เรื่องของเจ้ากู

คําว่าเจ้ากูในชื่อบทความนี้ เป็นคำที่รัชกาลที่ 3 พระองค์ ท่านตรัสเรียกพระภิกษุสงฆ์ ประวัติที่พระองค์ได้กล่าวถึงเจ้ากู มีมาว่า รัชกาลที่ 3 ทรงรักการศึกษามาก จะเห็นว่าพระองค์ให้จารึกตำรายาและความรู้อื่นๆ ไว้ที่วัดโพธิ ท่าเตียนเป็นจำนวนมาก เพื่อให้วัดโพธิเป็นประดุจมหาวิทยาลัยของมหาชน แม้ในวงการพระพุทธศาสนา พระองค์ก็เอาใจใส่ในเรื่องการศึกษา แต่เดิมพระสงฆ์ที่บวชแล้วจะศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนา ก็พากันไปหาครูอาจารย์เอง ไม่มีสำนักเรียน พระองค์ทรงให้พระมาเรียนกันที่วัดพระแก้ว โดยมีข้าราชการระดับขุนหลวงและพระยาเป็นครูสอน เพราะท่านเหล่านี้ ล้วนจบมาทางเปรียญธรรมสูงๆ ทั้งนั้น

เมื่อพระท่านมาคอยครูสอนที่วัดพระแก้วจำนวนมาก พอนานเข้าก็ชินชากับสถานที่ และบางครั้งต้องคอยครูอยู่นาน บางทีครูไม่มาสอน เพราะท่านเหล่านั้นเป็นข้าราชการ ถ้ามีราชการก็มาสอนไม่ได้ อีกทั้งมิได้เป็นครูมีเงินเดือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อพระท่านอยู่ว่างๆ ไม่ได้เรียนหนังสือ จึงชวนกันเตะตะกร้อในมุมที่ลับๆ บริเวณวัดพระแก้วนั่นเอง ท่านคงคิดว่าไม่มีวินัยห้ามไว้

แล้ววันหนึ่งข้าราชการระดับผู้ใหญ่มาสอนหนังสือรู้เข้า หมดความอดทน จึงเข้าไปกราบทูลให้พระองค์ทราบ โดยหวังจะเอาคำสั่งของพระองค์มาเบรกพระ แต่ผิดคาด เพราะพอพระองค์ทรงทราบ ก็ตรัส บอกกับผู้มากราบทูลว่า เจ้ากูจะเตะแก้เมื่อยแก้ขบบ้างเป็นไรเล่า! พระยาขุนหลวงเหล่านั้นจึงต้องทำใจ

การที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าว เพราะหวังจะชี้แจงเรื่องพระร่วมการชุมนุมตามที่เป็นข่าวในขณะนี้ อย่าได้คิดว่า ท่านคือพระอรหันต์ ท่านคือพระปุถุชน เมื่อเห็นความไม่เป็นธรรมมากมาย ก็หมดความอดทน

Advertisement

ถามว่าพระมาร่วมชุมนุมทางการเมืองผิดอะไรหรือไม่ ? ตอบได้ทันทีว่าผิด ถามต่อไปว่าผิดวินัยข้อไหน ? ตอบว่า ผิดทั้งทางธรรมและทางพระวินัย ผิดทางธรรมคือข้อไหน อย่างไร ? ตอบ ผิดทางธรรมคือ ผิดหลักธรรมชื่อ อภิณหปัจจเวกขณะ 5 ในหลักธรรมหมวดนี้ มีอยู่ข้อหนึ่งที่พระองค์บัญญัติให้พระพิจารณาทุกวันๆ ว่า บัดนี้เรามีการกระทำทางกายและวาจาต่างจากคฤหัสถ์แล้ว เราต้องไม่ทำทางกายและวาจาเยี่ยงคฤหัสถ์อีกต่อไป การไปร่วมกับม็อบเป็นเรื่องของชาวบ้าน นี่คือการผิดธรรม แสดงถึงว่า เป็นพระแล้วไม่มองตัวเองที่พระพุทธเจ้าสอนเลย ! จุดนี้ไม่เป็นอาบัติ แต่ผิดทางพระวินัย ในข้อที่เป็น อโคจร คือสถานที่พระไม่ควรไป

จริงอยู่ สถานที่ไม่ควรไปของพระนั้น พระพุทธเจ้าวางไว้ 6 สถานที่ เช่น ร้านสุรา โรงมโหรสพ เป็นต้น และสมัยนั้นไม่มีการชุมนุมทางการเมือง พระองค์จึงมิได้บัญญัติ เรื่องการไปร่วมม็อบทางการเมืองไว้ แต่เพราะพระองค์เป็นพระสัพพัญญู รู้ว่าอนาคตจะต้องมีพฤติกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้น พระองค์จึงบัญญัติ มหาประเทศไว้ มหาประเทศคืออะไร ? มหาประเทศ คือ ข้ออ้างอิงในการปรับอาบัติไว้ เช่น พระองค์บัญญัติ โรงมโหรสพเป็นสถานที่ อโคจร พระไม่ควรไปไว้ แต่ไม่ได้บัญญัติ การไปร่วมม็อบไว้ หลักการปฏิบัติในข้อนี้ พระต้องรีบพิจารณาหลักมหาประเทศทันที

มหาประเทศ 4 มีมาในพระไตรปิฎกเล่ม 35 หน้า 431 มีความโดยสรุปว่า สิ่งใดพระองค์มิได้บัญญัติไว้ แต่เข้าได้กับสิกขาบทที่พระองค์บัญญัติไว้ ให้ถือว่าสิ่งนั้นพระองค์ห้ามไว้ด้วย เช่น พระองค์ห้ามพระไปที่โรงมโหรสพไว้ เพราะเป็นอโคจร ไม่ควรแก่พระ ก็ให้ถือว่า การไปร่วมม็อบเป็นอโคจรด้วย เพราะไม่ควรแก่พระ

Advertisement

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่พระไปร่วมม็อบ จึงเป็นอาบัติ ทุกฎ (อ่านทุกด) ซึ่งเป็นอาบัติเล็กน้อย ในความเห็นของผู้เขียน ขอสารภาพว่าเข้าใจพระท่าน และอยากจะชี้แจงว่า พระภิกษุในพระพุทธศาสนาแบ่งออกไป 2 กลุ่ม คือ พระภิกษุคามวาสี คือ พระเล่าเรียนคำสอนพระพุทธเจ้าหนึ่ง และพระภิกษุอรัญวาสี คือ พระปฏิบัติเพื่อพระนิพพานหนึ่ง พระคามวาสี ชีวิตของท่านใกล้ชิดชาวบ้าน เห็นใจชาวบ้าน ชาวบ้านเลี้ยงดู ส่วนพระอรัญวาสี ท่านไม่คลุกคลีกับชาวบ้าน ท่ามุ่งหน้าไปพระนิพพาน ท่านไม่ไปร่วมม็อบแน่นอน เพราะท่านกลัวภัยในสังสารวัฏ จึงกลัวอาบัติแม้จะเล็กน้อยก็ตาม พระคามวาสี เมื่อท่านเห็นเป็นอาบัติเล็กน้อย และเห็นใจชาวบ้าน ที่ถูกทางการปกครองที่ไม่เป็นธรรม แถมพระเองก็ถูกรัฐรังแกโดยไม่เป็นธรรมมาตลอด ท่านจึงออกมาช่วยเหลือชาวบ้าน

ชาวพุทธลองถามใจตัวเราเองว่าสมมติว่า พระท่านต้องอาบัติระดับต่ำ แต่ทางบ้านเมืองจับท่านให้สึก นั่นคือการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่า การบังคับให้พระเคลื่อนจากการประพฤติพรหมจรรย์ ตายแล้วไปสู่นรก ดังนั้น เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ วางเฉยดีกว่า อย่าไปตำหนิท่านเลย ให้ทำใจเสียว่า ท่านยอมรับเป็นอาบัติเสียเอง ที่น่าสนใจมากขึ้น คือผู้ปกครองบ้านเมือง ไม่ปฏิบัติในหลักธรรมที่พระพุทธองค์วางไว้ ในข้อที่ 5 ของจักวัตติวัตรที่ว่า ผู้ปกครองบ้านเมืองควรเข้าไปหาพระผู้มีศีล แล้วถามท่านว่า การปกครองบ้านเมืองแบบไหนดี ไม่มีโทษ เป็นต้น ท่านจะได้ชี้แจงให้ฟัง เมื่อตัวไม่ใช้หลักธรรมปกครองบ้านเมือง คือไม่ไปถามพระผู้มีศีลว่า ธรรมของการปกครองมีอะไรบ้าง ไม่เข้าไปถามท่านไม่ว่า ยังปกครองบ้านเมืองด้วยอธรรมอีกต่างหาก แถมทำพระให้ใจไม่สงบ เพราะอธรรมที่ผู้ปกครองทำต่อประชาชน พระท่านจึงออกมาร่วมม็อบช่วยชาวบ้านด้วย ก็ดีแล้ว สาธุ !

ผู้เขียนมั่นใจว่า พระปฏิบัติแนวหลวงปู่มั่น (สังกัดธรรมยุตนิกาย) และพระปฏิบัติแนวหลวงพ่อชา (สังกัดมหานิกาย) จะไม่มาร่วมม็อบแน่ เพราะท่านดำเนินชีวิตตามวิถีพระอรัญวาสี คือ พระอยู่ป่า

ได้กล่าวไว้ข้างบนว่า ประยุทธ์ออกกฎหมายเอาเปรียบประชาชนจนทำให้ประชาชนประท้วงขับไล่เท่านั้นยังไม่หนำใจ ยังออกกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมให้พระปฏิบัติอีก นั่นคือต้นเหตุให้พระท่านออกมาร่วมม็อบกับประชาชน

รัชกาลที่ 3 ทรงมองเห็นพฤติกรรมของพระเตะตะกร้อเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่มีวินัยห้ามไว้ จึงทรงวางเฉย ในฐานะที่ท่านเป็นพระปุถุชน

ผู้ปกครองบ้านเมืองเผด็จการปัจจุบัน ร่างกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง และพวกพ้องเท่านั้นยังไม่พอ ยังแก้กฎหมายคณะสงฆ์ ทำการแก้กฎหมายให้ผู้ที่มีทั้งพรรษาสูง มียศสูง ได้บำเพ็ญตบะวางอุเบกขาญาณ นั่งเพ่งดวงแก้วรักษาความเป็นพระอย่างสงบต่อไป !

แต่ลูกศิษย์ทั้งประเทศหมดความอดทน จึงเข้าร่วมม็อบเพราะไม่รู้ว่าเป็นอาบัติ

ทวี ผลสมภพ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image