อ่านสถานการณ์จากตัวเลข : เหยี่ยวถลาลม

อ่านสถานการณ์จากตัวเลข

เป็นอันว่า ในการออกเสียงประชามติ 2559 มีผู้มาใช้สิทธิโดยประมาณ 54 เปอร์เซ็นต์ เกินครึ่งไปเล็กน้อย

แม้จะมีผู้พยายามตีความว่า คราวนี้ประชาชนมาใช้สิทธิลงประชามติน้อยกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เมื่อย้อนกลับไปดูตัวเลขแล้ว เมื่อปี 2550 ผู้คนมาใช้สิทธิลงประชามติแค่ร้อยละ 57

ตัวเลขของปี 2550 จึงไม่ได้มากกว่าคราวนี้อย่างมีนัยสำคัญ

Advertisement

กล่าวได้ว่า ในการลงประชามตินั้น ไม่มี “ปัจจัย” หรือสิ่งกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิกันมากเหมือนกับ “การเลือกตั้งทั่วไป” ซึ่งจะเห็นได้จากการเลือกตั้งทั่วไปปี 2550 มีผู้มาใช้สิทธิถึง 74.5 เปอร์เซ็นต์ และการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2554 มีผู้ใช้สิทธิถึง 75 เปอร์เซ็นต์

กลับมาที่ “ประชามติ” ดีกว่า

ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านความเห็นชอบจากการลงประชามติในสัดส่วน ร้อยละ 61.4 ต่อ 38.6 และคำถามพ่วง (ให้รัฐสภา ซึ่งรวมถึง สมาชิกวุฒิสภาได้เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย) ผ่านความเห็นชอบในสัดส่วน ร้อยละ 58 ต่อ 42

Advertisement

ประชาชนมาใช้สิทธิร้อยละ 54 ส่วนอีกร้อยละ 46 ไม่มาใช้สิทธิ

ไม่มีใครรู้ว่า คนที่ไม่มาใช้สิทธิคิดอย่างไร ทั้งยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่า เป็นพลังเงียบ หรือพลังหลับ!

จึงเอาเป็นว่า ผู้คน ร้อยละ 54 ได้เข้าร่วมชี้ขาดร่างรัฐธรรมนูญ 2559 เสร็จสิ้นในวันที่ 7 สิงหา และจากจำนวนร้อยละ 54 นี้ 61.4 เปอร์เซ็นต์ “เห็นชอบ” ส่วนอีก 38.6 เปอร์เซ็นต์ “ไม่เห็นชอบ”

ตัวเลขนั้นแสดงให้เห็นว่า จำนวนของ “คนคิดต่าง” อยู่ในระดับก้ำกึ่งกัน จำเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยจะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันกับความคิดที่แตกต่าง

ตัวเลขคนคิดต่างในอัตราส่วน 6 ต่อ 4 นั้นดำรงอยู่ในชีวิตจริง อาจจะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน เป็นคู่สมรสกัน เป็นลูก เป็นหลาน เป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นเพื่อนสนิท เป็นคนใกล้ตัว เป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน หรือกระทั่งคนที่เราต้องติดต่อทางธุรกิจด้วย

“ความแตกต่างทางความคิด” เป็นความปกติในสังคมประชาธิปไตยซึ่งเปิดกว้าง

แต่จะเป็นสิ่งที่ “ไม่ปกติ” สำหรับสังคมเผด็จการที่มักนิยมโฆษณาให้เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย!?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image