‘อุตตม’ รับศก.ปี’63 ยังผันผวนและมีความเสี่ยงสูง เล็งออกมาตรการรองรับหากจำเป็น

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2562 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้จัดงาน “มหกรรมการลงทุนแห่งปี SET in the City 2019” โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ไทยเข้าร่วมแสดงผลิตภัณฑ์และให้ข้อมูลกับนักลงทุนที่สนใจจำนวนมากด้วย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมการลงทุนแห่งปี SET in the City 2019” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2563 มองว่ายังคงมีความผันผวนมากอย่างต่อเนื่อง และมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยจึงมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ทั้งดีหรือไม่ดีก็ได้ แต่ไม่ได้มองว่าเศรษฐกิจไม่ดี แค่ยังมีความไม่แน่นอนสูงมากอยู่เท่านั้น ทำให้ภาครัฐจะต้องเตรียมความพร้อมรองรับกับสถานการณ์จำเป็นที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการออกมาตรการมาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมาตรการที่ออกมาจะอยู่ในรูปแบบใด คงจะต้องพิจารณาในความเหมาะสมร่วมด้วย เนื่องจากต้องการที่จะประคับประครองเศรษฐกิจให้ได้มากที่สุด และใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น รวมถึงจะต้องออกมาตรการมาในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ในส่วนของตัวเลขการลงทะเบียนชิมช้อปใช้ เฟส 3 ที่ดูจะเต็มช้ามากกว่า 2 ครั้งที่ผ่านมานั้น ขณะนี้ตนเองยังไม่มีข้อมูลตัวเลขในการลงทะเบียน จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมได้

“ขณะนี้จะเห็นว่าตลาดทุนมีความสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทย โดยกระทรวงการคลังได้ขอให้ตลาดหลักทรัพย์ฯเข้ามามีส่วนช่วยในการดูแลและพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ประชาชนในต่างจังหวัด เนื่องจากมองว่า การลงทุนจะต้องไม่เกิดขึ้นเฉพาะในเขตเมือง แต่ในต่างจังหวัดเองก็เป็นแหล่งทุนที่มีความมั่งคั่ง ที่จะทำให้เกิดการระดมทุนผ่านตลาดทุนได้ โดยกระทรวงฯจะประสานกับสถานศึกษาให้ร่วมให้ความรู้ด้านการเงินแก่ประชาชน ร่วมกับตลาดทุนต่อไป อีกทั้งยังขอให้ตลาดทุนทำหน้าที่เชื่อมโยงไปยังตลาดทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคกลุ่มเศรษฐกิจประเทศ “ซีแอลเอ็มวี” (กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการระดมทุนในภูมิภาคนี้ เช่น ขณะนี้ไทยเองก็เป็นแหล่งระดมทุนให้กับรัฐบาลลาว จึงอยากให้ตลาดทุนเชื่อมโยงกับประเทศอื่นในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังขอให้ตลาดทุนเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งจะช่วยให้การส่งผ่านข้อมูลต่างๆ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” นายอุตตมกล่าว

นายอุตตมกล่าวว่า สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุน ขณะนี้กระทรวงฯได้เสนอให้นายกรัฐมนตรีในการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่ในการพัฒนาตลาดทุน โดยประสานการทำงานร่วมกับตลาดทุนและหน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ โดยเบื้องต้นในอีก 2 สัปดาห์จากนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะนัดประชุมเป็นครั้งแรก สำหรับกองทุนพัฒนาตลาดทุนนั้น ได้มีการจัดตั้งขึ้นก่อนหน้านี้แล้ว จะมีบทบาทในการร่วมพัฒนาตลาดทุนอีกช่องทางหนึ่งเช่นกัน โดยหลังจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) กำลังจะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายในปี 2562 กระทรวงการคลังได้เตรียมที่จะสรุปมาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนกองทุนรวมใหม่ ที่จะนำมาทดแทนกองทุนแอลทีเอฟ ภายใน 2 สัปดาห์นี้ โดยเบื้องต้นมีเป้าหมายต้องการเน้นส่งเสริมการออมระยะยาวให้เข้าถึงประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้สูงวัย และกลุ่มคนวัยทำงาน ซึ่งจะต้องทำออกมาให้ตอบโจทย์และทำให้เหมาะสมมากที่สุด เนื่องจากเดิมก็มีกองทุนแอลทีเอฟ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) อยู่แล้ว ทำให้การออกกองทุนใหม่จึงจะต้องพิจารณาให้รอบด้าน โดยรูปแบบกองทุนใหม่นี้ จะต้องตอบโจทย์การออมระยะยาว และเป็นผลดีต่อการลงทุนในตลาดทุนด้วย ส่วนรายละเอียดในเรื่องระยะเวลาที่จะสนับสนุนทางด้านภาษีกี่ปี ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการหารือในเรื่องดังกล่าวอยู่ รวมถึงกองทุนใหม่นี้ อาจจะมีการปรับเงื่อนไขทั้งการขยายระยะเวลา และอื่นๆ ด้วย

Advertisement

นายอุตตมกล่าวว่า ในส่วนของกรณีผู้บริหารบางคนของบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดว่า สนับสนุนในการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแลกกับการอนุญาตให้เรือลำเลียงชิ้นส่วนอุปกรณ์ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากต่างประเทศ เข้าเทียบท่าเทียบเรือชั่วคราว จะมีผลต่อการเข้าประมูลโครงการรัฐในระยะต่อไปหรือไม่ เบื้องต้นขณะนี้ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจนเพราะเพิ่งมีข่าว แต่ยืนยันว่าจะตรวจสอบตามทุกอย่างขั้นตอน ซึ่งปัจจุบันได้สั่งให้กรมบัญชีกลางและสำนักงบงบประมาณ ดูรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้ โดยให้ยึดหลัก ความโปร่งใส ส่วนกรณีจะมีการติดบัญชีดำ(แบล๊กลิสต์)​ หรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ แต่จะตรวจสอบตามขั้นตอนก่อน ซึ่งปกติของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะต้องมีความโปร่งใสอยู่แล้ว

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า งานมหกรรมการลงทุนแห่งปี จัดงานขึ้นเพื่อเป็นการให้ความรู้และให้ข้อมูลความจริงแก่นักลงทุน รวมถึงเปิดโอกาสให้นักลงทุนได้พบกับผู้บริหารกองทุน และบริษัทหลักทรัพย์ในประเทศไทย เพื่อให้สามารถเข้าถึงลงทุนได้อย่างครบถ้วน และมีผู้ช่วยในการลงทุน รวมถึงตรงตามจุดประสงค์ในการลงทุนต่างๆ เนื่องจากเชื่อว่าการลงทุนของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ทำให้วิธีการเลือกลงทุนก็จะไม่เหมือนกันอย่างแน่นอน ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่รับได้มากน้อยเท่าใด อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังจะได้รับ รวมถึงการกระจายความเสี่ยงไปยังที่ต่างๆ ซึ่งเรื่องทั้งหมดเป็นสิ่งที่ตลท.ต้องดำเนินการ เพื่อให้นักลงทุนสามารถบริหารจัดการทุกด้านได้ โดยการที่ปี 2562 ถือว่าเป็นปีที่มีหุ้นน้องใหม่เข้าระดมทุนในตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าจะเห็นความเคลื่อนไหวในการระดมทุนมากขึ้น และต่อเนื่องจนถึงปี 2563 สะท้อนได้จากการไหลเวียนของเม็ดเงิน และรายการทรัพย์สินต่างๆ ที่เริ่มเห็น โดยช่วงนี้ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมและสามารถเข้าร่วมระดมทุนได้มากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มีช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้มากขึ้น

นายภากรกล่าวว่า สำหรับเรื่องกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ซึ่งถือว่าปี 2562 เป็นปีสุดท้ายที่สามารถลงทุนเพื่อได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยจะมีกองทุนใหม่เข้ามาทดแทนหรือไม่ เบื้องต้นต้องบอกว่าหากดูวัตถุประสงค์ของกองทุนแอลทีเอฟตั้งแต่แรก เกิดขึ้นเพื่อทำให้ผู้ที่ต้องการออมเงิน สามารถออมเงินในตลาดทุนได้มากขึ้น โดยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา จะเห็นการออมเงินผ่านกองทุนแอลทีเอฟมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเติบโตมากขึ้น โจทย์ที่ต้องคิดต่อไปคือ เรามีทางเลือกในการลงทุนอย่างไรบ้าง และตัวเลือกการลงทุนเหล่านั้น เหมาะสมกับการลงทุนในระยะสั้นหรือระยะยาวอย่างไรบ้าง โดยการออมระยะยาวที่เหมาะสมที่สุด เป็นการออมในตลาดทุน ผ่านเครื่องมือการลงทุนหลากหลายรูปแบบ อาทิ หุ้น, กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ รีท (REIT), กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) ทำให้เรื่องที่ควรคิดเป็นเรื่องของการที่หากต้องการออมให้ได้ผลตอบแทนในระยะยาว จะต้องออมในอะไร ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มเห็นว่ามีหลายส่วนที่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้มากขึ้น เพราะกองทุนหุ้นีมขนาดโตขึ้นเรื่อยๆโดยที่ไม่ต้องมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ได้ จึงอยากฝากไว้ว่าต่อให้ไม่มีสิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็ต้องเริ่มคิดว่าจะระดมทุน หรือออมสินทรัพย์อะไรผ่านอะไรบ้าง รวมถึงคิดให้ดีว่าเป้าหมายในระยะยาวของนักลงทุนเองต้องการอะไร และองค์ประกอบในการลงทุนต้องมีอะไรบ้าง

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image