‘เอ็นที’ ผนึก ‘GBDi’ เปิดตัวระบบ ‘Health Link’ เชื่อมข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ

‘เอ็นที’ ผนึก ‘GBDi’ เปิดตัวระบบ ‘Health Link’ เชื่อมข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายวงกต วิจักขณ์สังสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจดิจิทัล บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที เปิดเผยว่า เอ็นทีได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) โดยการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลประวัติการรักษาผู้ป่วยทั่วประเทศภายใต้ชื่อ Health Link โดยรวบรวมข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ มาจัดเก็บด้วยมาตรฐานเดียวกันบนระบบคลาวด์ของเอ็นที ทำให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการสามารถเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลอื่นๆ ได้

ระบบ Health Link จะช่วยอำนวยความสะดวกผู้ป่วยในการย้ายโรงพยาบาลหรือกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน ช่วยให้แพทย์ในโรงพยาบาลใหม่สามารถเรียกดูประวัติการรักษาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเดิมที่อยู่ในโครงการได้ทันที เพื่อการรักษาที่ต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยในเฟสแรก Health Link มีเป้าหมายเชื่อมโยงข้อมูลโรงพยาบาล 100 แห่ง ภายในปีนี้

Advertisement

สำหรับระบบ Health Link  ได้รับการพัฒนาอยู่บนคลาวด์ของ NT ซึ่งได้มาตรฐานสากลด้านความปลอดภัย ISO 27001 และ CSA STAR เนื่องจากข้อมูลสุขภาพและประวัติการรักษาเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่ต้องมีระบบการจัดเก็บและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสากล ระบบ Health Link จึงใช้มาตรฐาน Fast Healthcare Interoperability Resources (FHIR) ซึ่งเป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพที่กำหนดโดยองค์กร Health Level Seven (HL7) International ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก

การเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบ Health Link จะเกิดก็ต่อเมื่อผู้สนใจสมัครใช้งานและยินยอมให้โรงพยาบาลส่งข้อมูลประวัติการรักษาของตนเองเข้าระบบเท่านั้น โดยข้อมูลจะมีการเข้ารหัสในการจัดเก็บเพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล และผู้ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้จะต้องเป็นแพทย์ที่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาและปฏิบัติงานในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น  อีกทั้ง Health Link ยังรองรับการตรวจสอบย้อนหลังการใช้งานต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนระบบ ประชาชนและโรงพยาบาลที่ร่วมโครงการจึงสามารถเชื่อมั่นในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของระบบได้

“ภายใน 1-2 ปีนี้ รพ.ที่เข้าร่วมโครงการฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะใช้งบจากกองทุน เนื่องจากที่จริงแล้วเรามีค่าใช้จ่ายในเรื่องของการแปลงข้อมูลจากแพลตฟอร์มของแต่ละโรงพยาบาลที่ต่างกันและต้องใช้เวลาในการแปลงข้อมูลให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการเชื่อมโยงสู่ระบบกลางด้วย แต่ด้วยงบประมาณจากกองทุนที่ได้มาจึงทำให้สามารถดำเนินการได้”นายวงกต กล่าว

Advertisement

รศ.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบัน GBDi กล่าวว่า การพัฒนาระบบเชื่อมโยงสุขภาพในระดับประเทศที่ผ่านมาเกิดได้ยาก โดยโจทย์สำคัญคือการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล  ที่ผ่านมาโรงพยาบาลต่างมีระบบเก็บข้อมูลผู้ป่วยของตัวเองหลากหลายรูปแบบที่แตกต่าง การแลกเปลี่ยนหรือส่งต่อข้อมูลมีขั้นตอนซับซ้อนและใช้เวลา เป็นอุปสรรคต่อการรักษาผู้ป่วยข้ามโรงพยาบาล เคสฉุกเฉินหรือการส่งผู้ป่วยข้ามจังหวัด ทำให้การรักษาล่าช้าและประชาชนไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ข้อมูลแลกเปลี่ยนนั้นคือข้อมูลการเจ็บป่วยทั่วไป และประวัติการรักษาเพื่อป้องกันการวินิจฉัยซ้ำ เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย และ เวลาในการรักษาให้รวดเร็วขึ้น

ระบบ Health Link ที่ออกแบบรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลขนาดใหญ่ของโรงพยาบาลทั่วประเทศอย่างเป็นระบบ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านสุขภาพของประเทศไทยให้มีมาตรฐานในระดับสากล ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านข้อมูลสุขภาพของประเทศในภาพรวม คาดว่าภายในปหน้าจะมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการเป็น 200 แห่งภายในปีหน้า จากปัจจุบันที่มีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 20 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทหาร และ โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลศิริราช, โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลภูมิพล,โรงพยาบาลสมุทรปราการ เป็นต้น ส่วนประชาชนที่เข้าร่วมโครงการปัจจุบันเข้าร่วมแล้วกว่า 40,000 คน คาดว่าจะเพิ่มเป็น 100,000 คนภายในสิ้นปีนี้ และเพิ่มเป็น 1 ล้านคนภายในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจใช้บริการ Health Link ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถสมัครใช้บริการ ผ่านทางแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เลือกเมนู “กระเป๋าสุขภาพ” กดเลือก “Health link”  ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.healthlink.go.th/patientinstruction โดยการเชื่อมโยงข้อมูลจะใช้เวลา 3 วันข้อมูลถึงจะเข้ามาในระบบ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image