วิกฤตใหม่ของพุทธไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

วิกฤตใหม่ของพุทธไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

วิกฤตใหม่ของพุทธไทย

อุบาสกท่านหนึ่งเรียนถามท่านอาจารย์พระไพศาล วิสาโล ว่า เหตุใดความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของตนจึงกลับกลายมาเป็นความรู้สึกต่อต้าน หรือไม่เลื่อมใสศรัทธาเหมือนเก่า

วิสัชนาของท่านอาจารย์พระไพศาลก็คือ คงเป็นเพราะอุบาสกท่านนั้นได้ยินข่าวคราวเสื่อมเสียของพระสงฆ์อยู่เนืองๆ จึงทำให้เสื่อมศรัทธา

ในฐานะแฟนข้อเขียนที่เหนียวแน่นของท่านอาจารย์พระไพศาล ผมออกจะแปลกใจกับคำตอบของท่านอย่างมาก เพราะผมได้ยินคำตอบอย่างนี้มาตั้งแต่ยังหนุ่มไม่เต็มที่จากนักปราชญ์ไทยอีกท่านหนึ่ง คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

คุณคึกฤทธิ์ถึงกับเขียนเสียดสีพระว่า ชาวพุทธไทยสมัยของท่านต่างก็นับถือพระพุทธ พระธรรม และท่านหญิงพูนฯ (ม.จ.พูนพิสมัย ดิสกุล ซึ่งทรงทำกิจกรรมในทางส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่มาก)

Advertisement

ก็จริงหรอกครับ นักบวชในทุกศาสนาย่อมถูกถือเป็นตัวแทนของอุดมคติในศาสนา แม้คนทั่วไปไม่คิดจะดำเนินชีวิตตามอุดมคตินั้น แต่ต้องมีใครสักกลุ่มหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่า อุดมคติเช่นนั้นมีจริงหรือปฏิบัติได้จริง และมีมรรคผลจริง ฉะนั้น นักบวชที่ไม่ดำเนินชีวิตตามอุดมคติ ก็อาจทำให้ศาสนิกเกิดความแคลงใจต่ออุดมคติทางศาสนาว่า จริงและได้ผลแน่หรือ

ฉะนั้น ตอบแบบนี้ก็ไม่ผิดอะไรนะครับ เพียงแต่ว่าวิกฤตของพระพุทธศาสนาไทยปัจจุบัน อาจเลยขั้นความประพฤติของนักบวชไปแล้ว

แต่วิจิกิจฉาของคนไทยจำนวนไม่น้อย (ไม่ได้หมายความว่ามากกว่านะครับ แต่ไม่น้อยทีเดียว) ที่มีต่อพระพุทธศาสนาในเวลานี้ เป็นวิจิกิจฉาต่อตัวคำสอนเลยแหละครับ หรือพูดให้น่ากลัวกว่านั้น คือวิจิกิจฉาต่อพระธรรม แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่คำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะนั่นไม่มีใครรู้ว่าเมื่อ 2,500 ปีก่อนนั้น ท่านสอนอะไร นักวิชาการที่เชี่ยวชาญบาลี, สันสกฤต, ทิเบต, จีน ฯลฯ ก็ยังเถียงกันไม่เลิก

Advertisement

คำสอนของพระศาสดาย่อมถูกตีความให้เหมาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่อย่างนั้นศาสนาก็ย่อมสูญสภาพความน่าเชื่อถือลง ผมไม่ได้หมายความว่าการตีความนั้นต้องบิดเบือนคำสอนนะครับ แต่อย่างน้อยก็ต้องเปลี่ยนหรือขยายหรือทุเลาจุดเน้นของคำสอนในยุคโบราณเมื่อองค์ศาสดายังมีชีวิตอยู่

วิจิกิจฉาต่อพระธรรมคำสอนในสังคมไทยคืออย่างนี้แหละครับ คือแคลงใจต่อสิ่งที่เชื่อกันว่าเป็นพระธรรมคำสอน ว่ายังมีคุณค่าในปัจจุบันนี้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ ไม่เฉพาะแต่พระธรรมคำสอนซึ่งถูกอธิบายกันในเมืองไทยปัจจุบันเท่านั้น แต่รวมถึงที่อธิบายกันทั่วโลกด้วย ซึ่งโดยแก่นความแล้ว ก็ไม่สู้จะต่างกันนัก

ผมอยากยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นมาให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะประเด็นที่ผมเห็นว่าฉกาจฉกรรจ์มากๆ เพราะมันเป็นค่านิยมที่ออกจะ “สากล” ในโลกปัจจุบัน ผู้คนจำนวนไม่น้อยเห็นดีเห็นงามกับมัน จนบางคนพร้อมจะไปตายให้มันด้วยซ้ำ แต่คำสอนในพระพุทธศาสนาไทยกลับไม่พูดถึง หรือพูดแผ่วเกินไป

เรื่องแรกเลยซึ่งอาจเป็นพื้นฐานของปัญหาทั้งหมดก็ได้ นั่นคือด้วยเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งไม่มีพื้นที่จะอธิบายในที่นี้ พระพุทธศาสนาไทยกลายเป็นคำสอนแก่ปัจเจก มุ่งที่จะให้เกิดผลแก่ปัจเจก ไม่มีหรือแทบไม่เกี่ยวกับมิติทางสังคมหรือมนุษยชาติแต่อย่างไร แต่ในโลกที่ใครๆ ก็มองเห็นว่า เงื่อนไขทาง “สังคม” เข้ามากำหนดชีวิตของตนอย่างมาก และในหลายกรณีอาจจะมากกว่าที่ปัจเจกจะสามารถเอาหลักธรรมคำสอนใดๆ มาแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางสังคมนั้นๆ ได้ อย่างเก่งก็แค่ใช้หลักธรรมคำสอนให้ตัวเองอยู่เหนือเงื่อนไขทางสังคมเท่านั้น จะให้นับถือพระพุทธศาสนาโดยไม่มีวิจิกิจฉาเลยได้อย่างไร

คนที่รู้พระพุทธศาสนาดีกว่าผมเช่น David Loy ก็พูดอย่างเดียวกัน เขากล่าวว่าพุทธศาสนิกตะวันตก ใช้หลักธรรมคำสอนเพื่อให้ตนเองพ้นจากความทุกข์ในที่ทำงาน (เพื่อนอิจฉา, เพื่อนน่าเบื่อ, นายเห็นแก่ตัวมากกว่างาน ฯลฯ ก็คือชาตินี้) ในขณะที่ชาวพุทธตะวันออกใช้หลักธรรมคำสอนเพื่อทำให้อนาคตของตนดีขึ้น ไม่ในชาตินี้ก็ชาติหน้า

เขาถามว่า การเน้นแต่ปัจเจกเช่นนี้จะแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างไร ก็คงต้องตอบแบบที่ชาวพุทธไทยตอบมานานแล้ว เมื่อถูกถามว่าพระพุทธศาสนาจะทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร คือตอบว่าถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมก็ดีเอง… ผมจำได้ว่านักคิดฝ่ายซ้ายสมัยก่อนมักพูดเสมอว่า 2,500 ปีมาแล้ว ยังไม่เกิดสังคมที่ทุกคนเป็นคนดีขึ้นสักแห่งในโลกนี้

ด้วยเหตุดังนั้น ค่านิยมเชิงสังคมสมัยใหม่ในสังคมไทย จึงต้อง “นำเข้า” มาจากภายนอกทั้งนั้น เพราะพระพุทธศาสนาไทยไม่ได้ “ผลิต” ขึ้นเองจากหลักธรรมคำสอน จนกลายเป็นที่รังเกียจว่า “ตามก้น” ฝรั่ง จนดูเหมือนเรารังเกียจก้นฝรั่งเสียยิ่งกว่าจุดหมายปลายทางซึ่งฝรั่งกำลังนำไป (แต่เราไม่รังเกียจก้นแขก)

จะว่าไปค่านิยมเชิงสังคมสมัยใหม่เหล่านั้นล้วนเป็นศีลธรรมเชิงโลกียวิสัย (secular) ทั้งสิ้น พูดอีกอย่างหนึ่งคือไม่ได้ผลิตออกมาจากศาสนา แต่ฝรั่งก็มักอ้างเสมอว่าค่านิยมบางอย่างเหล่านี้มีมูลรากมาจากคำสอนทางศาสนา เช่น ความเสมอภาคของมวลมนุษย์ เป็นต้น

ฉะนั้น จะอ้างว่าศาสนาอื่นๆ ก็ไม่ได้ผลิตค่านิยมเชิงสังคมสมัยใหม่เหมือนกันก็ได้ ข้อนี้คงเถียงกันได้ แต่ช่างเถิด ข้อสำคัญกว่านั้นก็คือ มีหลายศาสนาที่ยอมรับและพยายามกลืนค่านิยมใหม่เหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักธรรมคำสอน คริสต์ศาสนานิกายโรมันคาทอลิกเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในปัจจุบัน แต่ก็ใช่ว่าจะมีเพียงเท่านั้น นักคิดในสายอิสลามหลายท่านในหลายสังคมก็ทำอะไรบางอย่างในแนวนี้เหมือนกัน

นอกจากการเน้นปัจเจกเสียจนมิติทางสังคมหายไปแล้ว ผมคิดว่าพระพุทธศาสนาไทยไม่ใส่ใจกับประชาธิปไตย และบางครั้งถึงกับต่อต้านเลยก็มี เช่น เอาศักยภาพของคนสามระดับที่อาจเข้าถึงธรรมได้ มาสนับสนุนการกระจายสิทธิที่ไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม

ในขณะเดียวกัน ในสมัยหนึ่งเมื่อประชาธิปไตยยังเป็นที่ยอมรับในสังคมไทย นักคิดชาวพุทธไทยก็มักยืนยันความเป็นประชาธิปไตยในพุทธศาสนา โดยยกเอาความสัมพันธ์ในหมู่สงฆ์มาชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง เช่นจะถวายผ้ากฐินแก่พระภิกษุรูปใด ก็ต้องอาศัยความเห็นชอบของเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมสงฆ์ แต่นักคิดไทยไม่ค่อยสนใจกระบวนการ (procedural) ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาธิปไตยสามารถทำงานได้ เช่น การลงมติในหมู่สงฆ์นั้น กระทำกันโดยเปิดเผย ไม่มีกระบวนการใดๆ ที่จะปกป้องภิกษุแต่ละรูป ให้สามารถใช้วิจารณญาณของตนได้อย่างอิสระเสรีแท้จริง

ลงมติทีไร เจ้าอาวาสก็ได้ผ้ากฐินไปครองทุกที โดยเฉพาะหากเป็นผ้าพระกฐินหลวง

ความเป็นประชาธิปไตยของพุทธจึงเป็นประชาธิปไตยโดยรูปแบบ ไม่มีกระบวนการที่จะช่วยทำให้บรรลุถึงอุดมคติของประชาธิปไตย (เสรีภาพของปัจเจกในการตัดสินใจเรื่องของส่วนรวม) พระพุทธศาสนาไทยจึงประกาศความเป็นประชาธิปไตยได้ โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงกับเนื้อหาของคำสอนที่เกี่ยวกับพระจักรพรรดิ, ธรรมราชา, สมมติราช ฯลฯ แต่อย่างใด เหตุใด อำนาจทางธรรมของบุคคลหนึ่ง จึงสามารถทำให้เขาสามารถเถลิงอำนาจทางโลกอย่างไม่มีขีดจำกัดเช่นนั้นได้

ผมไม่ได้คิดว่าประชาธิปไตยเป็นธรรมะของโลกปัจจุบันที่ปฏิเสธไม่ได้ ได้ครับ ปฏิเสธเลย แต่ต้องด้วยข้อมูลและเหตุผลที่หนักแน่นพอสมควร ไม่ใช่ด้วยหลักการนิ้วก้อย นิ้วโป้งของมหาดไทย หรือทำให้ชาติอ่อนแอแบบกองทัพ

พุทธศาสนาไทยไม่ได้ยกย่องให้ความสำคัญแก่ประชาธิปไตย แต่ก็ไม่ได้ออกมาคัดค้านต่อต้านประชาธิปไตยโดยตรง

ทุนนิยมก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่พระพุทธศาสนาไทยวางเฉย หรือดูเหมือนสนับสนุนด้วยซ้ำ ทุนนิยมดีหรือไม่ดีนั้นยกไว้ก่อน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผู้คนจำนวนมากในโลกปัจจุบันที่ได้รับความเดือดร้อนจากทุนนิยม จนแม้แต่สภาพทางนิเวศน์ที่มนุษย์จะดำรงอยู่ต่อไปไม่ได้ ก็มาจากทุนนิยม พุทธศาสนาไทยจะต่อต้านทุนนิยม หรือมีข้อเสนออะไรให้ปรับแก้ทุนนิยม เพื่อความเป็นธรรมแก่คนทั่วไป และแก่ระบบนิเวศน์ของโลก

ในท่ามกลางการกระจุกตัวของรายได้และทรัพย์สินไว้ในมือคนหยิบมือเดียว ผมพร้อมจะ “สันโดษ” แก่ตัวผมเอง ซึ่งพอเอาตัวรอดได้ แต่ผมจะไปบอกคนที่เอาตัวไม่รอดซึ่งมีอยู่มากทีเดียวว่า สันโดษเหมือนผมสิ ได้อย่างไร

พระธรรมคำสอนไม่มีอะไรจะพูดกับเสรีนิยมใหม่ทางเศรษฐกิจเลยหรือครับ นอกจากสันโดษ

ความเสมอภาคทางเพศก็เป็นเรื่อง “ร้อน” อีกเรื่องหนึ่งในโลกปัจจุบัน พระพุทธศาสนาไทยไม่อนุญาตให้ผู้หญิงได้บวชเป็นภิกษุณี อ้างว่าพระภิกษุณีได้ขาดสายไปแล้ว จึงไม่สามารถทำอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระวินัยได้ แต่ความเสมอภาคทางเพศเป็นเรื่องใหญ่แก่คนปัจจุบันมากจนกระทั่ง ผมไม่แน่ใจว่าพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว เพียงพอที่จะทำให้คนปัจจุบันยอมรับการไม่มีพระภิกษุณีได้

นี่ยังไม่ได้พูดถึง “บัณเฑาะก์” (ซึ่งคืออะไรผมก็ไม่ทราบแน่) แต่สิทธิเสมอภาคของเพศวิถีอันหลากหลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ของคนปัจจุบัน

พระพุทธศาสนาไทยจึงจำเป็นต้องโต้ตอบ (address) กับทั้งเรื่องเพศสภาพและเพศวิถี

ยิ่งเรื่องของคุณธรรมเชิงมนุษยธรรมที่อยู่พ้นจากปัจเจกออกไป พระพุทธศาสนาไทยนั้นอยู่ในขั้น “น่ารังเกียจ” เอาทีเดียว ถ้าคิดว่าเราทำอะไรกับผู้อพยพโรฮิงญา, ทำอะไรกับพ่อและสามีชาวอุยกูร์, เราทำอะไรกับผู้ลี้ภัยทางเศรษฐกิจจากพม่า, ลาว และกัมพูชา หลังจากเสื้อแดงถูกฆ่าร้อยคน ชาวพุทธไทยออกมาล้างถนนและอาลัยต่อตึกที่ถูกเผา เพื่อแสดงสำนึกต่อส่วนรวมเท่าที่พวกเขาเข้าใจ ฯลฯ

ท่ามกลางปรากฏการณ์ซึ่งท้าทายสำนึกความเป็นมนุษย์อย่างนี้ แม้ว่าพระภิกษุทุกรูปในเมืองไทยปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบกันหมด ผมก็ยังอดมีวิจิกิจฉาต่อพุทธธรรมไม่ได้ หรือยิ่งมีมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะจะโทษพระก็ไม่ได้เสียแล้ว

คณะสงฆ์ไทยนั้นมีปัญหาแน่ จะปฏิรูปการศึกษาคณะสงฆ์, การจัดองค์กร, หรืออะไรอื่นที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ก็ทำเถิดครับ แต่นั่นเป็นส่วนเดียวของวิกฤตพระพุทธศาสนาไทยในปัจจุบัน ที่ผู้คนอาจเสื่อมศรัทธาไปเรื่อยๆ แต่ส่วนที่สำคัญกว่าก็คือตัวเนื้อหาหลักธรรมคำสอน ซึ่งไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงกับชีวิตจริง และชีวิตทางความคิดของผู้คนในโลกยุคปัจจุบันไปเสียแล้ว

จะทำอย่างไรได้บ้างก็เกินสติปัญญาของผม เพียงแต่อยากเตือนว่า จะปฏิรูปหลักธรรมคำสอนอย่างที่วชิรญาณภิกขุก็ตาม, พุทธทาสภิกขุก็ตาม, อาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็ตาม หรืออาจารย์ชา สุภัทโท ก็ตาม ได้ทำมาแล้ว ก็ไม่พ้นหลักธรรมคำสอนอันมีลักษณะปัจเจกนิยม ตอบปัญหาของคนร่วมยุคสมัยได้ในฐานะปัจเจก แต่ไม่อาจตอบปัญหาแก่บุคคลซึ่งถูกแวดล้อมด้วยเงื่อนไขทางสังคมได้อย่างมนุษย์ในโลกปัจจุบัน

อยู่เหนือโลกนั้นแก้ปัญหาของปัจเจกได้แน่ แต่แก้ปัญหาของโลกไม่ได้ คนในโลกปัจจุบันไม่คิดว่าการไม่ยึดติดกับโลก แล้วสามารถวางเฉยอยู่ท่ามกลางความอยุติธรรมนานาชนิดได้ คือศีลธรรมที่พึงใฝ่หาเสียแล้ว

ผมคิดว่าหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนาไทย กำลังต้องการการตีความใหม่ที่กินความกว้างขวางกว่าการตีความที่ผ่านมาในอดีต และอาจเลยหลักการที่เป็นข้อจำกัดของพุทธสายเถรวาทด้วย ผมจึงไม่แน่ใจว่าสังคมไทยจะผ่านวิกฤตทางศาสนาครั้งนี้ไปได้

และคงเป็นเพราะ ลึกๆ ลงไปทุกคนก็สำนึกถึงความอับจนมืดมนอย่างที่กล่าวมานี้ ต่างจึงออกมาปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยอำนาจแห่งความโกรธความเกลียดอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนเลย นับตั้งแต่เรียกให้รัฐออกมาปกป้องพระพุทธศาสนายิ่งขึ้นไปถึงขั้นประกาศให้เป็นศาสนาประจำชาติ แสดงความอาฆาตมาดร้ายและกีดกันศาสนาอื่น โดยเฉพาะอิสลาม

พระพุทธศาสนาไทยกำลังตกอยู่ในสถานะเดียวกับสถาบันอื่นๆ ในสังคมไทยที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ นั่นคือคิดว่าตัวจะอยู่รอดได้ง่ายขึ้นหากสร้างศัตรูที่ร้ายกาจขึ้น เพื่อเรียกร้องการรวมแรงรวมใจต่อสู้ศัตรู

สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยออกมาทำอะไรที่มากกว่าการแทงบิลเลียด และเต้นรำในงานฉลองมหาวิทยาลัยอีกมาก ตุลาการพร่ำบ่นถึงคุณความดีอันสูงส่งของ “บรรพตุลาการ” ซึ่งนักกฎหมายรุ่นหลังกำลัง “ล่วงละเมิด” ผู้คนสูญเสียค่าความเป็นคนไปเพราะเขากลายเป็นแค่ “ขยะแผ่นดิน” ทหารหัวฟัดหัวเหวี่ยงเมื่อถูกถามว่ามีไว้ทำไม ฯลฯ

ช่วยกันเพาะศัตรูของพระพุทธศาสนาไทยให้มากและร้ายกาจ แล้วพระพุทธศาสนาจะอยู่รอดในสังคมนี้หรือ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image