4 แบรนด์ดีไซเนอร์ สร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยม คว้ารางวัล “VOGUE Who’s on Next, The Vogue Fashion Fund 2019” ปีที่ 6  รับรางวัลมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านบาท พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตลอด 1 ปี 

       ประสบความสำเร็จอย่างงดงามกับโครงการVOGUE Who’s on Next, The Vogue Fashion Fund 2019 (โว้ก ฮูส์ ออนเน็กซ์, เดอะ โว้ก แฟชั่น ฟันด์ 2019) โดยนิตยสาร โว้ก ประเทศไทย (VOGUE THAILAND) สื่อที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสื่อแฟชั่นทรงอิทธิพลที่สุดเล่มหนึ่งของโลก จัดขึ้นเพื่อเฟ้นหาดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ที่มีผลงานการออกแบบและแผนการตลาดที่โดดเด่น ซึ่งถือเป็นปีที่ 6 แล้ว โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายนผ่านมา ได้ประกาศผลสุดเซอร์ไพรส์ 4 ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ แบรนด์ Nichp (นิชพี) สร้างสรรค์โดย ณิชา ประสานเกลียว และ ธนพล ทองระอา , แบรนด์  “Torboon” (ทอบุญ)  โดย บุญทวี เจริญพูนสิริ , “Ferratiti  โดย ชวัฎวิทย์ อัครโยธากรณ์  และ Jirawat (จิรวัฒน์) โดย จิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล คว้ารางวัลร่วมกันมูลค่ารวมกว่า 1,200,000 บาท และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจตลอด 1 ปี 

       ภายในงานได้รับเกียรติจาก  กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้ก ประเทศไทย ,ปาริสา
จาตนิลพันธุ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจค้าปลีก บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, วริศรา ไพรสานฑ์กุล ผู้จัดการทั่วไปธุรกิจเพรสทีส บริษัท ชิเซโด้ (ไทยแลนด์) จำกัด, ภิญญาพัชญ์ อาจวงษ์ ผู้จัดการแบรนด์จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท  เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมด้วยเหล่าคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่คอยให้คำปรึกษาทั้งในด้านการออกแบบและการวางแผนธุรกิจตลอดระยะเวลา 6 เดือนของการเข้าร่วมโครงการ อาทิ วรัตดา ภัทโรดม, โสภาวดี เพชรชาติ, ฮัสซัน บาซาร์, มลลิกา เรืองกฤตยา, ศุภจักร ไตรรัตโนภาส, สธน  ตันตราภรณ์ , จิรัฏฐ์ ทรัพย์พิศาลกุล และจงกล พลาฤทธิ์ มาร่วมงานอย่างคับคั่ง  ณ แฟชั่น ฮอลล์ ชั้น 1 สยามพารากอน

Advertisement

       กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารโว้ก ประเทศไทย กล่าวว่า “ปีนี้ถือเป็นปีที่ตัดสินหาผู้ชนะเลิศยากมาก เนื่องจากต้องยอมรับว่า ดีไซเนอร์ชาวไทยแม้มีทักษะด้านการออกแบบที่ดี แต่ยังขาดแนวคิดในการทำธุรกิจที่ออกแบบอย่างไรให้เสื้อผ้าขายได้ การเป็นดีไซเนอร์ที่ดีได้นั้น ต้องมีความเข้าใจ ทั้ง 2 ด้าน ซึ่งผู้ชนะเลิศทั้ง 4 แบรนด์ยังไม่มีใครโดดเด่นทั้ง 2 ด้านออกมา การตัดสินปีนี้จึงค่อนข้างลำบากและค่อนข้างเซอร์ไพร์สทั้งคนเชียร์และคณะกรรมการพอสมควร นอกจากนี้หัวใจของโครงการไม่ได้อยู่ที่การมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเท่านั้น แต่เป็นการส่งเสริมดีไซเนอร์ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมดให้ได้รับความรู้อย่างที่หาที่ไหนไม่ได้”  

       จากจำนวนผู้เข้ามาสมัครมากกว่า 50 แบรนด์ ถูกคัดกรองจนเหลือผู้เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายที่ผ่านการ
คัดสรรจากคณะกรรมการ ซึ่งแต่ละแบรนด์ได้สร้างสรรค์คอลเลคชั่นเพื่อเผยโฉมอย่างเต็มรูปแบบในรอบชิงชนะเลิศ  ได้แก่ แบรนด์เสื้อผ้าสตรี 6 แบรนด์ อาทิ Coralist (คอรัลลิสต์) ของ ธันยพร จิรธรรมโอภาส , Tutti (ตู๋ตี๋) โดย นันธนุช วงศ์พัวพันธ์ , Ferratiti  (เฟอร์ราติติ) โดย ชวัฎวิทย์ อัครโยธากรณ์ , Jirawat (จิรวัฒน์) โดย จิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล, Youth Tonic (ยู๊ธ โธนิค) โดย ทิพปภา เดชรักษาวัฒนา และพัทธิชา เทพวงค์ , Nichp (นิชพี) โดย ณิชา ประสานเกลียว และ ธนพล ทองระอา และ แบรนด์เครื่องประดับ 4 แบรนด์ ได้แก่ Jiira (จิระ) โดย จิรัชญา ชัยยาศักดิ์, Torboon (ทอบุญ) โดย บุญทวี เจริญพูนสิริ , T.Twinkle (ที.ทวิงเกิล) โดย วนิชยา กิตติไพศาลศิลป์, Kear Store (เกียร์ สโตร์) โดย  ปาณิศา สีดาสมุทร์  

Advertisement

       หลังการประกาศผล 4 แบรนด์ผู้ชนะเลิศได้เปิดใจ ถึงความรู้สึกและหนทางกว่าจะคว้าชัยชนะครั้งนี้ เริ่มที่แบรนด์เสื้อผ้าชุดราตรี  Nichp(นิชพี) โดย ณิชา ประสานเกลียว และธนพล ทองระอา อดีตแอร์โฮสเตสอย่าง ณิชา เริ่มต้นทำแบรนด์เมื่อปี 2014 และลาออกจากงานประจำมาสวมบทบาทนักออกแบบเต็มตัว หลังทำแบรนด์ได้เพียง 3 ปี เพราะได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก โดยมีแฟนหนุ่มธนพล อดีตสจ๊วตทำหน้าที่บัญชีและฝ่ายการตลาด แม้ณิชาศึกษาจบคณะนิเทศศาสตร์ เอกประชาสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ใช้ความรักในแฟชั่นของตนเองผลักดันแบรนด์ เริ่มออกแบบชุดราตรีที่ใส่ได้จริงและสามารถมิกซ์แอนด์แมทช์ใส่ในชีวิตประจำวันได้หลากหลาย  ส่วนธนพลศึกษาจบคณะบัญชี มหาวิทยาลัยเดียวกัน โดยทั้งคู่บอกว่าเริ่มสร้างแบรนด์จากไม่มีอะไรเลย

       “เราเริ่มสร้างแบรนด์ด้วยเงินเพียง 5 หมื่นบาท ก้าวแรกออกบูท มีแฟนไปอยู่ประจำบูทและดูด้านการตลาดให้ แต่เราก็ยังทำงานประจำกันอยู่ เมื่อเสียงตอบรับดี ต้องมีคนหนึ่งที่ออกมาทำอย่างจริงจังคือณิชา แต่ตอนนี้เราออกจากงานทั้งคู่เพื่อมาสร้างแบรนด์ด้วยกัน เพราะแบรนด์ค่อนข้างก้าวกระโดดในช่วงแรกๆ เราเน้นขายแล้วใส่ได้จริง คือณิชารู้ว่าผู้หญิงชอบใส่อะไร ใส่อะไรแล้วดูผอม ใส่ได้จริงนี่คือจุดแข็งของเรา ทำให้เราขายได้ สำหรับการประกวดรายการโว้ก ฮูส์ ออนเน็กซ์ ,เดอะ โว้ก แฟชั่น ฟันด์ 2019 ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะติดท็อป 4 เพราะแบรนด์เราไม่ได้ออกแนวหวือหวา แต่เรารู้สึกว่าเราอยู่ตรงกลางระหว่างธุรกิจกับแฟชั่นจริงๆ ด้วยเราไม่ใช่ศิลปิน เราเรียนรู้จากประสบการณ์ว่าอะไรขายได้  เอกลักษณ์ของแบรนด์คือ มินิมัล ลักซ์ชัวรี่ แฟมินิน เรียบหรู มีความเป็นผู้หญิง แต่เรียบ ๆ และใส่ได้ไม่จำกัดกาลเวลา” ณิชากับธนพล ช่วยกันเล่า

       กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายแบรนด์ Nichp ต้องผ่านอะไรมามากมาย เนื่องจากพวกเขาไม่ใช่คนในแวดวงแฟชั่นตั้งแต่เริ่มแรก แต่พอมาเข้าร่วมโครงการ ผู้เชี่ยวชาญสอนพวกเขาว่า ต้องหาตัวตนของแบรนด์ให้เจอ แม้พวกเขาจะเรียบง่าย แต่นั่นคือตัวตนของพวกเขา ทำให้แบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้น  และสร้างมูลค่าให้แบรนด์มากขึ้น การได้ติดท็อป 4 ในครั้งนี้ถือเป็นกำไรและเป็นการต่อยอดแบรนด์ได้อย่างสวยงาม

ด้านแบรนด์กระเป๋าผ้าทอไทย “Torboon” (ทอบุญ) ของดีไซเนอร์ บุญทวี เจริญพูนสิริ ด้วยวัย 49 ปี ศึกษาจบด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แต่ไปทำงานเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์นานถึง 10 ปี
แล้วอยากเปลี่ยนแนว เธอจึงไปเรียนต่อแฟชั่น แอนด์ แอสเซสเซอรี่ ดีไซน์ คอร์ส 1 ปีที่มิลาน อิตาลี จากนั้นไปเรียนต่อด้านทำกระเป๋าหนังที่ฟลอเรนซ์ อิตาลี เมื่อกลับเมืองไทยเธอจึงเปลี่ยนบทบาทมาออกแบบกระเป๋าโดยใช้ผ้าทอพื้นเมืองเชียงใหม่มาเป็นส่วนประกอบของกระเป๋า  เมื่อต้องเข้าแข่งขันกับนักออกแบบรุ่นน้อง ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่บุญทวีจะฝ่าฟันและก้าวมาสู่จุดนี้ เพราะเธอเห็นว่าน้องๆ เก่งกันทุกคน อะไรคือพลังที่ผลักดันให้ พี่บุญของน้องๆ ก้าวผ่านข้อจำกัดแห่งวัยไปได้

       “เคล็ดลับการประสบความสำเร็จไม่มีอะไรมาก แค่ทำตามกระบวนการทำงานของเราที่พัฒนาไปเรื่อยๆ
ทุกปี พอเข้ามาทำงานกับน้องๆ แรก ๆ พยายามมองว่ารุ่นน้องๆ ทำอะไรกัน พอลงมือทำงานจริงๆ ต้องโฟกัสว่าเราจะทำอะไร ดิฉันสนใจผ้าทอพื้นเมืองของเชียงใหม่มากเป็นพิเศษ ผ้าทอมีเสน่ห์ เพราะการเรียนด้านแฟชั่นสอนให้เรานำวัสดุที่ใกล้ตัวเรา หรือในพื้นถิ่นมาสร้างสรรค์และต่อยอด พอเรียนจบจากอิตาลีตอนอายุ 39 ดิฉันย้ายไปอยู่เชียงใหม่ เจอวิกฤตผ้าทอที่กำลังซบเซามาก ดิฉันจึงอยากปลุกผ้าทอให้ฟื้นขึ้นมา จึงนำผ้าทอมาเป็นส่วนประกอบของกระเป๋าหนัง เสน่ห์ของผ้าทอไทยมีเรื่องราวและมีรากเหง้าที่น่าสนใจ เป็นมรดกที่มีคุณค่ามากๆ ดิฉันอยากนำผ้าทอไทยที่คนใช้ประดับตามฝาบ้าน หรือเก็บอยู่ในตู้เก็บผ้า นำมาปรับผ้าทอไทยให้มีอีกหนึ่งบุคลิกขึ้นมา ตอนนี้คนเริ่มเปิดรับกับผ้าทอไทยแล้ว

       การเข้าร่วมโครงการนี้ บุญทวีได้พบผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจแฟชั่นที่แนะนำถึงวิธีบริหารธุรกิจด้านแฟชั่น และให้เธอลงมือสร้างสรรค์ธุรกิจแนวใหม่ ๆ ด้วยตนเอง ทำให้เธอค้นพบสัจธรรมว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน

       “สิ่งที่ดิฉันได้เรียนรู้คือ เรื่องสไตลิ่งและวิธีบริหารการตลาด เราจะออกแบบเพื่อทำขายอย่างเดียวไม่ได้
จะทำสินค้าให้ขายได้จริงๆ คุณต้องสร้างงานให้เหมาะกับตลาด  ตอนทำงานในโครงการดิฉันไม่ได้แข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง ใช้ประสบการณ์ที่สั่งสมมา ทำงานตัวเองให้ออกมาดีที่สุดในแบบของเรา” บุญทวี กล่าว

       ด้าน แบรนด์ “Ferratitiชุดวิวาห์ ออกแบบโดย ชวัฎวิทย์ อัครโยธากรณ์ วัย 31 เรียนจบชั้นมัธยม 6 ผู้ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความฝันด้านแฟชั่นที่อยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเองตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย ทุก ๆ ต้นเดือนต้องซื้อแมกกาซีนแฟชั่นมาอ่าน  เขารู้จักดีไซเนอร์ไทยเกือบทั้งหมด โดยมีต้นแบบคือ ใหม่พลัฏฐ์ พลาฎิ แบรนด์เมช มิวเซียม (Mesh  Museum) เพราะออกแบบชุดแต่งงานได้เหมาะเจาะสวยงามมาก และมีรุ่นพี่ด้านออกแบบแฟชั่นอีกหลาย ๆ คนที่เป็นต้นแบบที่ทำให้เขาคิดว่า วันหนึ่งจะเป็นดีไซเนอร์ให้ได้ กว่า 10 ปีที่อยู่ในถนนของแฟชั่น  หลังจากไปเป็นลูกมือให้ห้องเสื้อต่าง ๆ เป็นแม้กระทั่งพนักงานขายเสื้อผ้าแบรนด์นำเข้าที่โด่งดังมากอย่างคลับ 21  เขายังทำแบรนด์ของตัวเองมาตลอด โดยเปลี่ยนไปเรื่อยๆ  ทำชุดมาหลากหลายแนว แต่มาตกผลึกที่ชุดแต่งงาน ความโด่งดังของชุดแต่งงานแบรนด์ของชวัฏวิทย์ ที่เขาบอกว่าน่าจะอยู่ในท็อปไฟว์ของชุดเจ้าสาว

       “ตอนทำงานแฟชั่นรู้สึกเหนื่อยเพราะต้องวิ่งไปกับเทรนด์เรื่อยๆ แต่พอมาทำชุดแต่งงาน รู้สึกถึงความสุข
ที่ผมได้ทำในชุดที่เราชอบ มีเวลาโฟกัสกับมัน  มีคนที่เต็มไปด้วยความหวังว่าอยากจะสวยในวันที่พิเศษมาหาผมมากมาย ทำชุดแต่งงานทำให้ผมมีแรงบันดาลใจมาทำงานทุกวัน การทำแบรนด์ตอนนั้นภายใต้แบรนด์ชวัฎวิทย์ ส่วนแบรนด์เฟอร์ราติติ ผมเพิ่งมาเปลี่ยนตอนร่วมโครงการกับโว้ก ตอนนี้ผมมีลูกน้อง 15 คน ผมอยากผลักดันแบรนด์ไทยก้าวขึ้นสู่ระดับสากลให้ได้จริงๆ ด้วยสองมือสร้างของผม

       อะไรทำให้ ชวัฏวิทย์ ชนะในวันนี้ เขาบอกว่า เขาอยากให้ทุกคนเห็นถึงทุกครั้งที่เขาได้รับภารกิจเขาใส่ใจทำเกินร้อย เขาพยายามตีโจทย์ให้แตก และเข้าใจโจทย์จริงๆ  คิดให้เยอะแล้วค่อย ๆ ทอนเอาน้ำออกให้เหลือแต่แก่น พยายามทำให้ผู้เสพเสพชุดและแบรนด์ได้ง่าย นี่คือเคล็ดลับทำให้เขาสำเร็จติดท็อป 4 ได้

       “ทุกวันนี้ผมไม่รู้ว่าผมประสบความสำเร็จรึยัง แต่ผมรู้สึกว่าถ้ามีความฝันอย่าท้อ ถ้าเจออุปสรรค ล้มบ้าง
ไม่ต้องเครียด มันเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนเจอ ถ้าเรามุ่งมั่นสักวันหนึ่งมันจะได้

       ปิดท้ายที่ แบรนด์เสื้อผ้า Jirawat (จิรวัฒน์) โดย จิรวัฒน์ ธำรงกิตติกุล วัย 26 ปี การทำแบรนด์จิรวัฒน์ ทุกอย่างเริ่มต้นมาจากตัวเองหมด เขาเริ่มทำแบรนด์ขณะศึกษาอยู่คณะคณะศิลปศาสตร์ เอกออกแบบแฟชั่นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขาต่อยอดการสร้างแบรนด์ด้วยการเข้าประกวดออกแบบแฟชั่น และเก็บสะสมเงินรางวัลที่ได้ มาทำแบรนด์บวกกับการเป็นดีไซเนอร์ให้แบรนด์เสื้อผ้า Drycleanonly ซึ่งปัจจุบันยังทำประจำอยู่ ควบคู่กับการทำแบรนด์ของตัวเอง หัวใจหลักของแบรนด์จิรวัฒน์ โดดเด่นตรงใช้ผ้าทอที่ได้มาจากการชอบเดินตลาดนัดตามต่างจังหวัดเขาได้เห็นถึงวิถีชีวิตผู้คน และค้นพบเสน่ห์ของผ้าค้างสต็อก รวมทั้งผ้าทอหนา ๆ ที่ชาวบ้านใช้ประดับตามฝาผนังหรือทำเป็นผ้าม่าน มาสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าด้วยการออกแบบให้เสื้อผ้าดูน่าสนใจ เป็นการเพิ่มมูลค่าเข้าไป

       “ผมทำเสื้อผ้าตั้งแต่เรียนไม่จบ เพราะเป็นสิ่งที่รักและถนัดที่สุด แบรนด์จิรวัฒน์มีความโดดเด่นของเสื้อผ้าคือ ความเป็นยูนิเซ็กส์ วัสดุที่ใช้ทำเสื้อผ้าไม่ได้หาได้ง่าย ๆ ตามท้องตลาดทั่วไป ผมชอบผ้าครอสติส วินเทจ และผ้าพรมประดับฝาผนัง วินเทจมาก ผมชอบจึงอยากต่อยอดจากสิ่งที่ผมชอบคือของวินเทจ เป็นการผสมผสาน กับเสื้อผ้าโครงสตรีทแวร์ สำหรับคอลเลคชั่นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากคาวบอย ผมอยากถ่ายทอด เล่าเรื่องโดยใช้ผ้าครอสติสที่ผมสะสมไว้มาเล่าเรื่อง นำเสนอออกมาในโครงเสื้อผ้าปัจจุบัน ดูทันสมัย

       รางวัลนี้ยิ่งใหญ่มาก ผมจึงตั้งใจทำอย่างเต็มที่ ยอมอดหลับอดนอนเพื่อสร้างสรรค์งานเสื้อผ้าสวย ๆ ออกมา ผมมีความสุข เพราะเป็นสิ่งที่ผมรัก สิ่งที่ทำให้ผมชนะติดท็อป 4 น่าจะเป็นความขยันและความตั้งใจมาก สำหรับน้องๆ ที่อยากเข้ามาประกวดขอให้มี 2 คำคือขยันและอดทน มีสองคำนี้ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จจิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

       สำหรับ 3 ภารกิจรางวัลพิเศษ อาทิ ผู้ชนะโปรเจคต์แรก คว้ารางวัล The winner of design mission by Shiseido ได้แก่ แบรนด์ “Jirawat” (จิรวัฒน์) , T.Twinkle (ที.ทวิงเกิล) และ Ferratiti (เฟอร์ราติติ) โปรเจคต์ที่ 2 ผู้คว้ารางวัล The winner of design mission by Doikham ได้แก่ Ferratiti (เฟอร์ราติติ) และ “Jiira” (จิระ)  โปรเจคต์ที่ 3 ผู้ชนะคว้ารางวัล The winner of design mission by Johnnie Walker style ได้แก่ T.Twinkle (ที.ทวิงเกิล)

       ร่วมติดตามผลงานและบรรยากาศของการประกาศผลผู้ชนะเลิศ “VOGUE Who’s on Next, The Vogue Fashion Fund 2019 ผ่านทาง www.Vogue.co.th หรือ IG : voguethailand และ  #VogueWhosOnNext2019

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image