อพท.ชี้ชุมชนไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีสินค้าโอท็อป

พันเอกนาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) หรืออ.พ.ท. เปิดเผยถึงมาตรการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น (โอท็อป) ตลอดช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เห็นว่า มาตรการดังกล่าว ไม่สามารถสร้างรายได้สู่ชุมชนฐานรากอย่างแท้จริง เพราะร้านค้าชุมชนจำนวนมาก ไม่สามารถออกใบกำกับภาษีได้ แต่รายได้ที่เกิดกับชุมชนจะเป็นทางอ้อม ด้วยการขายสินค้าได้ผ่านพ่อค้าคนกลาง ที่นำไปขายตามห้างสรรพสินค้า สนามบิน ร้านค้าชื่อดังมากกว่า เพราะสินค้าที่จะขายในสถานที่ดังกล่าวได้ จะต้องผ่านมาตรฐานจากหน่วยงานที่ตรวจสอบก่อน แต่อย่าลืมว่า ยังมีสินค้าโอท็อปอีกเป็นจำนวนมากที่เกิดจากภูมิปัญหาท้องถิ่น และนักท่องเที่ยวสนใจซื้อ แต่ยังไม่สามารถนำไปจำหน่ายบนห้างสรรพสินค้าได้

“เห็นว่า รัฐบาลต้องเพิ่มช่องทางการกระจายรายได้จากมาตรการดังกล่าว เพื่อให้เม็ดเงินเข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง เพราะสินค้าโอท็อปที่จะใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้น ก็ต้องมาจากบริษัทที่จดทะเบียน แต่ยังมีผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนอีกมากที่ผลิตกันเอง ไม่ได้ถึงกับต้องตั้งบริษัทจึงทำให้ไม่ได้รับอานิสงส์จากเรื่องนี้มากนัก นอกจากนี้ ยังเห็นว่าระยะเวลาการลดหย่อนภาษี สั้นไป ควรสนับสนุนมาตรการนี้ไปจนถึงสิ้นปี เพื่อขยายโอกาสสร้างรายได้ ช่วยให้เงินในชุมชนหมุนเวียนมากขึ้นในช่วงเศรษฐกิจยังซบเซา อย่างไรก็ตาม อพท.ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำการประเมินผลลัพธ์ของพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนยัง โดยเตรียมดึง ชุมชน ผู้ประกอบการท่องเที่ยว องค์กรภาครัฐในชุมชนต่างๆ รวมกันเป็นภาคีเครือข่ายพัฒนาองค์ความรู้ ประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งขณะนี้มีภาคีเครือข่ายของ อพท. 150 หน่วยงาน ผลปรากฏว่าสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น 2.09 เท่า สูงกว่าผู้ประกอบการธุรกิจทั่วไปที่ไม่ได้เป็นภาคีเครือข่ายที่ผลการประเมินอยู่ที่ 1.38 เท่า หรือหมายความว่าทุกการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นผ่านภาคีเครือข่าย 100 บาท จะทำให้เกิดรายได้ทวีคูณถึง 209 บาท” พันเอกนาฬิกอติภัคกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image