ลีลาสถาปัตย์ จรัส แกลเลอรี่ไนท์ บทนิยามแห่งความ”ร่วมสมัย” เวนิส กรุงเทพฯ ฝรั่งเศส

นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่วงการ ‘ศิลปะร่วมสมัย’ ของไทยเผชิญมรสุมหนักมากสำหรับปี 2019 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นปมปัญหา ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ ที่นำมาสู่การปลด ผอ. กลางอากาศ ไหนจะมาม่าชามร้อนในประเด็น ‘เวนิส เบียนนาเล่’ ที่ถูกตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสของการคัดเลือกภัณฑารักษ์และศิลปินในการเข้าร่วมเทศกาลระดับตำนาน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ศิลปะร่วมสมัยของไทยในปี 2020 ก็ ‘มูฟออน’ อย่างคึกคักตั้งแต่ต้นปี โดยมีทั้งนิทรรศการน่าสนใจและเทศกาลเก๋ไก๋ที่จัดต่อเนื่องมานานหลายปีที่ยังดำเนินต่อใน พ.ศ.นี้

สถาปัตย์ไทยก็ “ร่วมสมัย” ด้วย จังหวะ เส้นสายและจิตวิญญาณ


เตรียมผงาดอิตาลี ‘จังหวะและลีลาในงานสถาปัตยกรรมไทย’

นับเป็นงานอลังการดาวล้านดวงก็ว่าได้ สำหรับ ‘Lines & Rhythms จังหวะและลีลาในงานสถาปัตยกรรมไทย’ ด้วยความ ‘รุ่นใหญ่’ ตั้งแต่ศิลปิน ภัณฑารักษ์ และคณะกรรมการจัดงาน

Advertisement

วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบประเพณี) ประจำปี 2546 คือ ศิลปินผู้ออกแบบ

ภัณฑารักษ์ 3 ท่าน มาสายวิชาการ ได้แก่ ศ.สมคิด จิระทัศนกุล, ผศ.พีระพัฒน์ สำราญ และผศ.ชาญวิทย์ สุขพร

โดยมี ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร, อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร และธีรพจน์ จรูญศรี ผู้ก่อตั้งสงขลาพาวิเลียน เป็นคณะกรรมการ

Advertisement

นิทรรศการดังกล่าวเตรียมผงาด ณ บ้านเลขที่ 3716/A ถนน Calle Della Pieta Campo Bandiera e moro เขตคัสเตลโล นครเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ระยะเวลาแสดงงาน วันที่ 3 พฤษภาคม-วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2563 โดยกำหนดพิธีเปิดนิทรรศการในวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโดย

ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการมูลนิธิสวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

พิจารณารายนามศิลปินและภัณฑารักษ์แล้ว ผลงานเด่นจะเป็นสิ่งใดไปไม่ได้ นอกจากงานสถาปัตยกรรมไทย โดยวาดหวังให้ชาวต่างชาติได้เห็นถึงองค์ความรู้ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปสถาปัตยกรรมไทย ทั้งคติความเชื่อ แนวคิดการออกแบบ และกระบวนการสร้างสรรค์ สัดส่วนและรูปทรงอาคาร ที่แสดงออกถึงอัตลักษณ์และเอกลักษณ์

หนึ่งในนั้นคือ การนำเสนอสถาปัตยกรรมจำลอง “พระพุทธปรางค์วัดอรุณราชวราราม” จากภูมิปัญญาทางสถาปัตยกรรมไทยที่ยิ่งใหญ่ของช่างไทยในอดีต หนึ่งในสัญลักษณ์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงสถาปนิกที่ออกแบบสถาปัตยกรรมด้วยความเป็นไทยทั้งในลีลา จังหวะ เส้นสายและจิตวิญญาณ

รายละเอียดกิจกรรมและผลงานศิลปินสามารถติดตามได้ที่ Facebook Fan Page: Songk

จรัสLight Fest เจิดจ้าด้วย ‘พลังงานสะอาด’

เริ่ดๆ เชิ่ดๆ รับปีใหม่ หลังมีประเด็นร้อนแรงอยู่พักใหญ่ในปมปัญหาลึกลับซับซ้อน สำหรับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หรือ หอศิลป์ กทม. ที่ล่าสุดจับมือกระชับแน่นกับ ‘กองทุนพัฒนาไฟฟ้า’ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เปิดตัว ‘จรัส Light Fest’

เทศกาลศิลปะแสงกลางแจ้ง ตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้ว โดยจะจัดแสดงยาวๆ ไปจนถึง 3 กุมภาพันธ์ปีนี้

ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ชมงานอาร์ตๆ กลางไฟสาดส่องทั้ง 12 ชิ้น จากศิลปินเดี่ยว 9 ราย และอีก 3 กลุ่ม ซึ่งสร้างสรรค์ผลงานจากพลังงานไฟฟ้า โดยส่วนหนึ่งมาจากแผงโซล่าร์ที่ติดตั้งในตัวชิ้นงานเองและอีกส่วนมาจากดาดฟ้าของหอศิลปกรุงเทพฯ

เปิดตัว “Lines & Rhythms จังหวะและลีลาในงานสถาปัตยกรรมไทย” เตรียมผงาดที่เวนิส

ฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที ผู้อำนวยการโครงการจรัส แสงสร้างสรรค์ ลักขณา คุณวิชยานนท์ ที่ปรึกษาโครงการร่วมต้อนรับแขกเหรื่อ

กฤช งามสม ศิลปินดังเจ้าของ ผลงาน ‘ใจกลางเมือง (Red Heart)’ บอกว่า ดีใจมากที่เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์นี้ เคยทำงานกลางแจ้งที่เป็นแสงไฟแล้วในย่านนี้ แต่ตอนนั้นใช้ไฟฟ้าปกติ ครั้งนี้รู้สึกท้าทายที่จะได้ทำงานยากขึ้นอีกสเต็ป งานนี้คงจะได้ใช้ต่อไป มีการพัฒนางานต่อ ไม่ว่าจะใช้พลังงานจากโซลาร์หรืออื่นๆ

ด้าน พงษธัช อ่วยกลาง ผู้สร้างสรรค์ผลงาน ‘ประกาศ ประกาศ ความเข้าใจคลาดเคลื่อน (Announcement of an Inaccurate Understanding)’ มองว่า โครงการนี้จะมีส่วนอื่นๆ เข้ามาร่วมกัน เราจะไม่ได้เห็นแค่ทัศนคติของศิลปินอย่างเดียว แต่มีทั้งนักออกแบบ ที่เกิดการคิดงานที่น่าสนใจขึ้น อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นโครงการระยะยาว มีการสนับสนุนโครงการแบบนี้เรื่อยๆ

‘จรัส’ ไม่เพียงจัดแสดงงานดีๆ หน้าหอศิลปกรุงเทพฯ แต่ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ห้องจรัสLab และงานเสวนาจรัสForum เป็นตัน

ติดตามรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่

www.bacc.or.th,

Facebook: baccpage,

Instagram: baccbangkok

ไปแล้วอย่าลืมติดแฮชแท็ก

#พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ #จรัสแสงสร้างสรรค์ #กกพ #กองทุนพัฒนาไฟฟ้า #JarasLightFest #JarasProject #ไฟจากฟ้า #คนบันดาลไฟ #APowerofMe #CEASolarVengers #JarasLightFest #SolarArt

‘เพราะความรักอยู่ในศิลปะ’ ทูตฝรั่งเศส เปิด ‘แกลเลอรี่ ไนท์ แบงคอก 2020’

เป็นอีกหนึ่งงานที่คอศิลปะร่วมสมัยต่างรอคอย สำหรับ ไนท์ Galleries’s Night Bangkok ซึ่งจัดอย่างเก๋สุดเหวี่ยงมาเป็นปีที่ 7 แล้ว โดยในปีนี้

สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยได้จัดงานแถลงข่าวขึ้นเมื่อวันพุธที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต

ฯพณฯ ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้เกียรติกล่าวเปิดงานในบรรยากาศสบายๆ ริมสระน้ำชุ่มฉ่ำ รายล้อมด้วยแขกเหรื่อ พาร์ตเนอร์ & สปอนเซอร์มากมาย

ท่านทูตฝรั่งเศส ย้อนเล่าถึงความเป็นมาของ งานแกลเลอรี่ ไนท์ ซึ่งในฝรั่งเศสจัดกันมานานแล้ว ในมหานครปารีส ในชื่อ “Nuit Blanche” หรือ Paris’ White Night เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจเข้าชมงานศิลปะในยามค่ำคืน

ฌัก ลาปูฌ เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย เปิดงานแกลเลอรี่ ไนท์ แบงคอก ซึ่งจัดมาเป็นปีที่ 7 แล้ว


กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นงานด้านที่ทางสถานทูตให้ความสำคัญ นับแต่การจัดขึ้นครั้งแรก มีแกลเลอรี่เข้าร่วม 20 แห่ง กระทั่งวันนี้ มีแกลเลอรี่ร่วมกว่า 60 แห่ง และอาสาสมัครกว่า 80 คน

Galleries’s Night Bangkok 2020 จัดตรงกับสุดสัปดาห์วันแห่งความรัก ในวันที่ 14 และ 15 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้ ภายใต้สโลแกน “ความรักอยู่ในศิลปะ”

แกลเลอรี่ที่เข้าร่วมจะเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 17.00 น. จนถึง ‘ดึกเป็นพิเศษ’ เฉพาะงานนี้โดยนอกเหนือจากงานศิลป์ดีๆ ที่หลากแกลเลอรี่คัดสรร อีกหนึ่งไฮไลต์ที่ชวนหัวใจเต้นเร็วด้วยความเร้าใจคือ ‘ตุ๊กตุ๊ก’ ที่ถูกจัดไว้เตรียมบริการผู้ร่วมงานในการเดินทางจากแกลเลอรี่หนึ่งไปยังอีกแกลเลอรี่หนึ่ง

พฤทธิ์ สารถี จาก 10 ml Gallery บอกว่าเข้าร่วมงานนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว โดยพบว่าชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมกับมากขึ้น เพราะแกเลอรี่ ไนท์สร้างความเคลื่อนไหวในชุมชนได้เป็นอย่างดี

“แกลเลอรี่ผมอยู่ในชุมชน ป้าร้านข้าวแกงยังเข้ามามีส่วนร่วม เพราะงานที่คิวเรทค่อนข้างเข้าถึงง่าย สื่อสารว่าน พอมีงาน แกลอรี่ ไนท์ แบงคอก ทำให้คนในชุมชนตื่นเต้นว่ามีรถตุ๊กตุ๊กวิ่งเข้ามา ที่นี่เกิดอะไรขึ้น งานนี้ช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนเห็นภาพใหม่ๆ เกิดขึ้น”

เป็น 3 นิทรรศการเด่นในมุมร่วมสมัยที่คนไทยห้ามพลาด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image