ภาพเก่าเล่าตำนาน : ชนเผ่าผู้บดขยี้การวิ่ง‘มาราธอน’ โดย พลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก

มนุษย์…จากภูมิภาคที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของทวีปแอฟริกาตะวันออก ครอบครองอันดับ 1 การวิ่งระยะไกลแทบทุกรายการ

ชาวแอฟริกันตะวันออก โดยเฉพาะชาว “เคนยา” และ “เอธิโอเปีย” ยึดตำแหน่งแชมป์ “มาราธอน” มานาน…..

นักวิ่งชาย-หญิง น่องเหล็ก ปอดเหล็ก ผอมเกร็ง ผิวเกรียม ตัวเป็นมัน ผ่านเส้นชัยเป็นคนแรกเสมอ….ในขณะที่คู่แข่งอ่อนล้า

การแข่งขันวิ่ง “มาราธอน” มีความสำคัญต่อหัวใจและจิตใจของผู้ชื่นชอบกีฬา ..มนุษย์ที่วิ่งไม่หยุดราว 2 ชั่วโมงเศษ เป็นการแสดงถึงความพยายามสูงสุดที่ร่างกาย จิตวิญญาณ ได้รับการทดสอบจนถึงขีดสุด.. ในขณะที่นักวิ่งพยายามกดดันตัวเองเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย

Advertisement

ผู้เข้าแข่ง คือ “ยอดมนุษย์” ผู้ชนะ คือ “ยอดของยอดมนุษย์”

มีคำถามเกิดขึ้นตลอดมา ..ทำไม “ชนเผ่า” ในภูมิภาคนี้ของทวีปแอฟริกา.. จึงแข็งแกร่งกว่ามนุษย์จากภูมิภาคอื่น…

คำตอบแบบกว้างๆ คือ มีส่วนผสมหลายขนานที่ทำให้เก่ง

Advertisement

นักวิทยาศาสตร์การกีฬา แพทย์ ฯลฯ หลายชาติ ต่างขอทำวิจัย หาคำตอบเพื่อจะมาผลิต “ยอดนักวิ่ง” ของโลก

….นักวิ่งชั้นนำของเคนยาและเอธิโอเปีย ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันที่รู้จักกันในชื่อเผ่า “คาเลนจิน” (Kalenjins) และ “นาดิส” (Nandis) ซึ่งมีเพียง 10% ของประชากร 50 ล้านคนของภูมิภาค

คน 2 เผ่านี้..นำเหรียญรางวัลส่วนใหญ่มาสู่บ้านเกิด

ศ.โอนีวีรา (Vincent O. Onywera) ศาสตราจารย์ด้านการออกกำลังกายและวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งมหาวิทยาลัยเคนยัตตา (Kenyatta) ในกรุงไนโรบี กล่าวว่า…

“ในระดับนานาชาติ นักวิ่งจากเผ่าคาเลนจินได้รับรางวัลเกือบ 73% ของเหรียญทองของเคนยาทั้งหมด และจำนวนเหรียญเงิน ที่ใกล้เคียงกันในการแข่งขันวิ่งระดับนานาชาติที่สำคัญ”

….ชนเผ่ากลุ่มนี้…หลงใหล คลั่งไคล้ ใฝ่ฝันการวิ่งแข่งขันมาหลายชั่วอายุคน ..ที่นั่นเด็กๆ เริ่มแข่งขันวิ่งตั้งแต่อายุยังน้อย…

พื้นที่วัดความแกร่ง คือ หุบเขาริฟต์ (Rift Valley) โดยเฉพาะเมืองเล็กๆ ชื่อเมือง ไอเต็น (Iten) กลายเป็นมหานครแห่งนักวิ่งระยะไกลระดับหัวกะทิของประเทศ

ค่ายฝึก ในเอธิโอเปียและเคนยาจะอยู่ในพื้นที่ระดับความสูงที่สูงมาก ซึ่งอากาศบางทำให้วิ่งยากขึ้น นักวิ่งชั้นยอดของทุกประเทศจะใช้เวลาส่วนหนึ่งของปีในการใช้ชีวิตบนที่สูง ช่วยปรับปรุงความสามารถของปอดเพื่อเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้น

คนกลุ่มนี้…เกิดและเติบโตในพื้นที่สูง นับเป็นต้นทุนยิ่งใหญ่

จากวัยเด็ก…กลายเป็นหนุ่ม สาว…คนในพื้นที่เติบโตขึ้นท่ามกลางนักวิ่งที่ประสบความสำเร็จ นักวิ่ง คือ วีรบุรุษของชาวเมือง

โค้ช เบอร์นาร์ด โอมา ผู้สอนนักวิ่งชาวเคนยาส่วนใหญ่กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มองว่าการวิ่ง …เป็นวิธีสร้างรายได้

วิ่งชนะแล้วรวยเละ..รวยจริงๆ จากเงินรางวัล…

โค้ชกล่าวว่า…“คุณเห็นเพื่อนบ้านของคุณวิ่งชนะ มันกระตุ้นให้คุณวิ่งและชนะ” …

ผู้คนทั้งหลาย ทุ่มเท คลั่งไคล้การวิ่ง เป็นชีวิตจิตใจ

“วิ่งมาราธอน” …มีประวัติที่มาอย่างโหด แต่เกรียงไกร..

ราว 2 พันกว่าปีที่แล้ว…ระหว่างสงคราม.. ทหารกรีกคนหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ “ส่งข่าว” ออกวิ่งจากเมือง “มาราธอน” ไปยังกรุงเอเธนส์ ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตรหรือราว 25 ไมล์

ทหารคนนี้..วิ่งไปตลอดทาง..นำข่าว “ชัยชนะ” ของกองทัพกรีก ที่สู้รบกับกองทัพเปอร์เซียไปแจ้งปลายทาง คือ กรุงเอเธนส์…

ตลอดระยะทางราว 40 กิโลเมตรเศษ ทหารผู้นี้ ชื่อ ไฟดิปิเดส (Pheidippides) มิได้หยุดพัก ณ ที่ใด ทหารแกร่งหัวใจเหล็กเมื่อถึงปลายทาง แจ้งข่าวเสร็จ.. แล้วขาดใจตาย

เพื่อรำลึกถึงการวิ่งอันน่าทึ่งของเขา… ระยะทางของการวิ่งมาราธอนโอลิมปิกปี 1896 ตั้งไว้ที่ 40 กิโลเมตรเศษ

ในปี 1908 ที่ลอนดอนได้จัดงานโอลิมปิกและได้ใช้ระยะทางจากจุดสตาร์ตไปยังเส้นชัยที่ระยะ 42.195 K เป็นระยะแข่งขัน และที่พิเศษไปกว่านั้นก็คือ จุดสิ้นสุดของเส้นชัย คือ บริเวณพระราชวัง

คณะกรรมการจึงลงมติว่า ระยะทาง 42.195 K ถือเป็นเลขมงคล และใช้ระยะทางนี้เป็นระยะการวิ่งมาราธอนไปยังทั่วโลก (26 ไมล์ และ 385 หลา)

สำหรับเมืองไทย…การวิ่งมาราธอนครั้งแรก… เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2528 ที่จังหวัดราชบุรี โดยชื่อว่า “จอมบึงมาราธอน” เป็นการจัดงานวิ่งระยะมินิมาราธอน (10 กม.) โดยครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมแข่งขันไม่ถึง 100 คน แต่ก็ได้ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น จนต่อๆ มาก็ทำให้เกิดนักวิ่งขึ้นมาอีกมากมาย

อีก 2 ปีต่อมา ได้มีงานวิ่งมาราธอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จัดเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2530 เป็นงานวิ่งลอยฟ้าเฉลิมพระเกียรติ Royal Marathon-Bangkok ที่เป็นงานวิ่งที่ฉลองการเปิดสะพานแขวนพระราม 9 ..เป็นการวิ่งระดับนานาชาติ

ในงานวันนั้น…มีชาวไทยและชาวต่างชาติได้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก เพียงแค่ระยะ 10 กิโลเมตร แต่มีผู้สมัครจำนวน 80,000 คน นับว่าเป็นภาพประวัติศาสตร์งานวิ่งในประเทศไทย…

ชาวเคนยาและเอธิโอเปีย คือ นักล่ารางวัลการวิ่งระยะทางไกล

ชาวแอฟริกาตะวันออกมักจะชนะการแข่งขันมาราธอนรายการใหญ่ของโลก นับตั้งแต่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 1968 ชายและหญิงจากเคนยาและเอธิโอเปียครองแชมป์มาตลอด

ตั้งแต่ปี 1991 ผู้ชนะ “ชาย” ที่บอสตันมาราธอนคือชาวเคนยาหรือชาวเอธิโอเปียจำนวน 26 ครั้ง จาก 29 ครั้งที่ผ่านมา

การแข่งขัน ชิคาโกมาราธอน (Chicago Marathon) ชาวเคนยา ครองตำแหน่งแชมเปี้ยนทั้งประเภทชายและหญิง

คิปโชเก้ (Eliud Kipchoge) อดีตเด็กส่งนมชาวเคนยา คือ ราชาการแข่งขันมาราธอนโลก โดยคว้าเหรียญทองมา 8 ครั้ง ในรายการใหญ่ เป็นมาราธอนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก และทำลายสถิติโลกมาราธอนของเขาเองที่ 2:03:05 น. เมื่อเขาชนะลอนดอนมาราธอน 2019 เวลา 2:03:05 น.

(เคยวิ่งต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ในแบบไม่เป็นทางการ)

“ลอนดอนมาราธอน” ซึ่งถือเป็นการวิ่งมาราธอนที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ชายชาวเคนยาหรือชาวเอธิโอเปียชนะการแข่งขัน 17 รายการ

นี่คือเหตุผลบางประการที่ทำให้เขาและเธอ เป็นแชมป์ : ข้อมูลจาก Global Sport Matters

รูปร่างผอมบาง : นักวิ่งระยะไกล จะมีร่างกายผอมรวมถึงการมีขาที่ผอม และขาของชาวเคนยาเบากว่าคู่แข่งในยุโรป ซึ่งแปลว่าประหยัดพลังงาน 8% เมื่อวิ่งในระยะทางไกล ความได้เปรียบทางพันธุกรรมเพียงเล็กน้อยนี้สามารถช่วยชาวเคนยามหาศาล

เท้าเปล่า : เด็กชาวเคนยาและเอธิโอเปียจำนวนหนึ่ง มักใช้เท้าเปล่าเดินไปโรงเรียน ชาวเอธิโอเปีย ชื่อ อาเบเบ้ (Abebe Bikila) ชนะการแข่งขันวิ่งมาราธอนโอลิมปิกปี 1960 ด้วยเท้าเปล่า…ประทับใจ
คนทั่วโลก

อาหารที่กิน : อาหารประจำของชาวเคนยาและเอธิโอเปีย ซึ่งปกติแล้วจะมีคาร์โบไฮเดรตสูงและไขมันต่ำ เป็นปัจจัยในความสำเร็จ.. การบริโภคโปรตีนของพวกเขาตรงกับของนักกีฬาชั้นยอดคนอื่นๆ โดยทั่วไป อาหารหลักของนักวิ่งชาวเคนยา ได้แก่ อูกาลี (โจ๊กแข็งที่ทำจากข้าวโพดหรือแป้งข้าวฟ่าง) ผักใบเขียว นม ถั่วไต และไข่

จิตวิทยา : นักวิ่งทางไกลของเคนยามีความได้เปรียบทางจิตใจ …พวกเขามองว่าตัวเองเหนือกว่าทุกคนในเวทีโลก

การฝึกบนที่สูง : อีกเหตุผลหนึ่งที่อาจอธิบายประสิทธิภาพของนักกีฬาชาวเคนยาและเอธิโอเปียก็คือ สภาพแวดล้อมในระดับความสูง (จากระดับน้ำทะเล) ที่พวกเขาอาศัยอยู่

เคนยาเป็นประเทศที่มีภูเขาซึ่งมีหุบเขาเกรตริฟต์ นักวิ่งชาวเคนยาจะได้สัมผัสประสบการณ์ “การฝึกบนที่สูง” ทุกวัน สภาพแวดล้อมเช่นนี้ช่วยให้วิ่งได้ดี

ส่วนที่ราบสูงตอนกลางของเอธิโอเปียมีความสูงตั้งแต่ 4,200 ถึง 9,800 ฟุต

พื้นที่ในระดับความสูง ..ออกซิเจนเจือจาง ร่างกายมนุษย์จะปรับตัวโดยการผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงมากขึ้นเพื่อจับและส่งออกซิเจน… ความจุและประสิทธิภาพของปอดจะเพิ่มขึ้น

ปัจจัยทางสังคม : นักกีฬาชาวเคนยาและเอธิโอเปียจำนวนมากมีแรงจูงใจที่จะประกอบอาชีพ “นักวิ่งมืออาชีพ” เนื่องจากความยากจนในประเทศของตน ซึ่งผลักดันให้พวกเขาวิ่งในทุกโอกาส

หนุ่มสาวชาวเคนยาและชาวเอธิโอเปียเห็นว่าชายหญิงในชนบทประสบความสำเร็จ ยกระดับหมู่บ้านของตนให้พ้นจากความยากจนโดยใช้เงินรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันระดับนานาชาติรายการ ชัยชนะการวิ่งทางไกล คือ การตอบแทนบุญคุณบ้านเกิด

1 ในการแข่งขันที่โหดที่สุดในกีฬาโอลิมปิก คือ “วิ่งมาราธอน” การแข่งวิ่งมาราธอน กำหนดชิงชัยกันในวันสุดท้าย คือ อาทิตย์ที่ 8 ส.ค.64 ที่เมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น

แฟนกีฬาทั่วโลกต่างจ้องไปที่ “เอลีอุด คิปโชเก” สุดยอดปอดเหล็ก “เบอร์ 1 โลก” ชาวเคนยา ที่ประกาศจะครองเหรียญทองเป็นรอบที่ 2

คิปโชเก ที่เป็นเจ้าของเหรียญทอง ที่ริโอเกมส์ เมื่อปี 2016

เขาคือ มนุษย์คนแรกบนพิภพนี้ที่บดขยี้กาลเวลา .. วิ่งเข้าเส้นชัยฟูลมาราธอน 42.195 กม. ด้วยเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมง

เสียดายที่จะต้องปิดต้นฉบับก่อน…ป่านนี้คงทราบผลกันแล้วนะครับ

ใครคือ “หัวหน้าของ..ยอดมนุษย์”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image