เมื่อวันที่ 23 เมษายน ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง เสาร์นี้- อาเซียนกับเมียนมา แสดงความเห็นกรณี การเปิดเวทีการประชุมผู้นำสูงสุดที่กรุงจาร์กาตาเพื่อหาลู่ทางในการแก้ปัญหา “วิกฤตการณ์เมียนมา” มีรายละเอียดดังนี้

ในวันเสาร์ที่ 24 เมษายน นี้ อาเซียนในฐานะองค์กรหลักของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะเปิดเวทีการประชุมผู้นำสูงสุดที่กรุงจาร์กาตาเพื่อหาลู่ทางในการแก้ปัญหา “วิกฤตการณ์เมียนมา” อันเป็นผลจากการต่อต้านรัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และรัฐบาลทหารใช้มาตรการการปราบปรามเป็นเครื่องมือหลัก จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 739 ราย และมีผู้ถูกจับกุมจากการประท้วงมากกว่า 3,300 คน (ตัวเลขในวันที่ 22 เมษายน 2021) อันทำให้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ถูกถือว่าเป็นวิกฤตการณ์การเมืองสำคัญที่ท้าทายอาเซียนอย่างมาก และอาจจะเป็นครั้งแรกที่อาเซียนเผชิญกับ “วิกฤตรัฐประหาร” จริงๆ เพราะที่ผ่านมา อาเซียนมักจะใช้วิธี “หลับตา” ให้กับการรัฐประหารในชาติสมาชิก

ต้องยอมรับว่า การผลักดันเวทีการประชุมครั้งนี้มาจากรัฐบาลอินโดนีเซียโดยตรง แม้ก่อนหน้านี้ผู้นำคือ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด้ อาจจะไม่ได้แสดงความสนใจกับเรื่องที่เป็นปัญหาในเวทีระหว่างประเทศมากนักก็ตาม แต่ครั้งนี้อินโดนีเซียได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก ดังจะเห็นได้ว่าบทบาทก่อนหน้านี้คือ การพบปะระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียและญี่ปุ่น รวมถึงการมีบทบาทในการพูดคุยระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนบางส่วน (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์) กับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน

การมีบทบาทเช่นนี้ย่อมเป็นการเปิดให้เห็นถึงบทบาทนำของอินโดนีเซียในการแก้วิกฤตในภูมิภาคอย่างเด่นชัด และน่าสนใจว่า การผลักดันเวทีการแก้ปัญหาในครั้งนี้ จะเกิดผลที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขวิกฤตการเมืองในเมียนมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะสามารถหยุดยั้งการปราบปรามของรัฐบาลทหารได้จริงเพียงใด … แต่แม้ว่า ผลการประชุมอาจจะไม่มีสิ่งที่เป็นรูปธรรมในการแก้วิกฤต แต่หากมองในเชิงบวกแล้ว สิ่งที่จะเป็นผลที่จะตามมาในทางการทูตก็คือ อาจกลายเป็นโอกาสสำหรับบทบาทของอินโดนีเซีย (และประธานาธิบดีวิโดโด้) ที่จะมีสถานะของการเป็น “คนกลาง” ในการแก้ปัญหานี้มากขึ้น หรือโดยนัย ไม่ว่าผลที่เกิดขึ้นจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่เพียงใดก็ตาม แต่ประธานาธิบดีและประเทศอินโดนีเซียจะเป็นผู้รับ “เครดิต” ทางการเมืองเช่นนี้ในฐานะผู้ที่พยายามแก้ไขปัญหาในภูมิภาค

Advertisement

แม้ในอีกด้านจะมีการประเมินว่า หากเวทีการประชุมนี้ไม่สามารถออกมาตรการในการแก้ไขวิกฤตได้แล้ว ผู้นำอินโดนีเซียอาจจะเสียเครดิตได้ แต่กระนั้น ทุกฝ่ายยอมรับความจริงประการสำคัญคือ วิกฤตเมียนมารอบนี้ไม่อาจแก้ไขได้ง่าย เพราะท่าทีของผู้นำทหารที่จะยอมรับการประนีประนอม โดยการผลักดันของอาเซียน อาจจะเกิดผลสำเร็จได้ยาก

แต่อย่างน้อยการริเริ่มเช่นนี้ย่อมเป็นสัญญาณของความพยายามในภูมิภาคที่จะแก้ไขวิกฤตภายใน และทั้งเป็นสัญญาณใหม่ว่า หลักการที่อาเซียนเคยยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชาติสมาชิกว่าเป็น “กิจการภายใน” ที่ไม่อาจแทรกแซงได้นั้น อาจจะใช้ไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในได้ขยายตัวจนเป็นวิกฤตสำคัญของภูมิภาคไปแล้ว

นอกจากนี้ท่าทีของรัฐบาลจาร์กาตาร์มีความชัดเจน เมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียออกมากล่าวว่า การใช้กำลังของฝ่ายทหารต่อผู้ประท้วงในเมียนมา เป็นสิ่งที่ “รับไม่ได้” (unacceptable) คำกล่าวเช่นนี้เท่ากับเป็นสัญญาณที่ตรงไปตรงมาถึงรัฐบาลทหารที่เนปิดอว์ (แม้ในด้านหนึ่งจะมีเสียงวิจารณ์ว่า อินโดนีเซียไม่เคยเรียกประชุมผู้นำสูงสุดเมื่อเกิดรัฐประหารในไทยในปี 2557)

Advertisement

การขับเคลื่อนของอินโดนีเซียทำให้การประชุมอาเซียนในวันพรุ่งนี้เป็นประเด็นที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งว่า อาเซียนจะหาลู่ทางในการคลี่คลายวิกฤตในเมียนมาได้หรือไม่ เพราะในด้านหนึ่ง อาเซียนได้ยอมรับรัฐบาลทหารที่เนปิดอว์ไปแล้วอย่างไม่เป็นทางการ หรืออาจต้องใช้คำว่า “ยอมรับไปแล้วในเบื้องต้น” ผลเช่นนี้ทำให้การจะพลิกสถานการณ์กลับสู่ภาวะ “ก่อน 1 กุมภาพันธ์” คงเป็นไปไม่ได้ หรือแม้กระทั่งมีคำถามที่ตอบได้ยากว่า อาเซียนได้ยอมรับหรือปฏิเสธผลการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ที่เป็นต้นเรื่องของปัญหาหรือไม่

อย่างไรก็ตามเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตเมียนมานั้น อาเซียนมีปัญหาในตัวเองอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของรัฐตน ทัศนะของผู้นำรัฐบาล ตลอดรวมถึงการมีวาระทางการเมืองของรัฐบาลนั้น สภาพเช่นนี้ทำให้เอกภาพของอาเซียนที่จะเข้าไปเป็น “คนกลาง” ในการแก้ไขปัญหา จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จำกัดการมีบทบาทของอาเซียน เช่น บทบาทของรัฐบาลไทย เป็นตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนในกรณีนี้ เพราะรัฐบาลกรุงเทพฯ ที่มีทหารเป็นผู้นำนั้น ไม่มีท่าทีจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความไม่สนใจในปัญหามนุษย์ธรรม นอกจากประกาศว่า ไทยยึดหลัก “ไม่แทรกแซงกิจการภายใน” ซึ่งทำให้ประชาคมระหว่างประเทศตีความอย่างตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลของผู้นำทหารที่กรุงเทพฯ มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลทหารที่เนปิดอว์ หรืออาจเป็นเพราะปัจจัยร่วมของความเป็นผู้นำทหาร และรัฐบาลกรุงเทพฯ เองก็มีต้นกำเนิดมาจากการรัฐประหารไม่แตกต่างจากรัฐบาลทหารเมียนมาในปัจจุบัน จึงทำให้ไทยในฐานะ “รัฐแนวหน้า” ไม่มีบทบาทเท่าที่ควร

ส่วนสิงคโปร์เองซึ่งมีฐานะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในเมียนมา ก็มีความระมัดระวังในการกำหนดท่าที เพราะเกรงจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน หรือสำหรับเวียดนามแล้ว ความไร้เสถียรภาพในเมียนมา จะส่งผลให้นักลงทุนหันไปสู่ตลาดเวียดนาม เป็นต้น

ดังนั้น ในสภาวะเช่นนี้ทำให้หลายฝ่ายอาจไม่ได้คาดหวังมากนักว่า อาเซียนจะสามารถกดดันให้ผู้นำทหารเมียนมาเปลี่ยนทิศทางการปราบปรามที่เกิดขึ้น และที่สำคัญโอกาสที่จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของฝ่ายประชาธิปไตย ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ยาก

ความเป็นไปได้มากที่สุดคือ อาเซียนอาจใช้วิธีแต่งตั้ง “ทูตพิเศษ” เพื่อแก้วิกฤตที่เกิดขึ้น แต่การกระทำเช่นนี้ อาจถูกมองว่าเป็น “การซื้อเวลา” ให้แก่ฝ่ายทหาร และในอีกด้าน อาเซียนอาจหาทางที่จะเปิดช่องทางของการส่ง “ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม” ให้แก่ผู้ประสบปัญหาภายใน แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า ข้อเสนอในการเปิดช่องทางเช่นนี้ จะได้รับการตอบรับจากรัฐบาลทหารเพียงใด และแม้กระทั่ง “รัฐหน้าด่าน” อย่างประเทศไทยจะช่วยในประเด็นทางด้านมนุษยธรรมหรือไม่ เพราะบทบาทของไทยได้หายไปจากเวทีในภูมิภาค จนทำให้เกิดการตีความว่า ผู้นำทหารในรัฐบาลกรุงเทพฯ จะไม่แสดงบทใดๆ ในการกดดันรัฐบาลทหารเนปิดอว์ เพราะการพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารในประเทศข้างบ้านอาจจะส่งผลกระทบทางการเมืองต่อสถานะของรัฐบาลไทยเองด้วย

แต่ทั้งหมดนี้ อาเซียนอาจจะต้องไม่ประเมินแบบต่ำกว่าความเป็นจริง ที่เชื่อว่า การต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาเป็นเพียง “ภาวะชั่วคราว” และการต่อต้านจะค่อยๆ หายไป และสิ้นสุดลงด้วยการมีอำนาจอย่างเข้มแข็งของรัฐบาลทหาร เช่นที่เกิดในยุคหลังรัฐประหาร 1988 (พศ. 2531) และการประท้วงก็จะไม่เป็นวิกฤตให้ท้าทายอาเซียนอีกแต่อย่างใด

แต่การต่อต้านทหารที่เกิดขึ้นกำลังส่งสัญญาณถึงการเกิด “ภูมิทัศน์ใหม่” ของการเมืองเมียนมา ที่ขบวนประชาธิปไตย พร้อมกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ และรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติได้รับการยอมรับว่า เป็นตัวแสดงสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศไม่อาจละเลยได้อีกต่อไปแล้ว ดังนั้น วันเสาร์นี้จึงท้าทายผู้นำของชาติสมาชิกอาเซียนอย่างมาก !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image