คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : นิติธรรมใคร นิติธรรมมัน(2)

ดังได้กล่าวไว้ในคอลัมน์สัปดาห์ที่แล้วว่า “หลักนิติธรรม” นั้นเป็นหลักการแห่งความยุติธรรมขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมตามธรรมชาติ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์เราล้วนสัมผัสได้เสมอกัน เช่นเดียวกับพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนที่เราต่างรับรู้ได้เป็นสิ่งเดียวกัน

เรื่องนี้อาจจะจริงบางส่วน ถ้าเราลองพิจารณาจากกฎหมายหลักในทุกรัฐทุกชาติทุกวัฒนธรรมว่าจะพบหลักกฎหมายพื้นฐานส่วนหนึ่งที่ตรงกันในสาระ แต่ไปหลากหลายกระจายกันในรายละเอียด แต่มันจริงหรือว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า “ความยุติธรรม” ในธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวที่มนุษย์รับรู้ได้ตรงกันอยู่จริงเช่นเดียวกับธาตุสี่และพลังงาน

แม้แต่สิ่งอันเป็นรูปธรรมสัมผัสได้ เช่น แสงแดดนั้นเรารับตรงกันว่าเป็นแหล่งความร้อน แต่ “ความรู้สึก” ถึงความร้อนของแสงแดดสำหรับมนุษย์แต่ละคนย่อมไม่เท่ากัน แม้แต่ว่าให้ตัดเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ การแต่งกาย และวัฒนธรรมออกไปแล้ว แต่มนุษย์แต่ละคนก็มีความทนร้อนทนหนาว หรือรู้สึกสบายกับอุณหภูมิไม่เท่ากันตามแต่สภาพร่างกาย

เช่นนี้ ยิ่งเรื่องที่เป็นนามธรรมอย่าง “ความยุติธรรม” และ “กฎหมาย” ด้วยแล้ว มนุษย์เราสัมผัสสิ่งนั้นเป็นอย่างเดียวกันได้จริงหรือ จึงเป็นเหตุให้ทิ้งท้ายไว้ในตอนที่แล้วว่าในสังคมมนุษย์ที่ซับซ้อนขึ้น “ธรรมชาติ” ของเรามันก็แตกต่างกัน นั่นทำให้หลัก “นิติธรรม” จึงเริ่มกลายเป็น “นิติธรรมใคร-นิติธรรมมัน”

Advertisement

สำหรับพื้นฐานของมนุษย์ที่หวงตัวกลัวตาย รักสุขเกลียดทุกข์ หวงกันสิ่งสำคัญอันประทังชีพ หรือที่รักที่ผูกพัน คาดหวังต่อนิติสัมพันธ์อันสุจริตตรงไปตรงมา ธรรมชาตินี้มักตรงกัน จึงเป็นที่มาของกฎหมายพื้นฐานดังได้กล่าวไปแล้ว แต่สังคมมนุษย์มีความซับซ้อน ดังเช่น ที่ศาสตราจารย์ยูวัล โนอาห์ แฮรารี อธิบายไว้ในหนังสือ “เซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ” ว่ามนุษย์เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายความสัมพันธ์ขนาดใหญ่ผ่าน “เรื่องเล่า” ทั้งตำนาน ศาสนา จารีต คำสอน วัฒนธรรม กฎหมาย ระเบียบแบบแผนต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็น “เรื่องเล่า” ที่มนุษย์เราสร้าง สั่งสม และเชื่อตามกันมา โดยความเชื่อเช่นนั้นเราจึงอยู่ร่วมกันได้เป็นสังคมขยายขนาดใหญ่ เป็นรัฐประเทศ และกลายเป็นโลก

หากเรื่องเล่าแตกต่างกันในแต่ละวัฒนธรรมนั้นก็ปลูกสร้างธรรมชาติใหม่ของมนุษย์เพิ่มขึ้นจากธรรมชาติพื้นฐาน เราเริ่มเชื่อในคุณค่าที่สูงเกินกว่าตัวเองที่เรียกว่าคุณงามความดี และสิ่งอันต่ำตมเลวร้ายที่เรียกว่า ความชั่ว เราเริ่มมีสิ่งที่เป็นแกนกลางแห่งความเชื่อทั้งปวงคือ อุดมการณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากเรื่องเล่าที่แตกต่างไปในแต่ละวัฒนธรรม จากความรู้และการตัดสินใจไตร่ตรองส่วนตัว

เพียงเท่านี้ “ความดี” และ “ความถูกต้อง” ของมนุษย์แต่ละคนที่นอกเหนือจากเรื่องพื้นฐานก็แตกต่างกันออกไปแล้ว นั่นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพื้นที่ของ “กฎหมายธรรมชาติ” สำหรับ “ธรรมชาติ” ในส่วนความคิดความเชื่ออันหลากหลายของมนุษย์

Advertisement

ทั้งยังต้องไม่ลืมว่า นอกเหนือจาก “กฎหมายธรรมชาติ” หรือกฎหมายที่อย่างน้อยคนในสังคมรับรู้ว่ามันมีอยู่ หรือมันมีความชอบธรรมว่าถูกว่าควรตรงกันในสังคมนั้นแล้ว ยังมีสิ่งที่เรียกว่า “กฎหมายของบ้านเมือง” อยู่ด้วย นั่นคือกฎหมายที่เป็นกฎหมายเพราะนิตินโยบายแห่งรัฐที่ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความรู้สึกถูกต้องดีงามอะไร แต่จำเป็นต้องมีกฎหมายเช่นนั้นเพื่อให้รัฐขับเคลื่อนดำเนินไป เช่น กฎหมายภาษี (ที่ถ้าว่ากันตามธรรมชาติไม่น่าจะมีใครเห็นว่ามนุษย์ควรจ่ายภาษี) หรือกฎหมายจราจร กฎหมายผังเมือง

ปัญหาเรื่อง “นิติธรรมใคร นิติธรรมมัน” จึงเริ่มขึ้นจากตรงนี้

เอาเช่น เรื่องที่ว่า บุคคลควรถูกลงโทษ เพราะได้กล่าวหรือแสดงออกในสิ่งที่ขัดต่อความเชื่อ หรือเคารพศรัทธาของสังคมส่วนใหญ่หรือไม่

ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการที่กำหนดให้เรื่องดังกล่าวเป็นความผิดก็เห็นว่า การที่มีผู้ใดก็ตามได้กล่าว หรือแสดงออกในสิ่งที่ขัด หรือแย้งอันเป็นการลบหลู่ดูหมิ่นต่อความเชื่อต่อสิ่งอันเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนในสังคมแล้ว ย่อมเป็นการกระทำที่ทำร้ายจิตใจต่อบุคคลที่มีความเชื่อเช่นนั้นที่มีเป็นอันมาก และจะก่อให้เกิดความขุ่นเคืองขึ้นในหมู่ประชาชน และถ้าความเชื่อ หรือศรัทธานั้นเป็นศูนย์รวมของคนในสังคมรัฐนั้น ก็อาจจะเกิดความขัดแย้งวุ่นวายขึ้นได้ ก็ย่อมชอบธรรมแล้วที่รัฐจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้ใครมากระทำการเช่นนั้น และเมื่อเป็นเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและการอยู่ร่วมกันของคนส่วนใหญ่ มาตรการใดๆ เพื่อห้ามปรามก็จำต้องเด็ดขาดตามไปด้วย ทั้งเพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ใดทำตาม และเพื่อให้ผู้ที่ได้กระทำเช่นนั้นไม่ไปกระทำซ้ำ หรือไม่กล้าที่จะกระทำเช่นนั้นอีกต่อไป

หากอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยก็จะโต้แย้งว่า การกล่าวหรือแสดง หรือมุ่งพิสูจน์ในสิ่งที่ขัดแย้งต่อความเชื่อ หรือเคารพศรัทธานั้นเป็นคนละเรื่องกับการลบหลู่ดูหมิ่น ดังนั้นการที่จะดำเนินการเอาผิดหรือลงโทษใครด้วยข้อหาดังกล่าวก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ต่อสู้คดีอย่างเสรีจึงจะถูกต้อง ทั้งการที่กล่าวอ้างว่าสิ่งอันเชื่อถือเคารพศรัทธานั้นคือ สิ่งอันเป็นความเชื่อศูนย์รวมของคนส่วนใหญ่ ถ้าไม่มีการแย้งแสดงความเห็นต่างอื่นเลย ผู้คนจะสามารถเปลี่ยนแปลง หรือทบทวนความเชื่อถือศรัทธาได้หรือไม่ หรือที่แท้แล้วนั่นเป็นเพียงสิ่งที่ผู้มีอำนาจนั้นกำหนดไว้ว่าให้เป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมจงต้องเคารพศรัทธาเพียงเท่านั้น

เช่นนี้ ท่านว่าความคิดอย่างไรจึงจะเป็น “กฎหมายธรรมชาติ” ของเรื่องนี้ และอะไรเล่าคือสิ่งที่เรียกว่า “หลักนิติธรรม” สำหรับเรื่องดังกล่าว

มีวิธีหนึ่งที่เอาไว้ใช้สำหรับสอบทานในกรณีที่สงสัยว่า เงื่อนไขใดยุติธรรมสำหรับทุกคนหรือไม่ นั่นคือวิธีการ “ม่านไม่รู้หัวก้อย”* (the veil of ignorance) ของ จอห์น รอลส์ (John Rawls) นั่นคือ รอลส์เห็นว่า มนุษย์เราทุกคนพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นธรรมหรือไม่ ด้วยการมองจากสถานะของตัวตนผู้นั้น ซึ่งตัวตนดังกล่าวก็ประกอบไปด้วยสถานะทางสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา เพศ วัย และความแตกต่างอื่นๆ อันเป็นตัวแปร เช่นเราอาจจะเห็นว่าการเก็บภาษีเงินได้เกินสองในสามสำหรับคนมีรายได้เกินปีละสิบล้าน แต่ทุกอย่างในรัฐฟรีหมดนั้นเป็นความยุติธรรมแล้วเพราะเรามีรายได้ปีละสองแสน หรือเห็นว่าการจับคนอ้วนไปจำกัดไว้ในนิคมเพื่อจำกัดอาหาร และบังคับให้ออกกำลังกายเพื่อลดภาระของรัฐในการต้องมารักษาโรคจากเบาหวานความดันก็ไม่เลว ถ้าคุณออกกำลังกายเป็นประจำมี BMI 18 ฯลฯ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าสิ่งใดเรียกได้ว่า ยุติธรรมหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจาก “สถานะแรกเริ่ม” (the original position) ก่อน

การที่เราจะเข้าสู่สถานะแรกเริ่มได้นั้นจึงต้องสมมุติว่า เราไม่รู้สถานะอันใดของเราเลย เราอยู่หลังม่านแห่งความมืด โดยที่เราไม่รู้หัวรู้ก้อยเลยว่าเมื่อม่านเปิดออกมาแล้ว เราจะได้อยู่ในสภาวะหรือเงื่อนไขใด เช่นนั้นแล้ว เราจะต้องพิจารณา “สภาวะแห่งความยุติธรรม” ภายใต้เงื่อนไขแห่งความไม่รู้นั้นว่า กรณีดังกล่าวจะยังยุติธรรมอยู่หรือไม่ เพราะเมื่อม่านเปิดออกมาเมื่อไร เราอาจจะเป็นได้ทั้งฝ่ายหัวที่ได้เปรียบสุดสุด ในสภาวะกฎเกณฑ์นั้น หรือฝ่ายก้อยที่เสียเปรียบทุกทาง (หรือในความเป็นจริงอาจจะเป็นกลุ่มกลางๆ หรือกลุ่มค่อนได้เปรียบ กลุ่มค่อนเสียเปรียบ ฯลฯ)

หรือในเรื่องการเมือง อย่างที่ใครเขาแนะนำขำๆ ว่าถ้าอยากรู้ว่าเรื่องใด “ยุติธรรม” หรือ “ยอมรับได้” หรือไม่ ก็ให้คัดลอกข่าวเรื่องนั้นจากเว็บไซต์ หรือ
โซเชียลเน็ตเวิร์กมาแปะในโปรแกรมเวิร์ด แล้วลองใช้วิธีแทนที่คำ จากคนที่ท่านชื่นชมเป็นคนที่ชังแช่งแล้วลองมาอ่านใหม่ดู เช่น “…นาย โทนี บางไม้ นายกรัฐมนตรี แถลงจาก ศบค. ทำเนียบรัฐบาล ย้ำว่า… เมื่อเราหย่อนวินัย สนุกสนาน วันนี้เราเห็นแล้วการ์ดตกเป็นอย่างไร มีการชุมนุมต่อต้าน นั่นคืออันตราย
ทั้งสิ้น ไม่ได้ว่าผิดกฎหมาย แต่อันตรายไปถึงครอบครัวท่าน ฯลฯ…” ถ้าคุณยังรู้สึกว่าอ่านประโยคดังกล่าว
ไม่ขัดหูขัดตา นั่นก็แปลว่านั่นยังเป็นเรื่องที่ใช้ได้

หรือหากจะดึงให้มันเข้าบริบทแบบไทยๆ ก็อาจจะได้ว่าแท้แล้วเรื่องม่านไม่รู้หัวก้อยนี้คือการให้เราสมมุติตัวเองด้วยการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” นั่นเองว่า เมื่อเราพิจารณาสภาวะ หรือเงื่อนไขแห่งกฎเกณฑ์ใดแล้ว ก่อนที่เราจะตัดสินใจว่ามันยุติธรรมหรือไม่ ก็ขอให้ลองเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง ว่าถ้าสมมุติเรื่องเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเราบ้าง เราจะต้องถูกดำเนินคดีด้วยโทษร้ายแรงเพียงเพราะแสดงความเห็นที่ขัดแย้งต่อความคิดความเชื่อที่กฎหมายและอำนาจรัฐห้ามตั้งคำถามห้ามสงสัยวิพากษ์วิจารณ์

เราจะยังรู้สึกว่ามันเป็นธรรมอยู่หรือไม่ ถ้าลูกหลานของเราถูกจับกุมคุมขังไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีเต็มที่เพียงเพราะคิดต่างเห็นต่าง และแสดงออกมา เราคิดว่ามันยุติธรรมแล้วดีอยู่หรือ

หากก็นั่นแหละ สำหรับบางคนที่จิตใจขาดเมตตาหรือความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นจริงๆ การให้จำลองความคิดหรือเอาใจเขามาใส่ใจเรานั้นก็คงยากยิ่ง เพราะคนเช่นนั้นก็คิดว่า ไม่มีวันเสียหรอกที่เขาจะเป็นคนแบบที่อยู่ในสถาวะที่ต้องตกทุกข์ได้ยากเพราะความไม่เป็นธรรมนั้นได้ เพราะเขาจะรู้จักอยู่เป็น รู้ควรไม่ควร ไม่แสดงออกหรือทำอะไรที่เป็นภัยแก่ตัว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด หรือไม่รู้หัวรู้ก้อยเขาก็จะไม่หาเรื่องใส่ตัวไปยั่วโมโหผู้มีอำนาจให้คุณให้โทษเช่นนั้น เช่นนี้แล้วก็ไม่เห็นว่าจะไม่ยุติธรรมอะไร

หรือบางคนหนักข้อไปยิ่งกว่านั้น คือต่อให้ตั้งคำถามหรือลองคิดว่า ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับลูกกับหลานคุณ เป็นผู้หนึ่งที่ต้องถูกตั้งข้อหาหนัก และจองจำไว้ไม่มีโอกาสได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เช่นนี้คุณเห็นว่าเป็นการยุติธรรมดีแล้วหรือ คนบางคนนั้นอาจจะกล่าวว่า ก็สมควรแล้ว เพราะนอกจากจะแน่ใจได้เลยว่าลูกหลานตนจะไม่ทำเรื่องอะไรเยี่ยงนั้น หรือถ้ามันจะนอกรีตนอกรอยเช่นนั้นก็ดำเนินการไปตามกบิลเมืองเสียก็สมควรแล้ว

ใจร้ายกว่านั้นก็อาจจะอวดด้วยซ้ำว่าไม่ต้องสมมุติหรอก ผมนี่แหละแจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีกับลูกผมด้วยตัวผมเองเลยทีเดียว

เมื่อการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การจำลองตนอยู่ภายใต้ม่านไม่รู้หัวก้อยในความเป็นจริงนั้นไม่ได้ง่ายนัก หลักนิติธรรมของเราจึงกลายเป็นนิติธรรมใคร-นิติธรรมมัน อยู่เช่นนี้

กล้า สมุทวณิช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image