‘เฟทโก้’ เผยความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน ก.พ. 63 ลดลงต่ำสุดครั้งแรกรอบ 4 ปี

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (เฟทโก้) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ 72.75 ปรับตัวลดลง 9.91% โดยดัชนีปรับลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ซบเซา เป็นคร้ังแรกในรอบ 4 ปี เนื่องจากสาเหตุมาจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกไทย เนื่องจากภาคการได้รับผลกระทบจากการลดจำนวนลงของนักท่องเที่ยวจีนที่มาไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวจีนคิดเป็น 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยในภาพรวม อีกทั้งไทยยังพึ่งพาการส่งออกไปยังจีนเป็นอันดับ 1 หรือ 10% ของการส่งออกในภาพรวม รวมถึงปัจจุบันจีนกำลังขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ของไทย ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ที่เปลี่ยนไปแบบไม่ทันคาดคิด รองลงมาเป็นสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่นักลงทุนเชื่อมั่นว่า ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะเป็นปัจจัยสนับสนุนตลาดหุ้นไทยมากท่ีสุด รองลงมาคือ ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ และนโยบายของภาครัฐ

ผลกระทบของการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกลดลง 0.2% และจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหลืออยู่ที่ 2.0-2.2% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะโตได้ที่ 2.6-2.7% โดยเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะตัวเลขนักท่องเที่ยวหายไป บวกกับการส่งออกก็ได้รับผลกระทบ ซึ่งจีนถือว่ามีอิทธิพลต่อการท่องเที่ยวและการบริโภคของประเทศไทยสูง โดยเฉพาะปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนเป็นอันดับ 2 รองจากฮ่องกง แต่ยังคาดว่าผลกระทบดังกล่าวจะกินเวลาไม่เกิน 3 เดือน และเชื่อว่าตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเชื่อว่าผลกระทบจากไวรัสโคโรนาจะเป็นปัญหาระยะสั้น ไม่ได้ยืดเยื้อเหมือนสงครามการค้า โดยหากมีการค้นพบวัคซีนการแพทย์ที่สามารถออกมาควบคุมไวรัสได้ คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวแรงๆ ได้อีกครั้ง รวมทั้งยังมีปัจจัยกังวลอีกหลายเรื่อง อาทิความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 สงครามการค้าสหรัฐและจีน ที่แม้จะตกลงกันได้แล้วในเฟสแรก แต่การส่งออกของไทยก็ยังไม่ฟื้น ต่อเนื่องถึงการบริโภคในประเทศที่ยังอ่อนแอ การลงทุนเป็นไปอย่างช้าๆ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นน้อยลงนายไพบูลย์กล่าว

นายไพบูลย์กล่าวว่า ในช่วงเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงสอดคล้องกับตลาดหุ้นทั่วโลกประมาณ  3-4% ยกเว้นตลาดหุ้นสหรัฐที่ยังปรับขึ้นได้ดีอยู่ โดยถือว่าดัชนีหุ้นไทยปรับระดับได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากในปี 2562 ดัชนีปรับขึ้นเพียง 1% ซึ่งถือว่าแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะปรับบวกกว่า25% และตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ที่บวกประมาณ 10-15% โดยขณะนี้ประเมินว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะถึงจุดที่สะท้อนกรณีเลวร้ายที่สุดออกมาแล้วมากพอสมควร ทำให้หากเหตุการณ์การแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาไม่ได้บานปลายไปมากกว่านี้ และจำนวนผู้ติดเชื้อยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คาดว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะมีโอกาสปรับดีดตัวขึ้นได้ แต่ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ ดัชนีอาจจะไปไม่ได้ไกลเท่าที่ควร โดยประเมินดัชนีหุ้นไทยจะกลับขึ้นไปถึงระดับ 1,600 จุดได้ส่วนทั้งปี 2563 คาดว่าเป้าดัชนีจะเคลื่อนไหวที่บริเวณ 1,650 จุด สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ระดับ 1% นั้น มองว่าเป็นการช่วยเศรษฐกิจทางอ้อม และทำให้ค่าเงินบาทอยู่ในระดับอ่อนค่าต่อได้ ซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติที่กำลังลังเลตัดสินใจกลับเข้ามาลงทุนมากขึ้นรวมถึงรัฐบาลเองก็คงจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาอย่างต่อเนื่องในระยะสั้นนี้ด้วย

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ไทยบีเอ็มเอ) เปิดเผยว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พบว่า ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ในรอบการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนาคม 2563 (ประมาณ 7 สัปดาห์ข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 50 และ 66 ตามลำดับ โดยดัชนีคาดการณ์ยังคงอยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลงเนื่องจากอัตรา ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลได้ปรับลดลงแล้วในช่วงต้นปี 2563 ก่อนที่จะทำแบบสำรวจความคิดเห็นนี้ จึงมีการรับรู้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา การลดดอกเบี้ย และความล่าช้าของงบปี 2563 ไปแล้ว รวมถึงผู้ตอบแบบสอบถามมองว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์แล้ว จึงลดลงได้อีกไม่มาก ส่วนปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่อุปสงค์อุปทานในตลาดตราสารหนี้ที่ทรงตัวจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอตัว แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่ทรงตัว และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติที่ลดลง

Advertisement

นางสาวอริยากล่าวว่า ด้านผลตอบแทนเมื่อเทียบกับพันธบัตรแต่ละช่วงอายุ พบว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ( 7 กุมภาพันธ์ 2563) พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีปรับลดลง 0.30 บาท ขณะที่ผลตอบแทนจากพันธบัตรในช่วงอายุอื่นๆ มีแนวโน้มปรับลดลงเช่นกันหากเทียบกับผลตอบแทน สิ้นปี 2562 โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 1 เดือนอยู่ที่ 1.00% จากเดิมอยู่ที่ 1.15% อายุ 6 เดือนอยู่ที่ 1.00% จากเดิมที่ 1.19% อายุ 2 ปีอยู่ที่ 0.94% จากเดิมที่ 1.18% อายุ5 ปีอยู่ที่ 1.06% จากเดิมที่ 1.26% และอายุ 10 ปีอยู่ที่ 1.23% จากเดิมที่ 1.49% ส่วนในแง่ของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ(ฟันด์โฟลว์) ที่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย พบว่า ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว หรือบวกขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น รวมถึงหากพิจารณาฟันด์โฟลว์ที่ไหลเข้าออกในตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ พบว่า มีเพียงมาเลเซียเท่านั้นที่นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิติดต่อกัน 2 เดือน ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิ เกาหลีใต้อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ยังอยู่ในสถานะขายสุทธิ

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่

เพิ่มเพื่อน

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image