‘ประกายแสงจากความเงียบ’ ภาพเคลื่อนไหว ในชีวิตไร้เสียงที่ไม่เคยสิ้นหวัง

แม็กกี้ เนตรชนก จันทา รับบทปุ๊กกี้ โดยเจ้าตัวก็เป็นผู้พิการทางการได้ยินเช่นกัน

จังหวัดอุดรธานี พ.ศ.2550

ในบ้านที่มีเด็กผู้หญิงผมบ๊อบนั่งดูประกวดนางงามจากโทรทัศน์

ตัดภาพมายังวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2561

หญิงสาววัยรุ่นฟ้อนตามจังหวะดนตรีพื้นบ้านอีสานในงานสถาปนาโรงเรียนครบ 50 ปี

Advertisement

ก่อนชื่อ “ปุ๊กกี้” ตัวแทนห้อง ม.6/3 ถูกประกาศเรียกเพื่อตอบคำถามพิธีกรในประเด็นการ “ก้าวข้ามความกลัว” ครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิต

แต่เธอไม่ได้ยิน ไม่ใช่เพียงเสียงจากไมโครโฟน หรือคำถาม ทว่า ทุกสุ้มเสียงนับแต่ลืมตากระทั่งนอนหลับในทุกๆ วันของชีวิต

ปุ๊กกี้ กาญจนา พิมพา Miss Deaf Thailand 2019
และ Miss Deaf Asia 2019

20 นาที 36 วินาที

คือความยาวของ “Shining Silence” หรือประกายแสงจากความเงียบ ภาพยนตร์สั้นสะท้อนชีวิตของผู้พิการทางการได้ยินภายใต้โครงการ 7 Inspirations ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ดำเนินการสร้างโดยอาจารย์จากวิทยาลัยวิจัยนวัตกรรมทางการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)

กำกับภาพยนตร์โดย ภูวดล เนาว์โสภา สร้างจากเค้าโครงจากเรื่องจริงของ ปุ๊กกี้ กาญจนา พิมพา Miss Deaf Thailand และ Miss deaf Asia ปี 2019 ร้อยเรียงเป็นภาพเคลื่อนไหว เผยแพร่ให้ผู้ชมได้รู้จัก เข้าใจมุมมองการใช้ชีวิตของหญิงสาวผู้พิการทางการได้ยิน รวมถึงบทบาทของครอบครัวซึ่งมีความสำคัญยิ่ง

“ถึงปุ๊กกี้จะไม่ได้ยินเสียงใครและพูดไม่ได้แต่ก็สามารถสื่อสารกันได้หากเราเปิดใจต่อกัน และสำหรับน้องๆ ผู้พิการทุกคน ปุ๊กกี้อยากให้ทุกคนมีความฝัน และทำตามความฝันมาสร้างโลกแห่งความสุข ที่เปล่งประกายแสงแห่งความหวัง ความฝัน และพลังสร้างสรรค์ร่วมกัน”

คือข้อความจากใจ ปุ๊กกี้ ที่สื่อสารอย่างแจ่มชัด เปล่งเสียงผ่านความรู้สึก ส่งถ้อยความโดยปราศจากเสียง ทว่าทรงพลังด้วยเนื้อหาหนักแน่น

ปุ๊กกี้ กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาคอมพิวเตอร์ หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พิการหูหนวกตั้งแต่กำเนิด เข้าศึกษาที่โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี เคยตัดสินใจสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีที่เรียนเพราะไม่มีล่ามดูแล จึงกลับไปศึกษาที่จังหวัดสกลนคร

ฉากแรกของภาพยนตร์สั้น Shining Silence
ประกายแสงจากความเงียบ
ฉากหนึ่งในหนังที่ ‘พ่อ’ ของปุ๊กกี้ถ่ายคลิป
ส่งกองประกวด Miss Deaf Thailand

ภาพในหนังสั้น มี “พ่อ” เป็นกำลังใจและให้การสนับสนุนทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการเข้าประกวด Miss Deaf Thailand จนคว้ามงกุฎมาครองได้ตามฝัน

ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สจล. ในฐานะหัวหน้าโครงการ 7 Inspiration เปิดเผยว่า ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้เป็นตัวแทนของสื่อสร้างสรรค์ที่ช่วยส่งเสียงและฉายภาพบอกเรื่องราวของพลังใจ ส่งต่อให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าใจชีวิต คุณค่า ผ่านมุมคิดของคนพิการมากขึ้น เพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อคนพิการแทนภาพการสื่อสารที่ส่วนใหญ่จะฉายภาพชีวิตที่ด้อยโอกาสของคนพิการในสังคมไทย ทำให้คนในสังคมเห็นว่า คนพิการอาจมีข้อจำกัดบางประการ แต่พวกเขาก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข และทำทุกๆ อย่างได้เต็มความสามารถที่พวกเขามี ไม่ต่างจากคนทั่วไป

ดร.ทอแสงรัศมี ถีถะแก้ว
ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร สจล.

“น้องปุ๊กกี้เป็นผู้พิการทางการได้ยิน อยู่ในโลกเงียบมาตั้งแต่เกิด แต่มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออก อยากทำอะไรได้มากกว่าสิ่งที่เคยเป็น ก้าวข้ามข้อจำกัดของตัวเองมายืนในจุดที่ทุกคนมองเห็น ไม่ใช่แค่ความสวย แต่เป็นความงามที่อยู่ในจิตใจ มองเห็นพลัง มองเห็นเสียงที่เรียกร้องอยู่ในใจตนเองว่าอยากจะทำอะไรได้มากกว่านั้น และอยากส่งเสริมบทบาทของหญิงผู้พิการ โดยเฉพาะผู้พิการทางการได้ยินให้มีโอกาสนำความรู้ความสามารถของตนเองแสดงออกมา ถึงไม่มีเสียงที่จะพูดแต่พลังที่อยู่ข้างในนั้นก็เปล่งประกาย ส่งเสียงออกมาให้ทุกคนให้รู้จักตัวตน ให้เห็นความสามารถมากยิ่งขึ้น

เราเชื่อมั่นว่าถ้าคนทุกคนได้เข้าใจตัวตนของผู้พิการ ได้มีโอกาสรู้ว่าจริงๆ แล้วคนพิการคิดอย่างไร มีความสามารถแบบไหน แล้วสามารถช่วยสนับสนุน ลดข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิตของเขาได้ จะทำให้เขามีโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียม

การสร้างภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและให้กำลังใจคนพิการ รวมถึงผู้ดูแลคนพิการ ครอบครัวที่มีคนพิการอยู่ในบ้านได้รู้ว่าถ้าเราส่งเสริมในทางที่ถูกต้อง เหมาะสม สุดท้ายแล้ว สามารถใช้ชีวิตได้อย่างที่เขาอยากจะเป็น มีความสุขได้ และสามารถสร้างสรรค์สังคมที่มีความสุขไปได้ด้วยกัน” ดร.ทอแสงรัศมีกล่าว ทั้งยังทิ้งท้ายว่า ในโลกของความเงียบ ยังมีความหวังความฝันที่ไม่ใช่แค่เพื่อตนเอง แต่เพื่อผู้อื่นและโลกใบนี้อีกด้วย

สำหรับนักแสดงนำ “แม็กกี้” เนตรชนก จันทา คือผู้รับบท “ปุ๊กกี้” โดยเล่าถึงความรู้สึกว่า ตั้งใจแสดงในบทบาทนี้มากและมีความรู้สึกไปกับบทละคร ที่สำคัญคือ เข้าใจพื้นฐานตัวละครเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นเรื่องจริงของ “เพื่อน” ในชีวิตจริง

“หนูเข้าใจความรู้สึกของปุ๊กกี้ เข้าใจอารมณ์ของบทมากในการแสดงครั้งนี้ การแสดงละครเรื่องนี้หนูรับรู้ถึงอารมณ์จนหนูร้องไห้ได้จริง และการแสดงครั้งนี้ทำให้ได้มีประสบการณ์ดีๆ มากมาย”

นับดาว องค์อภิชาต
ผู้อำนวยการกองประกวด Miss & Mister, Miss Queen, Mrs. Deaf Thailand

ในขณะที่ นับดาว องค์อภิชาต ผู้อำนวยการกองประกวด Miss & Mister, Miss Queen, Mrs. Deaf Thailand ใช้เวลาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สร้างโอกาสในชีวิตให้แก่เด็กๆ และหนุ่มสาวคนพิการ ได้มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีโอกาสในการประกอบอาชีพ และประสบความสำเร็จในชีวิตได้

“รู้สึกภูมิใจที่ภาพยนตร์เรื่องนี้จะช่วยฉายภาพและประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปในสังคมได้รู้จักเวทีความสามารถของคนพิการทางการได้ยิน เพราะไม่ใช่แค่การจัดประกวดความงาม แต่กลุ่มคนพิการเองได้รวมพลังทำงานนี้ด้วย ถ้าทุกคนมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เราก็จะทำทุกอย่างได้ดังใจเราแน่นอน ขอส่งกำลังใจและสนับสนุนให้ทุกคนพัฒนาตัวเอง และมีความภาคภูมิใจในตัวเอง” นับดาวกล่าว

ตัดฉากมาอีกครั้งที่ตอนท้ายของภาพยนตร์ ในฉากที่ “ปุ๊กกี้” สวมชุดราตรีกรุยกราย เดินด้วยท่วงท่าสง่างามดุจนางพญา และให้คำตอบบนเวทีประกวดด้วย “ภาษามือ” ความว่า

“ฉันแค่อยากบอกคนหูหนวกว่า ฉันก้าวข้ามสิ่งที่กลัวมาตลอดได้แล้ว และทุกคนก็ทำได้เช่นกัน”
ก่อนปิดท้ายด้วยภาพ “ปุ๊กกี้” ตัวจริงส่งภาษามือสื่อสารว่า

“ดิฉันสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า ดิฉันมีความพยายาม มีความตั้งใจ และได้รับโอกาส คนหูหนวกมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ได้เท่ากับคนทั่วไป ขอแค่มอบโอกาสให้กับคนหูหนวก”

แน่นอนว่า กำลังใจจากตัวเองและคนรอบข้าง รวมทั้งโอกาสจากสังคมตามที่ภาพยนตร์พยายามบอกเล่า คือสิ่งสำคัญอย่างไม่ต้องตั้งคำถาม หากแต่อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องผลักดันไม่ต่างกันในโลกแห่งความเป็นจริง คือการส่งเสริมทัศนคติเรื่อง “ความเท่าเทียม” ยิ่งไปกว่านั้นคือประเด็นเรื่อง “รัฐสวัสดิการ” อันเกี่ยวข้องกับผู้พิการที่จะมีผลอย่างเป็นรูปธรรม ไม่อาจมองข้าม “การเมือง” ที่ยังต้องหวัง และไม่สิ้นหวัง เพื่อทุกชีวิตของผู้คนในสังคมไทยในวันพรุ่งนี้

สร้อยดอกหมาก สุกกทันต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image