การจัดการศึกษาภาคพิเศษเพื่อผู้พิการทุกคนได้รับความเท่าเทียมทางการศึกษา

      การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญต่อคนทุกคน เป็นสิทธิ์และโอกาสที่ควรจะได้รับการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมกัน โดยไร้ซึ่งข้อจำกัด โดยเฉพาะบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกายหรือสติปัญญา มีภาวะทุพพลภาพ พวกเขาเหล่านี้ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกัน 

      ทำให้การจัดการศึกษา ไม่เพียงแต่การศึกษาภาคปกติเท่านั้น แต่ยังมีการศึกษาภาคพิเศษ สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกาย สติปัญญา และทางจิตใจ ทำให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับการศึกษา รวมไปถึงพัฒนาการอย่างเหมาะสม

      เมื่อครั้งที่คณะของสภาการศึกษา นำโดยเลขาสภาการศึกษา ดร.สุภัทร จำปาทอง  พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) เข้าศึกษาดูงาน ณ จังหวัดนครพนม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาดูงาน หนึ่งในจำนวนสถานศึกษาที่คณะไปศึกษาดูงาน คือ ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม 

      ศูนย์การศึกษาพิเศษ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการศึกษาให้แก่ผู้พิการ ในรูปแบบของศูนย์ช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม และเตรียมความพร้อมของผู้พิการก่อนที่จะเข้าสู่สถานศึกษาภาคปกติ นอกจากนั้นยังบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ โดยครอบครัวรวมไปถึงชุมชนด้วยกระบวนการศึกษา

Advertisement

      ข้อมูล ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ของศูนย์การศึกษาพิเศษ ประจำจังหวัดนครพนม มีนักเรียนมารับบริการทั้งสิ้น 265 คน ขณะที่จำนวนบุคลากรนั้นมีทั้งหมด 62 คน 

รูปแบบให้บริการ จำนวนคน
ไปกลับแบบหมุนเวียน 40
รับบริการตามบ้าน 139
หน่วยบริการ 10 หน่วย 86
ศูนย์การเรียนสำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล 688 
ห้องกระตุ้นพัฒนาการในโรงพยาบาล 328
ห้องคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก 25
รวม 265

 

      นายสุพจน์ ชะพินใจ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม กล่าวว่า เบื้องต้นสำหรับผู้รับเข้ารับบริการนั้น จะมีการคัดกรองประเมินคนต่อคน พิจารณาตั้งแต่ความสามารถพื้นฐานของผู้เข้ารับบริการ เพื่อจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Program หรือ  IEP) 

Advertisement

      “การคัดกรองเราจะประเมินคนต่อคน ความสามารถพื้นฐานของเขา เราจะประเมินเขาว่า ความสามารถพื้นฐานของเขา ขณะนี้อายุเท่าไหร่ ความสามารถเท่ากับเด็กอายุกี่ปี แล้วเราจะพัฒนาตามนั้น ตามแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP)  เราจะสอนรวมเหมือนคนปกติไม่ได้ ความสามารถเขาอยู่ตรงไหนต้องสอนตรงนั้นเป็นการเฉพาะ กิจกรรมรวมได้บางกิจกรรม แต่เวลาสอนวิชาการนั้นต้อง 1 ต่อ 1 นั่นคือความยากของการศึกษาพิเศษ  นอกจากครูทำหน้าที่ประเมินความสามารถของเขาแล้ว ควรจะต้องมีนักบำบัดวิชาชีพประเมินร่วมด้วย” ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนมกล่าว

      ด้วยหลักสูตรบริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม ประกอบด้วย 6 ทักษะและทักษะจำเป็น (บางประเภทความพิการ) ได้แก่ 1. ทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่  ทักษะกล้ามเนื้อมัดเล็ก 2.ทักษะการรับรู้และแสดงออกทางภาษา 3.ทักษะการช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวัน 4. ทักษะทางสติปัญญาหรือการเตรียมความพร้อมทางวิชาการ 5.ทักษะทางสังคม 6.ทักษะจำเป็น 

      นอกจากศูนย์การศึกษาพิเศษในพื้นที่ อ.เมืองแล้ว ศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดนครพนม ได้กระจายหน่วยงานบริการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม ไปยัง 10 อำเภอภายในจังหวัด โดยส่งครูผู้เชี่ยวชาญลงไปประจำพื้นที่แต่ละอำเภอ โดยนอกจากครูแล้ว จะมีพี่เลี้ยง ประจำแต่ละอำเภอคอยช่วยเหลือ โดยการจัดการเรียนการสอนนั้นเป็นเช่นเดียวกันเหมือนศูนย์ใหญ่ ด้วยบทบาทหน้าที่เดียวกัน รวมไปถึงให้บริการแก่ผู้ที่มีความพิการรุนแรง นอนติดเตียง รวมไปถึงการจัดการเรียนการสอนสำหรับเด็กป่วยในโรงพยาบาล และการจัดการเรียนการสอนในห้องคู่ขนานสำหรับบุคคลออทิสติก

      น.ส.นิจสัย จำปา ครูปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม หน่วยบริการบ้านแพง กล่าวว่า ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง ด้วยระยะทางระหว่างอำเภอในจังหวัดนครพนมที่ห่างไกลกัน อย่างอำเภอบ้านแพงระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร การเดินทางไปกลับใช้เวลานาน จึงตั้งศูนย์บริการในแต่ละอำเภอเพื่อให้เด็กผู้พิการสามารถรับบริการได้ หากเด็กคนไหนไม่สามารถเดินทางมารับบริการที่ศูนย์ประจำอำเภอได้ เจ้าหน้าที่จะไปบริการถึงบ้านทุกวันศุกร์ 

      “ในแต่ละศูนย์บริการมีพี่เลี้ยงจะอยู่ในพื้นที่อำเภอนั้น เพราะได้ใกล้ชิด คุ้นเคยกับผู้ปกครองและเด็กในบางอำเภอมีพี่เลี้ยง 3 คน ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเด็ก แต่บางอำเภอจะไม่มีข้าราชการลงไป เริ่มแรกมีเพียงอำเภอนาหว้า บ้านแพง นาแก แต่ปัจจุบันก็เพิ่มมาอีกสองคือ ปลาปาก ธาตุพนม  การดำเนินการดังกล่าวจะมีการประสานงานทำงานร่วมกัน” น.ส.นิจสัยกล่าว 

      นายสุชาติ ราชบรรเทา ครูปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม หน่วยบริการนาแก กล่าวถึงการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองของผู้รับบริการว่า ในเริ่มแรกสำหรับผู้ปกครอง ที่ไม่เคยเข้ามารับบริการอาจจะยากในการสร้างความรับรู้หรือความไว้วางใจ

      “ผมลงพื้นที่ไปเยี่ยมเด็กๆ กับผอ.กองสวัสดิการสังคมของอบต. ไปแนะนำให้เขาเข้ามาเรียนด้วยกัน แต่ผู้ปกครองกลัว ว่าเราจะไปหลอกเขา วิธีแก้ปัญหาหลักๆ หลักๆ ก็คือ เรามีพี่เลี้ยงที่เป็นคนในพื้นที่ซึ่งก็มีความเชื่อถือระดับหนึ่ง สองเรามีนักทักษะวิชาชีพ ไปลงพื้นที่ ไปให้ความรู้ ไปพูดคุย เราจะมีกำหนดการในการลงพื้นที่ ที่นักทักษะวิชาชีพจะลงไปช่วยเราประเมินเด็กคัดกรองเด็ก ไม่ต้องย้ายมาเรียนกับเรา แต่หากต้องการรับบริการหรือต้องการความช่วยเหลือก็สามารถมาขอรับบริการได้” นายสุชาติกล่าว

      ผู้ปกครองของผู้เข้ารับบริการท่านหนึ่ง (ไม่ประสงค์ออกนาม) ได้เล่าประสบการณ์ในการนำบุตรเข้ามารับบริการกับศูนย์การศึกษาพิเศษจังหวัดนครพนมว่า ได้นำน้องฟลุ๊คมารับบริการมาที่ศูนย์ฯ ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ปัจจุบันน้องฟลุ๊คมีอายุ 15 ปี ก่อนที่จะเข้ารับบริการที่ศูนย์ฯ ตัวผู้ปกครองเองไม่มีความรู้ว่าจะกระตุ้นพัฒนาการของลูกอย่างไร ไปรับบริการที่โรงพยาบาล 3 เดือนครั้ง แต่เมื่อเข้ารับบริการที่ศูนย์ฯ อาทิตย์ละ 3-4 วัน น้องก็มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

      “เมื่อมาศูนย์การศึกษาพิเศษ คุณครูจะสอนน้องแบบใกล้ชิด คุณครูก็จะแนะนำวิธีการดูแลน้องให้คุณแม่ ทำให้ได้ความรู้เพิ่มขึ้นแล้วไปทำต่อที่บ้าน น้องก็ได้ฝึกพัฒนาการต่อเนื่องด้วย รู้สึกว่าคุณครูดี คุณครูช่วยเหลือทุกอย่าง แล้วน้องก็ได้เข้ามามีสังคม มีเพื่อน”  นอกเหนือจากการเข้ามารับบริการแล้ว ครูที่ศูนย์ฯ ยังได้แนะนำเรื่องสิทธิ์ให้ผู้ปกครองได้รับทราบ แล้วกลุ่มผู้ปกครองเองยังได้ตั้งชมรมผู้ปกครองผู้พิการทางสติปัญญาจังหวัดนครพนม ที่มีเครือข่ายกับสมาคมผู้ปกครองผู้พิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้แลกเปลี่ยนให้ความรู้ในการประกอบอาชีพเสริมกับผู้ปกครองด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น จักรสาน เพาะเห็ดนางฟ้า เป็นต้น 

      ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การเยี่ยมชมศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนมในครั้งนี้ถือเป็นการเยี่ยมชมที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก เพราะทำให้คณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) ได้มองเห็นสิ่งที่ผู้อำนวยการและคณาจารย์ของศูนย์ฯ ได้ดำเนินการการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล  ได้แก่ เยาวชนผู้พิการ ทำให้ได้รับข้อมูลสำหรับไปสร้างกลไก เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษา เสริมสร้างมาตราการในการช่วยเหลือต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image