สะพานแห่งกาลเวลา : ว่าด้วยเรื่อง‘ฟอกซ์โกลฟ’ โดย ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

ป้ายรณรงค์ของ ฟอกซ์โกลฟ (ภาพ-foxglove.org.uk)

อีกไม่ช้าไม่นาน เราคงได้ยินชื่อ “ฟอกซ์โกลฟ” กันบ่อยครั้งขึ้น

“ฟอกซ์โกลฟ” จริงๆ แล้วเป็นชื่อไม้ดอกที่เป็นไม้ป่าชนิดหนึ่ง พบทั้งในยุโรป เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก รวมไปถึงบางพื้นที่ตอนเหนือของแอฟริกา

ว่ากันว่า เป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีพิษฉกรรจ์ที่สุดเท่าที่พบได้ในธรรมชาติ แต่ในเวลาเดียวกันทางการแพทย์ก็นำมาสกัดสารที่มีในไม้ดอกชนิดนี้ มาใช้ปรุงเป็นยารักษาโรคที่เกี่ยวกับหัวใจได้หลายชนิด

แต่ฟอกซ์โกลฟที่กำลังจะพูดถึงกัน เป็นคนกลุ่มเล็กๆ ซึ่งมีอาชีพเป็นทนาย เป็นนักกฎหมาย ที่รวมตัวกันเข้าเป็นองค์กรไม่แสวงกำไร ตั้งเป้าจะจัดการกับปัญหาการ
เอารัดเอาเปรียบ ฉกฉวยประโยชน์จากผู้ใช้งานของบรรดาองค์กรของรัฐ และบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านไอทีทั้งหลาย ให้เป็นธรรมกับยูสเซอร์มากขึ้น

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็น ยักษ์ใหญ่ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อเสียงอย่าง เมทา แพลตฟอร์ม อิงค์. เจ้าของ แพลตฟอร์มหมายเลข 1 ของโลกอย่าง “เฟซบุ๊ก” หรือ “อูเบอร์” บริษัทที่ให้บริการเครือข่ายคมนาคม และกูเกิล ยักษ์ใหญ่ในวงการโฆษณาและการสืบค้นออนไลน์

แกนนำในการรวมตัวกันขึ้นเป็น ฟอกซ์โกลฟ คือนักกฎหมายสตรี 3 คน ประกอบด้วย คอรี ไครเดอร์, โรซา เคอร์ลิง และมาร์ธา ดาร์ค ทั้ง 3 นอกจากจะเป็นผู้ก่อตั้งแล้วยังทำหน้าที่เป็น “ผู้อำนวยการ” ของฟอกซ์โกลฟ ร่วมกัน มีพนักงานประจำอีก 8-9 คนเท่านั้น ดำรงกิจกรรมขององค์กรด้วยเงินบริจาคจากประชาชนล้วนๆ เท่านั้น

นอกจากมือกฎหมายแล้วก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารร่วมอยู่ในทีมด้วย

Advertisement

แม้จะมีกำลังคนเท่านี้ ฟอกซ์โกลฟ ก็เริ่มท้าทายยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง เมทา กันแล้ว ด้วยเหตุผลสำคัญที่ คอรี ไครเดอร์ บอกเอาไว้ว่า

“เราต้องการที่จะให้การใช้งานเทคโนโลยีเป็นเรื่องยุติธรรมสำหรับทุกคน ไม่ใช่เป็นอภิสิทธิ์และเป็นอำนาจของคนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น”

พวกเขาเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นองค์กรของรัฐ หรือเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ มีธรรมชาติของการนำเอาข้อมูลส่วนตัวของยูสเซอร์ทั้งหลายไปใช้เพื่อสร้าง “อำนาจเหนือ” ทุกผู้คนอีกต่อหนึ่งอย่างไม่เป็นธรรม และจำเป็นต้องเปิดโปงให้เห็นกันจะๆ และหากจำเป็นก็ต้องลงมือฟ้องร้องกันโดยอาศัยกฎหมายเท่าที่มีอยู่เป็นเครื่องมือ

ฟอกซ์โกลฟไม่เห็นด้วยกับการไม่เปิดเผยอัลกอริธึม แต่มีการนำเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างที่นิยมเรียกกันว่า “ดาตา ฮาร์เวสติง” กันอย่างเป็นล่ำ
เป็นสัน หรือการแสดงพฤติกรรมครอบงำเหนือตลาด เหนือพฤติกรรมของยูสเซอร์ ล้วนเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมและไม่สมควรทำทั้งสิ้น

ที่น่าสนใจก็คือ ฟอกซ์โกลฟ ไม่ได้มองเรื่องนี้เป็นปัญหาของเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของอำนาจและการแสวงหาอำนาจ จนทำให้เกิด “ปัญหาสังคม” ที่เป็นแก่นของปัญหาขึ้นมา

พวกเขาต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่า โดยเนื้อแท้แล้วบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านไอทีทั้งหลายก็ไม่ได้แตกต่างจากบริษัทธุรกิจอื่นๆ และจำเป็นต้องอยู่ภายใต้กฎข้อบังคับของกฎหมายในแบบเดียวกัน รวมทั้งการ “เสียภาษี” บางอย่างอีกด้วย

หลังประสบผลสำเร็จในการรณรงค์จนสำนักงานสาธารณสุขแห่งชาติ (เอ็นเอชเอส) ของอังกฤษต้องยกธงขาว ยกเลิกการส่งมอบคลังข้อมูลผู้ป่วยโควิดให้กับบริษัทข้อมูลยักษ์ใหญ่อย่าง พาลันเทียร์ ไปก่อนหน้านี้ ฟอกซ์โกลฟ ก็หันมาหา เฟซบุ๊ก เป็นลำดับต่อมา

ฟอกซ์โกลฟกำลังเตรียมการนำเอาเรื่องความไม่ใส่ใจของ เมทา แพลตฟอร์ม อิงค์. ต่อพนักงานของบริษัทเอาต์ซอร์ส “แอคเซนเจอร์” ที่เฟซบุ๊กว่าจ้างให้ดูแลเนื้อหาบนแพลตฟอร์มของตน ซึ่งนอกจากจะมีรายได้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ยังไม่มีสวัสดิการใดๆ สนับสนุน ทั้งที่งานดูแลเนื้อหาในหน้าเฟซบุ๊กนั้นหนักหนาสาหัส ต้องพบกับทุกอย่างตั้งแต่ความรุนแรงในทุกรูปแบบไปจนถึงเรื่องเพศ

นอกจากจะต้องการให้แอคเซนเจอร์ใส่ใจดูแลเพิ่มรายได้ให้กับพนักงานของตนแล้ว ฟอกซ์โกลฟยังเชื่อว่าเฟซบุ๊กก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบ

เพราะการเอาต์ซอร์สงานการดูแลเนื้อหาไปไว้กับบริษัทภายนอกนั้น แสดงให้เห็นว่า นอกจากจะทำให้เฟซบุ๊กไม่ต้องแบกรับต้นทุนในการดูแลเนื้อหาใดๆ แล้ว ยังเป็นการแสดงความไม่รับผิดชอบต่อการดูแลเนื้อหา ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าบริษัทเอาต์ซอร์สนั้นไม่ได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสม

ที่น่าสนใจก็คือ ฟอกซ์โกลฟ บอกว่านี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของสงครามระหว่าง ฟอกซ์โกลฟ กับ เฟซบุ๊ก เท่านั้นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image