มหาวิทยาลัยกับห้างสรรพสินค้า โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

มหาวิทยาลัยกับห้างสรรพสินค้า โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

มหาวิทยาลัยกับห้างสรรพสินค้า (1)

เมื่อตอนเป็นหนุ่ม นักวิชาการออสเตรเลียคนหนึ่งบ่นให้ฟังว่า ในวันหยุดราชการ เขาประสบความยากลำบากในการเข้าไปยังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะประตูด้านที่ติดถนนอังรีดูนังต์ปิดทุกประตู เขาต้องเดินอ้อมไปเข้าประตูทางถนนพญาไท

ผมเลยถามว่า ก็ทำไมไม่ปีนเข้าไปเล่า

เขามองหน้าผมอย่างผงะนิดๆ แล้วบอกว่า นั่นมันต่ำกว่ามาตรฐานที่คนอย่างเขาจะทำได้

ผมยักไหล่แล้วบอกว่า ถ้าอย่างงั้นก็เดิน

Advertisement

แต่ที่จริงแล้วผมผงะกับคำตอบของเขาเหมือนกัน เพราะผมและเพื่อนทำอย่างนั้นมาหลายครั้งแล้ว รั้วไม่เคยศักดิ์สิทธิ์แก่ผมขนาดนั้น จึงไม่รู้สึกอะไร

แม้ว่าพื้นที่บนโลกนี้มันต่อกันเป็นพืด แต่คนในทุกวัฒนธรรมคงรู้จักแบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วนๆ ให้มีความต่างกันในเชิงต่างๆ เช่นตรงนี้ศักดิ์สิทธิ์นะโว้ย, ตรงนี้มีระเบียบเคร่งครัด, ตรงนี้เล่นกันเลยเถิดได้, ฯลฯ

ในวัฒนธรรมไทย ใช้รั้วหรือกำแพงน้อย แต่มักกำหนดพื้นที่ด้วยสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมมากกว่า เช่นราชวัตรฉัตรธงของวัฒนธรรมหลวง ประตูป่าของชาวบ้าน ศาลผีซึ่งไม่มีอาณาเขตพื้นที่แน่นอน แต่อาจรวมทั้งป่า, ทั้งเทือกเขา, ทั้งบริเวณขุนน้ำ ฯลฯ

Advertisement

ดังนั้น การเดินฝ่า (หรือปีนฝ่า) เข้าไปในแต่ละพื้นที่จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ ใครๆ ก็ทำ เพียงแต่ว่าต้องแสดงความเคารพพื้นที่นั้นๆ ให้เหมาะสมเท่านั้น เช่นเข้าป่าไม่พูดเรื่องลามก เข้าวัดอย่านุ่งผ้าลอยชาย ขึ้นเรือนตามประเพณีของไทบางกลุ่ม ไม่ควรล่วงละเมิดเข้าไปในบางพื้นที่ เช่นใน “ห้อง” หรือ “ส้วม” ที่เขาตั้งผีเรือนไว้ ละจากพื้นที่ของผีหนึ่ง ล่วงเข้าสู่พื้นที่ของอีกผีหนึ่ง พึงวางหินไว้สามก้อนเป็นการบูชาทั้งผีที่เพิ่งละมาและผีใหม่ที่กำลังเข้าหา

กำแพงวังและกำแพงวัด(หลวง)ก็มีบ้าง แต่ไม่สู้จะมากนัก

ส่วนใหญ่ของการกำหนดพื้นที่แบบไทย ไม่ได้มีไว้เพื่อกันคนเข้า แต่เพื่อแสดงอาณาเขต แยกพื้นที่หนึ่งออกจากพื้นที่ส่วนที่เหลือ มีประเพณีพิธีกรรมกำหนดพฤติกรรมของคนในพื้นที่ซึ่งแยกออกมานั้น

จุฬาฯ เป็นพื้นที่แบบใหม่ ซึ่งเพิ่งเข้ามาในสังคมไทยไม่นานนัก เป็นพื้นที่ “สาธารณะ” ที่ไม่เหมือนเดิมทีเดียวนัก ผมอยากเปรียบกับท้องสนามหลวงอันเป็นพื้นที่ “สาธารณะ” ในสมัยโบราณ

ท้องสนามหลวงเป็นของ “หลวง” แน่ แต่เปิดเป็นสาธารณะแก่คนทั่วไป เพลงลาวครวญบอกให้รู้ว่า เชลยชาวลาวใช้เป็นที่หากบหาเขียดเมื่อฝนตก แต่เมื่อยามที่ท่านใช้เป็นท้องพระเมรุ แม้ฝนจะตก ผมเข้าใจว่าเชลยชาวลาวจะใช้เป็นที่หากบหาเขียดไม่ได้

ท้องสนามหลวงจึงเป็นพื้นที่สาธารณะแบบเก่าโดยแท้ ถูกใช้โดยคนหลายกลุ่ม และใช้เพื่อกิจกรรมหลายประเภท มีประเพณีพิธีกรรมกำหนดพฤติกรรมของคนที่จะเข้าไปยังพื้นที่นี้ในยามที่ถูกใช้ต่างกัน

แม้พื้นที่จุฬาฯ เป็นพื้นที่สาธารณะเหมือนกัน แต่เป็นสาธารณะแบบใหม่ของไทย คือเพื่อทำกิจกรรมของรัฐโดยเฉพาะ คือจัดการศึกษาอันประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่างนอกจากห้องเรียน จึงไม่ได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาทำกิจกรรมอะไรได้ตามใจชอบ

ความเป็นพื้นที่ของรัฐในประเทศไทยสมัยใหม่ หมายถึงเป็นของรัฐจริงๆ นะโว้ย เพราะเป็นของรัฐจึงเป็น “สาธารณะ” แต่ไม่ได้หมายความว่าใครจะเข้ามาทำอะไรก็ได้ มีกฎระเบียบของราชการหลายอย่างที่กำหนดพฤติกรรมของคนที่จะเข้ามาในพื้นที่สาธารณะแบบนี้ สมัยหนึ่งที่ว่าการอำเภอยังบังคับให้ผู้ที่เข้ามาใช้บริการต้องแต่งกายอย่างไร (เช่น ต้องสวมรองเท้า, ไม่นุ่งโสร่ง, ต้องสวมเสื้อ, ต้องพูดภาษากลาง ฯลฯ)

ทั้งหมดนี้คือที่มาของรั้ว เพื่อแยกพื้นที่สาธารณะของรัฐ ออกจากพื้นที่สาธารณะของประชาชน ผมสังเกตเห็นในสหรัฐและญี่ปุ่นว่า สถานที่ราชการของเขาไม่มีรั้วเป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นที่ทำการซีไอเอในเวอร์จิเนียกระมัง) ยิ่งหากเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว แทบจะหาที่มีรั้วไม่เจอเลย

ผมไม่มีเวลาไปค้นว่าจุฬาฯ สร้างรั้วเมื่อไร แต่แน่ใจว่าสร้างไม่พร้อมกัน รั้วและซุ้มประตูด้านถนนอังรีดูนังต์น่าจะสร้างพร้อมกับเมื่อสร้างหอสมุดกลาง(หลังเดิม)ให้คู่กับตึกคณะอักษรศาสตร์(หลังเดิม) และคงไม่มีงบประมาณพอจะสร้างได้ตลอดแนว รั้วและประตูของคณะรัฐศาสตร์จึงแตกต่างไปจากรั้วและซุ้มประตูทางคณะอักษรศาสตร์ (ส่วนใครจะสร้างก่อนกันผมไม่ทราบ)

นอกจากหอประชุมแล้ว มหาวิทยาลัยไทยชอบสร้างรั้วครับ ในระยะหลังเมื่อไทยมีเงินมากขึ้น มหาวิทยาลัยใหม่ๆ จะสร้างขึ้นพร้อมกับรั้วเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยไทยอยากเป็นสถานที่ราชการมากกว่าเป็นมหาวิทยาลัยนี่ครับ

เดี๋ยวนี้ แม้แต่สวนลุมพินี, จตุจักร, และสนามหลวง ล้วนมีรั้วกันหมด เพราะต่างเป็นสวนสาธารณะ “ของรัฐ” ทั้งสิ้น

ผมยกพื้นที่จุฬาฯ (อย่างยาวไปหน่อย) อันเป็นพื้นที่สาธารณะของรัฐ เพื่อเอามาเปรียบกับพื้นที่สาธารณะของทุน คือห้างสรรพสินค้า

เปรียบเทียบทำไม?

โดยอาศัยหลักเกณฑ์ว่า พื้นที่ต่างๆ นั้นล้วนเป็นผลผลิตของมนุษย์ เราสร้างพื้นที่ต่างๆ ขึ้นมาจากความเชื่อ, ค่านิยม, ความใฝ่ฝัน, อดีตและอนาคตของเรา ด้วยเหตุดังนั้น พื้นที่ซึ่งเราสร้างขึ้นจึงไม่ใช่ช่องว่างเปล่าๆ ที่มนุษย์แทรกตัวเข้าไปมีชีวิตอยู่เท่านั้น แต่มนุษย์จะถูกพื้นที่นั้นบังคับเกลี้ยกล่อมชักจูง ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว ให้ซึมซับเอาความเชื่อ, ค่านิยม, ความใฝ่ฝัน, อดีตและอนาคตของมนุษย์คนอื่น นับตั้งแต่ผู้สร้างพื้นที่นั้นรวมไปถึงผู้ใช้พื้นที่นั้นร่วมกัน หรือแม้แต่คนที่อยากเข้าไปพื้นที่นั้น แต่ไม่เคยเข้าไปเลย จนมีผลต่อบุคลิกภาพของเขา

จิตใจมนุษย์มีผลต่อวัตถุ และวัตถุมีผลต่อจิตใจมนุษย์

เมื่อเอาสองพื้นที่มาเปรียบเทียบกัน มนุษย์ถูกแปรเปลี่ยนไปด้วยอิทธิพลของพื้นที่อย่างไร

การศึกษาสังคมและวัฒนธรรมมนุษย์จากพื้นที่นั้น อาจทำได้สองระดับ คือระดับพื้นถนนติดดิน เพื่อดูว่ามนุษย์มีความสัมพันธ์กันอย่างไร ภายใต้เงื่อนไขของพื้นที่ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นไว้ หรือดูระดับตานก ซึ่งจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่หนึ่งกับอีกพื้นที่หนึ่ง (เช่นจุฬาฯ อยู่ในละแวกของแหล่งช็อปปิ้งที่ใหญ่สุดของกรุงเทพฯ) ทำให้มองเห็นความสัมพันธ์อีกระดับหนึ่ง คือระดับโครงสร้าง ในที่นี้ผมขอพูดเฉพาะความสัมพันธ์ระดับพื้นถนนติดดินเท่านั้น

ห้างสรรพสินค้าแรกที่ผมรู้จักในชีวิตคือห้างใต้ฟ้า (หรือไต้ฟ้าหว่า) บนถนนเยาวราช แต่นั่นคงไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าแรกของเมืองไทย “ผู้ดี” สมัย ร.5 และ 6 พูดถึงห้างฝรั่งชื่อไวท์เวย์ที่ขายเครื่องอุปโภคบริโภคนานาชนิด แต่ผมเกิดไม่ทันและไม่เคยเห็น

คล้ายกับห้างสรรพสินค้าปัจจุบัน ใต้ฟ้ามีแผนกขายของหลายชนิด ทั้งเสื้อผ้า, ของกินของใช้อื่นๆ ไปจนถึงเครื่องออกกำลังกาย แต่แผนกที่ผมจำได้แม่นยำมากคือแผนกของเล่นเด็ก จะแตกต่างจากห้างสรรพสินค้าปัจจุบันก็คือ ของมีน้อย เช่นเสื้อเชิ้ตแอร์โรว์ ก็มีอยู่ตู้เดียว ไม่ถึงกับตั้งเป็นร้านแยกไปต่างหาก

แต่ที่แตกต่างอย่างสำคัญที่สุดก็คือ ใต้ฟ้ามีเจ้าของเดียว สั่งซื้อสินค้าต่างๆ มาขาย แล้วจ้างพนักงานมายืนเฝ้าอยู่ตามแผนกต่างๆ ผมไม่ทราบว่าเขาเป็นใคร แล้วก็เด็กเกินกว่าจะไปสังเกตว่ามีตาแป๊ะยืนโบกพัดอยู่หลังร้านหรือไม่ แต่ลักษณะเจ้าของเดียวนี้ทำให้ใต้ฟ้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ไม่สู้จะเสรีนัก เหมือนเราเดินเข้าร้านขายยา, ขายเครื่องจิ้มหลังตลาดสด, หรือโชห่วยข้างตลาดในทุกวันนี้

คือเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีเจ้าของ และก็มักจะปรากฏตัวในร้าน อย่างห่างๆ หรืออย่างใกล้ชิดก็ตาม สายตาของเขากวาดมองทั้งลูกค้า, พนักงาน, และสินค้าอยู่ตลอดเวลา เมื่อเราเดินเข้าร้านก็จะตกอยู่ภายใต้การมองของพนักงานและเจ้าของร้านซึ่งอาจแอบซุ่มอยู่ที่ไหนสักแห่ง เรามักถูกถามว่าจะเอาอะไร มีคำตอบให้เลือกได้เพียงสองอย่าง คือหนึ่งกำลังหาซื้ออะไร หรือสองกูมาปล้นมึง

ใต้ฟ้าก็อย่างนั้นแหละครับ คือเดินชมโน่นชมนี่ได้ แต่ทุกตู้โชว์ก็มีพนักงานยืนเฝ้าอยู่ หากหยุดดูนานก็จะถูกถามด้วยคำถามที่ไม่มีทางเลือกนั้น

เป็นพื้นที่ซึ่งไม่ “เสรี” เพราะอย่างนี้แหละครับ เมื่อเปรียบเทียบกับการ “เดินห้าง” ในทุกวันนี้ จะเห็นได้ว่าเราเดินได้อย่างอิสระเสรีกว่ากันมากทีเดียว แม้แต่เมื่อถูกพนักงานถามว่าสนใจอะไรถามได้นะคะ เราก็ยังอาจตอบอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า เดินดูเฉยๆ น่ะครับ ที่ตอบได้ก็เพราะเรารู้สึกว่าเป็น “สิทธิ์” ที่จะเดินดูเฉยๆ ในห้างสรรพสินค้า อันเป็นคำตอบที่ให้แก่ห้างใต้ฟ้าหรือโชห่วยหลังตลาดไม่ได้

แม้แต่ไปเดิน “ตากแอร์” ในห้าง ก็ได้รับการต้อนรับไม่ต่างจากคนที่ไปช็อปปิ้ง ว่าที่จริงเดิน “ตากแอร์” ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ต้องเจออะไรบางอย่างที่อยากได้ ถึงไม่มีเงินซื้อวันนี้ ก็คงถูกความอยากเผาผลาญให้ไปหาเงินมาซื้อวันอื่นจนได้ นักช็อปแบบผมซึ่งรู้ว่าจะไปซื้ออะไร ซื้อแล้วก็กลับเลยเสียอีก ที่ไม่น่าต้อนรับเท่า

แต่ระวังนะครับ การลิดรอนเสรีภาพที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือการเปิดให้เลือกทางเลือกที่มีอยู่ทางเดียวโดยสมัครใจ

ผมพูดเรื่องนี้เพราะคิดถึงพื้นที่ซึ่งกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ในที่นี้จะขอยกเอาเรื่องเครื่องแต่งกายหรือเครื่องแบบมาเป็นตัวอย่าง

มหาวิทยาลัยประสบความล้มเหลวกับเครื่องแบบนิสิตนักศึกษาตลอดมา ผมจำได้ว่าอธิการบดีจุฬาฯ สมัยที่ผมยังเรียนที่นั่น มักจะเดินตรวจความเรียบร้อยของมหาวิทยาลัย หนึ่งในความเรียบร้อยที่ท่านมักตรวจเสมอ คือการแต่งกายของนิสิต โดยเฉพาะน้องใหม่ เช่นดูว่านิสิตชายใช้เข็มขัดอันเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแบบหรือไม่ ทั้งหมดนี้แสดงว่านิสิตพยายามเลี่ยงการแต่งเครื่องแบบ

นิสิตหญิงก็ดัดแปลงเครื่องแบบให้สอดรับกับแฟชั่นยุคสมัย เพื่อนนิสิตรุ่นผมก็ทำ นักศึกษาที่ผมสอนในภายหลังก็ทำ ซึ่งเป็นสมัยที่สาวๆ เขานิยมนุ่งสั้นกัน จนต้องมีระเบียบเสริมเข้ามาว่ากระโปรงนักศึกษานั้นจะต้องไม่สูงเกินเข่าเท่าไรๆ เป็นต้น

ในบางมหาวิทยาลัย ห้ามนักศึกษาที่ไม่สวมเครื่องแบบเข้าห้องเรียน หรือห้ามไปติดต่ออาจารย์ในที่ทำการภาควิชา

ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงว่ามหาวิทยาลัยล้มเหลวในการบังคับให้นิสิตนักศึกษาแต่งเครื่องแบบ

เครื่องแบบหรือการแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการแสดงอัตลักษณ์ของผู้สวมใส่ ดังนั้นคนเราจึงสวมเครื่องแบบหรือแต่งกายเพื่อให้คนห่างๆ ที่เราไม่รู้จักได้เห็น ส่วนคนใกล้ชิดเช่นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน ไม่ต้องสวมเครื่องแบบหรือแต่งกายเป็นพิเศษ เนื่องจากเราได้แสดงอัตลักษณ์ของเราให้เขาเห็นด้วยวิธีอื่นๆ มามากแล้ว

สมัยที่ผมเรียนหนังสืออยู่ จุฬาฯ มีนิสิตแค่ 5,000 คน ดังนั้นจึงแทบไม่มี “คนอื่น” อยู่ในจุฬาฯ เลย แม้ไม่ได้รู้จักมักจี่กันทุกคน แต่ก็รู้จักหน้าค่าตากันแทบหมด จะแต่งเครื่องแบบซึ่งแสดงอัตลักษณ์ได้จำกัดให้แก่คนคุ้นเคยดูทำไม

แม้ว่าสมัยนี้มหาวิทยาลัยมีนิสิตนักศึกษาเป็นหลายหมื่น แต่มหาวิทยาลัยเป็นโลกต่างหากที่แยกออกจากพื้นที่ส่วนอื่นนะครับ เพราะมหาวิทยาลัยชอบล้อมรั้วตัวเอง เครื่องแบบแสดงสถานภาพของผู้สวมใส่ ทั้งสถานภาพภายในองค์กร (เช่นเครื่องแบบทหาร-ตำรวจ) และสถานภาพของเขากับคนภายนอก

เครื่องแบบนักศึกษาไม่แสดงสถานภาพภายในองค์กร แต่แสดงสถานภาพกับคนภายนอก (ซึ่งก็ลดคุณค่าลงไปเรื่อยๆ ด้วย) ในเมื่อมหาวิทยาลัยถูกล้อมรั้ว จนไม่มีคนนอกเข้ามาอยู่ในมหาวิทยาลัย จะให้แต่งเครื่องแบบไปแสดงสถานภาพกับคนที่อยู่ในสถานภาพเดียวกันทำไมล่ะครับ

มหาวิทยาลัยกับห้างสรรพสินค้า (2)

ทั้งหมดนี้ผมอยากให้นำมาเปรียบเทียบกับห้างสรรพสินค้า ซึ่งแม้ไม่มีระเบียบเครื่องแบบหรือการแต่งกายบังคับไว้ แต่คนส่วนใหญ่ที่เข้าห้าง ก็มักแต่งกายในลักษณะที่ “เหมาะแก่การเข้าห้าง” จนได้

ห้างสรรพสินค้าปัจจุบันนั้นใหญ่มากนะครับ ใหญ่เสียจนทุกคนที่เราพบเห็นที่นั่นล้วนเป็นคนแปลกหน้า คนจำนวนมากที่อยู่ในห้าง ประกอบด้วยคนที่มาจากปูมหลังทางสังคมที่แตกต่างกันมากด้วย เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่าห้างสรรพสินค้าเป็นพื้นที่เสรี ใครๆ ก็เข้าไปได้ เหตุดังนั้นโอกาสที่เราจะได้พบคนรู้จักจึงมีไม่สู้มากนัก เขาก็ไป เราก็ไป แต่ต่างก็จมหายไปในมหาสมุทรของฝูงชนจนไม่มีโอกาสเจอะเจอกัน

ผมจำได้ว่าเมื่อเป็นเด็ก เวลาผู้ใหญ่พาไปห้างใต้ฟ้าหรือไปจ่ายของกินฝรั่งที่ห้างเสรีวัฒน์สะพานหัน ผู้ใหญ่มักเจอะเจอคนรู้จักให้ต้องทักทายกันเสมอ ตลาดของห้างสมัยโบราณจึงเป็นคนชั้นกลางระดับบน คนทั่วไปไม่ไปเดินห้างอย่างนั้น แต่ห้างสรรพสินค้าปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นแล้วนะครับ ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็เพราะคนชั้นกลางไทยขยายตัวขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะคนชั้นกลางระดับล่าง

ดังนั้น การ “เดินห้าง” ในปัจจุบัน จึงเป็นการไปเดินให้คนไม่รู้จักได้ดู เราถูกเห็นโดยคนที่เราไม่รู้จักทั้งสิ้น ทุกคนรู้สึกว่าตกอยู่ภายใต้การมองและการประเมินของคนอื่นที่ล้วนเป็นคนแปลกหน้า สถานการณ์เช่นนี้เรียกร้องให้แต่ละคนแสดงตัวตนที่ตัวใฝ่ฝันอยากเป็นทั้งสิ้น และจุดเริ่มต้นที่ง่ายที่สุดคือการแต่งกาย

ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนแต่งกายดีเป็นทางการนะครับ แต่ทุกคนแต่งกายอย่างที่แสดงตัวตนของตนต่างหาก หนุ่มหุ่นดีอาจสวมเพียงเสื้อยืดคอกลม ใส่เยลผมจนเรียบแปล้ในที่ควรเรียบและตั้งโด่ในที่ควรโด่ หญิงสาวแต่งกายตามที่เธอคิดว่าเธอคือคนประเภทไหน บางคนอาจสวมกระโปรงหรูแต่เรียบ บางคนอาจแต่งเป็นจิ๊กกี๋นิดๆ ก็แล้วแต่ว่าบุคลิกแบบไหนที่เธอฝันใฝ่ให้ตัวเธอเป็น

และนี่คือเครื่องแบบของห้างสรรพสินค้า ซึ่งไม่ต้องมีครูคอยเดินตรวจตรา แต่ทุกคนก็พร้อมจะแต่งเมื่อเข้าสู่พื้นที่นี้

ห้างสรรพสินค้าไม่ได้กำหนดเฉพาะเครื่องแบบ แต่ยังกำหนดการเดิน, การกิน, อากัปกิริยา และส่วนอื่นของวิถีชีวิตด้วย อย่างน้อยก็วางอุดมคติของชีวิตให้แก่ทุกคน ทั้งจากสินค้าที่ตั้งโชว์ และพฤติกรรมของคนอื่น เวลานี้เราอาจใช้โทรศัพท์มือถืออันเล็กๆ เพื่อติดต่อกันด้วยเสียงกับคนอื่น แต่เรารู้ว่ามันมีสมาร์ตโฟน ซึ่งทำให้เราติดต่อกับคนอื่นด้วยวิธีอื่น ทั้งคนอื่นนั้นก็กว้างขวางกว่าเฉพาะคนรู้จักเป็นส่วนตัวด้วย สักวันหนึ่งเราจะมีสมาร์ตโฟน และสุดยอดของสมาร์ตโฟนก็ต้องมีรูปแอปเปิ้ลแหว่งอยู่ข้างหลัง

ดังที่กล่าวกันมามากแล้วว่า พื้นที่ห้างสรรพสินค้าไม่ได้กำหนดแต่เพียงเครื่องแต่งกายและอากัปกิริยาภายนอก แต่มันกำหนดลึกลงไปในสมอง ทั้งวิธีคิดและความคิดด้วย

ผมใช้คำว่า “เครื่องแบบ” เพื่อจะเตือนว่า ดูเผินๆ เหมือนกับว่าห้างสรรพสินค้าปลดปล่อย individuality หรือปัจเจกภาพของแต่ละบุคคลออกมา แต่ทุนนิยมไม่ได้ต้องการปัจเจกภาพหรอกนะครับ เขาต้องการผู้บริโภคที่มีความต้องการคล้ายๆ กัน เพื่อจะได้สามารถผลิตสินค้าและบริการด้วยระบบการผลิตเป็นมวล (mass production) ได้ต่างหาก

ตรงนี้แหละครับที่ห้างสรรพสินค้าน่าจะแตกต่างจากมหาวิทยาลัยเป็นอันมาก แต่มหาวิทยาลัยไทยกลับไม่ต่างจากห้างสรรพสินค้าในเรื่องนี้

มหาวิทยาลัยไทยไม่สนใจจะพัฒนาปัจเจกภาพของผู้เรียน เราต้องการผลิตช่าง, ผลิตครู, ผลิตหมอ, ฯลฯ เพื่อสวมลงไปในฟันเฟืองทางการเมืองและเศรษฐกิจของรัฐ มหาวิทยาลัยของสังคมอื่นก็คงต้องทำอย่างเดียวกัน เพื่อตอบสนองต่อรัฐและทุนซึ่งเป็น “ลูกค้า” รายใหญ่สุดของมหาวิทยาลัย (สนับสนุนด้านการเงินในรูปแบบต่างๆ มากสุด) แต่ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยของเขาก็พยายามพัฒนาปัจเจกภาพของนักศึกษาไปพร้อมกัน ถึงจะเป็นช่าง, เป็นหมอ, เป็นครู ฯลฯ ก็คิดแตกต่างจากช่าง, หมอ, ครู ฯลฯ คนอื่น เพราะความแตกต่างนี้เอง ที่ทำให้ช่าง, หมอ, ครู ฯลฯ คิดแก้ปัญหาไปในทางใหม่ ซึ่งอาจมีประสิทธิภาพดีกว่าทางแก้แบบเดิม

ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของสังคมสมัยใหม่โดยทั่วไป มองเห็นความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคลเป็นคุณแก่สังคม ในขณะที่ประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของสังคมไทยมองเห็นความแตกต่างของแต่ละปัจเจกบุคคลเป็นอันตราย หรือถึงเป็นโทษด้วยซ้ำ (ไม่อย่างนั้นจะบังคับให้นิสิตนักศึกษาแต่งเครื่องแบบให้เหมือนกันทำไม)

เป้าหมายของการจัดการศึกษาแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยมาแต่โบราณ เป็นเป้าหมายทางศาสนาบ้าง, การเมืองของชนชั้นนำตามประเพณีบ้าง, การเมืองของพลเมืองบ้าง, ระบบการผลิตทางเศรษฐกิจบ้าง ฯลฯ หลังจากที่เป้าหมายเหล่านั้นถูกท้าทายสืบมา ในที่สุดก็มาลงเอยที่การพัฒนาปัจเจกภาพของผู้เรียนในปัจจุบัน

แต่ปัจเจกภาพนั่นแหละที่วัฒนธรรมสมัยใหม่ของไทยระแวงอย่างยิ่ง ผู้ปฏิรูปการศึกษาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เห็นว่าทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว ทำให้สังคมขาดระเบียบและเสื่อมโทรมลง นักการศาสนาเห็นว่าทำให้คนมีการศึกษาห่างไกลจากอุดมคติทางศาสนา เผด็จการทหารเห็นว่าทำให้คนมีการศึกษาไม่รักชาติ และว่านอนสอนยาก ทำลายความสามัคคี ฯลฯ

ผมพูดเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่า เงื่อนไขทางสังคมและวัฒนธรรมไทยเองนั่นแหละ ที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยไม่ใส่ใจจะพัฒนาปัจเจกภาพของนักศึกษา

แต่คนชั้นกลางไทยมีชีวิตอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญแก่ปัจเจกภาพ คนรุ่นใหม่ยอมรับวิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายได้มาก (กว่าคนรุ่นผม) จะสโลว์ไลฟ์, จะนั่งสมาธิ, จะหลงใหลชนบท, จะเป็นฮิปสเตอร์ ฯลฯ อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเดินตามเส้นทางของผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจนโด่งดังเพียงหนทางเดียว (เหมือนสัก 30 ปีที่แล้ว)

ในแง่นี้พื้นที่ห้างสรรพสินค้าจึงมีเสน่ห์แก่นักศึกษาเสียยิ่งกว่ามหาวิทยาลัย แม้เป็นปัจเจกภาพอย่างหลอกๆ ก็ตาม

ที่นั่น คือที่ซึ่งเราสามารถแสดงตัวตนของเราที่อยากให้คนอื่นเห็น บอกสถานภาพไม่มากนัก แต่บอกรสนิยม, บอกความเชื่อลึกๆ บางอย่าง, บอกค่านิยมที่แตกต่างจากคนอื่น, ฯลฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพอย่างนั้น

เพื่อนฝูงที่ยังสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยปัจจุบันบ่นถึงความไม่ใส่ใจเล่าเรียนของนักศึกษากันบ่อยๆ แม้ว่าการสอนของท่านเหล่านั้นมุ่งจะปลูกฝังการพัฒนาปัจเจกภาพของผู้เรียน แต่ก็เป็นเพียงส่วนน้อยของพื้นที่มหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ได้มีแต่การสอนเพียงอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากที่พยายามตะล่อมให้นักศึกษากลายเป็นฝูงชนที่ไม่มีปัจเจกลักษณะเหมือนกัน

ทำไมเขาจะต้องเข้าเรียนตรงเวลา ในเมื่อห้างสรรพสินค้าเปิดเกือบทั้งวัน และสามารถเดินเข้าห้างได้ตามเวลาสะดวกของตน ทำไมจึงต้องเอาใจใส่ฟังการสอน ในเมื่อในห้างสรรพสินค้าเขาสามารถพูดคุยแม้แต่กับคนที่ไม่ได้อยู่ต่อหน้าผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ทำไมเขาจะต้องอ่านอะไรที่ไม่อยากอ่าน ในเมื่อห้างสรรพสินค้าไม่เคยบังคับให้เขาทำอะไรหลังออกจากห้างไปแล้วเลย… ทำไม ทำไม ทำไม อีกมากมาย

ในพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้ชิดติดกัน จนแทบจะเหลื่อมเข้าหากันเช่นมหาวิทยาลัยและห้างสรรพสินค้า (ไม่ได้หมายในทางภูมิศาสตร์ แต่หมายในทางวิถีชีวิต) จะแยกพฤติกรรมของคนในสองพื้นที่นี้ได้อย่างไร

ยิ่งกว่านี้ หากมองการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเป็นการฝึกอาชีพเพื่อการทำมาหากินในอนาคต ห้างสรรพสินค้าเสียอีกที่แนะการทำมาหากินมากกว่า มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เช่าพื้นที่ในห้างเพื่อขายกระเป๋า, เข็มขัด, และเครื่องหนัง ทั้งที่ทำจากหนังจริงและหนังเทียม มีหนุ่มสาวที่มีทุนพอจะเช่าร้านและเปิดขายกาแฟสำหรับฮิปสเตอร์ ซึ่งไม่มีแบรนด์ดังทั่วโลก แต่มีลักษณะเฉพาะพิเศษของตนเอง มีหนุ่มสาวเช่าพื้นที่เพื่อทำมาค้าขายอะไรอื่นๆ อีกนานาชนิด ซึ่งอาจเรียนรู้ได้

มหาวิทยาลัยไม่ได้เปิดให้เรียนรู้ทางเลือกในการทำมาหากินมากเท่า และโดยทั่วไปก็ไม่ได้สอนให้สร้างความรู้ใหม่ ซึ่งเป็นการท้าทายที่น่าสนุกด้วย แต่มหาวิทยาลัยเพียงแต่ถ่ายทอดทักษะที่จำเป็นบางอย่าง เพื่อไปรับจ้างเข้าใช้ทักษะนั้นในอนาคตเท่านั้น

มหาวิทยาลัยจึงเป็นพื้นที่อันน่าเบื่อหน่าย และทำให้ปรากฏการณ์ไม่สนใจเรียนแพร่หลายทั่วไป มีห้างให้เดินมากเท่าไร มหาวิทยาลัยก็เป็นพื้นที่ซึ่งไม่น่าเดินมากเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image