‘จีน-ญี่ปุ่น’ฟื้นฟูความสัมพันธ์

ทริปญี่ปุ่นของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ถือเป็นครั้งแรกที่ย่างก้าวเหยียบบาทแดนอาทิตย์อุทัยหลังจากรับตำแหน่งเมื่อปี 2013 และก็เป็นครั้งแรกที่ประมุขของจีนมาเยือนญี่ปุ่นในรอบ 9 ปี
เป็นการสะท้อนให้เห็นในเชิงสัญลักษณ์ว่า ประเทศจีน-ญี่ปุ่น “ศรศิลป์ไม่กินกัน”
บัดนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว
ศักราชใหม่ “จีน-ญี่ปุ่น” กำลังเริ่มขึ้น
เนื่องในวาระสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนครบรอบ 70 ปี ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นเข้าสู่รัชสมัย “เร วะ” ทั้งสองประเทศประกาศว่า “นี่คือการพัฒนาของจีน-ญี่ปุ่นสมัยใหม่ จึงต้องร่วมสร้างความสัมพันธ์ให้สอดคล้องกับความประสงค์ของสมัยใหม่”
ทันทีที่ออกประกาศ นายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ได้เชิญประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ การตอบรับคำเชิญก็เกิดขึ้นทันใด กำหนดการคือฤดูใบไม้ผลิปีหน้า
“สี จิ้นผิง” แสดงเจตนาสนับสนุนญี่ปุ่นและเกาหลีเหนือปรับปรุงสัมพันธไมตรี
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้ระบุชื่อธนาคารญี่ปุ่น “MUFG BANK” โดยให้ใช้เงินหยวนในการชำระหนี้ได้อีกด้วย
ได้หน้าได้ตา และได้ผลประโยชน์หลายสถาน

ส่วนญี่ปุ่นได้ยืนยันเข้าร่วมโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และพร้อมให้ความยุติธรรมแก่บรรดาธุรกิจจีน เป็นเจตนาที่ดีต่อจีน มิต้องสงสัย
ตั้งแต่ 2012 ญี่ปุ่นได้แปลงเกาะประมง (Fishing Island) ให้เป็นสินทรัพย์ของตน ซึ่งเป็นประเด็นที่ระคายเคืองต่อจีน ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นจึงถูก “แช่แข็ง” เป็นเวลานานถึง 6 ปี
กระทั่ง 2017 สมัยที่ 2 ของ “สี จิ้นผิง” ความตึงเครียดก็ได้เริ่มคลายลงตามลำดับ
เวลา 2 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือน “ชินโสะ อาเบะ” เป็นผู้ริเริ่มและกระตือรือร้นในการที่จะทำการเจริญไมตรีกับจีน เอาใจจีน และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานชิ้นนี้ให้สำเร็จ
“ชินโสะ อาเบะ” พยายามหาโอกาสพบกับ “สี จิ้นผิง” ในวาระต่างๆ เท่าที่จะอำนวย และทั้งสองผู้นำก็ได้พบกันในโอกาสต่างๆ ถึง 10 ครั้ง แต่ฝ่ายจีนก็ยังรอดูท่าทีของญี่ปุ่น
และแล้วจุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว จุดเปลี่ยนนั้นคือ ญี่ปุ่นตอบรับร่วมความริเริ่ม “แถบทาง” บัดนี้ การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอันเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น ชัดเจนเป็นประจักษ์

การฟื้นฟูสัมพันธไมตรีจีน-ญี่ปุ่นเกิดจากเหตุผลภายในและภายนอก
สำหรับ “ชินโสะ อาเบะ” ได้ประสบพบพานปัญหาดุจดั่ง “คอขวด” ในการแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจ อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องให้บรรลุตามเป้าหมายและตามเวลาที่กำหนด จึงมีความรีบร้อนมุ่งหวังอาศัยการทูตเป็น “จุดขาย” เพื่อชนะใจประชาชนให้สนับสนุน
ทั้งนี้ เพื่อวัตถุประสงค์ในการเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุด
หากวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของญี่ปุ่นกับต่างประเทศในปัจจุบัน
1 การผลักดันความสัมพันธ์กับรัสเซีย ไม่มีกำลังเพียงพอ
1 การแก้ไขความสัมพันธ์กับเกาหลีเหนือ ปราศจากช่องทาง
1 ความสัมพันธ์กับเกาหลีใต้ นับวันเลวร้าย
1 ความสัมพันธ์กับสหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรก็ไม่ประจักษ์ถึงความก้าวหน้าแต่อย่างใด
ที่พึ่งสุดท้ายก็คือ ประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุด มีความพร้อมที่สุดที่จะเป็น “หัวคะแนน” ให้แก่ “ชินโสะ อาเบะ”
“ชินโสะ อาเบะ” เป็นนักการเมืองที่มีความสามารถสูง ไม่เพียงจัดการประชุม G20 ได้สำเร็จ สมบูรณ์พูนผล อีกทั้งทำการผูกมิตรสร้างไมตรีกับ “สี จิ้นผิง” ได้อย่างดีไม่มีที่ติ
ล้วนเป็นการสะสมต้นทุนทางการเมือง เพื่อใช้ในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกเดือนกรกฎาคม
และคาดว่าโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งคงไม่อยู่ไกลเกินเอื้อม
ส่วน “สี จิ้นผิง” ในด้านต่างประเทศก็มีปัญหา โดยเฉพาะเกิดปัญหาถูกยุทธศาสตร์สหรัฐ สกัด กับประเทศยุโรปก็มิใช่จะดีลกันได้ง่าย
ฉะนั้น การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

สาเหตุภายนอกที่ใหญ่ที่สุดซึ่งทำให้จีน-ญี่ปุ่นคืนดีกัน ก็คือ “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นปฐมเหตุ ดังที่ “สี จิ้นผิง” ได้กล่าวกับ “ชินโสะ อาเบะ” ว่า
“โลกปัจจุบันกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบร้อยปี ระบบการบริหารได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ สถานการณ์โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จีน-ญี่ปุ่นมีผลประโยชน์ร่วมกันและเกื้อกูลต่อกันนับวันมากขึ้น”
คำพูดของ “สี จิ้นผิง” สะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยนอกประเทศเป็นเหตุ หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ขึ้นดำรงตำแหน่ง “สไตล์การทูต” ของเขา ไม่เพียงเป็นอุปสรรคต่อปักกิ่ง ยังทำให้ญี่ปุ่นยากแก่การปฏิบัติตาม และที่สำคัญที่สุดก็คือ เป็นเหตุให้เศรษฐกิจของจีนและญี่ปุ่นได้รับแรงกดดัน จนเกิดอาการ “หนาวๆ ร้อนๆ”
ฉะนั้น การที่จีน-ญี่ปุ่นทำการฟื้นฟูความสัมพันธ์กัน จึงเกิดจากสถานการณ์ทางการเมืองบังคับ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ “ลาภงอก” ที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” บันดาลให้

Advertisement

จากข้อมูลราชการญี่ปุ่น ปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวจีนมาญี่ปุ่น 8.38 ล้านคน ค่าบริโภคต่อวันเกือบ 1 แสนล้านหยวน ธุรกิจสื่อสาร เช่น “หัวเว่ย” ถูกสหรัฐคว่ำบาตรทางการค้า ผลประกอบการตกฮวบ “ซัพพลายเออร์” ญี่ปุ่นรวม 4 บริษัทยอดขายเฉลี่ยลดลงถึง 20% และบริษัทญี่ปุ่นที่มีฐานผลิตในจีนที่ส่งออกสินค้าไปสหรัฐ 3 หมื่นกว่ารายได้รับความเสียหายมาก
เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าสงครามการค้าสหรัฐ-จีนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นมากทีเดียว
แม้จีน-ญี่ปุ่นฟื้นฟูความสัมพันธ์กันแล้ว และถือเป็นเรื่อง “วิน-วิน”
แต่ก็มีปัญหายืดเยื้อเรื้อรังมาแต่เก่าก่อน คือ เรื่องการแบ่งเขตแนวทะเลตะวันออกและอำนาจอธิปไตยของเกาะประมง (Fishing Island)
จึงน่าเชื่อว่า หลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีน-ญี่ปุ่น ประเด็นปัญหาความขัดแย้งก็ยังคงต้องเกิด ครั้นเมื่อทะเลใต้หรือไต้หวันเกิดเหตุการณ์ปะทะกัน
เป็นเรื่องที่รับประกันมิได้ว่า จีนและญี่ปุ่นจะหลีกเลี่ยงการปะทะกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image