กรมหมอดิน ทำแผนรับมือดินเค็มพื้นที่รอบเขื่อนลำปาว ป้องกันน้ำเค็มกระทบพื้นที่เกษตร

นางปราณี สีหบัณฑ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางระบบการพัฒนาที่ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ดินเค็มถือว่าเป็นดินมีปัญหาที่สำคัญที่ทำให้โครงสร้างของดินเสีย ดินแน่นทึบ ดินเค็มจะพบได้ทั้งในลำห้วยธรรมชาติ อ่างเก็บน้ำ และน้ำใต้ดิน ซึ่งความเค็มของดินและน้ำเป็นอันตรายต่อพืช ทำให้การเจริญเติบโตของพืชลดลงหรือตาย และยังเป็นอันตรายต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในระบบนิเวศ จึงส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ ส่งผลต่อความมั่นคงของอาหาร รวมไปถึงส่งกระทบทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของชุมชน

กรมพัฒนาที่ดินได้ทำการศึกษาสภาพการเกิดและการแพร่กระจายเกลือ เพื่อเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาดินเค็มที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรในพื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นเขื่อนที่มีความยาวของลำน้ำรวมทั้งสิ้น ประมาณ 250 กิโลเมตร และมีพื้นที่ลุ่มน้ำทั้งหมดประมาณ 7,400 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อหาแนวทางและวิธีป้องกันการเกิดและการแพร่กระจายดินเค็มบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำลำน้ำปาว ทั้งนี้ ได้มีการศึกษาการเกิดและการแพร่กระจายคราบเกลือที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่เกษตรกรรม และจัดทำแผนแม่บทเพื่อศึกษาแนวทางวิธีการแก้ไขปัญหาจากการแพร่กระจายคราบเกลือในแต่ละระดับความเค็มในพื้นที่ส่งน้ำชลประทาน สำหรับเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาดินเค็มเพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ที่เกิดการแพร่กระจายดินเค็ม นอกจากนี้ ยังศึกษาถึงการยอมรับเทคโนโลยีการแก้ไข ฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ดินเค็มของเกษตรกรในพื้นที่โครงการ ซึ่งเป็นผลที่เกิดขึ้นภายหลังเมื่อโครงการได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์แล้ว ผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบในโครงการพัฒนาพื้นที่ที่เกิดการแพร่กระจายดินเค็มในลักษณะเดียวกันนี้ได้อีกหลายพื้นที่

ทั้งนี้ ผลการศึกษาลักษณะและสมบัติดินในพื้นที่ที่มีคราบเกลือบริเวณตอนเหนือของพื้นที่ลุ่มน้ำลำปาวตอนบน พบว่าพื้นที่ที่มีคราบเกลือส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ดินเค็ม คราบเกลือบนผิวดินมีความหนาแน่นแตกต่างกันและดินในแต่ละบริเวณก็แตกต่างกัน โดยดินในพื้นที่ที่มีคราบเกลือหนาแน่น (10-50%) มักจะพบเป็นหย่อมเล็กๆ บริเวณรอยต่อจากที่ดอนสู่ที่ราบหรือเป็นแอ่งต่ำ ส่วนใหญ่ดินมีค่าปฏิกิริยาดินเป็นกรดปานกลางถึงด่างปานกลาง มีค่าอยู่ในช่วง 6-8 ค่าสภาพการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 0.02-35.70 เดซิชีเมนต์ต่อเมตร เนื้อดินบนค่อนข้างละเอียด มีการสะสมเกลืออย่างเข้มข้นอยู่ตลอดหน้าตัดดินหรือใกล้ผิวดิน ทำให้สารละลายเกลือเคลื่อนที่มาสะสมที่ผิวดินได้ง่าย ขณะที่ดินในพื้นที่ที่มีคราบเกลือไม่หนาแน่น (1-10%) มักพบในที่ราบตามทางน้ำและร่องน้ำเก่าในที่ดอน ส่วนใหญ่ดินมีค่าปฏิกิริยาดินเป็นกรดจัดมากถึงกลาง มีค่าอยู่ในช่วง 5.0-7.0 มีค่าสภาพการนำไฟฟ้าอยู่ในช่วง 0.01-18.33 เดซิชีเมนต์ต่อเมตร เนื้อดินบนค่อนข้างหยาบ สารละลายเกลืออาจถูกเจือจางโดยน้ำและ/หรือเกลือสะสมอยู่ลึกจากผิวดิน ทำให้มีสารละลายเกลือเคลื่อนที่มาสะสมบนผิวดินน้อย

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านดินเค็มในพื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว กรมพัฒนาที่ดิน ได้เชื่อมโยงความร่วมมือกับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ในการบริหารจัดการน้ำชลประทานในหน้าแล้ง ที่ต้องป้องกันการแพร่กระจายและปนเปื้อนของเกลือจากผิวดินกับน้ำชลประทาน และแก้ไขทำให้ระดับความเค็มในน้ำชลประทานไม่มีผลกระทบต่อระบบเกษตรกรรมในพื้นที่ชลประทาน ต.คลองขาม อ.เมือง และ ต.ยางตลาด อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อย ของจังหวัดกาฬสินธุ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image