สถานีคิดเลขที่ 12 : เหลื่อมล้ำในโควิด : สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

สถานการณ์โรคระบาด ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางของผู้คนในสังคม ในแง่การใช้ชีวิตของแต่ละคนที่ควรต้องดูแลรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่ทำให้กลายเป็นตัวแพร่เชื้อโควิด ดังจะเห็นได้จากคนจำนวนหนึ่งสามารถปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดในมาตรการเก็บตัวอยู่กับบ้าน แต่คนอีกส่วนหนึ่งไม่สามารถปฏิบัติได้ ซึ่งอาจจะมาจากวิถีการดำรงชีวิต หรือมีความจำเป็นต้องดิ้นรนต่างๆ นานา

จากจุดนี้ เริ่มเป็นประเด็นถกเถียงกัน ระหว่างคนที่ปฏิบัติตัวต่างกัน

จนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์โจมตีใส่กัน ในหัวข้อชีวิตที่มีระเบียบวินัยและดูแลสังคม
ส่วนรวมอย่างรับผิดชอบ

บางคนอาจจะบอกเล่า ถึงชีวิตดีๆ ที่ได้หยุดตัวเองอยู่ในบ้าน มีเวลาดูแลชีวิตความคิด ได้ทำอะไรต่อมิอะไรอย่างมีความสุข คล้ายจะเรียกร้องทุกคนว่า อย่าออกไปวุ่นวายสร้างปัญหาให้ส่วนรวมกันเลย

Advertisement

ขณะที่คนอีกส่วนอาจจะบอกว่า คนที่มีเงินเดือน นอนรับรายได้อยู่กับบ้านได้ ไม่ต้องดิ้นรนอะไร แม้เศรษฐกิจธุรกิจจะหยุดนิ่ง ย่อมใช้ชีวิตดีงามอะไรแบบนั้นได้แน่นอน

แต่คนจำนวนมาก เมื่อกิจการห้างร้านต้องปิดตัวลง ก็คือตกงาน จึงไม่สามารถเก็บตัวอยู่กับบ้านท่ามกลางความหิวโหยได้

การถกเถียงถึงวิถีชีวิตในยุคโควิดเช่นนี้ อันที่จริง เป็นเรื่องสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้เป็นอย่างดี

Advertisement

เป็นคำตอบว่า ทำไมคนจำนวนมาก พร้อมจะออกไปยืนเข้าแถวยาวเหยียด เมื่อมีคนใจบุญตั้งโต๊ะบริจาคอาหาร ข้าวของ โดยไม่หวั่นเกรงว่าการไปรวมตัวแออัดจะเป็นการเสี่ยงโควิด

หรือทำไมเกิดภาพประชาชนมากมาย แห่กันไปยื่นร้องเรียนเงินเยียวยา 5 พันบาทอย่างมืดฟ้ามัวดิน จนกลายเป็นความอึดอัดคับข้องใจ แสดงออกอย่างน่าเศร้าสลด ไปจนถึงอย่างรุนแรงต่างๆ นานา

ถ้ามองคนที่ยากลำบากเหล่านี้อย่างเข้าใจ ก็จะรู้สึกสะท้อนใจว่า สังคมไทยเรายังมีความยากจนแผ่กว้างมากๆ

แต่ถ้ามองอย่างไม่เข้าใจ ก็จะเกิดข้อรังเกียจในหลายแง่มุม กระทั่งตีความไปถึงเบื้องหลังทางการเมือง สร้างเรื่องใส่ร้ายรัฐบาลอะไรไปโน่น

แม้แต่มาตรการให้ขาย หรือไม่ขายเหล้าเบียร์

ก็จะมีคนอีกส่วนหนึ่งชอบอกชอบใจ ว่าโควิดทำให้สินค้าบาป น้ำเมาน้ำนรก ตกไปจากตลาดค้าขายได้ ความดีมีศีลธรรมสามารถกลับมายึดครองสังคมไทยได้แล้วในช่วงระยะนี้

แต่เมื่อรัฐบาลทนแรงกดดันในแง่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลไม่ไหว จำต้องยอม
ผ่อนปรนให้กลับมาขายได้

ภาพคนไปแย่งยื้อซื้อเครื่องดื่มเหล้านี้ ก็ถูกโจมตีว่า ไหนบอกว่ากำลังจะอดตาย ไปโวยวายด่ารัฐบาลว่าเยียวยาไม่พอ แล้วทำไมมีตังค์มาแย่งซื้อเหล้ากันได้ อะไร
เหล่านี้

ทั้งที่การไปเบียดเสียดแย่งชิงอุ้มกันเป็นกล่องๆ เป็นลังๆ ดังกล่าว เป็นเหตุการณ์ในห้างค้าส่ง และเกิดกับผู้ขายส่ง

คงไม่ต่างจากที่เคยมีนักวิชาการวิเคราะห์ว่า การโฆษณาจน-เครียด-กินเหล้าคือแนวคิดเหยียดทางชนชั้น ราวกับว่ามีแต่คนจนเท่านั้นที่กินเหล้าและใช้ชีวิต
อย่างไม่รับผิดชอบ

สังคมไทยในช่วงสถานการณ์โควิด จึงเต็มไปด้วยเรื่องราวการถกเถียงโต้แย้ง
ที่มีพื้นฐานมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ซึ่งยังฝังรากลึกอยู่นั่นเอง

 

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image