คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : ธนบัตรแห่งเกียกกาย และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

แรกที่ทีมงานผู้จัดการชุมนุมถึงเป็ดเหลืองเป่าลมนั้น ก็ตั้งใจแค่จะเอามาลอยน้ำเล่นขำๆ เป็นสัญลักษณ์การเข้าล้อมของประชาชนทางน้ำในการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 17 เดือนที่แล้ว โดยที่ทางอากาศนั้นมีบอลลูน ส่วนภาคพื้นดินก็มีราษฎร

แต่เมื่อฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐโจมตีผู้ชุมนุมด้วยรถฉีดน้ำผสมสารเคมี เจ้าเป็ดน้อยก็ถูกใช้เป็นโล่กำบังลดแรงอัดจากปืนใหญ่น้ำให้มวลชนราษฎร ลดความบาดเจ็บเสียหายกันได้อย่างมีนัยสำคัญ

ภาพของน้ำสีครามเข้มสยองขวัญพุ่งเข้าปะทะโล่เป็ดที่บังผู้ชุมนุมไว้เบื้องหลัง และภาพของเป็ดยางที่เปรอะเปื้อนไปด้วยสีเคมีกองแบนหมดสภาพแนบพื้นถนน บางตัวกระเด็นขึ้นไปสิ้นลมบนหลังคารถเมล์ กลายเป็นภาพสำคัญที่ทำให้โลกจดจำถึงการสลายการชุมนุมของฝ่ายรัฐในวันนั้น

เจ้าเป็ดยางเป่าลมสีเหลือง จึงได้รับการขนานนามอย่างประชดประชันให้เป็น “กรมหลวงเกียกกายราษฎร์บริรักษ์” (นามเดิม เป็ดยาง) และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งผู้พิทักษ์ปวงชนนับแต่บัดนั้น เป็ดเหลืองถูกนำไปผลิตซ้ำในรูปแบบต่างๆ

Advertisement

ที่ฮือฮาที่สุดคือกลายเป็นภาพประธานบน “ธนบัตรของราษฎร” ที่พิมพ์ออกมาแจกจ่ายในการชุมนุมเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่หน้าธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่

การต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ด้วยความเฮฮาสนุกสนานนี้ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าเจ้าธนบัตรเป็ดเหลืองนี้ก็จะเป็นเหยื่อชั้นดีสำหรับตำรวจที่จ้องมองหาข้อหาและความผิดตามกฎหมายสารพัดเพื่อเอาผิดกับผู้ชุมนุม และ
“นักร้อง” ผู้กระหายแสงเจ้าเก่าที่เราไม่จำต้องเอ่ยชื่อให้เขาสมประโยชน์

ความผิดที่อ้างว่าจะเล่นงานต่อผู้เกี่ยวข้องกับแบงก์เป็ด คือ ข้อหาปลอม หรือแปลงเงินตรา และความผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับออกเงินตรามาใช้ หรือที่เกินคาดหมายคือขู่ว่าอาจจะพิจารณาว่าเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วยหรือไม่

มาว่ากันที่ความผิดเกี่ยวกับเงินตราตามประมวลกฎหมายอาญากันก่อน เรื่องนี้พิจารณาค่อนข้างง่าย เพราะองค์ประกอบของความผิดฐานปลอมเงินตรา (มาตรา 240) แปลงเงินตรา (มาตรา 241) หรือทำให้คล้ายคลึงเงินตรา (มาตรา 249) นั้น องค์ประกอบสำคัญของความผิดนี้อยู่ที่ว่า เงินตราที่เป็นวัตถุแห่งองค์ประกอบความผิดนั้นจะต้องเป็น “เหรียญกษาปณ์ ธนบัตรหรือสิ่งอื่นใด ซึ่งรัฐบาลออกใช้หรือให้อำนาจให้ออกใช้ หรือพันธบัตรรัฐบาลหรือใบสำคัญสำหรับรับดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นๆ” เนื่องจากกฎหมายนี้มุ่งคุ้มครองความมั่นคงเชื่อถือได้ของเงินตราของรัฐบาล ดังนั้นการปลอมธนบัตรอันเป็นเงินตราเพื่อใช้แลกเปลี่ยนนี้ จึงต้องมาจากเจตนาเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจว่าสิ่งที่ปลอมหรือแปลงออกมานั้นเป็นธนบัตรที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายที่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาลไทยด้วย

เช่นนี้ เจ้าแบงก์เป็ดเกียกกายที่ดูด้วยหางตาก็รู้ว่ามันไม่ใช่ธนบัตรรัฐบาลไทยนี้ จึงขาดองค์ประกอบของการปลอมและแปลงเงินตราแบบที่จะแถให้ก็ยาก เว้นแต่จะพยายามดื้อรั้นให้ได้ว่าธนบัตรเป็ดเหลืองนั้นคล้ายคลึงกับธนบัตรของรัฐบาลอย่างที่ประชาชนเห็นแล้วจะเข้าใจผิด อันนั้นก็น่าจะทุเรศอนาถและดูถูกเงินตราของประเทศไทยเกินไปหน่อย

หากจะพอมีความเป็นไปได้ว่าจะมีประเด็นยุ่งยากตามกฎหมายบ้านเมืองจริงๆ ก็อาจจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการออกใช้เงินตรา ตามพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ.2501 มาตรา 9 ที่บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรี”

ปัญหาคือ การ “ทำ จำหน่าย ใช้ หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใดๆ แทนเงินตรา” นั้นมีความหมายอย่างไร เรื่องนี้หลายท่านที่อยู่ในแวดวงกฎหมาย หรือการพัฒนาชุมชนคงจะนึกถึงกรณี “เบี้ยกุดชุม” ขึ้นมาได้ ซึ่งครั้งนั้นน่าจะเป็นกรณีศึกษาสำคัญที่มีการตีความกฎหมายมาตรานี้อย่างชัดเจนเป็นระบบโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา

“เบี้ยกุดชุม” เกิดขึ้นที่ตำบลนาโส่ อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร ที่ชาวบ้านในชุมชนนั้นพยายามที่จะสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ได้เริ่มต้นจากการก่อตั้งร้านค้า สวนสมุนไพร และโรงสีชุมชน จนขยายไปเป็นแนวคิดเรื่อง “ธนาคารชุมชน” โดยได้รับความสนับสนุนทั้งแนวคิด องค์ความรู้ และการบริหารจัดการจากมูลนิธิพัฒนาเอกชนจากต่างประเทศ
ซึ่งได้นำแนวคิดเรื่อง “เงินตราชุมชน” ซึ่งเป็นรูปแบบที่เคยประสบความสำเร็จในท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นมาใช้

โดยชาวชุมชนจะพิมพ์ “เบี้ย” ขึ้นมาเพื่อใช้แลกเปลี่ยนกันตามความสมัครใจ โดยมีมูลค่าเริ่มต้นหนึ่งเบี้ยเทียบเท่ากับมูลค่าของผักสักกำหนึ่ง จากนั้นผู้คนในชุมชนก็ตกลงกันเองโดยความสมัครใจว่า หากทำงานให้กัน หรือซื้อขายผลิตผลระหว่างกันนั้น จะรับจ่ายกันเป็นเงินบาทตามทางการ หรือรับเป็นเบี้ยกุดชุมซึ่งเป็นเงินตราของชาวบ้าน หรือจะผสมกันอย่างไรก็ได้ เช่น ก ไปรับจ้าง ข ขุดดิน ก็เลือกว่าจะรับค่าจ้างเป็นเงินหรือเป็นเบี้ยก็ได้ แต่การใช้เบี้ยกุดชุมเพื่อการแลกเปลี่ยนภายในชุมชนนั้นมีเพดานจำกัด (รู้สึกว่าจะไม่เกิน 500 เบี้ย)

หากจะอธิบายย้อนกลับถึงหลักการเบื้องหลังของ
เบี้ยกุดชุมนั้นก็คือการที่ชาวบ้านตกลงกันว่า จะขอให้เพื่อนบ้านมาขุดดินให้สักแปลง แล้วจะให้ผักไปกิน 20 กำ แต่แทนที่จะให้ผัก ก็ให้เป็นเบี้ยกุดชุมไป 20 เบี้ยแทน
เผื่อผู้ขุดดินนั้นจะไม่อยากกินผัก อยากจะได้ปลามาย่างกินก็เอา 20 เบี้ยนี้ไปแลกปลาจากอีกบ้านหนึ่งมา

หากการทดลองใช้เบี้ยกุดชุมก็จบลงโดยเวลาอันสั้น เมื่อทางการเข้ามารับรู้ และตั้งข้อสงสัยว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เงินตราฯ มาตรา 9 ที่ได้กล่าวไปข้างต้น และได้มีการทำเรื่องไปหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีความเห็นเรื่องเสร็จที่ 63/2550 นี้สรุปได้ว่า พระราชบัญญัติเงินตรา ไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดความหมายของคำว่า “เงินตรา” ไว้ จึงต้องหาความหมายจาก “พจนานุกรมแห่งราชบัณฑิตสถาน” เพื่อประกอบการพิจารณาว่าเบี้ยกุดชุมเป็นวัตถุแทนเงินตราหรือไม่ ซึ่ง “เงินตรา” ตามนิยามของพจนานุกรมนั้น คือสิ่งที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือการชำระหนี้ โดยเงินตราในระบบเงินตราของประเทศไทยได้แก่เหรียญกษาปณ์และธนบัตรและมีหน่วยนับเป็นบาท ดังนั้นการที่เบี้ยกุดชุม ซึ่งรูปแบบเป็นกระดาษที่พิมพ์กำหนดมูลค่าเป็นเบี้ย มีเลขลำดับและลายมือชื่อของบุคคลที่ชุมชนยอมรับ รวมทั้งข้อความว่า “เบี้ยนี้ใช้แลกเปลี่ยนสิ่งของในชุมชนเท่านั้น” โดยนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าการเกษตรหรือบริการที่ผลิตได้ในชุมชน จึงมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับเงินตรา ดังนั้น เมื่อได้มีการทำเบี้ยกุดชุมและนำออกให้สมาชิกใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายต้องห้ามตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตราฯ

การทดลองใช้เบี้ยกุดชุมจึงถึงแก่อวสานลงด้วยความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่าในที่สุดก็ไม่ได้มีการดำเนินคดีอะไรกับชุมชน แต่เมื่อทางการประกาศออกมาขนาดนั้นว่าเบี้ยกุดชุมนั้น “ผิดกฎหมาย” ก็ทำให้ชาวบ้านเลิกไปไม่กล้าใช้กันโดยปริยายนั่นเอง

กลับมาที่ธนบัตรเกียกกายของเรา ว่าจะเข้าด้วยองค์ประกอบของ พ.ร.บ.เงินตรา มาตรา 9 ตามบรรทัดฐานที่กฤษฎีกาตีความหรือไม่

เงื่อนไขของแบงก์เป็ดเหลืองคือ แบงก์นี้จะแจกให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม และนำไปใช้ซื้อของกับร้านค้า CIA ที่ร่วมรายการได้ตามมูลค่าใบละ 10 บาท โดยแบงก์เป็ดนี้จะแลกกลับมาเป็นเงินสดไม่ได้ และเอาไปใช้อย่างอื่นนอกเหนือจากนั้นก็ไม่ได้

แบงก์เป็ดเหลืองจึงแตกต่างจากเบี้ยกุดชุมในแง่ที่ว่ามันใช้แลกเปลี่ยนได้เพียงทางเดียว คือระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ซึ่งการที่ผู้ขายยอมรับ “แบงก์เป็ด” นี่ก็คงจะมีเงื่อนไขอื่นที่เราไม่ทราบในข้อเท็จจริง เช่น ยอมรับโดยสมัครใจถือเป็น “ส่วนลด” ให้แก่ผู้ชุมนุมที่มีอุดมการณ์เดียวกัน หรือได้รับการสนับสนุนจากทางผู้จัดและผู้พิมพ์แบงก์เป็ดไปแล้ว

แต่สำคัญที่สุด คือไม่มีวิธีอื่นใดที่คนทั่วไป หรือแม้แต่ผู้ชุมนุมจะได้แบงก์เป็ดเหลืองนี้มาเพิ่มอีกเว้นแต่การได้รับแจกจากผู้จัด หรือไปแลกหรือซื้อต่อจากผู้ที่มีแบงก์นี้ในครอบครอง ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังก็ถือว่าเป็นการซื้อขายกันในฐานะของ “ของที่ระลึก” ซึ่งก็สุดแต่จะตกลงกันได้อย่างนิติกรรมทางแพ่งที่บุคคลมีเสรีภาพที่จะซื้อขายต่อกัน ไม่ใช่ในฐานะของการแลกเปลี่ยนกันอย่างเงินตรา แบงก์เป็ดหรือธนบัตรกรมหลวงเกียกกาย จึงแตกต่างกันในสาระสำคัญจากเบี้ยกุดชุมในแง่นี้ คือการขาดคุณสมบัติของการเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ไม่มีใครทำงานหรือเอาของมาขายแลกแบงก์เป็ดได้ ถ้าไม่ใช่ร้าน CIA ที่มีสติ๊กเกอร์ประกาศชัดเจนว่าร่วมเล่นสนุกด้วย

แบงก์เป็ดเหลืองนั้นโดยแท้จริงแล้วก็เหมือน “คูปองศูนย์อาหาร” เอามาทำเป็นกิมมิกให้สนุกสนานกันในหมู่
ผู้จัด ผู้ชุมนุม และพ่อค้าแม่ค้า ก็เท่านั้นเอง

ในเรื่องนี้ หากจะตีความหาเรื่องให้ธนบัตรแห่งเกียกกายนี้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เงินตราให้ได้ ก็ต้องอธิบายให้ได้ด้วยว่า แล้วการที่ศูนย์อาหารหลายแห่งใช้คูปองให้ผู้ซื้อแลกเพื่อนำไปใช้กับร้านในศูนย์อาหารนั้นจะเป็นความผิดตามกฎหมายเดียวกันนั้นด้วยหรือไม่ เช่นเดียวกับกรณีที่ร้านสะดวกซื้อเครือยักษ์ใหญ่แจกแสตมป์ที่มีมูลค่าเท่ากับเงินบาทเพื่อเอาไปใช้เป็นส่วนลด หรือซื้อของในร้านในเครือของตนได้ทั่วประเทศไทย (และก็มีพ่อค้าแม่ค้า นอกจากนั้น บางส่วนก็ยินดีรับแสตมป์นั้นด้วยเช่นกัน เนื่องจากความสามารถในการใช้แลกซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกแพร่หลายทั่วประเทศไทย) เช่นนี้จะถือว่าเหมือนหรือแตกต่างจากแบงก์เป็ดเหลืองนี้อย่างไร

“กฎหมาย” นั้นคือรูปแบบของการใช้อำนาจรัฐในรูปแบบที่กำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นนามธรรมไว้กว้างๆ เพื่อจะใช้บังคับกับทุกกรณีที่เข้าด้วยเงื่อนไข และสาระเดียวกันกับเรื่องนั้นโดยไม่ต้องออกคำสั่งกันทีละเรื่องทุกครั้งไป กฎหมายนั้นจึงไม่อาจกำหนดว่าจะใช้กับบุคคลใดหรือกรณีใดเป็นการเฉพาะ และก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะตีความและบังคับใช้กฎหมายนั้นไปตามเจตนารมณ์

การตีความและบังคับใช้กฎหมายในเรื่องที่มีสาระสำคัญเหมือนกัน แต่ผลของการตีความและบังคับใช้กลับออกมาแตกต่างกันโดยไม่อาจอธิบายให้เข้าใจได้อย่าง
สมเหตุสมผลแล้ว ย่อมชี้ให้เห็นเจตนาว่า นั่นเป็นการมุ่งเลือกใช้กฎหมายแบบจำเพาะเจาะจงต่อกรณีแบบเลือกปฏิบัติ และการเลือกปฏิบัตินั้นก็เพื่อที่จะทำให้ผู้ที่ถูกบังคับใช้ต้องเสียหาย หรือรับภาระทางกฎหมายหนักขึ้นเป็นพิเศษนั้น ก็คือการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจโดยมิชอบ

และการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้นก็เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ที่มีอายุความอย่างน้อย 15 ปี ถึง 20 ปี แล้วแต่กรณีหนักเบาของการบิดเบือนกฎหมายนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image