ชงทปอ.แจ้งความ หลังข้อมูลน.ร.สมัครทีแคสปี64หลุด เร่งวางมาตรการป้องกัน

กรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ออกประกาศ กรณีเกิดเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส มีการประกาศจำหน่ายข้อมูลในอินเทอร์เน็ตจำนวน 23,000 รายการ ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลของระบบทีแคส จากเว็บไซต์ Mytcas.com โดยมีการแสดงข้อมูลตัวอย่าง เช่น ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน ผลคะแนนตามเกณฑ์การคัดเลือกของสาขาวิชาที่สมัคร ทีแคส รอบแอดมิสชั่นส์ ปีการศึกษา 2564

นายพีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้จัดการระบบทีแคส กล่าวว่า คณะกรรมการทีแคส ได้หารือเพื่อวางแนวทางแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว  เบื้องต้นยังบอกไม่ได้ว่า ข้อมูลหลุดไปจากหน่วยงานใด แต่ยืนยันได้ว่า เป็นข้อมูลที่มหาวิทยาลัยดึงไปใช้ประมวลผล ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังมีเติร์ดปาร์ตี้ ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกอีกหลายแห่งมาร่วมประมวลผล เพื่อเป็นการยืนยันความถูกต้องของคะแนน  ดังนั้นจึงไม่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลหลุดไปในช่วงใด ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการทีแคส ได้วางมาตรการป้องกัน โดยจะเริ่มปรับตั้งแต่การประมวลผลคะแนนในปี 2565 จากเดิมที่ให้มหาวิทยาลัยดึงคะแนนไปประมวลผลเอง มาเป็นระบบจะทำการประมวลผลทันที ที่นักเรียนยืนคะแนนสอบความถนัดทั่วไป หรือGAT  คะแนนความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ และคะแนนวิชาสามัญ เข้าระบบ เด็กจะได้เห็นผลคะแนนทันที จากเดิมที่ต้องรอทางมหาวิทยาลัยประมวลผล

“ส่วนแนวทางแก้ปัญหาและมาตรการป้องกันอื่น ๆ นั้น ยังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องเสนอให้คณะกรรมการบริหารทปอ. พิจารณาเห็นชอบก่อน รวมถึงจะเสนอให้แจ้งความเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าวอีกทางหนึ่ง  ข้อมูลหลุดครั้งนี้ ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ทปอ. หันมาทบทวนและปรับปรุงระบบให้รัดกุมมากขึ้น เข้าใจว่าผู้ปกครองและนักเรียนมีความกังวล เกรงว่าข้อมูลที่หลุด จะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง แต่จากที่ได้สอบถามข้อมูล พบว่า ปัจจุบันชื่อ นามสกุล และเลขที่บัตรประชาชน ไม่สามารถนำไปทำธุรกรรมได้100% ต้องมีการยืนยันตัวตนในรูปแบบอื่น ๆ ประกอบด้วย” นายพีระพงษ์ กล่าว

นายจงรัก วัชรินทร์รัตน์  อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า  ตนทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว หากมีข้อมูลหลุดจริงก็ต้องปรับปรุงแก้ไข ขอรอดูข้อมูลจากทางคณะกรรมการทีแคสก่อน ส่วนที่ว่า ข้อมูลอาจหลุดไประหว่างที่มหาวิทยาลัยดึงข้อมูลไปประมวลผลนั้น ก็อาจเป็นไปได้หากเป็นจริงมหาวิทยาลัยก็ต้องประปรุง แต่ยืนยันว่า ระบบทีแคส จัดทำขึ้นเพื่อให้การรับเด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัย มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อตัวนิสิต นักศึกษาเอง ส่วนตัวมองว่า ในการทำงาน อาจมีความผิดพลาดได้ แต่เมื่อรู้แล้วว่า ผิดพลาดที่ขั้นตอนใดก็ต้องเร่งแก้ไข เชื่อว่า มหาวิทยาลัยในกลุ่มทปอ. ก็คงมีความคิดในลักษณะเดียวกัน

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image