“พิพัฒน์”คาดร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทยทำเงินสะพัดกว่า 400 ลบ. เล็งดันก.ท่องเที่ยวเป็น 1 ในกระทรวงเศรษฐกิจ(ชมคลิป)

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมสัมมนา DASTA Forum 2019 “มองมิติใหม่เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืน” ว่า มาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการของกระทรวงฯ ทั้งร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย และเที่ยววันธรรมดาราคาช็อกโลก เบื้องต้นในส่วนของชิมช้อปใช้ คาดว่าผู้ที่ได้สิทธิ์รับเงิน 1,000 บาท น่าจะออกมาใช้เงินกันครบหมดแล้ว จากที่ได้หารือกับกระทรวงการคลังถือว่าชิมช้อปใช้ประสบความสำเร็จ และเห็นผลดีมาก สำหรับมาตรการทั้ง 2 ของกระทรวงฯที่ออกมา จะเป็นมาตรการที่จะเข้ามาเสริมการจับจ่ายใช้สอยของมาตรการชิมช้อปใช้ เพราะสามารถใช้ร่วมกันได้ และใช้ได้ทั้ง 2 มาตรการในผู้ลงทะเบียนรับสิทธิ์ 1 ราย ในขณะที่คาดการณ์ว่ามาตรการร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย จะสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนได้กว่า 300-400 ล้านบาท และเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจได้ เพราะเชื่อว่าผู้ที่ได้รับสิทธิ์คงจะไม่ออกเดินทางท่องเที่ยวเพียงคนเดียว และคงมีการชวนครอบครัวหรือเพื่อนไปเที่ยวด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น โดยหากประเมินแล้วว่ามาตรการที่ออกมานั้น ได้รับการตอบรับดีและมีผู้สนใจจำนวนมาก จะหารือกับกระทรวงการคลัง และดูว่าชิมช้อปใช้ จะเปิดเฟส 2 หรือไม่ ซึ่งหากมีก็อาจจะมีโอกาสขยายเวลาของร้อยเดียวเที่ยวทั่วไทย เพิ่มเป็นส่วนเสริมให้กับชิมช้อปใช้อย่างต่อเนื่อง

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงฯ ได้มีการเพิ่มหน่วยงานในสังกัดเข้ากระทรวงฯเข้ามาใหม่ ในช่วงเดือนเมษายน ที่ผ่านมาคือ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยกระทรวงฯและอพท.จะร่วมมือกันทำงานในหลายมิติมากขึ้น เพราะในแง่การทำงานอพท.ถือเป็นหน่วยงานสำคัญ ที่เปรียบเป็นหน่วยงานต้นน้ำที่เข้ามาช่วยงานด้านการท่องเที่ยว ด้วยภารกิจการพัฒนาเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ส่วนหน่วยงานกลางน้ำคือ กรมการท่องเที่ยว และปลายน้ำ คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ซึ่งมีหน้าที่ในการทำการตลาด เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยอพท.จะทำหน้าที่พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ สร้างต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ต้องออกแบบและวางแผนการพัฒนาให้เป็นไปตามกรอบความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาการการทำงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

“จะทำอย่างไรหากในอนาคตการท่องเที่ยวไทยโตขึ้นเรื่อยๆ จึงมองว่าอพท.จะเป็นสำคัญในการวางรากฐานในด้านการท่องเที่ยว ให้เติบโตจากนี้ไปถึงอนาคต ในขณะนี้ปี 2563 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ประเทศไทยตึงต้องชูจุดขายในด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งพยายามจะพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้ดีกว่าปีนี้ โดยเชื่อว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้กว่า 41 ล้านคน และปีหน้าจะต้องมากกว่าเดิม ทำให้อพท.จะต้องเข้าไปช่วยพัฒนาชุมชนที่มีความพร้อม และมีทรัพยากรธรรมชาติหลากหลาย เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามา โดยเชื่อมั่นว่าในอนาคต ประเทศไทยจะเป็นอันดับ 1 ในการรองรับนักท่องเที่ยวที่ดีที่สุด รวมถึงตั้งเป้าหมายในการผลักดันความสำคัญให้กระทรวงฯ สามารถก้าวสู่การเป็นกระทรวงเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบได้”นายพิพัฒน์กล่าว

นายพิพัฒน์กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่าจะมียอดรายได้จากการท่องเที่ยวประมาณ 3.38 ล้านล้านบาท ดังนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คือต้องการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้มีสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 22% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพี ของประเทศไทยในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 30% ต่อจีดีพีในปี 2580 ซึ่งขณะนี้แม้รายได้จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่ความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวกลับถูกละเลย จนส่งผลให้สภาพการท่องเที่ยวปัจจุบัน ปัจจัยฝั่งด้านความต้องการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปัจจัยทางด้านซัพพลายกลับไม่มั่นคงเท่าที่ควร ทำให้มีนโยบายหลักๆ ที่ต้องการจะเน้นย้ำ เพื่อให้การท่องเที่ยวดำเนินอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนคือ ความปลอดภัย ความสะอาด ความเป็นธรรม และกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

Advertisement

เกาะกระแสเศรษฐกิจ กับ Line@มติชนเศรษฐกิจใกล้ตัว

Advertisement

เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image