โควิด-19 กับ The Next Normal ของการท่องเที่ยวไทย

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา มนุษย์ก็เข้าสู่ยุคของความสมบูรณ์ด้านวัตถุอย่างไม่สิ้นสุด วงการแพทย์ได้พัฒนาด้วยความก้าวหน้าจนกระทั่งมนุษย์คิดว่าโรคระบาดจะไม่ใช่ภัยร้ายแรงที่จะทำลายคนเป็นแสนเป็นล้านคนอีกต่อไป และจะสามารถสยบรวมทั้งจำกัดขอบเขตได้จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ในช่วงเวลาเพียงไม่กี่เดือน

โควิด-19 ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจของนานาประเทศโดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและการเดินทางให้เสียหายมากที่สุด ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจท่องเที่ยวนั้นต้องอาศัยการติดต่อหรือการเดินทางและการติดต่อระหว่างมนุษย์เป็นแกนกลางของการบริการ แม้ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะได้เข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่การบริการโดยน้ำมือและสัมผัสจากมนุษย์ยังนับเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จริงแล้วการท่องเที่ยวที่ยิ่งวิเศษเลิศหรูอลังการมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการบริการท่องเที่ยวที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นทั้งแรงงานที่มีทักษะ แรงงานบริหารจัดการ และแรงงานจิตบริการมากขึ้นเท่านั้น

คำถามใหญ่ก็คือว่า หลังจากโควิด-19 สงบลงแล้วระบบเศรษฐกิจท่องเที่ยวซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจที่สำคัญระบบหนึ่งของโลกจะเป็นไปอย่างไร มนุษย์จะท่องเที่ยวเหมือนเดิมอีกหรือไม่ คำตอบนี้ตอบไม่ยากนักเพราะว่ามนุษย์สมัยใหม่ได้เสพติดการท่องเที่ยวไปแล้ว ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นการท่องเที่ยวก็จะดำเนินต่อไป เอเยนซี่ท่องเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของจีน Ctrip.com Group ได้สำรวจชาวจีน 15,000 คนพบว่า คนจีนพร้อมจะเดินทางท่องเที่ยวแล้ว หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งร้อยละ 90 เลือกที่จะเที่ยวในประเทศซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ เพราะคนจีนที่เที่ยวต่างประเทศปีหนึ่งๆ ประมาณ 130 ล้านครั้ง ในขณะที่เที่ยวในประเทศประมาณ 4,000 ล้านครั้ง

คำถามที่ตอบยากกว่าคำถามแรกก็คือ แล้วการท่องเที่ยวในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับว่าโรคระบาดคราวนี้จะอยู่กับเรานานเท่าไหร่ โดยธรรมชาติของโรคระบาดแล้วมักจะมาเป็นระลอกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการระบาดเกิดขึ้นไม่พร้อมกันทั้งโลก ดังนั้น ความฝันที่ว่าเจ็บแล้วจบเร็วนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพราะโควิด-19 อาศัยการเดินทางเข้าออกซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อ หากไม่ควบคุมให้ดีก็จะเกิดการระบาดรอบสองและรอบสามอีกด้วย ในขณะนี้ดูเหมือนจะว่าไทยจะสามารถควบคุมโรคระบาดได้ในระดับหนึ่งแล้วก็จริง แต่ยุโรปที่เป็นตลาดใหญ่อีกตลาดของเราก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ ส่วนสหรัฐก็เป็นศูนย์กลางการระบาดใหม่แล้ว ต่อไปก็อาจจะย้ายมาอยู่อินเดียหรือที่อื่นๆ อีก ยิ่งไปกว่านั้นในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเรานั้น แรงงานที่อยู่ใน back office เป็นแรงงานต่างด้าว จากเมียนมา ลาว และกัมพูชาซึ่งมี peak ของโรคระบาดต่างจากเราและประเทศเหล่านั้นมีความสามารถในการควบคุมการระบาดของโรคต่างกันอีกด้วย

Advertisement

ดังนั้นเมื่อไทยเปิดให้มีการเข้าออกประเทศทั้งทางอากาศและทางบก แรงงานต่างด้าวก็จะเริ่มกลับเข้ามา โอกาสที่จะเกิดโรคระบาดรอบสองและรอบสามก็จะมีมาอีก กว่าจะสงบจริงๆ ก็คงเป็นปลายปี 2564

ดั งนั้น รัฐบาลไทยจะต้องเริ่มคิดว่าจะจัดการกับ The Next Normal ของการท่องเที่ยวไทยภายใต้สถานการณ์การแพร่เชื้อเป็นระลอกๆ ได้อย่างไร ซึ่งในระยะถัดไปนี้ยังเป็นสถานการณ์ภายใต้ความเสี่ยงของโรคระบาด (ซึ่งจะต่างจาก New Normal ซึ่ง
โควิด-19 สงบราบคาบแล้ว) ประสบการณ์ของไทยจากการกระจายอำนาจในการจัดการโควิด-19 คราวนี้ดูเหมือนว่าจะให้ผลดีในด้านความยืดหยุ่นและความมีประสิทธิภาพ ในเดือนตุลาคมนี้ก็น่าจะเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวในประเทศก่อน หากจะเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางได้เต็มที่ทุกเมืองอาจจะเป็นเรื่องเร็วเกินไป แต่อาจเปิดให้มีการเดินทางท่องเที่ยวได้เป็นบางเมืองที่สามารถบินตรงหรือเป็นเขตเมื่อโควิด-19 สงบลงเช่น กทม. ภูเก็ต ชลบุรี และเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวยังต้องมีประกันสุขภาพและต้องมีใบรับรองแพทย์ว่าปลอดเชื้อโควิด-19 และอาจจะต้องทำ Rapid test ที่สนามบินหรือที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง เรื่องนี้ต้องมีการเตรียมการในรายละเอียดต่อไป

ในสถานการณ์หลังโควิด-19 การท่องเที่ยวหากจะเกิดขึ้นก็คงไม่เหมือนเดิม นักท่องเที่ยวที่เฉียดความตายมาแล้วก็ย่อมมีความระมัดระวังในการใช้ชีวิตขณะท่องเที่ยวมากขึ้น ปัจจัยที่นักท่องเที่ยวต้องพิจารณาก่อนตัดสินใจเลือกจุดหมาย นอกจากสิ่งดึงดูดใจแล้วยังจะต้องคิดอีกว่าประเทศไหนดูจะมีความสามารถในการจัดการปัญหาสุขอนามัยได้มากที่สุด ถ้าดูสถิติ ณ วันนี้ประเทศไทยก็ทำได้ดีที่สุดในอาเซียนดูเหมือนจะดีกว่าสิงคโปร์ในด้านการติดเชื้อและการตายต่อประชากรที่เราต่ำกว่ามาก

Advertisement

ลำดับต่อไปก็คือ ระบบบริการของเราก็ต้องพัฒนาให้มีสุขอนามัยและสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น เช่น บริการที่พักและสถานบันเทิงต่างๆ ก็ต้องมีการยกระดับมาตรการการ ดูแลรักษาความปลอดภัยจากโรคระบาด ต้องมีบริการเสริม เช่น ต้องมีการอบฆ่าเชื้อห้องพัก มีเครื่องฉายแสงยูวีให้ลูกค้าเพื่อทำลายเชื้อที่มากับกุญแจ ธนบัตร มีหน้ากากผ้าแจก มาตรการเช่นนี้จะมีประสิทธิผลแค่ไหนก็ไม่สำคัญ แต่ลูกค้าต้องเชื่อว่าทำให้พวกเขาปลอดภัยจากโรคระบาด

และต้องมีการปรับตัวเป็นทัวร์กลุ่มเล็กๆ สนามบินของไทย ศูนย์การค้าและตลอดจนร้านสะดวกซื้อในแหล่งท่องเที่ยวควรปรับห้องน้ำต่างๆ เป็นระบบที่ไม่ต้องใช้ปุ่มหรือมือกด (No hand) การประชุมในโรงแรมก็ต้องใช้ไมโครโฟนน้อยลงหรือไม่ใช้เลย แต่ใช้ระบบเซ็นเซอร์แทน

ที่ สำคัญก็คือ เราต้องสามารถเชื่อมโยงระบบสารสนเทศการท่องเที่ยวเข้ากับการรักษาความปลอดภัย ทั้งสุขภาพและอุบัติภัย และทำได้แบบไร้รอยต่อ เช่น ข้อมูลประกาศต่างๆ ของรัฐที่เป็นภาษาสากล การเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบ กติกาของไทยในเวลาฉุกเฉิน การเข้าถึงโรงพยาบาล
สถานทูต ตำรวจ และที่ปรึกษาทางกฎหมาย ฯลฯ

นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังต้องพยายามเข้าสู่สังคมไร้เงินสดเร็วที่สุด ที่น่าสนใจก็คืออะไรจะเกิดกับอุตสาหกรรมแบ่งปัน (Sharing economy) ระบบรถเช่าแบบแบ่งปัน เช่น Grab น่าจะต้องถูกกฎหมาย Airbnb อาจต้องเพิ่มมาตรฐานในการรับที่พัก ส่วนโฮมสเตย์นั้นน่าจะต้องลำบากหน่อย หรือต้องยกระดับมาตรฐานด้านสุขภาพ แต่นักท่องเที่ยวอาจจะอางขนางที่จะพักในบ้านมากกว่าในโรงแรม

ท่ามกลางวิกฤตก็มีโอกาส บุคคลในวงการท่องเที่ยวอาจจะพอจำได้ว่าหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจตกต่ำมาก โรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยในตอนนั้นไม่มีลูกค้าเราจึงไปหาลูกค้าต่างประเทศมามากขึ้นกลายเป็นเมดิคัลฮับในปัจจุบัน หากเราสามารถปรับปรุงโรงแรมให้เป็นสถานที่เก็บตัวของผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อหรือผู้ที่ถูกกักตัวไว้เพื่อดูอาการ หรือจัดเป็นที่พักของกลุ่มเปราะบาง ซึ่งครอบครัวต้องการให้อยู่ห่างจากผู้ติดเชื้อเช่นผู้ที่เป็นมะเร็งและอยู่ในระยะพักฟื้น ผู้สูงอายุที่มีโรคเบาหวานและความดันสูง ในระยะยาวอาจจะเปลี่ยนไปเป็นที่พำนักและสถานบริบาลผู้สูงวัยที่นับวันก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือรับดูแล
ผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice care) ที่ไม่มีโรคติดต่อ และเป็นที่พักแบบลองสเตย์ของผู้สูงอายุชาวต่างประเทศ

คราวนี้ถ้าสามารถรับวิกฤตโควิด-19 และผ่าน The Next Normal ไปได้ดี เราจะกลายเป็น Wellness hub อย่างแท้จริง เป็น The New Normal ที่รอเราอยู่เมื่อ
โควิด-19 ถูกสยบโดยสิ้นเชิง!

 

มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด
มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image