ปรากฏการณ์สาวไทยในบอลโลกกับความท้าทายการพัฒนาแห่งอนาคต โดย : ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร

 

ศึกลูกหนังแม่เนื้อนิ่มชิงแชมป์โลกเป็นหนึ่งในรายการการดวลแข้งที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้บรรดานักเตะสาวจากชาติต่างๆ ได้แสดงออกซึ่งพลังแห่งความสามารถในเชิงกีฬาลูกหนัง ซึ่งศึกรายการนี้ก่อเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2534 หรือ ค.ศ.1991โดยมีประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอาสาเป็นเจ้าภาพจัดสังเวียนการแข่งขัน

แรกเริ่มของการดวลแข้งในรายการนี้มีขุนพลแม่เนื้อนิ่มจากชาติต่างๆ เข้าร่วมจำนวน 12 ทีมต่อมาในปี ค.ศ.1999 เมื่อเกมได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจึงมีการขยายให้ชาติต่างๆ เข้าร่วมเป็น 16 ทีม และเมื่อเกมทำท่าว่าจะมีเสน่ห์ไม่ด้อยไปกว่ามหกรรมฟุตบอลโลกที่นักเตะชายมีโอกาสได้ดวลแข้งกันมาก่อนหน้านี้นักเตะสาวจากทั่วโลกจึงได้รับโอกาสจากฟีฟ่าด้วยการเพิ่มโควต้าเป็น 24 ทีม นับแต่ปี ค.ศ.2015 เป็นต้นมา

จากการทำศึกดวลแข้งเพื่อไล่ล่าหาความเป็นหนึ่งหรือแชมป์โลกในรายการนี้พบว่าเส้นทางแห่งความสำเร็จที่พิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพและความสุดยอดของชาติที่คว้าแชมป์ไปครองมากที่สุดได้แก่นักเตะสาวแยงกี้ สหรัฐอเมริกาที่แบกถ้วยกลับไปอวดแฟนลูกหนังได้ถึงถิ่นบ้านเกิดได้ถึง 3 สมัย โดยมีสาวจากเยอรมนีตามติดๆ 2 สมัย

Advertisement

การเปิดโอกาสให้สาวๆ นักเตะทั่วโลกได้พิสูจน์ฝีเท้าในลีลาของเชิงลูกหนังของการชิงแชมป์ระดับโลกถือได้ว่าเป็นหนึ่งในมิติของวงการกีฬาที่ทลายกำแพงด้วยการเปิดโอกาสที่ไม่มีการแบ่งแยกว่าเพศชายหรือเพศหญิงยิ่งในชนิดกีฬาฟุตบอลที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดของเกมที่คนทั่วโลกคลั่งไคล้ด้วยแล้ว ความเก่งกล้าสามารถที่จะอวดศักดาให้ชาวโลกได้ยลโฉมจึงไม่ใช่เฉพาะนักเตะหนุ่มๆ เท่านั้นที่จะมีโอกาส แต่ในทางกลับนักเตะแม่เนื้อนิ่มหรือสาวๆ ก็มีเชิงชั้นและลีลาการเล่นไม่น้อยไปกว่าขุนพลลูกหนังพลังหนุ่มเช่นกัน

ที่สำคัญการทำศึกดวลแข้งในรายการนี้นอกเหนือจากนักเตะชาติจากตะวันตกอย่างอเมริกาและยุโรปจะมีโอกาสสัมผัสเกมอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน สาวๆ ในเอเชียอย่างญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ซึ่งเป็นตัวแทนจากชาติในเอเชียก็ไม่น้อยหน้าต่างสามารถเข้าร่วมทำศึกในรอบสุดท้ายได้อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวถึงพลังความสามารถในเชิงกีฬาลูกหนังของสาวๆ จากย่านเอเชียแล้วแม่เนื้อนิ่มของไทยเจ้าของฉายา “ชบาแก้ว” ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบรรดาชาติที่ได้เข้าสู่สมรภูมิของศึกลูกหนังโลกได้ไม่น้อยหน้าสาวใดที่สำคัญพวกเธอสามารถเป็นตัวแทนคนไทยไปอวดศักดาและนำธงไตรรงค์เข้าสู่สนามได้ถึงสองสมัยติดต่อกันภายใต้การผนึกพลังของสองหญิงแกร่ง “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะผู้จัดการทีมและ “โค้ชหนึ่ง” ดร.หนึ่งฤทัย สระทองเวียน หัวหน้าสต๊าฟโค้ช

Advertisement

สําหรับศึกชิงแชมป์โลกที่ฝรั่งเศสระหว่างวันที่ 7 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2562 นี้ เส้นทางของนักเตะสาวไทยได้จบลงอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อนักเตะสาวไทยไม่สามารถต้านพลังความสามารถของคู่ต่อกรเพื่อนร่วมสายซึ่งประกอบไปด้วยอดีตแชมป์โลก สหรัฐอเมริกา ชิลี และสวีเดน

หากย้อนกลับไปก่อนที่ศึกการฟาดแข้งของรายการนี้จะเริ่มขึ้น ถ้าโฟกัสไปถึงเชิงชั้นและชื่อเสียงของประเทศคู่ทำศึกจะเห็นได้ว่าเซียนลูกหนังหรือผู้ยั่งรู้ต่างเห็นชอบร่วมกันว่าทีมชบาแก้วของเราตกเป็นรองในทุกมิติอยู่เป็นอย่างมาก ยิ่งมาเจอกับอดีตแชมป์โลกสามสมัยอย่างสหรัฐอเมริกาด้วยแล้ว ถ้ามองในแง่ดีหรือคิดเชิงบวกก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สาวไทยจะได้แสดงและอวดศักดาให้แฟนลูกหนังทั่วโลกได้ประจักษ์ในเชิงชั้นกีฬาลูกหนัง

แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือมูลค่าเพิ่มที่จะส่งผลต่อประเทศชาติโดยรวมที่นักกีฬาได้ตลอดจนทีมงานได้ไปสร้างผลงานให้ชาวโลกได้ประจักษ์ซึ่งถ้ามองในด้านของการสื่อสารหรือการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ชาวโลกรู้จักชื่อเสียงของสยามประเทศหรือไทยแลนด์ถือได้ว่านี่คือกำไรอันมหาศาลซึ่งไม่อาจจะประมาณค่าเป็นเม็ดเงินได้

ยิ่งในการลงแข่งขันนัดที่สองที่สาวไทยพบกับสาวจากสวีเดนวันนั้นถึงแม้สาวไทยจะพ่ายสาวจากแดนไวกิ้งไปถึง 1-5 แต่ก็ถือได้ว่าวันนั้นเหล่าบรรดานักกีฬาต่างได้พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของเลือดนักสู้ใจเกินร้อยที่สำคัญในการทำศึกวันนั้นได้เกิดเป็นมิติหรือปรากฏการณ์ที่วงการลูกหนังไทยต้องบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของการแข่งขันฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลกสำหรับทีมชาติไทย เมื่อนักเตะสาววัยเก๋านาม กาญจนา สังข์เงินกระชากบอลเข้าไปยิงประตูคู่แข่งขันได้สำเร็จ

จากเพียงหนึ่งเดียวของประตูที่สาวไทยทำได้กลับสร้างสีสันและส่งความสุขให้คนไทยรวมทั้งแฟนพันธุ์แท้ในสนามที่ร่วมร้อยแรงใจส่งแรงเชียร์โดยมีไตรรงค์โบกไสวอยู่เหนือศีรษะเป็นอย่างยิ่งและจากปรากฏการณ์ในวันนั้นทำให้สื่อมวลชนทั่วโลกต่างให้ความสนใจในการที่จะสัมผัสหรือเจาะใจผู้จัดการทีมตลอดจนนักกีฬารวมทั้งชาติไทยมากขึ้น

ยิ่งในการลงแข่งขันนัดแรกกับราชินีลูกหนังอย่างสาวแยงกี้สหรัฐอเมริกาตามด้วยชิลีถึงแม้สาวไทยจะต้านพลังการบุกของคู่ต่อสู้ไม่อยู่และพ่ายไปในที่สุดแต่ผู้ชมทั่วโลกทั้งที่เข้าไปสัมผัสเกมในสนามหรือชมผ่านการถ่ายทอดสดจากโทรทัศน์คงจะได้เห็นและพบกับเหตุผลในบางประการที่สาวไทยไม่สามารถไปถึงดวงดาวได้แต่ด้วยผลงานดังกล่าวก็ถือได้ว่าบรรดาขุนพลนักเตะและทีมงานต่างได้ทุ่มเทเพื่อชาติกันอย่างเต็มที่แล้ว

วันนี้เมื่อทีมชบาแก้วเดินทางกลับถึงมาตุภูมิบ้านเกิดแล้วจากนี้ไปสิ่งที่คนไทยทั้งมวลต้องการเห็นคงเป็นบทบาทหน้าที่ของภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องที่จะนำโจทย์หรือการบ้านไปวิเคราะห์ วางแผนสู่การพัฒนาแห่งอนาคตโดยเฉพาะการส่งเสริมสนับสนุนหรือยกระดับให้วงการฟุตบอลหญิงไทยก้าวไกลทัดเทียมกับชาติที่ประสบความสำเร็จรวมทั้งโอกาสที่นักกีฬารุ่นหลังจะได้ตามรอยรุ่นพี่สู่สมรภูมิศึกลูกหนังโลกในสมัยที่สาม

ในกรณีนี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ได้จุดประกายแห่งความหวังในการที่จะส่งเสริมสนับสนุนบอลหญิงไทยภายหลังได้ไปสัมผัสเกมการแข่งขันและเชียร์ทีมสาวไทยที่ขอบสนามความตอนหนึ่งว่า “สำหรับแผนแนวทางหลังจากนี้ กกท.จะเข้าไปสนับสนุนฟุตบอลหญิงตั้งแต่ระดับเยาวชน และมหาวิทยาลัยโดยได้ตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง กกท.กับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯในการพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงโดยคงจะเริ่มที่การสร้างทีมฟุตบอลหญิงให้แข็งแกร่งและเราคงจะต้องยึดโมเดลมาจากการพัฒนาวอลเลย์บอลหญิงที่มีกระแสนิยมมากในปัจจุบัน…..(มติชน, 21 มิถุนายน 2562)

เมื่อผู้นำหรือผู้บริหารการกีฬาของชาติได้ออกมาแสดงทรรศนะในการผลักดันให้บอลหญิงไทยก้าวต่อไปในอนาคต แต่ถ้ามองย้อนไปในองค์กรที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯจะพบว่าวันนี้ประมุขลูกหนังหรือนายกสมาคมตลอดจนสภากรรมการบริหารสมาคมยังนิ่งเฉยการขยับหรือตีเหล็กในขณะที่ไฟกำลังร้อนยังไม่มีให้เห็น

บทสะท้อนในเชิงประจักษ์อีกประการหนึ่งที่กลายเป็นค่านิยมหรือวัตรปฏิบัติสำหรับสังคมไทยเมื่อมีผู้นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศจะมีผู้คนแห่แหนไปรอรับและแสดงออกย่างเชิดหน้าชูตากันเป็นจำนวนมาก แต่ในกรณีที่ทีมชบาแก้วในฐานะผู้ไปสร้างชื่อเสียงสละหยาดเหงื่อเพื่อปวงชนทั้งประเทศเดินทางกลับสู่บ้านเกิดในเวลาเช้าของวันที่ 22 มิถุนายน ที่ผ่านมา กลับพบว่ามีแต่เครือญาติและครอบครัวของนักกีฬาไปให้การต้อนรับแต่ถ้ามองไปที่หน่วยงานภาครัฐกลับไม่มีผู้แทนไปรับนักกีฬาและทีมงานแม้แต่รายเดียว

ยังดีตรงที่สมาคมกีฬาลูกหนังได้ส่งอุปนายกบริหารงานฝ่ายอำนวยการบัญชีและการเงินไปให้กำลังใจ

เมื่อกล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนาวงการฟุตบอลหญิงสำหรับประเทศไทยจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมามีการดำเนินการมาก็จริงแต่ยังไม่ถือว่าได้มาตรฐานสากลการส่งเสริมในภาพรวมจะไปทุ่มเทหรือเป็นไปตามกระแสความนิยมเป้าหมายมุ่งไปที่ฟุตบอลชายมากกว่า การบริหารจัดการเพื่อวางรากฐานด้วยการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาหรือการจัดการแข่งขันยังไม่แพร่หลายมากนัก

หนึ่งในรากฐานการพัฒนาที่สำคัญคือการจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกหรือฟุตบอลอาชีพในประเทศให้เป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง สโมสรสมาชิกควรที่จะสร้างทีมฟุตบอลหญิงผนวกไปกับทีมผู้ชายดังที่หลายๆ ประเทศดำเนินการจนประสบความสำเร็จมาแล้วซึ่งกระบวนการหรือยุทธศาสตร์ในการดำเนินการเชื่อว่าประเทศไทยมีผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญอยู่เป็นจำนวนมากเพียงแต่ว่าแผนงานจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยั่งยืนมากน้อยแค่ไหน

การพัฒนาและการสนับสนุนฟุตบอลหญิงสำหรับประเทศไทยจะพบว่าในห้วงระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ภาคเอกชนหรือบุคคลที่มีใจรักจะเข้ามาทุ่มเทและเสียสละหนึ่งในบุคคลที่มาจากภาคเอกชนที่เสียสละให้เห็นในเชิงประจักษ์อาทิ “มาดามแป้ง” นวลพรรณ ล่ำซำ ที่ถือได้ว่าเป็นจอมทัพที่สำคัญในการระดมสรรพกำลังเพื่อวงการซึ่งนักกีฬาต่างขานรับว่าเขาคือทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับบอลหญิงการเสียสละในระยะ 12 ปีที่ผ่านมาหากคิดเป็นมูลค่าที่ทุ่มลงไปไม่ว่ามิติของเม็ดเงินรวมทั้งองคาพยพต่างๆ อาจจะไม่สามารถประมาณค่าได้กับความมีน้ำใจเพื่อวงการกีฬาและสปิริตเพื่อประเทศชาติ

และเมื่อเส้นทางของชบาแก้วในศึกฟุตบอลหญิงชิงแชมป์โลก 2019 ที่ฝรั่งเศสจบลง ผู้จัดการทีมจอมทุ่มเทพร้อมด้วยโค้ชคู่ใจได้ประกาศอำลาวงการและยุติบทบาทของตนเองด้วยคำกล่าวความตอนหนึ่งว่า “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา หน้าที่นี้ถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตที่สำคัญ
คือการมาเล่นฟุตบอโลกถึงสองสมัยขอบคุณแฟนบอลไทยและต้องขอโทษที่วันนี้พาทีมเข้ารอบ 16 ทีมไม่ได้ (มติชนออนไลน์, 21 มิถุนายน 2562)

ด้านโค้ชหนึ่ง ดร.หนึ่งฤทัย สระทองเวียน ในฐานะผู้ทุ่มเทที่ได้เสียสละฝึกซ้อมและคลุกคลีกับนักกีฬามาอย่างยาวนานก็เป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงสปิริตด้วยการขอยุติบทบาทเช่นเดียวกันพร้อมกับแสดงทรรศนะตอนหนึ่งความว่า “คุยกับคุณแป้งไว้แต่แรกแล้วหลังจบฟุตบอลโลกไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรเราจะยุติบทบาทลงอาจไม่ได้ตามเป้าหมายคือเข้ารอบ 16 ทีม เพื่อเป็นประวัติศาสตร์ที่มันสูงกว่าเดิม เราอยู่กับฟุตบอลมานานตั้งแต่เป็นผู้ฝึกสอนจนมาเป็นนักกีฬาโดยเคยประกาศอำลาไปแล้วครั้งหนึ่ง ด้วยภาระหน้าที่ของข้าราชการที่โรงเรียนกีฬาขอนแก่นเมื่อมาปฏิบัติหน้าที่ทำให้ภารกิจในราชการทำได้ไม่เต็มที่” (มติชนออนไลน์, 21 มิถุนายน 2562)

จากการทุ่มเทและเสียสละของทีมชบาแก้วในการนำชื่อเสียงของประเทศไปสู่สายตาชาวโลกในครั้งนี้จากการเสียสละดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นนักกีฬา สต๊าฟโค้ช ผู้จัดการทีม หากพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่างเว้นจากภารกิจการบ้านงานเมืองก็น่าจะเปิดทำเนียบให้นักกีฬาและทีมงานเข้าพบเพื่อขวัญกำลังใจก็น่าจะเป็นหนึ่งในมิติหรือปรากฏการณ์ที่ผู้นำประเทศควรที่จะดำเนินการ

ดังที่ได้เคยเปิดโอกาสให้แก่บุคคลและนักกีฬาที่สร้างชื่อให้ปรากฏมาก่อนหน้านี้รวมทั้งหาช่องทางและโอกาสในการบรรจุหรือการมีงานมีอาชีพให้นักกีฬาด้วยก็จะดีไม่น้อย

โลกแห่งการเปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันที่นับวันจะสูงยิ่งวันนี้หลายชาติได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ด้วยการนำการกีฬามาเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาซึ่งหากเจาะลึกลงไปในการดำเนินการดังกล่าวประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาไว้อย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็นแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติฉบับที่ 6 รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

เพื่อโอกาสและความหวังแห่งอนาคตสำหรับการพัฒนากีฬาฟุตบอลหญิงรวมทั้งทุกมิติของวงการกีฬาไทยเชื่อว่าวันนี้รัฐบาลที่ผ่านมาจากการเลือกตั้งรวมทั้งรัฐมนตรีที่จะเข้ามากำกับดูแลหรือเป็นผู้กุมบังเหียนการกีฬาชาติคงจะได้เตรียมการในการรังสรรค์นวัตกรรมการบริหารจัดการแนวใหม่เพื่อสังคมไทย และวงการกีฬาไทยอย่างแท้จริง

เหนือสิ่งอื่นใดคือการน้อมนำพระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์นักกีฬาในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสู่การปฏิบัติดังความตอนหนึ่งที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานให้ลงพิมพ์ในหนังสือเนื่องในวันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม 2531 ความว่า

“…กีฬามีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตของบ้านเมือง…”

ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร
ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์
มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image