“โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี” วิศวกรรมสีเขียว แห่งแรกบนแม่โขงตอนล่าง

      ข้อกังขาจากสังคมเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เกิดขึ้นมาเป็นระลอกตามสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นข้อสงสัยที่ว่าเป็นต้นเหตุความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในช่วงหน้าแล้งเพราะกักเก็บน้ำไว้ หรือการก่อสร้างกีดขวางทางน้ำจนกระทบกับจำนวนปลาในแม่น้ำโขง แต่หลังจากทีมงาน “มติชนออนไลน์” มีโอกาสลงพื้นที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ในช่วงที่การก่อสร้างที่คืบหน้าไปแล้วกว่า 99.86% และเริ่มต้นเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเป็นที่เรียบร้อย โดยมีกำหนดเสร็จสมบูรณ์100% ในช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ จึงพอได้เห็นบรรยากาศและความพร้อมของการผลิตไฟฟ้า โดยมีเจ้าหน้าที่ วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม และผู้พัฒนาโครงการคอยอธิบายถึงแนวคิด การออกแบบ ตลอดจนการก่อสร้างจนเกิดเป็นโรงไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งนี้อย่างละเอียด

      โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ที่ก่อสร้างข้ามลำน้ำโขงตอนล่างและอยู่ในพื้นที่ระหว่างแขวงไซยะบุรีและแขวงหลวงพระบาง ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) เป็น 1 ใน 11 โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีศักยภาพสูงบนแม่น้ำโขงตอนล่าง เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ สปป.ลาว หมายมั่นว่าจะเป็นแหล่งสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลลาวในอนาคต พร้อมสร้างความอยู่ดีกินดีให้เกิดขึ้นกับประชาชนลาว ที่สำคัญที่แห่งนี้ก่อสร้างด้วยแนวคิด “เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” โดยผู้พัฒนาโครงการเป็นบริษัทสัญชาติไทย “บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ชื่อย่อในตลาดหลักทรัพย์ CKP” 

      โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีกำลังการผลิต 1,285 เมกะวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี โดย 95% จะขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 5% ส่งให้กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EdL) เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์และจะเริ่มขายไฟเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในปลายเดือนตุลาคม 2562 นี้

ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)

      โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีถูกกล่าวถึงมากที่สุดคือการเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่ง “นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) บอกถึงวิสัยทัศน์ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมของ CKPower ว่า “โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นโครงการที่ CKPower ตั้งใจอย่างมาก ต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ระหว่างทางตลอดการก่อสร้าง เราเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด ณ ปัจจุบัน โดยเชื่อว่าไซยะบุรีจะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบบนแม่น้ำโขงตอนล่างในทุกด้าน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม วิถีชุมชน และสังคมรอบด้าน โดยใช้ธรรมชาติเป็นหลัก ด้วยการยึดถือตามแนวทางนี้ ทำให้การพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เสร็จสมบูรณ์เรียบร้อย ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากทั่วโลก ได้รับการเห็นชอบจากรัฐบาลลาว เพื่อยืนยันว่าการออกแบบ ขั้นตอนการก่อสร้าง และการดูแลชุมชน เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ทุกประการ และเป็นโครงการที่รัฐบาลลาวให้ความมั่นใจ เป็นต้นแบบของโรงไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงตอนล่างในอนาคต”

Advertisement

      ด้วยแนวคิดในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างพลังน้ำ บวกกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร CKPower ที่ต้องการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จากเงินลงทุนทั้งหมดกว่า 135,000 ล้านบาท โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีส่วนที่ลงทุนเพิ่มเติมเพื่อศึกษาและพัฒนาการออกแบบและก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้งบลงทุนเพิ่มกว่า 19,400 ล้านบาท โดยพัฒนาแบบการก่อสร้างตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สำคัญ เช่น บานประตูระบายน้ำ กังหันน้ำ เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หม้อแปลง ระบบส่งไฟฟ้า ตลอดจนระบบควบคุมและอุปกรณ์ความปลอดภัยต่างๆ เพื่อให้มั่นใจในด้านคุณภาพและความปลอดภัย ใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ ความปลอดภัย การระบายตะกอน และปลา 

      นายธนวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า “CKPower เป็นผู้พัฒนาโครงการด้วยมาตรฐานสูงสุด โดยมีบริษัท ช.การช่าง (ลาว) เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และเนื่องจากแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำสากล การกำหนดมาตรฐาน Dam Safety ต้องสูงที่สุด สร้างความแข็งแรงให้โครงสร้างด้วยการเสริมเหล็กคุณภาพสูงเพื่อให้รับแรงแผ่นดินไหวได้สูงสุดในรอบกว่าหมื่นปี รวมทั้งรองรับค่าฝนหมื่นปี ส่วนการระบายตะกอนที่มากับแม่น้ำโขงนั้น โรงไฟฟ้าได้ได้สร้างประตูระบายน้ำและตะกอน (Spillway/Low Level Outlet) จำนวน 11 บาน โดย 7 บานเป็นบานประตูระบายน้ำล้นและตะกอนแขวนลอยที่พัดมากับสายน้ำ ขณะที่อีก 4 บาน ติดตั้งบานประตูเพื่อระบายตะกอนหนัก ลึกลงไปถึงระดับใต้ท้องน้ำ เพื่อให้มั่นใจว่าตะกอนหนักที่พัดมากับน้ำ สามารถผ่านไปได้อย่างสะดวก เสมือนว่าไม่มีสิ่งกีดขวาง

ประตูระบายน้ำและตะกอน หรือ Spillway/ Low Level Outlet

      อีกหนึ่งทรัพยากรของแม่น้ำโขงที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ให้ความสำคัญคือ ปลา ดังนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จึงศึกษา พฤติกรรมปลาแม่น้ำโขงแต่ละชนิดโดยผู้เชี่ยวชาญ แล้วเลือกเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาปรับใช้ให้เหมาะกับพฤติกรรมปลา จึงออกแบบทางปลาผ่านเพื่อให้ปลาอพยพขึ้นเหนือน้ำไปวางไข่ได้อย่างปลอดภัย 

Advertisement

      “CKPower มุ่งเป็นบริษัทผู้นำที่ลงทุนด้านพลังงานสะอาดและยั่งยืนของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ทุกโรงไฟฟ้าของ CKPower ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความยั่งยืน ภายใต้ความก้าวหน้าทางวิศวกรรมศาสตร์ทุกแขนงและเทคโนโลยีพลังงานล้ำสมัย ไม่ว่าโรงไฟฟ้าเราจะไปอยู่ที่ไหน จะต้องไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต้องกลมกลืนกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนท้องถิ่น” กรรมการผู้จัดการ CKPower กล่าว

อานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด

      ด้าน “นายอานุภาพ วงศ์ละคร” รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด อธิบายถึงโครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ว่า โครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีจุดเด่นด้านสิ่งแวดล้อมในทุกจุด เริ่มจากช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้เรือสินค้าและเรือท่องเที่ยวให้ยังคงสัญจรผ่านได้ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ตามปกติเหมือนที่เคยเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ขนาดกว้าง 12 เมตร ยาวกว่า 700 เมตร สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง 500 ตัน พร้อมกัน  2 ลำ

      “แต่เดิมบริเวณที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะมีแก่งหิน ทำให้การเดินเรือทำได้ลำบากในหน้าแล้ง โดยเฉพาะเรือใหญ่ เรือขนส่งสินค้าจะติดแก่งไม่สามารถผ่านไปได้ แต่เมื่อมีการก่อสร้าง Navigation Lock ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ปัญหาการติดเกาะแก่งในหน้าแล้งของเรือขนาดใหญ่ก็หมดไป ปัจจุบันมีเรือขนส่งสินค้า และเรือท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านเส้นทางนี้ทุกวัน โดยจำนวนเรือท่องเที่ยวและเรือขนส่งสินค้าที่ล่องมาจากหลวงพระบาง ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดกว่าเดือนละ 40 ลำ”

ช่องทางเดินเรือ หรือ Navigation Lock

      ถัดมาเป็น ประตูระบายน้ำและระบายตะกอน หรือ Spillway / Low Level Outlet เป็นทางระบายน้ำล้น 11 บาน จะระบายน้ำได้สูงสุด 47,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที โดยหน้าที่หลักของประตูระบายน้ำล้น จะเปิดระบายน้ำในกรณีที่มีปริมาณน้ำไหลผ่านโรงไฟฟ้ามากเกินความต้องการสำหรับผลิตไฟฟ้า คือมากเกิน 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และบริหารจัดการน้ำกรณีที่มีน้ำมามากเกินความต้องการผลิตไฟฟ้า เท่ากับว่าประตูระบายน้ำจะช่วยรักษาสมดุลน้ำไหลเข้าให้เท่ากับน้ำไหลออกตามอัตราการไหลของธรรมชาติ โดยอัตราความแรงของน้ำที่ออกจาก Spillway จะไหลลงสู่แอ่งสลายพลังงาน (Stilling Basin) ที่สร้างจากคอนกรีต ลดพลังงานของน้ำก่อนไหลลงสู่ลำน้ำต่อไปโดยไม่กัดเซาะตลิ่งท้ายน้ำ พร้อมทั้งทำหน้าที่ระบายตะกอน 2 ชนิด คือตะกอนหนักและตะกอนแขวนลอย ที่ไหลมากับกระแสน้ำให้ลงสู่ท้ายน้ำเป็นอาหารปลาและปุ๋ยธรรมชาติต่อไป

      สำหรับพื้นที่ของโรงไฟฟ้า หรือ Powerhouse ซึ่งมีกังหันน้ำ (Turbine) ขนาด 5 ใบพัด เส้นผ่านศูนย์กลาง 8.6 เมตร น้ำหนัก 400 กว่าตันติดตั้งไว้ด้านล่าง เหตุผลของการเลือกกังหันน้ำ 5 ใบพัด ความเร็วของรอบหมุนช้า รวมทั้งการเรียง Turbine ให้กระจายตามความกว้างของแม่น้ำ เป็นส่วนหนึ่งของคอนเซ็ปต์ fish friendly ที่เป็นมิตรกับปลาในแม่น้ำโขง เปิดโอกาสให้ปลามีทางเข้า-ออกทั้งโครงสร้างและมีอัตรารอดชีวิตสูง 

โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรีจากฝั่งหลวงพระบาง และระบบทางปลาผ่านรูปตัวยู (U) ที่เชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้า

      ส่วนสุดท้ายคือ ระบบทางปลาผ่าน ที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ออกแบบตามวงจรชีวิตของปลาที่จะว่ายทวนกระแสน้ำขึ้นไปเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ เมื่อเกิดเป็นไข่ปลาหรือตัวอ่อนของปลาก็จะไหลลงมาตามน้ำลงมายังท้ายน้ำ เพื่อหาอาหาร เติบใหญ่และว่ายทวนกระแสน้ำเพื่อวางไข่และผสมพันธุ์อีกครั้ง ระบบทางปลาผ่านแบบผสม หรือ Multi-System Fish Passing Facilities ประกอบด้วยส่วนที่เรียกว่า ทางปลาผ่านหลัก หรือ Fish Ladder ความยาวประมาณ 500 เมตร ที่ยื่นออกมาด้านท้ายน้ำ และ Fish Lock ช่องยกระดับปลาเป็นส่วนที่ติดกับโรงไฟฟ้า เชื่อมต่อกับคลองส่งน้ำด้านเหนือโรงไฟฟ้า 

      โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี เป็นผลงานที่สะท้อนความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีในการผลิตไฟฟ้ากับการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนทางพลังงานอันเป็นที่ภาคภูมิใจของ CKPower ผู้พัฒนาโครงการ เป็นการจุดประกายการสร้างสมดุลด้านพลังงานพร้อมการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยโรงไฟฟ้าชูจุดเด่นทางด้านวิศวกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถรักษาคุณภาพน้ำ การระบายตะกอนจากเหนือน้ำลงสู่ท้ายน้ำโดยไม่กระทบกับวิถีชีวิตคนริมฝั่งโขง  นับว่าเป็นต้นแบบด้านวิศวกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนแห่งแรกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

      ในครั้งหน้า “มติชนออนไลน์” จะเล่าถึงหลักการโรงไฟฟ้าแบบฝายน้ำล้น หรือ Run-of-River ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี …

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image