศต่างให้การยอมรับและผลักดันให้คนหรือทุนมนุษย์ในชาติใช้ “การศึกษา” เป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาที่สำคัญ “คน” ที่ประสบความสำเร็จสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขก็ล้วนแล้วแต่ผ่านกระบวนการศึกษามาทั้งสิ้น

Advertisement

วันนี้ยิ่งโลกมีการเปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันในทุกมิติอยู่ตลอดเวลาทั่วโลกจึงให้ความสำคัญในการนำการศึกษามาพัฒนาคนให้พร้อมไปด้วยองค์ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์ และนวัตกรรมใหม่สำหรับนำไปประยุกต์ใช้เพื่อความเข้มแข็งและสืบสานความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยนั้นถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่รัฐบาลทุกยุคไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยหรือมาจากการรัฐประหารต่างตระหนักและให้ความสำคัญกับการศึกษามาอย่างต่อเนื่องซึ่งดัชนีชี้วัดที่สำคัญสำหรับประเด็นนี้สามารถดูได้จากการจัดสรรงบประมาณที่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะกำหนดนโยบายตลอดจนแผนยุทธศาสตร์ที่หลากหลายก็ตามกลับพบว่าการศึกษาบ้านเรายังตกอยู่ในวังวนของกับดักและปัญหาเดิมๆ ที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามหลุมดำที่ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศโดยรวมได้

จากกรณีปัญหาที่ทับถมและเกาะติดกับแวดวงการศึกษาชาติมาอย่างต่อเนื่องวันนี้เมื่อผ่านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วเชื่อว่าความหวังและความต้องการของคนทั้งประเทศคงต้องการที่จะเห็นรัฐบาลที่มีความพร้อมภายใต้การรวมของบรรดาขุนพลนักบริหารจัดการมืออาชีพโดยเฉพาะผู้ที่จะเข้ามานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องสำหรับขับเคลื่อนและแก้ปัญหาทางการศึกษาในมิติต่างๆ ร่วมกัน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ปัญหาการศึกษาของบ้านเรานั้นหากนำมิติหรือปัจจัยที่เป็นต้นทางแห่งปัญหามาร่อนตะแกรงจะพบว่าจะมีตะกอนหรือสิ่งแปลกปลอมเจือปนอยู่หลากหลาย ด้วยความพยายามของรัฐบาลที่ผ่านมาเพื่อนำปัญหามาสู่การแก้ไขให้เป็นแสงสว่างแห่งการพัฒนาดังที่สังคมมุ่งหวังด้วยการผนึกพลังร่วมกับข้าราชการ นักวิชาการตลอดจนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังพบว่าปัญหานั้นยิ่งแก้ยิ่งหาทางออกไม่เจอเปรียบเสมือนลิงติดแหที่ไม่สามารถสลัดให้หลุดพ้นได้

วันนี้ถ้าย้อนกลับไปที่นโยบายสำหรับการพัฒนาการศึกษาที่พรรคการเมืองต่างๆ ได้นำเสนอต่อประชาคมนั้นจะพบว่านวัตกรรมและความแปลกใหม่ยังไม่ปรากฏให้เห็นในเชิงประจักษ์ที่จะสะท้อนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลอันจะเกิดแก่สังคมโดยรวม หลายวาระเมื่อมีการนำเสนอจุดขายหรือนโยบายทางการศึกษาจะพบว่านักวิชาการที่มากด้วยประสบการณ์หรือโลดแล่นอยู่ในแวดวงการศึกษามาอย่างยาวนานจะออกมาแสดงทรรศนะทั้งในทางบวกและทางลบผสมกันไปอยู่เนืองๆ

ต่อกรณีนี้สอดคล้องกับการที่นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สะท้อนมุมมองไว้อย่างน่าสนใจโดยเฉพาะการวิพากษ์นโยบายการศึกษาของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่กำลังรวบรวมแกนนำจัดตั้งรัฐบาลความตอนหนึ่งว่า “ตามที่พรรคพลังประชารัฐชูนโยบายการศึกษาแบบองค์รวม บูรณาการงานกับทุกกระทรวงภายใต้นโยบายประชารัฐสร้างคน สร้างชาติ ซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในศตวรรษที่ 21 บูรณาการพัฒนาการทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข แรงงาน และสร้างรายได้โดยมองคนไทยเป็นศูนย์กลางที่ต้องได้รับการดูแลทั้งเชิงสุขภาพ การศึกษา การมีงานทำ และการมีรายได้ เด็กไทยทุกคนต้องเกิดมาอย่างมีคุณภาพ ฯลฯ”

ในประเด็นนี้อาจารย์สมพงษ์ยังฉายภาพให้เห็นเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับนโยบายว่า “เป็นนโยบายขายฝัน เพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก อีกทั้งเมื่อดูนโยบายภาพรวมยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศได้นโยบายที่ออกมายังไม่สะท้อนการเพิ่มคุณภาพการศึกษาอย่างจริงจัง แต่สะท้อนมุมมองทุนนิยมทางการศึกษาเร่งเอาแต่ผลักดันไปสู่ระดับสูงขึ้นไทยแลนด์ 4.0 แต่ขาดรากฐานการแก้ปัญหาที่แท้จริง…..” (มติชน, 22 มีนาคม 2562 หน้า 21)

และอีกประเด็นซึ่งเป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปอันเนื่องมาจากหลุมดำหรือกับดักทางการศึกษาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลหรือรัฐมนตรีทุกครั้งแนวนโยบายหรือแผนงานจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ร่ำไป ยิ่งรัฐบาลที่มาจากร้อยพ่อพันธุ์แม่ด้วยแล้วรูปแบบหรือแนวนโยบายเดิมจะถูกรื้ออย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งนี้ เพราะผู้ที่เข้ามาใหม่มักจะยึดโยงกับตัวตนเมินเฉยต่อสาระหรือแนวทางที่ผ่านการศึกษาวิจัยซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับการขับเคลื่อนการกำหนดทิศทางอนาคตการศึกษาชาติให้ไปสู่ฝั่งฝันดังที่สังคมคาดหวังเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องควรจะฟังความรอบด้านหรือเปิดเวทีสาธารณะให้มีการศึกษา สังเคราะห์ วิเคราะห์ในมิติความคิดเห็นก่อนที่จะกำหนดเป็นนโยบายสู่การปฏิบัติ

ในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อการกำหนดทิศทางอนาคตการศึกษาชาตินั้น ก่อนจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร KBU POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนทุกกลุ่มสาขาอาชีพทั่วประเทศ เรื่อง “พรรคการเมืองกับนโยบายการศึกษาในมุมมองประชาชน” ระหว่างวันที่ 8-11 มกราคม 2562 ผลการสำรวจมีประเด็นที่รัฐบาลใหม่สามารถนำไปเป็นโจทย์หรือการบ้านสำหรับการบริหารจัดการได้ในระดับหนึ่ง อาทิ ในประเด็นคำถามที่มีต่อนโยบายการพัฒนาการศึกษาชาติแห่งอนาคต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ อยากเห็นนโยบายที่ไม่เพ้อฝันนำไปสู่การปฏิบัติและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม รองลงมา มีการยกระดับการพัฒนาให้เท่าเทียมกับนานาชาติที่เจริญแล้ว ตามด้วย สร้างความต่อเนื่อง/เปลี่ยนแปลงตามความจำเป็น พัฒนาหลักสูตรกระบวนการเรียนที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ตอบสนองความต้องการและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

สำหรับประเด็นคำถามที่เกี่ยวกับด้านมุมมองที่มีต่อปัญหาและความต้องการให้พรรคการเมืองหรือรัฐบาลในอนาคตมีการแก้ไข พบว่าส่วนใหญ่ ต้องการให้แก้ไขปัญหามาตรฐานและความไม่เท่าเทียมของสถานศึกษา รองลงมา ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำและคุณภาพทางการศึกษา ปัญหาความไม่แน่นอนของนโยบายและการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีบ่อยครั้ง ปัญหาบัณฑิตตกงาน ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นต้น

ในการสำรวจดังกล่าวเมื่อถามถึงคุณลักษณะของรัฐมนตรีที่จะบริหารการศึกษาชาติ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คาดหวังหรือต้องการผู้ที่มีวิสัยทัศน์ เข้าใจ เข้าถึงในปรัชญาการศึกษา รองลงมา มีคุณธรรมซื่อสัตย์สุจริต มีนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม มีทีมงานที่มีคุณภาพไม่แสวงหาผลประโยชน์ มีความสามารถในการสื่อสารและเชื่อมโยงการพัฒนากับนานาประเทศ และอื่นๆ

มาถึงวันนี้คาดว่าว่าพรรคการเมืองที่จะร่วมรัฐบาลคงจะได้มีการเตรียมการในการจัดสรรปันส่วนหรือโควต้าตลอดจนกระทรวงต่างๆ กันล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นการบ้านหรือโจทย์ที่ท้าทายอันจะนำไปสู่ความคาดหวังหรือต้องการของประชาชนคงจะเป็นมิติที่ทุกพรรคควรตระหนักและให้ความสำคัญ หลุมดำหรือประเด็นปัญหาที่บั่นทอนการศึกษาชาติจนทำให้เด็กและเยาวชนไทยมีพัฒนาการที่อ่อนด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านไม่ว่า สิงคโปร์ มาเลเซียหรือเวียดนาม ล้วนแล้วแต่เป็นการบ้านข้อใหญ่ให้กลับไปพิจารณาทั้งสิ้น

เหนือสิ่งอื่นใดการขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาการศึกษาชาติเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จและเป้าหมายแห่งอนาคตที่สังคมคาดหวัง หากรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับศึกษาหรือการพัฒนาทุนมนุษย์จะได้น้อมนำศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ภายใต้การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนามาเป็นหลักชัยในการปฏิบัติบนพื้นฐานประโยชน์ของสังคมและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง เชื่อได้ว่าทิศทางอนาคตการศึกษาชาติคงจะก้าวผ่านไปสู่แสงสว่างแห่งความสำเร็จและความหวังได้ไม่ยากนัก

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image